แจง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แจง งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร แจง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แกง, แก้ง, แจ้ง (ทั่วไป ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Maerua siamensis (Kurz) Pax
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Niebuhria siamensis Kurz
วงศ์ CAPPARACEAE
ถิ่นกำเนิดของแจง
แจงจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งถือได้เป็นไม้ในสกุลนี้เพียงชนิดเดียวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและได้มีการกระจายพันธุ์ไปบริเวณใกล้ๆ เช่นในพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ ในทุกภาคของประเทศไทย แต่ในภาคใต้จะพบเฉพาะทางตอนบนของภาคเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบต้นแจงได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าแดง และตามชายหาดหรือตามป่าโปร่ง ที่โล่งแจ้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-400 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณแจง
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- แก้ปัสสาวะพิการ
- แก้ปวดเมื่อย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้หน้ามืด
- แก้ตาฟาง
- แก้ไข้มาลาเรีย
- แก้อาการปวดหลัง
- แก้โลหิตจาง
- รักษาฝีในลำคอ
- แก้ไข้จับสั่น
- แก้กษัย
- ช่วยบำรุงธาตุ
- แก้กษัยปวดเมื่อยตามร่ายกาย
- แก้โรคดีซ่าน
- ช่วยใช้แก้ขัดเบา
- แก้แมงกินฟัน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย แก้ปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ เป็นยาแก้กษัย แก้ปวดเมื่อย แก้หน้ามืด ตาฟาง แก้ไข้จับสั่น โลหิตจาง โดยนำรากใช้ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ดีซ่าน หน้ามืด ตาฟาง ไข้จับสั่น โดยนำเปลือก ราก และใบ ต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงกำลังแก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัย ขับปัสสาวะ แก้ดีซ่าน แก้ไข้มาลาเรีย แก้ไข้จับสั่น ช่วยแก้ดีพิการ แก้อาการปวดหลัง โดยใช้ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ดีซ่าน ใช้ยอดและใบแจงเป็นยาแก้ไข้โดยใช้เปลือกลำต้นราก และใบแจงนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยใช้แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ โดยใช้ต้นแจงทั้งห้าส่วน (ราก ต้น เปลือกต้น แก่น ใบ) ชะพลู และแก่นไม้สัก อย่างละ 3 ตำลึง นำส่วนผสมทั้งหมดมาใส่หม้อดินกับน้ำ 36 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ใช้เป็นยาเช้าเย็น ช่วยทำให้ฟันทน ปากหอม ฟันขาวสะอาดสดชื่น โดยใช้ใบและยอดนำมาตำหรือโขลกให้พอแหลกเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาสีฟัน ใช้เป็นลูกประคบเพื่อลดความปวดเมื่อยล้า แก้ฟกช้ำ แก้อัมพฤกษ์อัมพาตโดยมีส่วนผสมคือ ใบแจง ใบมะขาม ไพล หัวหอม และเกลือ
ลักษณะทั่วไปแจง
แจงจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบหรือบางแห่งอาจพบเป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ มีความสูงของต้นประมาณ 3-10 เมตร แตกกิ่งแขนงมาก ซึ่งกิ่งก้านจะแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม ลำต้นเกลี้ยงเปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มเกือบดำ เปลือกเรียบหรืออาจแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ
ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกสลับกัน มีใบย่อย 305 ใบ กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 5-6.5 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปหอกเรียวเล็ก หรือรูปขอบขนานเป็นสีเขียวเข้ม โคนใบมนปลายใบมนหรือแหลม ผิวใบเรียบเกลี้ยงทั้ง2ด้าน ก้านใบย่อยสั้น ส่วนก้านช่อใบยาว 1.5-6 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นช่อเชิงหลั่น รวมเป็นช่อแยกแขนง โดยออกบริเวณซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีสีเขียวอมสีขาว ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปขอบขนาน ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ มีขนาดกว้าง 0.2-0.3 เซนติเมตร และยาว 0.7-1 เซนติเมตร ปลายแหลมส่วนขอบมีขนคล้ายกับเส้นไหมและเมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้จำนวน 9-12 อัน
ผล เป็นผลสดรูปรีหรือทรงกลม ขาดเท่าหัวแม่มือบิดเบี้ยวเล็กน้อยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวเมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองเข้มและมีก้านผลยาว 4.5-7.5 เซนติเมตร ภายในผลจะมีเมล็ดรูปไต 2-3 เมล็ด
การขยายพันธุ์แจง
แจงเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและตอนกิ่งที่ผ่านมาการขยายพันธุ์ของแจงจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดในธรรมชาติ และถูกบุกรุกทำลายโดยมนุษย์ไปมากจนเกือบสูญพันธุ์ แต่ในปัจจุบันได้มีการอนุรักษ์และทำการเพาะพันธุ์และการตอนกิ่ง จำหน่ายบ้างแล้วส่วนวิธีที่เป็นที่นิยมในการขยายพันธุ์ในปัจจุบันคือการตอนกิ่งเพราะมีความสะดวกรวดเร็วและต้นแจงเจริญเติบโตได้ไวกว่าการเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการตอนกิ่งต้นแจงก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการตอนกิ่งไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนรากของต้นแจงระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น β-sitosterol, lupeol, vanillin, 7-hydroxycyclobrassinone และ 7-hydroxy-6-methoxycyclobrassinone เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแจง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนรากของต้นแจงระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้ สาร 7-hydroxy-6-methoxycyclobrassinone ที่แยกได้จากส่วนรากของต้นแจงมีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคและ มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งระดับสูง โดยมีค่า (ค่า IC50 เท่ากับ1.51µg/ml) ในขณะที่สาร 7-hydroxycyclobrassinone มีความเป็นพิษอยู่ใน ระดับปานกลาง ซึ่งมี (ค่า IC50 เท่ากบั 8.31 µg/ml) ต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ชนิด NCI-H187 และยัง พบว่าสาร 7-hydroxy-6-methoxycyclobrassinone ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis โดยมีค่าความเข้มข้น ต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้คือ 25 µg/ml อีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ลิพอกซิเดส และ ฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสของสารสกัดหยาบจากส่วนต่างๆ ของแจง ที่ความ เข้มข้น 2000 μg/mL พบว่าสารสกัดหยาบชั้นอะซิโตนจากเปลือกลำต้นแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้ดีที่สุด รองลงมาคือช้ันน้ำจากเปลือกลำต้น (87.34 ± 0.28%) และ ช้ันไดคลอโรมีเทนจากกิ่ง (85.63 ± 0.19%) ตามลำดับและยังพบว่าสารสกัดหยาบชั้นเฮกเซนจากเปลือกลำต้น (99.36 ± 0.37%) สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ลิพอกซิเดสได้มากที่สุด รองลงมาคือชั้นไดคลอโรมีเทนจาก เปลือกลำต้น (99.21 ± 0.33%) และชั้นเมทานอลจากผล (99.20 ± 0.78%) ตามลำดับ และดีกว่าสาร มาตรฐานเคอร์ซิติน (95.04 ± 0.93%) ที่ความเข้มข้นเดียวกนั นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสในส่วนสกัดหยาบจากส่วนต่างๆ ของแจง พบว่า ส่วนสกัดหยาบจากใบและกิ่งแจงมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสได้ ดีกว่าส่วนอื่น ๆ ของแจง อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของแจง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการนำยอดอ่อนของแจงไปรับประทานไม่ควรนำยอดสดไปรับประทาน เนื่องจากขณะที่ยอดอ่อนหรือใบอ่อนของแจงยังสดๆ ยังมีสานกลุ่มไซยาไนด์อยู่ แต่เมื่อนำไปดองหรือคั้นส้ม สารเหล่านี้อาจจะถูกทำให้สลายตัวไป ส่วนในการใช้ส่วนต่างๆ ของต้นแจงเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ส่วนต่างๆ ของต้นแจงเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง แจง
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี,กัญจนา ดีวิเศษ. “แจง”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 90.
- สำนักงานหอพรรณไม้. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ.2557.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- สุรพงษ์ เก็งทอง. สมุนไพรพื้นบ้านในเกาะแสมสาร. รายงานวิจัยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2554. หน้า 14-15.
- ก่องกานดา ชยามฤต, สมุนไพรไทยตอนที่ 4. กรุงเทพมหานคร หจก. ชุติมาการพิมพ์ 2528.
- แจง. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข. กันยายน 2558. หน้า 67-69.
- นวรัตน์ จัดเจน. (2553). การศึกษาทางพฤกษเคมีของรากแจง.วิทยานิพนธ์เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- รำพึง โพธิ์ศรี. การศึกษาทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของแจง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. ธันวาคม 2560. 87 หน้า.
- Chayamarit, K. 1991. Capparaceae. In flora of Thailand Vol. 5 part 3: 266-268.