สายหยุด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สายหยุด งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สายหยุด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สายหยุด (ภาคกลาง, ภาคใต้), เสลาเพชร (สุราษฎร์ธานี), กล้วยเครือ (สระบุรี), เครือเขาแกลบ (เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmos chinensis Lour.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Unona discolor Vahl., Desmos lawii (Hook.f. & Thomson) Saff., Artabotrys esquirolii H.Lév.
ชื่อสามัญ Desmos, Chinese Desmos
วงศ์ ANNONACEAE

ถิ่นกำเนิดสายหยุด 

สายหยุดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีนลงมาผ่านเวียดนาม ลาว พม่า ไทย กัมพูชา จนถึงแหลมมาลายู บริเวณประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งอาจถือได้ว่าสายหยุดเป็นพืชประจำถิ่นที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเราได้เช่นกัน ทั้งนี้ชื่อสายหยุดนั้นสัณนิษฐานว่าได้มาจากความหอมของดอก เพราะดอกสายหยุดจะเริ่มส่งกลิ่นหอมแรงเมื่อพลบค่ำ และจะมีกลิ่นหอมแรงที่สุดช่วงเวลาเช้ามืด แล้วกลิ่นจะค่อยๆ จางลงในเวลากลางวัน จึงเรียกกันว่าสายหยุด และสำหรับสายหยุดในประเทศไทยนั้น สามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะภาคกลาง และภาคเหนือมักพบตามบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น และตามป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณสายหยุด

  1. แก้ท้องร่วง
  2. แก้บิด
  3. แก้ไข้
  4. ช่วยบำรุงหัวใจ
  5. แก้ลมวิงเวียน
  6. ช่วยขับพยาธิ
  7. แก้ปวดเมื่อย
  8. แก้ท้องเดิน
  9. รักษาอาการติดยาเสพติด
  10. แก้ท้องอืด
  11. แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  12. แก้วิงเวียนศีรษะ
  13. ช่วยทำให้กระชุ่มกระชวย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับพยาธิ โดยใช้ผล และเมล็ดสายหยุด แห้งมาต้มกันน้ำดื่มใช้แก้ไข้ บำรุงหัวใจ โดยนำดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ ทำให้กระชุ่มกระชวย โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกมาวางลงบนผ้าเช็ดหน้าแล้วสูดดม หรือ ใช้นำไปผสมกับตัวยาอื่นๆ ในตำรับตำรายาต่างๆ นอกจากนี้ดอกแห้งยังนำเป็นส่วนผสมของยาหอมตำรับต่างๆ ได้อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของสายหยุด

สายหยุด จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หรือ ไม้เถาเลื้อย สูง 1-5 เมตรเมื่ออายุมากกิ่งจะเลื้อยไปตามสิ่งยึดเกาะและจะสามารถยาวได้ถึง 20 เมตร มีลักษณะแข็งเถาเรียบสีน้ำตาลเข้มเกือบดำผิวแตกเป็นร่อง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น มีรูระบายอากาศ กิ่งแก่เกลี้ยง สีดำ ใบเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับกัน โดยจะออกบนส่วนปลายของกิ่งแขนง ใบเป็นรูปหอก โคนใบกว้าง ปลายใบแหลม หรือ มีติ่งแหลม มีก้านใบสั้น แผ่นใบเรียบบางแต่เหนียว ขอบใบโค้งเป็นลูกคลื่น ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่ออายุมากมีสีเขียวเข้ม ด้านบนของใบเป็นมันด้านล่างมีนวล ขนาดใบกว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบจะเห็นเส้นกลางใบชัดเจน และมีเส้นใบแขนงแยกสลับกันออกด้านข้าง 5-10 คู่ ขึ้นอยู่กับความยาวของใบ ดอกคล้ายๆ กับจำปา จำปี ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ประกอบด้วยก้านดอกสีเขียว ยาวประมาณ 3-8เซนติเมตร มีขนขึ้นทั่วไป ถัดมาเป็นตัวดอกที่มีกลีบเลี้ยงรูปหอก 3 อัน ขนาดเท่ากัน และเรียงห่างกันเป็นสามเหลี่ยม ถัดมาเป็นฐานดอกที่มีกลีบดอก 6 กลีบ โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบดอกชั้นนอกเป็นแผ่นกลีบบางกว้าง และยาวกว่ากลีบดอกชั้นใน ความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนกลีบชั้นในยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ซึ่งแผ่นกลีบ และขอบกลีบดอกจะเรียบ แผ่นกลีบดอกจะเป็นสีเขียว และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมองเห็นเส้นกลีบดอกชัดเจน โดยกลีบดอกเมื่อบานเต็มที่จะส่วนปลายกลีบโค้งงอเข้าหาดอก หรือ มีลักษณะบิดงอ และมีความหอมมาก ผลออกเป็นช่อหรือแบบผลกลุ่ม มี 10-30 ผล ย่อยต่อช่อ ผลย่อยเป็นมันลักษณะคล้ายสร้อยลูกปัดคอดเป็นข้อๆ ระหว่างช่วงเมล็ด ได้ถึง 3-6 ข้อ ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีดำ ส่วนก้านผลย่อยยาว 8 มิลลิเมตร และก้านช่อผลยาว 2-3.5 เซนติเมตร ยังมีขนขึ้นกระจายตามก้านผล และก้านผลย่อย โดยในหนึ่งผลย่อยมีเมล็ด 2-5 เมล็ด มีรอยคอดระหว่างเมล็ดชัดเจน เมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปรี กว้าง 0.4-0.5 ซม. ยาว 0.5-0.8 ซม. ผิวเกลี้ยง สีน้ำตา

 สายหยุด 

การขยายพันธุ์สายหยุด

สายหยุด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด เพราะสะดวก และรวดเร็วกว่าวิธีการตอนกิ่ง โดยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้พุ่มรอเลื้อยชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ สายหยุดเป็นพืชที่เจริญเติบโตค่อนข้างโดยหลังจากการปลูกประมาณ 3-4 ปี จึงจะให้ดอก

           นอกจากนี้สายหยุดยังเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งที่ชอบดินร่วนซุยไม่ชอบน้ำขัง และยังมีความต้องกาแสงแดดมากพอสมควร ส่วนการรดน้ำควรรดน้ำให้ชุ่มเพียงวันละ 1 ครั้ง เท่านั้น

สายหยุด

องค์ประกอบทางเคมี 

มีการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของสายหยุด ระบุว่าพบสารสำคัญต่างๆ เช่น ในสารสกัดจากใบของสายหยุดพบสาร hydroquinone ในน้ำมันหอมระเหยพบสาร α-pinene, β-pinene, linalool, limonene, camphene, germacrene D, Anisole, benzyl benzoate, aromadendrene, nonanal และ β-caryophyllene เป็นต้น

โครงสร้างสายหยุด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสายหยุด

มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในสารสกัดใบสายหยุด พบว่า สารสกัดขั้นเฮกเซน และคลอดโรฟอร์ม มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ก่อโรคกลาก (Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes และ Microsporum gypseum) โดยให้ค่า MIC อยู่ในช่วง 0.03-0.06 มก./มล. นอกจากนี้พบว่าสารสกัดชั้นคลอโรฟอร์มยังสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ดีโดยให้ค่า MIC ต่อเชื้อ Staphylococcus epidermidis, Staphyloclccus aureus และ Bacillus subtilis เท่ากับ 0.5,1.0 และ 1.0 มก./มล. ตามลำดับ

       นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุถึง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสายหยุดไว้ดังนี้ สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบ และต้นสามารถต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้บ้าง ต้านการชักในสัตว์ทดลองได้ดี โดยสารสกัดนี้มีพิษเฉียบพลันปานกลางบ (LD50 = 500 มก./กก.) และมีรายงานว่าสาร Linalool ซึ่งเป็นสารหลักที่มีอยู่ในน้ำมันที่ได้จากดอกสายหยุด มีฤทธิ์สงบประสาท ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

การศึกษาทางพิษวิทยาของสายหลุด

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวังของสายหลุด

ในการใช้ส่วนต่างๆ ของสายหยุด หรือ น้ำมันหอมระเหยของสายหยุดเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในปริมาณที่พอดีไม่ควรใช้มากเกินกว่าที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้สายหยุด หรือ น้ำมันหอมระเหยของสายหยุดเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง สายหลุด
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ.2542 หน้า (147)
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.“สายหยุด (Sai Yud)”. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. หน้า 300.
  3. เดชา ศิริภัทร. สายหยุด เสน่ห์ยามเช้าของความหอม. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 266. มิถุนายน 2544
  4. เอกราช.กาศโอสถ.การสังเคราะห์อนุพันธิ์ของไฮโดรควิโนน จากสารสกัดใบสายหยุด. วิทยาศาสตร์ ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 57 หน้า
  5. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. -กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. 2546.1, 488 หน้า (1,183)
  6. สายหยุด.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=291
  7. สายหยุด สรรพคุณ และการปลูกสายหยุด. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) . เข้าได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. วชัย อภัยสุวรรณ. 2545. ดอกไม้เมืองไทย. กรุงเทพฯ:ประเสริฐศิริ. 146 น.
  9. Jianhua,J.,and T.Jingguang,1999.Studies on chemical constituents of seeds of Desmos chinensis Lour. Zhongguo Zhongyao Zazhi 24(7):418-421.
  10. Kummee, S., and N. Intaraksa, 2008. Antimierobial activity of Desmos chinensis leaf and  Maclura cochinchinensis wood extracts. Songklanakarin Journal of Science and Technology 30(5):635-639.
  11. Wu J-H., Wang X-H. and Lee K-H., 2003. Anti-AIDS Agents 54. A Potent Anti-HIV Chalcone and Flavonoids from Genus Desmos. Bioorganic & Medicinal Chemistry Letters 13:1813-1815.