มะกอกเกลื้อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะกอกเกลื้อน งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ


ชื่อสมุนไพร มะกอกเกลื้อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะกอกเลื่อม (ภาคกลาง), มะกอกกั๋น, มะเกิ้ม (ภาคเหนือ), กอกกัน, มะเหลี่ยมหิน, มะเหลี่ยม (ภาคอีสาน), มะกอกเลือด (ภาคใต้), มะเลื่อม, โมกเลื่อม (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Canarium sabulatum guillaumin
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Canarium kerrii Craib, Canarium vernosum.
ชื่อสามัญ Kenari
วงศ์ BURSERACEAE

ถิ่นกำเนิดมะกอกเกลื้อน

มะกอกเกลื้อน จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นโดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณภูมิภาค อินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมไปถึงทางตอนใต้ของประเทศจีน สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้น้อยในภาคใต้ โดยจะพบได้บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ ป่าผลัดใบ และตามชายป่าทั่วไป ที่มีความสูงตั้งแต่ 100-1200 เมตร จากระดับน้ำทะเล


ประโยชน์และสรรพคุณมะกอกเกลื้อน

  • ใช้เป็นยาแก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้น้ำลายเหนียว
  • แก้โลหิตระดูพิการ
  • แก้ประดง
  • แก้อาการคัน
  • ทาแก้เม็ดผื่นคัน
  • ใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิด (โรคเลือดออกตามไรฟัน)
  • บำรุงร่างกายให้มีกำลัง

           ผลสดมะกอกเกลื้อน มีรสฝาดเปรี้ยวสามารถนำมารับประทานได้ หรือ อาจนำมาดอง และแช่อ่อมแทนลูกหนำเลี้ยบ อีกทั้งยังมีการใช้ผลแก่รับประทานเป็นผักกับน้ำพริกอีกด้วย ส่วนเนื้อด้านในเมล็ดมีรสมัน รับประทานได้ สำหรับยางสดใช้นำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องหอม นอกจากนี้เนื้อไม้ยังสามารถนำมาใช้ทำโครงสร้างต่างๆ ของบ้าน เช่น กระดาน พื้น ฝา หรือหน้าต่าง ประตู เครื่องมือเครื่องใช้ ต่างๆ ก็ได้

มะกอกเกลื้อน 

รูปแบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว โดยนำผลสด หรือ ผลแห้งมะกอกเกลื้อน นำมาต้มน้ำดื่ม หรือ ใช้ผลแห้งนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม
  • ใช้แก้โลหิตระดูพิการ แก้ประดง โดยนำแก่นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิด หรือ โรคเลือดออกตามไรฟัน โดยนำเปลือกต้นมาต้มน้ำอมกลั้วปาก
  • ใช้แก้อาการคัน ตุ่มคันหรือเม็ดผื่นคัน โดยนำยางสดมาทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้บำรุงร่างกายให้มีกำลังแข็งแรง โดยนำส่วนต่างๆ ทั้งต้นได้แก่ ใบ ราก เนื้อไม้ เปลือกต้น ผล และดอกมาต้มน้ำอาบ


ลักษณะทั่วไปของมะกอกเกลื้อน

มะกอกเกลื้อน จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบเรือนยอดกลมโปร่ง สูง 10-25 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกแตกเป็นสะเก็ด หรือ แตกเป็นร่องตามยาว สีน้ำตาลอมเทาถึงเทาแก่ มียางใส หรือ ขาวขุ่น เมื่อยอดแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ มีกลิ่นคล้ายน้ำมันสนเปลือกส่วนชั้นในสีน้ำตาลอ่อนมีขีดเส้นขาวๆ บริเวณกิ่งอ่อนมีช่ออากาศและมีขนสี้น้ำตาอมส้มหนาแน่น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียนสลับบริเวณปลายกิ่ง ใบประกอบยาว 12-14 เซนติเมตร แกนกลางยาว 8.5-12 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 2-5 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่แกมวงรี รูปไข่ หรือ xybencid และ รูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 4-10 เซนติเมตร และยาว 10-18 เซนติเมตร โคนใบมนเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบมนเป็นติ่งแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ตื้นๆ ตามรอยหยักมีขนเป็นกระจุก แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนมีสีเขียว ส่วนใบแก่มีสีแดงเข้ม หลังใบด้านบนมีขนขึ้นประปรายที่เส้นกลางใบและขอบใบ ท้องใบด้านล่างมีขนสั้นๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป มีหูใบรูปลิ่มแคบยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร แต่หลุดร่วงได้ง่าย และมีเส้นแขนงใบมีข้างละ 8-15 เส้น ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ออกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 7-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศ และดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้เป็นแบบช่อกระจุกแยกแขนงยาว 7-25 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียเป็นแบบช่อกระจะยาว 8-10 เซนตเมตร มีกลีบเลี้ยงที่โคนกลีบเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย ยาว 2-3 มม. ส่วนปลายแยกเป็น 3 แฉก ยาว 0.5-1 มม. มีขนนุ่มทั้งสองด้าน สำหรับกลีบดอกสีขาวแกมเหลือง รูปขอบขนานมี 3 กลีบ กว้าง 2-2.5 มม. ยาว 7-8 มม. มีเกสรเพศผู้ 6 อัน เชื่อมกันที่ฐานเป็นท่อสั้นๆ และช่อดอกเพศผู้ยาว 7-11 มม. มีขนทั่วไป รังไข่รูปรีอยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 2 เม็ด ผลออกเป็นช่อรวมโดย 1 ช่อ จะมีผลประมาณ 1-4 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปกระสวย มีขนาดกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร บริเวณขั้วผลมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยเชื่อมติดอยู่กับก้านช่อดอก ขนาดกว้างประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนสีเขียวอมเหลือง ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกระสวย 3 เมล็ด เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม มีชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง

มะกอกเกลื้อน

มะกอกเกลื้อน 

การขยายพันธุ์มะกอกเกลื้อน

มะกอกเกลื้อนสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ทั้งนี้มะกอกเกลื้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงมาก ดังนั้นวิธีที่เป็นที่นิยมในการกยายพันธุ์ในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกมะกอกเกลื้อนนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้  มะกอกเกลื้อนจัดไม้กลางแจ้งที่ทนต่อแสงแดดได้ดี สามารถขึ้นในที่แล้งได้และชอบแสงแดดตลอดวันอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเปลือกต้นของมะกอกเกลื้อน ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น β-amyrin, quercetin, Kaempferol, lutcolin, cubebin, scopoletin, scopolin, 3,4-dihydroxybenzoic acid, 3,3′-di-O-methylellagic acid-4′-O-β-D-glucopyranoside, 3,3′-di-O-methylellagic acid-4′-O-α-L-rhamnopyranoside, 3-O-methylellagic acid-4′-O-α-L-arabinofuranosideและ3-O-methylellagic acid4′-O-β-D-xylopyranoside

โครงสร้างมะกอกเกลื้อน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกอกเกลื้อน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะกอกเกลื้อน จากเปลือกต้นและเปลือกผล ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นและเปลือกผลของมะกอกเกลื้อนพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งต่อเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) (ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนังและแผลพุพอง) โดยสาร β-Amyrin และ cubebin ที่สกัดได้จากเปลือกต้นและเปลือกผล แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมปานกลาง ในขณะที่สาร 3,4-dihydroxybenzoic acid และ 3,3’-di-O-methylellagic acid-4’-O-α-L-rhamnopyranoside มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

           นอกจากนี้ยังมีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของสารสกัดจากส่วนอื่นๆ ของมะกอกเกลื้อน มีฤทธิ์ป้องกันตับ ป้องกันเบาหวาน ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะกอกเกลื้อน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้มะกอกเกลื้อน เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะกอกเกลื้อน
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “มะกอกเกลื้อน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 592-593.
  2. มะกอกเกลื้อน, พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน้า 43-44
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “มะกอกเกลื้อน”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 118.
  4. สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, พรรณไม้พื้นบ้านอีสาร เล่ม 1. มหาสารคาม:มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2544. หน้า 61
  5. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “มะกอกเกลื้อน”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 57.
  6. มะกอกเลื่อม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpaye&pid.
  7. A. Petelot (1954). Les Plantes Medicinales du Cambodge, du Laos et du Viet-Nam 3. Saigon, 263.
  8. Sritularak B., Boonplod N., Lipipun V., et al. Chemical constituents of Canarium subulatum and their anti-herpetic and DPPH free radical scavenging properties. Records of Natural Products. 2013;7(2):129–132.
  9. Pooma,R.(1999).A preliminary account of Burseraceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 27:53-82.
  10. S. A. Knight (1974). Carbon-13 NMR spectra of some tetra- and pentacyclic triterpenoids, Org. Mag. Res. 6, 603-611.
  11. Choi E., Kim M.-Y., Cho J. Y. Anti-inflammatory activities of Canarium subulatum Guillaumin methanol extract operate by targeting Src and Syk in the NF-κB pathway. Journal of Ethnopharmacology. 2019;238
  12. B. Sritularak, K. Tantrakarnsakul, K. Likhitwitayawuid and V. Lipipun (2010). New 2-arylbenzofurans from the root bark of Artocarpus lakoocha, Molecules. 15, 6548-6558.
  13. Weeks A. Evolution of the pili nut genus (Canarium L., Burseraceae) and its cultivated species. Genetic Resources and Crop Evolution. 2009;56(6):765–781.