โกฐก้านพร้าว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
โกฐก้านพร้าว งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ
ชื่อสมุนไพร โกฐก้านพร้าว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โกฐก้านมะพร้าว, กะฎุกะ, กฎุโรหิณี, กฎุกะโรหิณี, หูหวางเหลียน, โอวไห้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Picrorhiza kurroa Royle ex Benth. (พันธุ์อินเดีย) Neopicrorhiza scrophulariiflora (Pennell) D.Y.Hong (พันธุ์ทิเบต)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Picrorhiza lindleyana Steud, Veronica lindleyana Wall. (พันธุ์อินเดีย) Picrorhiza scrophulariiflora Pennell (พันธุ์จากทิเบต)
ชื่อสามัญ Picorrhiza
วงศ์ PLANTAGINACEAE
ถิ่นกำเกิดโกฐก้านพร้าว
เชื่อกันว่าโกฐก้านพร้าวมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นแคชเมียร์ถึงแคว้นสิกขิมของอินเดีย แต่บางตำราระบุว่ามีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาหิมาลัย ในเขตปากีสถานจนถึงเนปาล ปัจจุบันมีแหล่งปลูกโกฐก้านพร้าว ที่สำคัญ คือ จีน ทิเบต ศรีลังกา และเนปาล สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีการปลูกโกฐก้านพร้าว เท่าใดนัก โดยส่วนมากในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องยา ตำรับต่างๆ นั้น มักจะเป็นการส่งนำเข้าจากประเทศต่างๆ ข้างต้น
ประโยชน์และสรรพคุณโกฐก้านพร้าว
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- ใช่เป็นยาระบายอ่อนๆ
- ใช้เป็นยาบำรุง
- แก้ไข้จับสั่น
- ใช้เป็นยาขับน้ำดี
- แก้ไข้
- แก้สะอึก
- แก้เสมหะเป็นพิษ
- แก้อาเจียน
- แก้ลม
- ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น
- แก้เลือดกำเดา
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- แก้ไอเป็นเลือด
- แก้ร้อนใน
- แก้หอบ
- ช่วยลดไข้
- แก้ไข้เรื้อรัง
- แก้เหงื่อออกไม่รู้ตัว
- แก้ซางตัวร้อนในเด็ก
- ช่วยชูกำลัง
- บำรุงเลือด
- บำรุงกระดูก
- แก้ริดสีดวงทวาร
- ช่วยขับลม
นอกจากนี้ยังได้มีการนำโกฐก้านพร้าว มาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐก้านพร้าว จัดอยู่ใน โกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) โดยพิกัดโกฐทั้ง 7 จะประกอบไปด้วยโกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว ส่วน“พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ไข แก้ร้อนใน แก้สะอึก แก้หอบ แก้เสมหะเป็นพิษ แก้อาเจียน แก้กำเดา แก้ซางในเด็ก แก้ลม แก้บิด แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้เหง้าแห้ง นำมาบดเป็นยาผง ใช้รับประทานครั้งละ 0.5-1.5 กรัม หรือ ใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ครั้งละ 3-10 กรัม
ส่วนในตำรับยาต่างๆ ที่มีส่วนผสมของโกฐก้านพร้าว เช่น ยาหอมเทพจิตร, ยาหอมนวโกฐ, พิกัดโกฐทั้ง 7, 9 ให้รับประทานตามที่ระบุไว้ในตำรับยานั้นๆ
ลักษณะทั่วไปของโกฐก้านพร้าว
โกฐก้านพร้าวจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1-2 ปี โดยที่ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีเหง้าลักษณะกลมยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร อยู่ใต้ดิน ใบออกติดกับราก หรือ เหง้า ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรีเหมือนช้อน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ซึ่งใบมักออกซ้อนกัน ดอกออกเป็นช่ออยู่บนก้านดอกยาวที่แทงขึ้นจากโคนใบ ดอกมีสีม่วงเข้มหรือสีม่วงน้ำเงิน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลม ส่วนเมล็ดเป็นรูปไข่มีสีดำเงา ขนาดยาวประมาณ 1.2 มิลลิเมตร
ทั้งนี้ส่วนของโกฐก้านพร้าว ที่มักจะนำมาทำเป็นยา คือ เหง้าแห้ง มีลักษณะกลมยาว โดยจะมีความยาวประมาณ 3-6 ซม. ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 ซม. มีลักษณะคล้ายก้านย่อยของช่อดอกมะพร้าวเมื่อช่อดอกนั้นติดลูก ที่เรียกกันว่า “หางหนูมะพร้าว” มี 5-8 ข้อ แต่ละข้อมีขน ผิวนอกมีสีน้ำตาลแกมเทาเข้ม มีวงๆ อันเป็นแผลเป็นของตา มีตาและมีส่วนของลำต้นติดอยู่บ้าง เนื้อนิ่ม รากมีรอยย่นตามแนวยาว มีรอยแตกตามขวาง และมีรอยแผลเป็นสีเทา หรือ สีน้ำตาลเป็นจุดๆ ที่รอยหักแข็ง เนื้อในสีดำ มีรสขมจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
การขยายพันธุ์โกฐก้านพร้าว
โกฐก้านพร้าว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการแยกเหง้าไปปลูก สำหรับวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด และการแยกเหง้าปลูกของพืชล้มลุกชนิดอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในหลายๆบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
ในเหง้าของโกฐก้านพร้าว พบสารขมชื่อ picrorrhizin อยู่ในปริมาณสูง นอกนั้นยังมีสารอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น aucubin, สารกลุ่ม iridoid glycosides และยังพบสารสำคัญกลุ่ม iridoid glucosides ได้แก่ picroside I, picroside II, picroside III, picroside IV, kutkoside, pikuroside สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ apocynin และ vanillic acid ส่วนในน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากโกฐก้านพร้าว พบสาร dihydrobenzofuran, 2,3,5,6-tetramethylphenol, acetovanillone alerenal, p-anethole, acetophenone, cinnamaldehyde, acetanisole, phenol, isoeugenol, elemol, nerolidol
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกฐก้าพร้าว
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโกฐก้านพร้าว
ฤทธิ์ต้านอาการข้ออักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านอาการข้ออักเสบของสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ (hydroalcoholic extract) จากรากของโกฐก้านพร้าว (Picrorhiza kurroa rhizome extract; PKRE) ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร formaldehyde และ adjuvant induced arthritis (AIA) โดยให้หนูกิน PKRE ในขนาด 50, 100 และ 200 มก. จากการทดลองพบว่า PKRE สามารถลดการแสดงออกของสารก่อการอักเสบ เช่น interleukin-1β (IL-1β), interleukin-6 (IL-6), tumor necrosis factor receptor-1 (TNF-R1) และ vascular endothelial growth factor ในข้อต่อชนิดซินโนเวียล (Synovial) ได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และยังลดตัวบ่งชี้การเกิดออกซิเดชันและการอักเสบ เช่น malonaldehyde, nitric oxide, tumor necrosis factor alpha รวมทั้งเพิ่มการออกฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น glutathione, superoxide dismutase และ catalase นอกจากนี้ PKRE ยังลดการแสดงออกของ matrix metalloproteinases-3 และ 9 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์จากรากของโกฐก้านพร้าวมีฤทธิ์ต้านอาการข้ออักเสบ ซึ่งคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์น่าจะเกี่ยวข้องกับการยับยั้งสารก่อการอักเสบ และสารที่กระตุ้นการสร้างหลอดเลือด รวมทั้งกระตุ้นกระบวนการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการแสดงออกของ matrix metalloproteinases
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของโกฐก้านพร้าวโดยสกัดสารสำคัญจากเหง้าของโกฐก้านพร้าวด้วยวิธีการหมักด้วย 70% เอทานอล เป็นเวลา 2 วัน และทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน BHA (Butylated Hydroxyanisole) และความสามารถในการคีเลตไอออนของโลหะ (metal chelator) เป็นการทดสอบความสามารถในการแย่งจับกับโลหะไอออน Fe2+ เนื่องจากโลหะไอออนเป็นตัวการสำคัญในการเร่งปฏิกิริยา ให้เกิดสารอนุมูลอิสระต่างๆ หลายชนิด การทดสอบความสามารถในการรีดิวซ์ของสารต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี FRAP assay หรือ ความสามารถในการให้อิเล็กตรอน โดยศึกษากลไกการเกิดปฎิกิริยารีดักชั่นของ Fe3+-TPTZ ไปเป็น Fe2+ -TPTZ การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งออกซิเดชันของไขมัน (antilipid peroxidation) ด้วยวิธี thiobarbituric acid โดยใช้ AAPH (2,2′-azobis-2-methyl-propanimidamide, dihydrochloride) เหนี่ยวนำการเกิดออกซิเดชัน ในเซลล์ตับหนู ในหลอดทดลอง และนอกจากนี้ยังศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันการทำลายสารกลุ่ม macromolecule เช่น DNA, protein และ lipid ผลการทดลองพบว่าฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ วิธี DPPH, metal chelator, FRAP, antilipid peroxidation ของสารสกัดเหง้าโกฐก้านพร้าวด้วย 70% เอทานอล มี่ค่า IC50 เท่ากับ 75.16±3.2, 55.5±4.8, 41±2.4 และ 40±3.8 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ และสามารถยับยั้งการเกิดความเสียหายของ macromolecule ใน DNA ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเสียหายโดยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) และในโปรตีนอัลบูมินในเลือดวัว ที่ถูกออกซิไดส์ เมื่อเหนี่ยวนำด้วย AAPH จึงสรุปได้ว่าสารสกัดเหง้าโกฐก้านพร้าวมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยปกป้องการทำลาย DNA, protein, lipid จากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ โดยพบปริมาณสารโพลีฟีนอล และฟลาโวนอยด์ปริมาณสูงในสารสกัด
ฤทธิ์ปกป้องสมองการทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมองจากภาวะขาดเลือดของสาร apocynin ซึ่งพบได้ในส่วนรากของโกฐก้านพร้าว (Picrorhiza kurroa Royle ex Benth.) ในหนูแรทเพศผู้ที่ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดด้วยการเย็บปิดบริเวณเส้นเลือดแดงมิดเดิล ซีรีบรัล (middle cerebral artery; MCA) ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักที่นำเลือดมาเลี้ยงสมอง โดยให้สาร apocynin ขนาด 1-20 มก./กก. ก่อนทำให้เกิดภาวะขาดเลือด (ischemia) 30 นาที หรือ ให้สาร apocynin ทันทีหลังจากเปิดบริเวณที่เย็บ MCA โดยหลังจากเปิดบริเวณที่เย็บ จะปล่อยให้เลือดไหลสู่ MCA (reperfusion) เป็นเวลา 5.5 ชม. แล้วจึงผ่าตัดนำสมองออกมา จากผลการทดลองพบว่า การให้สาร apocynin ก่อนทำให้เกิดภาวะขาดเลือด 30 นาที รอยแผลในสมองลดลงประมาณ 50% โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดของสารที่ให้ การวิเคราะห์ทางเนื้อเยื่อพบว่า ระดับของ glutathione (GSH), protein adducts (HNE-His), hydrogen peroxide (H2O2) และ DNA fragmentation (apoptotic cell death) เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สาร apocynin อาจมีผลในการเพิ่มระบบการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant defense systems) เพื่อจำกัดระดับความรุนแรงของการเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเครียดของเซลล์ในภาวะที่สมองขาดเลือด นอกจากนี้ กลไกดังกล่าวยังทำให้เซลล์มีการตายในรูปแบบของ apoptotic มากกว่ารูปแบบของ necrotic ซึ่งทำให้ความผิดปกติที่เกิดจากภาวะขาดเลือดลดลง
ฤทธิ์ปกป้องตับ การศึกษาฤทธิ์ในการปกป้องตับของโกฐก้านพร้าว ทำในสัตว์ทดลอง โดยใช้ galactosamine เหนี่ยวนำให้ตับหนูแรทอักเสบ พบว่าการป้อนผงรากขนาด 200 mg/kg ทำให้ปริมาณไขมันในตับ ระดับเอนไซม์ GOT, GPT ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) จากการทดลองนี้จึงแสดงว่าสารสกัดของโกฐก้านพร้าวมีฤทธิ์รักษาภาวะตับอักเสบจากไวรัส และมีฤทธิ์ต่อการปกป้องตับได้
ส่วนการศึกษาทางคลินิกในการปกป้องตับของโกฐก้านพร้าว โดยทำการทดลองแบบ randomised, doubleblind placebo controlled trial ในผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัส (HBsAg negative) จำนวน 33 คน โดยทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก (n=18) จะได้รับยาหลอก ส่วนกลุ่มที่สอง (n=15) จะได้รับผงรากโกฐก้านพร้าวขนาด 375 มิลลิกรัม สามครั้งต่อวัน เป็นเวลาสองสัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ SGPT, SGOT และ bilirubinมีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโกฐก้านพร้าว และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (p<0.05) และเวลาที่ใช้ในการทำให้ระดับของ bilirubin ของผู้ป่วยมีค่าลดลงสู่ระดับปกติ (2.5 mg %) พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดของโกฐก้านพร้าวใช้เวลาต่ำกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเป็น 27.44 วัน และ 75.9 วัน ตามลำดับ
ฤทธิ์รักษาแผล Picroliv เป็นสารสกัดจากรากของโกฐก้านพร้าว ซึ่งประกอบด้วย iridoid glycosides 2 ชนิด คือ picroside-1 และ kutkoside ผสมกันในอัตราส่วน 1:1.5 เมื่อนำมาทดสอบผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นเลือด โดยทดสอบกับเส้นเลือดแดงใหญ่ที่แยกจากหนูขาว พบว่า picroliv ที่ความเข้มข้น 0.5 และ 1 มคก./มล. มีผลเพิ่มการเจริญเติบโตของเส้นเลือดโดยจะเพิ่มการสร้างเส้นเลือดฝอย เพิ่มจำนวน และความยาวของหลอดเลือดเล็กๆ เพิ่มการงอก และแตกแขนงของเส้นเลือด สำหรับการทดสอบผลในการรักษาแผลในหนูขาวที่ทำให้เกิดแผลที่หลัง โดยป้อน picroliv ขนาด 12 มก./กก. วันละครั้ง ดูผลในวันที่ 4 และ 7 ของการทดลอง พบว่ามีผลเพิ่มการสร้างเยื่อบุผิวที่แผล การสร้างเส้นเลือดใหม่ และการเคลื่อนย้ายของเซลล์ต่างๆ เช่น endothelial myofibroblasts และ fibroblasts ไปยังบาดแผล และยังเพิ่ม vascular endothelial growth factor ซึ่งมีส่วนในกระบวนการรักษาแผลด้วย
ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ของสารสกัดเอทานอลจากเหง้า และรากของโกฐก้านพร้าวโดยทำการทดลองในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ wistar ป้อนสารสกัดขนาด 100 mg/kg เป็นเวลา 10 วัน ก่อนได้รับสารเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คือ กรดไฮโดรคลอริก (0.15 N HCl ละลายใน 70% v/v เอทานอล) บันทึกค่า acid/pepsin, lipid peroxidation, antioxidant status, proteins และ glycoproteins ผลการทดลองพบว่า สารสกัดสามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ และทำให้ค่าพารามิเตอร์ต่างๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าปกติ เนื่องจากการได้รับสารละลายกรดที่ละลายในเอทานอล ทำให้มีจำนวนแผลในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น เพิ่มปริมาตรน้ำย่อย เพิ่มความเป็นกรด ลดการทำงานของ pepsin (เอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน) ลดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ได้แก่ SOD, CAT, GSH, โปรตีน, ไกลโคโปรตีน ในหนูที่มีแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดเอทานอลจากเหง้า และรากโกฐก้านพร้าว สามารถยับยั้งการเกิดผลเหล่านี้ ทั้งนี้อาจเกิดจากการทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระชนิดต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ จึงปกป้องเนื้อเยื่อบริเวณผนังของกระเพาะอาหาร ไม่ให้ถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ โดยลดการเกิด lipid peroxidation ทำให้ผนังกระเพาะอาหารแข็งแรง นับเป็นกลไกในการปกป้องสิ่งกระตุ้นทั้งจากภายใน และภายนอกที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐก้านพร้าว
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 12,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผู้ที่มีธาตุอ่อนควรระมัดระวังในการใช้โกฐก้านพร้าว เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
- ในการใช้โกฐก้านพร้าว บำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ก่อนจะใช้โกฐก้านพร้าวในการช่วยบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง โกฐก้านพร้าว
- ฤทธิ์ต้านอาการข้ออักเสบของโกฐก้านพร้าว ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐก้านพร้าว Picorrhiza”. หน้า 217.
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐก้านพร้าว”. หน้า 100.
- สารสำคัญจากโกฐก้านพร้าวกับฤทธิ์ปกป้องสมอง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- จันคนา บูรณะโอสถ, ปนัดดา พัฒนาศิน, ภัทราวดี เหลืองชุวประณีต, ปกรณ์ คามวุฒิ, อุทัย โสธนะพันธุ์. การวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสารระเหยจากเครื่องยาในพิกัดนวโกฐด้วยวิธีโดรมาโทรกราฟี แบบแก๊ส-แมสสเปกโทรเมทรี. วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์ปีที่ 11. ฉบับที่2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2559. หน้า 45-60
- Picrolive จากโกฐก้านพร้าวกับการรักษาแผล. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- โกฐก้านพร้าว. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=26
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 5 คณาเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548.หน้า 100-101
- Vaidya AB, Antarkar DS, Doshi JC, Bhatt AD, Ramesh VV, Vora PV, et al. Picrorhiza kurroa (Kutaki) Royle ex Benth as a hepatoprotective agent-experimental & clinical studies. Journal of postgraduate medicine. 1996;42(4):105-108.
- Anandan R, Deepa Rekha R, Saravanan N, Devaki T. Protective effects of Picrorrhiza kurroa against HCl/ethanol-induced ulceration in rats. Fitoterapia. 1999;70:498-501.
- Mallavarapu GR, Kulkarni RN, Baskaran K, Rao L, Ramesh S. Influence of plant growth stage on the essential oil content and composition in Davana (Artemisia pallens Wall.). J Agric Food Chem. 1999;47:254-8.
- Krupashree K, Hemanth Kumar K, Rachitha P, Jayashree GV, Khanum F. Chemical composition, antioxidant and macromolecule damage protective effects of Picrorhiza kurroa Royle ex Benth. South African Journal of Botany. 2014;94:249-254.