โทงเทง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โทงเทง งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร โทงเทง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ต้อมต๊อก, บ่าตอมต๊อก, มะก่องข้าว (ภาคเหนือ), โทงเทงน้ำ, ทุงทิง (ภาคกลาง), โคมจีน, โคมญี่ปุ่น (ทั่วไป), ปิงเป้ง (หนองคาย), ปุงปิง (ปัตตานี), จะเก๊าเหลือ (ม้ง),ซาผ่อเหมาะ (กะเหรี่ยง),ซึงเจี่ย, อั้งโกงเนีย, กิมเต็งลั้ง, เต็งอั้งเช้า, อ้วงบ๊องู, หลกซิ้งจู, เทียงผาเช้า, ขั่วกิมเต็ง, หวงกูเหนียง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Physalis angulata var. angulata
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Physalis minima Linn, Physalis angulata Linn.
ชื่อสามัญ Hogweed, Ground Cherry, Chinese lantern plnt.
วงศ์ SOLANACEAE

ถิ่นกำเนิดโทงเทง

โทงเทงมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกทั้งในทวีปแอฟริกา และเอเชีย สำหรับในประเทศไทยโทงเทง ได้มีการแพร่กระจายพันธุ์เข้ามาเป็นเวลานานมากแล้ว โดยในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ จนถึงขั้นกลายเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งเลยทีเดียว โดยเป็นพืชที่พบทั่วไปตามแหล่งน้ำขัง หรือ บริเวณพื้นที่ที่มีดินชุ่มมาก เช่น ริมแม่น้ำ ริมคลอง ทุ่งนาร้าง เป็นต้น แต่ในปัจจุนมีการเพาะ "เคพกูสเบอรี่" หรือ "โทงเทงฝรั่ง"


ประโยชน์และสรรพคุณโทงเทง

  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ใช้แก้ไข้ตัวร้อน
  • ใช้แก้อาการร้อนใน ไอร้อน
  • แก้กระหายน้ำ 
  • ใช้แก้ฝีในปอด
  • แก้ฝีในคอ พิษฝีขึ้นในคอ
  • รักษาดีซ่าน
  • รักษาไอหอบหืดเรื้อรัง
  • รักษาอาการเจ็บคอ
  • ใช้แก้ทอลซินอักเสบ
  • ใช้ขับพยาธิ
  • รักษาโรคเบาหวาน 
  • ใช้ระงับอาการปวด 
  • ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • แก้แผลติดเชื้อ แผลอักเสบ แผลเป็นหนอง
  • แก้ฟกช้ำ รักษาแผล แผลอักเสบ
  • แก้ผิวหนังเป็นผื่น
  • แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • รักษาโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ
  • รักษาโรคผิวหนัง ฝี หนอง
  • แก้ปวดฟัน
  • รักษาตับอักเสบ
  • รักษาอาการไขข้ออักเสบ
  • ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ
  • รักษาอาหารไม่ย่อย
  • รักษาไตอักเสบ
  • ใช้ลดไข้

           ผลสุกนำมารับประทานสด ลำต้น และใบ นำมาตากแห้ง บดให้ละเอียดอัดใส่แคปซูลรับประทาน หรือ นำมาตากแห้ง ใช้ชงเป็นชาดื่ม ส่วนสรรพคุณทางยา ตามตำรายาไทยระบุว่าโทงเทง ทั้งต้นและผลมีรสขม ถือเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ และมี


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ทั้งต้นตำละลายกับเหล้า เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้างๆ แก้มและค่อยๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อยๆ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอ (แซง้อ) และ แก้คออักเสบ สำหรับคนที่ไม่ดื่มสุรา จะใช้น้ำส้มสายชูแทนก็ได้ และได้ผลอย่างเดียวกัน
  • ใช้รักษาโรคหืด ใช้ทั้งต้นแห้ง 1/2 กิโลกรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลกรวดลงไปให้หวาน รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเป็นเวลา 10 วัน หยุดยา 3 วัน รับประทานต่อไปอีก 10 วัน พักอีก 3 วัน แล้วรับประทานต่อไปอีก 10 วัน หอบหืดจะได้ผลดี
  • ใช้รักษาแผลในปาก เจ็บคอ ใช้เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้วหนัก 10 กรัม เปลือกส้ม 6 กรัม ต้มกับน้ำผสมน้ำตาลกรวดพอหวานเล็กน้อย ใช้ดื่มต่างน้ำ
  • ใช้ขับพยาธิ รักษาโรคเบาหวาน ใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน
  • แก้ดีซ่าน ใช้ทั้งต้น 2 ต้น ต้มน้ำ คั้นเอาน้ำข้นๆ มาผสมน้ำตาลพอสมควร ให้รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง บางคนรับประทาน 10-15 ครั้ง ก็หายตัวเหลือง
  • แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ใช้ต้นนี้สดๆ (หรือ อย่างแห้งก็ใช้ได้) 3 หัว แผ่น ฝักชุบน้ำตาล 2 แผ่น ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือครึ่งถ้วย รับประทานครั้งเดียวหมด เด็กก็รับประทานลดลงตามส่วน
  • ใช้เป็นยาแก้คางทูม ด้วยการใช้โทงเทง และหูปลาช่อน อย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
  • แก้ตานซางในเด็ก ดีซ่าน ตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ จากการใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ดีซ่าน ด้วยการใช้โทงเทง 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน ต้นสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกรักษาฝีหนอง ฝีอักเสบมีพิษ ผดผื่นคัน หรือถ้ามีแผลด้วยก็ต้มเอาน้ำล้างแผล หรือ นำมาตำละลายกับน้ำหรือเหล้าใช้เป็นยาทาแก้พิษฝี แก้ฟกบวมอักเสบ ทำให้เย็น
  • ในตำรายาจีน “ซีกเองตงเช่าเอียะฉิ่วแฉะ” (หรือ คู่มือสมุนไพรจีน ฉบับปฏิบัติ) กล่าวว่าขนาดใช้ ใช้ 2 สลึง ถึง 3 สลึง ต้มกินแก้โรคต่อไปนี้ได้ดี หลอดลมอักเสบอย่างแรง ไอ หอบ ใช้โทงเทงกับเปลือกส้มจีนแห้งหรือตั้งพ๊วยอย่างละ 2 สลึง ต้มกินก็จะหาย หลอดอาหารอักเสบอย่างแรงจนคอบวมแดง กับเป็นแผลเน่า เป็นฝี ใช้โทงเทง กับเลี่ยงเคี้ยว (มีขายตามร้านขายยาจีน) อย่างละ 1 สลึง กับ 5 หุน (5 หุน เท่ากับ ½ สลึง) ชะเอม 1 สลึง ต้มกินก็จะหาย หรือ จะใช้โทงเทง แต่อย่างเดียวชงน้ำดื่มอย่างชา ก็จะมีผลเช่นกัน
  • โรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง ใช้โทงเทง อิงถิ่น และชะเอม อย่างละ 2 สลึง ต้มกินก็หาย และจากตำราสมุนไพรจีนอีกเล่มหนึ่งชื่อ “หิ่งต่อซีกเองตงเอียะ” กล่าวว่า หลอดลมอักเสบอย่างแรง ไออย่างแรง คอเจ็บ โรคเสียงแหบต่างๆ ใช้โทงเทง 6 กรัม ชะเอม 3 กรัม ‘ไต้ลักจื้อ’ 5 กรัม ‘อัวน่ำจื้อ’ 5 กรัม ‘เบ๊ปวก’ 1 กรัม ‘ง๊วงเซียม’ 5 กรัม น้ำ 500 ซี.ซี. ต้มให้เหลือ 200 ซี.ซี. กินวันละ 3 หนก็หาย


ลักษณะทั่วไปของโทงเทง

โทงเทง จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ที่มีอายุราว 1 ปี ลำต้นอวบน้ำเปลือกเกลี้ยงสีเขียว โคนสีม่วงแดง และสีค่อยๆ จางลงเป็นสีเขียวใสเป็นเหลี่ยม ยอดเป็นสีเขียวอ่อน ลำต้นสูงประมาณ 25 - 50 เซนติเมตร สูงเต็มที่ 120 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขา ใบ เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับออกตามข้อๆ ละใบ มีก้านยาว 2-3 เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบพริก รูปหอกป้าน ปลายแหลม และขอบใบเรียบ ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบ 5-7 คู่ ดอก ออกระหว่างก้านใบกับลำต้น ดอกเล็กคล้ายดอกพริก แต่กลีบดอกสั้นและแข็งกว่า ดอกตูมทรงรีปลายแหลม เวลาบานเป็นรูปแตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร กลีบดอกชั้นในมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกชั้นนอกหรือกลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อน จำนวน 5 กลีบ ซึ่งจะเจริญเติบโตขยายตัวหุ้มผลภายในไว้หลวมๆ ทำให้ดูเสมือนว่าผลพอง ออกดอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ผล ผลโทงเทง มีกลีบดอกชั้นนอกหุ้มเหมือนโคมจีนสีเขียวอ่อนมีลายสีม่วง ผลภายในมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผลกลมใสมีสีเขียวอ่อน และเมื่อสุกกลายเป็นสีเหลือง เมล็ด ในผลมีเมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก รูปกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร มีเมือกหุ้มคล้ายมะเขือเทศ จำนวนมาก

โทงเทง

โทงเทง

การขยายพันธุ์โทงเทง

โทงเทง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งสามารถเพาะเมล็ดเพื่อนำไปปลูกได้เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นๆในวงศ์มะเขือ แต่ไม่นิยมขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่ง หรือ ต้นปักชำ


องค์ประกอบทางเคมี

  • Chlorophyll
  • Physalins
  • Dihydroxyphysaline B
  • Physalione F
  • Withangutalin B
  • Physagulidines A, B และ C
  • Salasodine Glycosides
  • Hygrine alkaloids
  • Flavone 5, 6, 7-trimethoxy
  • Flavone 5-methoxy-6, 7-methylenedioxy
  • Hyperoxide
  • Phygrine
  • Linoleic acid
  • Oleic acid
  • Withaminimin
  • Withanolides
  • Withaphysalin A,B,C

             รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโทงเทง

โครงสร้างโทงเทง

ที่มา : Wikipedia 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโทงเทง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโทงเทง ส่วนมากจะเป็นการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ แต่มีการศึกษาหนึ่งที่มีการระบุผลการศึกษาดังนี้

           มีการศึกษาทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับฤทธิ์แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรังโดยใช้ทั้งต้นแห้งหนัก 500 กรัม ผสมน้ำเชื่อมให้มีปริมาณ 500 ซี.ซี. รับประทานครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร 10 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา กินติดต่อกัน 3 รอบ แต่ละรอบพัก 3 วัน จากการรักษาคนไข้ 50 ราย ได้ผล 39 ราย อาการดีขึ้น 10 ราย ไม่เห็นผล 1 รายจากการรักษาโรคไอมีเสมหะ หอบ หืด ได้ผลค่อนข้างดี ระยะเวลาของการรักษาโดยเฉลี่ย 3-6 วัน ยกเว้น 1 ราย ที่รักษาถึง 20 วัน ในระหว่างการรักษาคนไข้บางคน มีอาการรู้สึกใจคอ ไม่ค่อยดี อึดอัด เวียนหัว นอนไม่หลับ ซึ่งเหล่านี้เป็นอาการข้างเคียงของยานี้ หลังจากรักษา 1-5 วัน อาการเหล่านี้ ก็จะหายไปเอง


การศึกษาทางพิษวิทยาของโทงเทง

มีการศึกษาวิจัยพบว่ากลีบเลี้ยงของโทงเทง มีสาร Solanine ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารโดยความเป็นพิษจะเกิดหลังจากกินพืชที่มีสารประเภทนี้แล้วหลายชั่วโมง จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปาก และคอหอย แล้วจึงคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูง อาการอื่นๆ ที่พบ คือ ปวดศีรษะ เหงื่อออก น้ำลายไหลมากกว่าปกติ หายใจขัดและกล้ามเนื้อเปลี้ย อาการเป็นพิษในขั้นสุดท้าย คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เพราะลำไส้เป็นแผล ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากไตชำรุด ชักกระตุก หมดสติ อุณหภูมิลดต่ำ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
  • การรับประทานสมุนไพรโทงเทง ในช่วง 1-5 วันแรก บางคนอาจมีอาการเวียนศีรษะ นอนไม่หลีบ อึดอัด หงุดหงิด แต่หลังจากนั้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง
  • กลีบเลี้ยงของโทงเทงมีสารพิษ Solanine ที่เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารดังนั้น จึงไม่ควรบริโภคในส่วนของกลีบเลี้ยงและควรระมัดระวังในการใช้โทงเทง

เอกสารอ้างอิง โทงเทง
  1. โทงเทง สมุนไพรข้างถนน.คอลัมน์สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 4. สิงหาคม. 2522
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โทงเทงน้ำ”. หน้า 284.
  3. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “โทงเทง (Thong Theng)“. หน้า 148.
  4. โทงเทง.ฐานข้อมูลพืชพิษ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. โทงเทง.กลุ่มยารักษาเบาหวาน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_27_2.htm
  6. โทงเทงและสรรพคุณโทงเทง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com