กรรณิการ์ ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
กรรณิการ์ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กรรณิการ์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กณิการ์, กรณิการ์, กันลิกา (ภาคกลาง), สบันงา (ภาคเหนือ), ปาริชาติ(อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nyctanthes arbor-tristis Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nyctanthes dentate Blume, Nyctanthes tristis Salisb., Parilium arbor-tristis (L.) Gaertn., Bruschia macrocarpa Bertol., Scabrita scabraL., Scabrita triflora
ชื่อสามัญ Night Blooming Jasmine, Coral jasmine, Night jasmine
วงศ์ OLEACEAE
ถิ่นกำเนิดกรรณิการ์
กรรณิการ์มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอเชียใต้ บริเวณตอนกลางของประเทศอินเดีย (แต่มีอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่บริเวณแถบตอนเหนือของปากีสถานไปจนถึงตอนกลางของอินเดีย รวมถึงตอนเหนือของเนปาล) สำหรับในประเทศไทยนั้นมีการสันนิษฐานว่ากรรณิการ์ เข้ามาในประเทศไทยปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และพบชื่อปรากฏในวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และเรื่องลิลิต ตะเลงพ่าย ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และชื่อกรรณิการ์ที่คนไทยใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่ากรรณิการ์ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งหมายถึงช่อฟ้า กลีบบัว ดอกไม้ ตุ้มหู และเครื่องประดับหู เพราะกากสังเกตรูปทรงของดอกกรรณิการ์แล้ว จะเห็นว่า มีหลอดที่ใช้สอดในรูที่เจาะใส่ตุ้มหูได้ และกลีบเล็กๆ ที่มีปลายแฉก เหมาะจะใช้เป็นเครื่องประดับหูได้ดี
ประโยชน์และสรรพคุณกรรณิการ์
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้ปวดข้อ
- แก้ไข้
- ช่วยเจริญอาหาร
- บำรุงน้ำดี
- แก้โลหิตตีขึ้น
- แก้ตานขโมย
- แก้ไข้ผอมเหลือง
- แก้ไข้ไม่รู้สติ
- แก้พิษทั้งปวง
- แก้ตาแดง
- แก้ลมวิงเวียน
- เป็นยาอายุวัฒนะ
- บำรุงผิวหนังให้สดชื่น
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้ไอ
- แก้ท้องผูก
- บำรุงธาตุ
- บำรุงกำลัง
- บำรุงเส้นผมให้ดกดำ
- แก้ผมหงอก
- เป็นยาขับประจำเดือน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ โดยใช้เนื้อไม้หรือเปลือกต้นชั้นในมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ขับน้ำดี แก้ไข้ โดยใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ เติมน้ำคั้นลงไปแล้วคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง หากกินมากจะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ใช้แก้พิษทั้งปวง ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้ปวดข้อ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ลมวิงเวียน แก้ตามขโมย โดยใช้ดอกมาตากแห้ง แล้วนำมาต้มน้ำดื่มหรือนำมาชงแบบชาก็ได้ ใช้แก้ท้องอืด ท้องผูก แก้ไอ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงผิวหนังโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงเส้นผม แก้ผมหงอก โดยใช้ใบนำไปแช่กับน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 คืน นำมาใช้ทาหมักผมก่อนนอน
ลักษณะทั่วไปกรรณิการ์
กรรณิการ์ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือ ไม้ต้นขนาดเล็กไม้พลัดใบ สูง 2-4 เมตร มีเรือนยอดเป็นทรงพีระมิด เปลือกต้นมีสีขาว ผิวหยาบ ลำต้น และกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสาก ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน เป็นคู่ๆ ตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปหอกเป็นสีเขียว แผ่นใบหนา ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนขอบใบเรียบหรืออาจจะหยักแบบห่างๆ กัน หลังใบมีขนแข็ง สากมือ ปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนท้องใบมีขนแข็งสั้นๆ และมีเส้นแขนงของใบข้างละ 3-4 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงบริเวณซอกใบ หรือปลายกิ่ง ออกดอกประมาณช่อละ 3-7 ดอก มีลักษณะโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีส้มแดง ยาว 1.50 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบดอกสีขาว 5-8 กลีบ บิดเวียนคล้ายกังหัน ขอบกลีบจักหรือเว้า ขนาดดอกเมื่อบานเต็มที่มีขนาด 1.5-2 เซนติเมตร และกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบสีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ก้านช่อดอกมีใบประดับเล็กๆ 1 คู่ ทั้งนี้ดอกกรรณิการ์ มีกลิ่นหอมแรง จะเริ่มบานในช่วงเย็นและร่วงในช่วงเช้า ผล มีลักษณะค่อนข้างแบน เป็นรูปไข่กลับมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลเป็นมนและมีติ่งแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ด้านในผลมีเมล็ดซีกละ 1 เม็ด โดยมีลักษณะกลมแบนสีน้ำตาล
การขยายพันธุ์กรรณิการ์
กรรณิการ์ เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการปักชำกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายประหยัดเวลาและออกรากได้ง่าย แต่จะต้องใช้กับกิ่งที่มียอดอ่อนเท่านั้น สำหรับวิธีการปักชำก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการปักชำ ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของกรรณิการ์ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้
ใบ พบสารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ irridoid glycosides-arborsides A, B, และ C,desrhamnosylverbacoside, 6 beta-hydroxyloganin, 6,7-di-O-benzoylnycthanoside, 6-O-trans-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin และ 7-O-trans-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น nicotiflorin เป็นต้น
ดอก พบสารกลุ่มไดเทอร์ปีน เช่น nyctanthin สารกลุ่มไกลโคไซด์ เช่น irridoid glycosides arbortristoside C, nyctanthoside, 6-O-trans-acetyl-7-O-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin, isoarborside C, 6 beta-hydroxy loganin สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ apigenin,quercetin, kaemferol, anthocyanin ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากดอกพบ สาร α-pinene และ p-cymene
ในเมล็ด พบสารเทอร์ปีน เช่น nyctanthic acid และ triterpenes-3,4-secotriterpene acid สารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ irridoid glycosides arbortristosides A, B, C, D และ E เป็นต้น ส่วนหลอดกลีบดอกพบสาร nyctanthin
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกรรณิการ์
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรรณิการ์หลายฉบับระบุว่ามีฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีการศึกษาวิจัยการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดกรรณิการ์ หลายวิธีได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl), hydroxyl, superoxide radicals และ H2O2 scavenging assays พบว่า สารสกัด acetone ที่ละลาย จากสารสกัด ethyl acetate ของใบกรรณิการ์สด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ของ liposomes ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ Fe2+ และยับยั้งการทำลาย DNA จากรังสีแกมมาได้ ทั้งนี้เนื่องจากสารสกัดมี phenolics และ flavonoids เป็นส่วนประกอบ จึงทำให้มีความสามารถในการเป็นตัวรีดิวซ์ที่แรง ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH ของสารสกัดจากใบกรรณิการ์แห้งพบว่า สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ได้แก่ สารสกัด butanol, ethyl acetate, สารมาตรฐาน butylated hydroxytoluene (BHT) และ สารสกัด petroleum ether มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้ง เท่ากับ 97.42% , 94.61%, 84.63% และ 82.04% ตามลำดับ
สำหรับสารสกัดน้ำจากกลีบเลี้ยงของดอกกรรณิการ์ ออกฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีกว่าสารสกัดจากดอก และกลีบดอก การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของดอกแห้ง และดอกสดโดยใช้หลายวิธี ได้แก่ lipid peroxidation assay, reducing activity และ H2O2 scavenging assay และการทดสอบทั้งในระบบที่ใช้เอนไซม์และไม่ใช้เอนไซม์ พบว่าการสกัดดอกแห้งด้วย methanol มีองค์ประกอบของสารกลุ่ม phenolics สูง และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่แรง ในขณะที่สารสกัดดอกแห้งด้วยน้ำ ออกฤทธิ์ดีในระบบการทดสอบที่ใช้เอนไซม์ และสารสกัดเอทานอลจากลำต้นยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีในหลายการทดสอบ โดยสรุปสารสกัดจากต้นกรรณิการ์พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งจากส่วนของใบ ลำต้น และดอก
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีการทดสอบสารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบ และดอกกรรณิการ์ และสารสกัดจากใบด้วย ethanol 50% พบว่าสามารถเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ SOD (superoxide dismutase ) และเอนไซม์ catalase ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และลดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ SGPT (serum glutamate pyruvate transaminase; Alanine aminotransferase [ALT]) และ SGOT (serum glutamic-oxaloacetic transaminase; Aspartate aminotransferase [AST]) ในเลือด ลดระดับโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ได้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้สารสกัด ethanol จากเปลือกต้นกรรณิการ์ แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทดสอบในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin-nicotinamide พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นสามารถลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ
ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง มีการทดสอบฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ของสารสกัดส่วนที่ละลายน้ำจากการสกัดใบด้วยแอลกอฮอล์ เมื่อป้อนให้หนูขาว ในขนาด 4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูแต่ละกลุ่ม พบว่า มีฤทธิ์ทำให้สงบ (sedative effect) อย่างมีนัยสำคัญ และมีผลเพิ่มเวลานอนของหนูที่ได้รับยานอนหลับ phenobarbitone อย่างมีนัยสำคัญ และจากการค้นหาฤทธิ์อื่นๆ ได้แก่ การนอนหลับ, ฤทธิ์ทำให้สงบ, ฤทธิ์ชาเฉพาะที่, ฤทธิ์ลดอุณหภูมิร่างกาย และฤทธิ์กันชัก พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์เด่นในการทำให้สงบ ตามด้วยฤทธิ์ลดอุณหภูมิของร่างกาย
ฤทธิ์ลดการเกิดไขข้อเสื่อม มีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดแอลกอฮอล์จากใบ ผล และเมล็ดกรรณิการ์เพื่อยับยั้งโรคไขข้อเสื่อมในหนูทดลองที่ถูกทำให้ติดเชื้อวัณโรคจนเกิดอาการไขข้ออักเสบ จากนั้นได้ทำการป้อนสารสกัดให้กับหนูทดลองทางช่องปาก 25 มก./กก. เป็นเวลา 47 วัน พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยยับยั้งการเกิดไขข้อเสื่อมได้ โดยจะช่วยลดการตายปริมาณของเซลล์ที่เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญคือ
ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย มีการศึกษาฤทธิ์ต้านมาลาเรียในผู้ป่วยโรคมาลาเรียจำนวน 120 คน โดยใช้ใบสดขนาดกลางจำนวน 5 ใบ มาบดจนมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก (fresh paste) รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7-10 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 92 คน (76.7%) ภายใน 7 วัน อีก 20 คน มีอาการดีขึ้นภายใน 10 วัน มีเพียง 8 คน ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และผู้ป่วย สามารถทนต่อยาได้ดี และไม่มีรายงานการพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง นอกจากนี้พบว่าสารสกัด methanol และสารสกัด chloroform จากใบ สามารถกำจัดตัวอ่อนยุงก้นปล่องที่เป็นสาเหตุของไข้มาลาเรียได้ โดยสามารถฆ่าตัวอ่อนของลูกน้ำยุงก้นปล่องได้ โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 244.4 และ 747.7 ppm ตามลำดับ และมีการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่าสารสกัดกรรณิการ์ มีฤทธิ์ดังนี้
สารสกัดเอทานอล จากส่วนหลอดดอก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ 5 ใบ มีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทาน และสารสกัดเอทานอล มีฤทธิ์ลดไข้ และลดอาการปวด 4 ส่วนสารสกัดเอทานอลเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและแก้ปวด เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของกรรณิการ์
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกรรณิการ์ ระบุว่า สารสกัด ethanol จากใบ เมื่อป้อนให้หนูแรท พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 16กรัม/กิโลกรัม แต่เมื่อให้ในขนาด 2 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบสัตว์ทดลองตาย และเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบในขนาด 1, 2 และ 4 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ในแต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อเนื่องกัน พบว่าทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเกิดแผลในกระเพาะอาหารหนูแรท โดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ได้รับ และทำให้หนูถีบจักรถ่ายเหลวเนื่องจากออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย (purgative effect)
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ควรระวังการใช้กรรณิการ์ ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากมีการใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านในหลายประเทศ ใช้ส่วนหลอดดอกเป็นสมุนไพร ขับประจำเดือน และการนำใบกรรณิการ์มาใช้ประโยชน์ควรระมัดระวังในการเก็บเนื่องจากใบค่อนข้างกระด้างอาจทำให้เกิดผื่นคันให้กับผิวหนังกับผู้ที่มีอาการแพ้ได้ ส่วนการใช้ใบตามสรรพคุณทางยา โดยการนำมาตำค้นเอาน้ำรับประทานควรรับประทานแต่พอดีเพราะหากรับประทานมากจะมีฤทธิ์ระบายอาจทำให้มวนท้องและไซท้องได้
เอกสารอ้างอิง กรรณิการ์
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “กรรณิการ์”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.หน้า 81.
- ร.ต.อ.เปี่ยม บุณยโชติ. ตำรายาผงแพทย์แผนโบราณ. กทม.: ห้างหุ้นส่วนจำกัดเกษมบรรณกิจ, p 206.
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น. 2546. 1,488 หน้า.
- กรรณิการ์ Night Jasmine. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 151.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ. 2542 หน้า 3.
- กองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข. ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป. กทม.
- เดชา ศิริภัทร. กรรณิการ์ คุณค่าที่คู่ควรจมูกตา (และหู). คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 268. สิงหาคม 2544.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. กรรณิการ์ (Kanni Ka). หนังสทอสมุนไพรเล่มที่ 1. หน้า 16.
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร, ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พัลลิชชิ่ง. 2555. หน้า 314.
- ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. 2549. พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 27.
- กรรณิการ์. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=302
- Abhishek Kumar Sah1* and Vinod Kumar Verma. Phytochemicals and Pharmacological Potential of Nyctanthes arbortristis: A Comprehensive Review. International Journal of Research in Pharmaceutical and Biomedical Sciences 2012; 3(1) : 420-6.
- Jain PK and Pandey A. The wonder of Ayurvedic medicine – Nyctanthes arbortristis. International Journal of Herbal Medicine. 2016; 4(4): 9-17.
- Champa Rani Sunaina Chawla Manisha Mangal, Anupam K Mangal, Subhash Kajla. Nyctanthes arbor-tristis Lnn. (Night Jasmine): A sacred ornamental plant with immense medicinal potentials. Indian Journal of Traditional Knowledge 2012; 11(3):427-435.
- Gulshan B, KA S, Parul G. A Comprehensive review on Nyctanthes arbortristis. Int J Drug Dev & Res. 2015;7(1):183-193.
- Rangika, B.S., Dayananda, P.D. & Peiris, D.C. Hypoglycemic and hypolipidemic activities of aqueous extract of flowers from Nycantus arbor-tristis L. in male mice. BMC Complement Altern Med 15, 289 (2015).