ฝอยทอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ฝอยทอง งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ฝอยทอง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครือเขาดำ, เครือดำ (ภาคเหนือ), ฝอยไหม (โคราช), กุ้งฝอย (ชัยภูมิ), ผักโขม (อุดรธานี), ทูโพเคาะกี่, ซิกดิม่อ (กะเหรี่ยง), ทู่ซื่อจื่อ (จีนกลาง), โทว่ซีจี้ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cuscuta chinensis Lam.
ชื่อสามัญ Dodder
วงศ์ CONVOLVULACEAE
ถิ่นกำเนิดฝอยทอง
สำหรับฝอยทองนั้นเชื่อกันว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีน เพราะมีปรากฏในตำราแพทย์แผนจีนหลายพันปีแล้ว รวมถึงชื่อวิทยาศาสตร์ของฝอยมีคำว่า Chinensis ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องในการค้นพบพืชชนิดนี้ในประเทศจีนอีกด้วย ในปัจจุบันสามารถพบเห็นฝอยทองได้ในเขตร้อนต่างๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยถูกจัดเป็นวัชพืชประเภทกาฝากชนิดหนึ่งของไทย โดยมักจะพบได้ตามพุ่มไม้ตามชายป่าที่รกร้างทั่วไปตามริมทาง หรือ ตามเรือกสวนไร่นาที่มีความชุ่มชื้น
ประโยชน์และสรรพคุณฝอยทอง
- ใช้รักษาอาการบิด
- ใช้รักษาอาการตกเลือด
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- แก้ไอเป็นเลือด
- รักษาอาการเลือดกำเดาไหล
- แก้โรคดีซ่าน
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- ช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยขับลม
- ใช้รักษาแผลเรื้อรัง แผลคัน
- ช่วยห้ามเลือด
- แก้ผดผื่นคัน แผลเรื้อรัง
- ช่วยบำรุงกำลัง
- บำรุงตับไต
- บำรุงหัวใจ
- แก้ปวดเมื่อย
- ช่วยทำให้ตาสว่าง
- แก้อาการร่างกายอ่อนเพลีย
- แก้น้ำกามเคลื่อนเวลาหลับ
- ช่วยควบคุมการหลั่งของน้ำอสุจิ
- รักษากลุ่มอาการของระบบไตพร่อง
- ช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย
- แก้น้ำกามเคลื่อน
- แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม
- แก้ตกขาว
- ช่วยให้หยุดถ่าย (เนื่องจากระบบม้ามและไตพร่อง)
- ช่วยป้องกันการแท้งลูก (เนื่องจากระบบตับและไตอ่อนแอ ทำให้แท้งง่าย)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ต้นฝอยทองเป็นยาบำรุงกำลัง แก้บิด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ดีซ่าน ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อ ขับลม บำรุงตับ บำรุงไต โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือนำมาบดให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ดหรือทำเป็นยาผงรับประทาน
แก้อาการร่างกายอ่อนเพลีย โดยใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำ และใช้ผสมกับเหล้า หรือ น้ำตาลทรายแดงกินเป็นยา
แก้ลำไส้อักเสบ แก้บิด โดยใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม (หรือ 1 กำมือ) นำมาต้มกับน้ำผสมกับขิงสด 7 แว่น ดื่ม
ใช้แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามขาปวดน่อง โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาแช่ในเหล้านาน 3-5 วัน แล้วเอาเมล็ดที่แช่มาตากแห้ง จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด ใช้กินครั้งละ 6 กรัม วันละ 3 ครั้ง
ใช้แก้ผดผื่นคัน แผลเรื้อรัง ใช้ห้ามเลือด โดยการนำลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาหรือพอกบริเวณที่เป็นฝ้า
ส่วนในตำราการแพทย์จีนระบุถึงรูปแบบ และขนาดการใช้ฝอยทองไว้ว่า ช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้น้ำกามเคลื่อน แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม โดยใช้เมล็ดฝอยทอง 15 กรัม, โต่งต๋ง 12 กรัม, เก๋ากี้ 12 กรัม, โป๋วกุกจี 10 กรัม, เกสรบัวหลวง 7 กรัม, โหงวบี่จี้ 7 กรัม และเม็ดกุ๋ยฉ่าย 7 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน หรือ รวมกันบดให้เป็นผง ส่วนสรรพคุณอื่นๆ ใช้ขนาด 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม ทำเป็นยาเม็ด หรือ ยาผงรับประทานสำหรับการใช้ภายนอก ใช้บดเป็นผงผสมทาบริเวณที่มีอาการ
ลักษณะทั่วไปของฝอยทอง
ต้นฝอยทอง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกประเภทกาฝากเจริญเติบโตบนต้นไม้อื่นโดยจะดูดน้ำกินจากต้นไม้ที่พันเกาะอยู่และมีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเถากลม อ่อน เป็นเส้นสีเหลือง และแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเส้นยาว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ใบฝอยทองมีขนาดเล็กลักษณะเป็นเกล็ดรูปสามเหลี่ยมมีจำนวนไม่มาก โดยจะแตกจากลำต้นแบบสลับห่างๆ มีสีเหลืองเช่นเดียวกับลำต้น ดอกออกเป็นช่อแบบกระจุกสีขาว และมีดอกย่อยมีจำนวนมาก ไม่มีก้านดอก มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กรูปไข่ หรือ สามเหลี่ยม ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว หรือ เหลืองอ่อน กลีบดอกมี 2-3 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายกลีบ แยกออกเป็น 5 แฉก กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 2 อัน ผลเป็นลูกกลมแบนเล็กๆ สีเทา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ด 2-4 เมล็ด ลักษณะกลมรี ผิวหยาบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 มิลลิเมตร เมล็ดมีสีเหลืองแกมน้ำตาล เป็นต้น
การขยายพันธุ์ฝอยทอง
ฝอยทองสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และแตกกิ่งเถาของตนเอง สำหรับการขยายพันธุ์ของฝอยทองส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก เพื่อใช้งานโดยมนุษย์ ซึ่งในธรรมชาติจะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดที่หล่นลงบนพื้น จะแตกต้นใหม่ออกมา ส่วนวิธีการแตกกิ่งเถาของต้นฝอยทองนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เมื่อถูกเด็ด หรือ ดึงให้ขาดแล้วนำมาพาดหรือโยนไปตามพุ่มไม้ หรือ กิ่งไม้สด ก็จะแพร่ขยายเจริญเติบโตได้เองโดยจะเริ่มกอตัวเป็นปม และแตกยอดแขนงออกไปเรื่อยๆ
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเถาและเมล็ดของฝอยทอง ปรากฏว่าพบสารสำคัญหลายชนิดเช่น Cholesterol, B-Sitosterol, a-Carotene, Campesterol, Stigmasterol, B-Amyrin, Isorhamnetin, Taraxanthin, Astragatin, Hyperoside, Caffeic acid, Kaenpferol, Quercetin และ Arbutin.
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฝอยทอง
ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการศึกษาฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อตับของสารสกัดเมล็ดฝอยทองในรูปแบบ nanoparticles ซึ่งเตรียมด้วยวิธี “nanosuspension” เปรียบเทียบกับสารสกัดเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ โดยป้อนสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ในหนูขาวเป็นระยะเวลา 7 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้หนูเกิดความเป็นพิษต่อตับด้วยการฉีดสาร acetaminophen เข้าช่องท้อง พบว่าสารสกัดเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ขนาด 125 และ 250 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. และสารสกัดเมล็ดฝอยทองรูปแบบ nanoparticles ขนาด 25 และ 50 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. มีผลป้องกันความเป็นพิษต่อตับ โดยช่วยลดระดับเอนไซม์ aspartate aminotranferase, alanine aminotransferase และ alkaline phosphatase ซึ่งการตรวจสอบชิ้นเนื้อตับหนูขาวสนับสนุนผลการประเมินทางชีวเคมี
ฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ มีการศึกษาฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของสารสกัดเมล็ดฝอยทอง โดยวิธีแช่สกัดเมล็ดด้วยแอลอฮอล์ น้ำ หรือ ทำให้รูปยาทิงเจอร์ พบว่ามีฤทธิ์ทำให้หัวใจคางคงที่แยกตัว บีบตัวแรงขึ้น โดยสารสกัดแช่ด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น แต่สารสกัดแช่ด้วน้ำ และที่ทำในรูปยาทิงเจอร์ ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจลดลง ส่วนผลต่อสุนัขทดลองที่ทำให้สลบมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง ม้ามหดตัวเล็กลง ลดการบีบตัวของลำไส้ ผลต่อมดลูกที่แยกตัวมีผลกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกเพิ่มขึ้น
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ของสารสกัดจากเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ และของสารสกัดจากเมล็ดฝอยทองรูปแบบ nanoparticles พบว่าช่วยเพิ่มเอนไซม์ superoxide dismutase, catalase, glutathione peroxidase และช่วยลด malondialdehyde อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมล็ดฝอยทองรูปแบบ nanoparticles ขนาด 50 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. มีประสิทธิภาพดีกว่าสารสกัดเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ขนาด 125 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.
นอกจากนี้ในรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฝอยทองอื่นๆ ยังระบุว่าฝอยทองมีฤทธิ์ยับยั้งการก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และฤทธิ์ลดการอักเสบอีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของฝอยทอง
มีการศึกษาทางพิษวิทยาของเมล็ดฝอยทอง โดยเมื่อฉีดสารสกัดโดยวิธีแช่สกัดเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ และน้ำเข้าใต้ผิวหนังของหนูขาวในขนาด 2.465 กรัม/กิโลกรัม จะทำให้หนูตายจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) แต่เมื่อให้ทางปากในขนาด 30-40 กรัม/กิโลกรัม ไม่ปรากฏอาการพิษ เมื่อให้หนูทดลองกินสารแช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ และน้ำ ที่ทำในรูปทิงเจอร์ติดต่อกันเป็นเวลา 70 วัน ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ทดลอง และไม่พบอาการเปลี่ยนแปลงผิดปกติใดๆ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการแพทย์แผนจีนระบุไว้ว่าสตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ไม่ควรรับประทาน
- ถ้าหากฝอยทองขึ้นเกาะบนต้นไม้ที่เป็นพิษ เช่น ต้นยี่โถ ลำโพง ถอบแถบน้ำ และยาสูบ ไม่ควรเก็บมาใช้
- สำหรับการนำส่วนต่างๆ ของฝอยทอง มาใช้เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ตามปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ฝอยทองเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ฝอยทอง
- ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. ก่องกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคูณ (คณะบรรณาธิการ) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2544) สำนักวิชาการป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร บริษัทประชาชนจำกัด. 2544.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “ฝอยทองเมล็ด”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 360.
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร.บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ จำกัด 2547.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ฝอยทอง”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 513-515.
- ชัยโช ชัยชาญทิพยุทธ. วชิรา แดนตะวัน. สถาพร ลิ้มมณี.ชะนะ ครองรักษา. ทิพวัลย์ ทรัพย์เจริญ สมุนไพร อันดับที่ 03. การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยของโครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2527.
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ฝอยทอง” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 127-128.
- สารสกัดเมล็ดฝอยทองรูปแบบ Nanoparticles ป้องกันความเป็นพิษต่อตับซึ่งเหนี่ยวนำด้วยสาร acetaminophen ในหนูขาว. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- เมล็ดฝอยทอง : Tusizi. คู่มือการใช้สมุนไพรไทย. จีน. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขหน้า 151-153