ผักบุ้งขัน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ผักบุ้งขัน งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักบุ้งขัน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักบุ้งช้าง, ผักบุ้งขุน (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea asarifolia (Desr.) Roem.et Schult
วงศ์ CONVOLVULACEAE


ถิ่นกำเนิดผักบุ้งขัน

เชื่อกันว่าผักบุ้งขัน มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่นเดียวกันกับผักบุ้ง (Ipomoea aquaticaForsk.) โดยมีการสันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมน่าจะอยู่ในบริเวณอินเดีย พม่า ไทย เวียดนาม ลาว และจีนตอนใต้ ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกาตะวันตก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณริมคลอง บึง หรือ ตามแม่น้ำลำห้อยต่างๆ และยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งอีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณผักบุ้งขัน

           ผักบุ้งขัน ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลักๆ คือ นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

  • ใช้แก้จุกเสียด
  • ช่วยถอนพิษลมเพลมพัด (อาการเจ็บป่วย โดยหาสาเหตุไม่ได้ โดยมักมีอาการเจ็บปวดเคลื่อนย้ายไปตามจุดต่างๆ )
  • แก้พิษกาฬภายนอก
  • แก้พิษสำแดง
  • แก้ผดผื่นคัน
  • ใช้ล้างแผล
  • แก้พิษแมงกระพรุนไฟ
  • ใช้แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ตะคริว
  • ใช้เป็นยาถ่าย
  • รักษาโรคซิฟิลิส (ในต่างประเทศ)
  • รักษาแผลจากหนอน (ในต่างประเทศ)
  • แก้ปวดรูมาติด (ในต่างประเทศ)
  • แก้ไข้ หนาวสั่น (ในต่างประเทศ)
  • แก้โรคตับ (ในต่างประเทศ)
  • แก้โรคระบบทางเดินอาหาร (ในต่างประเทศ)
  • รักษาโรคเบาหวาน (ในต่างประเทศ)
  • แก้อักเสบ
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน (ตอนเหนือของไนจีเรีย)
  • ใช้เป็นยารักษาโรคซิฟิลิส และในบูร์กินาฟาโซ (ตอนเหนือของไนจีเรีย)
  • ใช้รักษาโรคมาลาเรีย (ตอนเหนือของไนจีเรีย)
  • ต้านการชัก (ตอนเหนือของไนจีเรีย)
  • รักษาโรคไขข้อ (ตอนเหนือของไนจีเรีย)

ผักบุ้งขัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้จุดเสียด ถอนพิษ สำแดง ถอนพิษลมเพลมพัด แก้พิษกาฬ โดยนำใบผักบุ้งขัน มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาตากแห้งแล้วชงแบบชาดื่มก็ได้ ใช้แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขับปัสสาวะ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดท้อง แก้ตะคริว ใช้เป็นยาถ่าย โดยนำเมล็ดมาทุบให้แตก ชงกับน้ำร้อนดื่ม ใช้แก้คัน แก้ผดผื่น ใช้ล้างแผล โดยนำใบมาคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นแผลเรื้อรัง และแก้แมงกะพรุนไฟ โดยนำใบมาหุงกับน้ำมะพร้าว ใช้ทำขี้ผึ้ง ใช้ทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของผักบุ้งขัน

ผักบุ้งขัน จัดเป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ทอดเลื้อยไปตามพื้น ยาวประมาณ 5-30 เมตร ลำต้นมีสีม่วงอมเขียว เป็นปล้องกลวง มีรากงอกออกที่ข้อเป็นสัน มียางสีขาว ใบมักออกจากลำต้นเพียงด้านเดียว เป็นใบเดี่ยว รูปไข่กลับ หรือ รูปรี กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ผิวใบมีขนนุ่ม โคนใบหยักเว้าเป็นรูปหัวใจส่วนปลายใบหยักเป็นแฉกตื้นๆ ปลายแฉกลมมน ดอกเป็นดอกเดี่ยวซึ่งจะออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ โดยจะมีก้านช่อดอก ลักษณะเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 3-16 เซนติเมตร และมีใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายมน มีติ่งแหลม สั้น กลีบเลี้ยงชั้นนอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปรี ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงชั้นในกว้างกว่าชั้นนอก เป็นรูปกลม ยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร สำหรับกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปแตร มีสีขมพู หรือ สีม่วง ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร โคนด้านในมีสีเข้มกว่า มีเกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียอยู่รวมกัน ผลเป็นแบบผลแห้ง รูปกลม ส่วนด้านในผลมีเมล็ด 4-5 เมล็ด ลักษณะกลมสีดำ ไม่มีขนขึ้นปกคลุม (ผักบุ้งทะเล เมล็ดมีขนขึ้นปกคลุม)

ผักบุ้งขัน

ผักบุ้งขัน

การขยายพันธุ์ผักบุ้งขัน

ผักบุ้งขันสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดรวมถึงการนำลำต้นที่มีรากมาปักชำ โดยมีวิธีการเช่นเดียวกันกับผักบุ้งที่เราใช้รับประทานกันในปัจจุบัน แต่จะไม่ค่อยนิยมในการนำมาปลูกเนื่องจากผักบุ้งขัน สามารถแพร่พันธุ์ได้ง่าย จนกลายเป็นวัชพืชที่ยากต่อการกำจัดทิ้ง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากรากของผักบุ้งขัน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น (4S,8S)-1-(furan-3-yl)-9-hydroxy-4,8-dimethylnonane-1,6-dione, caffeic acid octadecyl ester, caffeic acid hexadecyl ester, asarifolin I, 4-Hydroxycinnamic acid hexadecyl ester, 4-hydroxycinnamic acid octadecyl ester, isoferulic acid hexadecyl ester, 4-hydroxycinnamic acid eicosyl ester, pescapreins III, IV, XXI, XXIII, XXV, XXVI, และ stoloniferin III

โครงสร้างผักบุ้งขัน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักบุ้งขัน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของผักบุ้งขันระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ปกป้อง และรักษาตับของใบผักบุ้งขัน โดยป้อนสารสกัดเมทานอลจากใบผักบุ้งขันขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. ให้แก่หนูแรทติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ก่อน และหลังการกระตุ้นให้การทำลายตับในหนูแรทด้วยการป้อน carbon tetrachloride (CCl4) ขนาด 0.5 มล./กก. ต่อเนื่องกัน 5 วัน ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากผักบุ้งขัน ออกฤทธิ์ปกป้องการทำลายของตับได้ดีเมื่อป้อนก่อนการได้รับสาร CCl4 โดยมีผลลดปริมาณเอนไซม์ alanine aminotransferase, aspartate aminotransferase และ alkaline phosphatase รวมถึงลดปริมาณไตรกลีเซอร์ไรด์ bilirubin และคอเลสเตอรอลได้ดีเทียบเท่ากับการให้ยาแผนปัจจุบัน silymarin ขนาด 100 มก./กก. และการป้อนสารสกัดจากผักบุ้งขันหลังการได้รับสาร CCl4 ยังแสดงผลการรักษาตับที่เกิดความเสียหายได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยา silymarin เช่นกัน นอกจากนี้การป้อนสารสกัดจากผักบุ้งขันทั้งก่อน และหลังการกระตุ้นให้เกิดการทำลายตับ ต่างมีผลลดระยะเวลาการหลับจากการชักนำด้วย pentobarbital (pentobarbitone sleeping time) ซึ่งบ่งชี้ถึงการกระตุ้นการเมตาบอลิสมของตับ รวมถึงการปรับปรุงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อตับได้

           ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว มีรายงานผลการศึกษาทางเคมีด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟฟี ได้แก่ NMR, UV, IR spectroscopic, และ MS ของสารสกัดไดคลอโรมีเทนจากรากของผักบุ้งขัน (Ipomoea asarifolia) พบสารสำคัญจำนวน 15 ชนิด และเมื่อนำสารทั้งหมดมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (multiple myeloma cell) ชนิด RPMI 8226 ด้วยวิธี XTT viability assay พบว่า สาร caffeic acid hexadecyl ester ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด รองลงมา คือ สาร stoloniferin III, caffeic acid octadecyl ester, และ pescapreins IV โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 3.0, 7.7, 9.4, และ 10.8 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ แต่ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายามาตรฐาน bortezomib ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 0.0045 ไมโครโมลาร์

           ฤทธิ์ลดการอักเสบจากพิษของแมงป่อง มีรายงานผลการศึกษาผลของใบผักบุ้งขัน (Ipomoea asarifolia) ในการแก้พิษของแมงป่อง (Tityus serrulatus) โดยฉีดสารสกัดน้ำ ขนาด 10, 20 และ 30 มก./กก. ส่วนสกัดไดคลอโรมีเทน และส่วนสกัดเอ็น-บิวทานอล ขนาดละ 20 มก./กก. ส่วนสกัดเอทิลอะซีเตรท ขนาด 10, 15 และ 20 มก./กก. และสารรูติน ขนาด 2, 2.5 และ 5 มก./กก. เข้าทางหลอดเลือดดำของหนูเม้าส์ก่อน 2-3 นาที หลังจากนั้นจึงฉีดพิษของแมงป่อง ขนาด 0.8 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนู ผลพบว่าสารสกัดน้ำ ส่วนสกัดทั้ง 3 และรูตินในทุกขนาดที่ใช้ จะลดการเคลื่อนย้ายของเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้าไปในช่องท้อง และลดระดับของ interleukin (IL)-6, IL-12 และ IL-1β ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักบุ้งขัน

มีรายงานข้อมูลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดเอทานอลจากใบของผักบุ้งขัน ในต่างประเทศระบุว่า มีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดดังกล่าวในหนู และลูกไก่ โดยการฉีดสารสกัดเข้าทางช่องท้องพบว่า ค่า LD50 อยู่ที่ 2,150 มก./กก.


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ผักบุ้งขัน เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ผักบุ้งขัน
  1. เต็ม สมิตินันทน์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ฉบบัแกไข้เพิ่มเติม พ.ศ.2557. โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 97
  3. ผักบุ้งขันลดอาการอักเสบจากพิษของแมงป่อง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. กระทรวงสาธารณสุข, ก., มาลีบรรจบ, และคณะ,. (2543). สมุนไพรพื้นบ้านภาคอีสาน เล่ม 3. บริษัท เอส อาร์พริ้นติ้งแมสโปรดักส์จำกัด
  5. ชยันต์พิเชียรสุนทร, แ. ช., และวิเชียรจีรวงส์,. (2558). คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน).
  6. ฤทธิ์ปกป้องตับของผักบุ้งขัน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. (2549). สมุนไพรในอุทธยานแห่งชาติภาคเหนือ. ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา.
  8. ก่องกานดา ชยามฤต, ว. แ. (2559). คู่มือจำแนกพรรณไม้. ห้างหุ้นส่วนจำกัด สิทธิโชค พริ้นติ้ง
  9. ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวจากผักบุ้งขัน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. สมภพ ประธานธุรารักษ์. (2539). อนุกรมวิธาน พืชสมุนไพร. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์
  11. Jegede IA, Nwinyi FC, Ibrahim J, Ughabe G, Zarma SD, Kunle OF (2009) Investigation of phytochemical, anti-infammatory and anti-nociceptive properties of Ipomoea asarifolia leaves. J Med Plant Res 3(3):160–165
  12. Burkill HM (1985) The useful plants of West Tropical Africa, vol. 1. Royal Botanic Gardens, Kew
  13. Meda NR, Compaore MB, Mindiédiba J, Vlase L, Kiendrebeogo M, Ouedraogo AG (2017) Antioxidant screening and polyphenols profling of Ipomoea asarifolia (Desr) Roem & Schult (Convulvulaceae). World J Pharm Pharm Sci 6 (11)
  14. Farida T, Salawu OA, Tijani AY, Ejiofor JI (2012) Pharmacological evaluation of Ipomoea asarifolia (Desr.) against carbon tetrachloride-induced hepatotoxicity in rats. J Ethnopharmacol 142(3):642–646