ฝาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ฝาง งานวิจัยและสรรพคุณ 41 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ฝาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หนามโค้ง, ฝางแดง, ขวาง (ภาคเหนือ), ฝางเสน, ฝางส้ม (ทั่วไป), ง้าย (กะเหรี่ยง), โซปั๊ก, ซูฟางมู่, ซูมู่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Biancaea sappan (L.) Tod.
ชื่อสามัญ Sappan tree, Sappan
วงศ์ Leguminosae (วงศ์ย่อย Caesalpiniaceae)
ถิ่นกำเนิดฝาง
ฝาง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย โดยสามารถพบได้ตามประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตร้อนดังกล่าว เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม รวมถึงทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยนั้น สามารถพบได้บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และภูเขาหินปูน ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางส่วนของภาคกลาง เป็นต้น ทั้งนี้สามารถแบ่งฝาง ออกเป็น 2 ประเภท ตามเนื้อไม้ คือ ฝางเสน และฝางส้ม
ประโยชน์และสรรพคุณฝาง
- ใช้เป็นยารักษาวัณโรค
- แก้ท้องเสีย
- ใช้เป็นยาระบาย
- ช่วยให้เย็นศีรษะ (ผสมกับปูนขาว)
- ช่วยลดอาการเจ็บปวด (ผสมกับปูนขาว)
- ใช่เป็นยาขับระดูอย่างแรง
- แก้ท้องร่วง
- แก้ธาตุพิการ
- แก้ร้อนใน
- บำรุงโลหิต
- แก้โลหิตออกทางทวารหนัก
- แก้โลหิตออกทางทวารเบา
- แก้โลหิตตกหนัก
- แก้เสมหะ
- ช่วยบำรุงโลหิตสตรี
- แก้ปวด
- แก้บวม
- แก้เลือดอุดตัน
- ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก
- ช่วยรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ
- แก้อาการหัวใจขาดเลือด
- แก้จุก เสียด แน่น เจ็บหน้าอก
- ช่วยกระจายเลือดที่อุดตัน
- ช่วยลดอาการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด
- ใช่เป็นยาสมานลำไส้
- แก้บิด
- แก้ฟกช้ำดำเขียว
- แก้ปอดพิการ
- ขับหนองในฝีอักเสบ
- แก้ไข้ตัวร้อน
- แก้ปวดเมื่อยร่างกาย
- ใช่เป็นยาฝาดสมาน
- ช่วยขับหนอง
- ช่วยทำให้โลหิตเย็น
- แก้กระหายน้ำ
- แก้คุดทะราด
- แก้กำเดาไหล
- รักษาโรคผิวหนังบางชนิด
- แก้ไข้ทับระดู
- รักษาน้ำกัดเท้า
- แก้ความผิดปกติของอาโปธาตุหรือธาตุน้ำ
มีการนำฝางไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ น้ำต้มจากแก่นฝางแดงจะให้สีแดงที่เรียกว่า Sappanin นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย ที่นิยมใช้กัน หรือ ใช้ผสมในน้ำดื่ม และใช้สำหรับทำสีผสมอาหารส่วนฝางส้มจะนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์ ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง โดยมีทั้งในรูปแบบพร้อมดื่ม และแบบชง สารสีแดง หรือ สีเหลืองที่สกัดจากแก่นฝาง ที่มีความเป็นกรดด่างที่ต่างกัน มักใช้เป็นสารให้สี และเพิ่มความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น สบู่อาบน้ำ แป้งผัดหน้า ครีมทาหน้ารวมถึงมักใช้เป็นสีย้อมผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนสารสกัดจากแก่นฝาง มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงมีการถูกนำมาเป็นส่วนผสมในยา และเครื่องสำอาง ประเภทครีม เจล และโลชั่น เพื่อใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และสำหรับเนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนชั้นดี ตกแต่งชักเงาได้ดี โดยสีของเนื้อไม้จะออกแดง หรือ สีน้ำตาลเข้มอีกด้วย นอกจากนี้ในอินโดนีเซียยังมีการใช้ปรุงแต่งสีเครื่องดื่มให้เป็นสีชมพู ในฟิลิปปินส์ใช้เนื้อไม้เป็นเชื้อเพลิง และใช้ทำเครื่องใช้ต่างๆ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ฝาง
- บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ท้องร่วง แก้เสมหะ เลือดกำเดา แก้ไอ คุมกำเนิด แก้ไข้ แก้หอบ แก้ช้ำ ฟอกโลหิต โดยใช้แก่นฝางหนัก 3-9 กรัม ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว (500 มิลลิลิตร) เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือ ใช้แก่นฝาง 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน ต้มเคี่ยว 15 นาที รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนโต๊ะ
- ขับประจำเดือนใช้แก่นฝาง 5-15 กรัม หรือ 5-8 ชิ้น ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เติมเนื้อมะขามที่ติดรกอยู่ (แกะเมล็ดออกแล้ว) ประมาณ 4-5 ฝัก เคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว รับประทาน เช้า-เย็น
- บำรุงร่างกายทั้งบุรุษ และสตรี แก้ประดง โดยใช้แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอมอย่างละเท่ากัน นำมาต้ม หรือ ใช้แก่นฝางตากแห้งผสมกับเปลือกต้นนางพญาเสือโคร่ง ตานเหลือง ข้าวหลามดง โด่ไม่รู้ล้ม ต้มน้ำ ม้ากระทืบโรง มะตันขอ ไม้มะดูก หัวข้าวเย็น และลำต้นฮ่อสะพายควาย ต้มกับน้ำดื่ม หรือ อีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง และรากกระจ้อนเน่าอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม และอีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง 1 บาท, ดอกคำไทย 2 สลึงนำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เอา 1 แก้ว ใช้แบ่งกินเช้า, เย็น
- แก้กษัยให้ใช้แก่นฝางเถาวัลย์เปรียง และรากเตยอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกิน หรือ อาจเติมน้ำตาลให้พอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้นด้วยก็ได้
- แก้ไข้ตัวร้อน ให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม, และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลวแล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้กินครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง
- แก้ไข้ทับระดูใช้ฝางเสน เกสรบัวหลวง แก่นสน รากลำเจียก รากมะพร้าว รากมะนาว รากเท้ายายม่อม รากย่านาง ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกสารภี จันทน์ขาว จันทน์แดง สักขี อย่างละ 1 บาท นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อน ใช้จิบครั้งละ 1 ช้อนชา โดยให้จิบบ่อย ๆ จนกว่าไข้จะสงบ
- แก้อาการไอ แก้หวัด ใช้แก่นฝางหนัง 3 บาท, ตะไคร้ 3 ต้น ทุบให้ละเอียด, น้ำ 1 ลิตร ใส่น้ำปูนใสเล็กน้อยแล้วต้มพอให้ได้น้ำยาสีแดง ใช้รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หรืออาจผสมน้ำตาลกรวดด้วยก็ได้
- แก้โรคหืดหอบ ใช้แก่นฝางเสน, แก่นแสมสาร, เถาวัลย์เปรียง , ใบมะคำไก่ อย่างละ 2 บาท 2 สลึง ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือด 10 นาที นำมากินต่างน้ำให้หมดภายในวันนั้น พอวันต่อมาให้เติมน้ำเท่าเดิม ต้มเดือด 5 นาทีแล้วกินเหมือนวันแรก ต้มกินจนยาจืดประมาณ 5 วัน แล้วค่อยเปลี่ยนยาใหม่ โดยให้ต้มกินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย
- แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ช้ำใน ใช้แก่นฝาง 60 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้า แบ่งกิน 3 ครั้ง ใช้กินตอนท้องว่าง
- รักษาน้ำกัดเท้า ใช้แก่นฝาง 2 ชิ้น ฝนกับน้ำปูนให้ข้นๆ ทาบริเวณที่น้ำกัดเท้า จะช่วยฆ่าเชื้อได้เพราะ ในแก่นฝางมีตัวยาฝาดสมาน
ลักษณะทั่วไปของฝาง
ฝาง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม้พุ่ม หรือ ไม้พุ่มกึ่งไม้เถา ผลัดใบ สูง 6-9 เมตร ลำต้น และกิ่งมีหนามแข็ง และโค้งสั้นๆ ทั่วไป ถ้าฝาง ต้นไหนมีแก่น และเนื้อไม้มีสีแดงเข้ม รสขมหวาน เรียกว่า “ฝางเสน” แต่ถ้าแก่นมีสีเหลืองส้ม รสฝาดขื่น จะเรียกว่า “ฝางส้ม” ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนช่อใบยาว 20-40 ซม. มีช่อใบย่อย 8-12 คู่ แต่ละช่อใบ มีใบย่อย 10-18 คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 5-10 มม. ยาว 8-20 มม. ปลายใบกลมถึงเว้าตื้น โคนตัด และเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง หรือ มีขนประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นมาก หรือ อาจไม่มีก้านเลย หูใบยาว 3-4 มม. ร่วงง่าย ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง และซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ออกรวมกันเป็นช่อ ช่อยาวได้ถึง 40 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ร่วงง่าย ยาว 5-8 มม. ปลายเรียวแหลมมีขน ก้านดอกย่อย ยาว 1.2-1.8 ซม. มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อหรือเป็นข้อที่ใกล้ปลายก้าน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เกลี้ยง ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน กลีบเลี้ยงกลีบล่างสุด ขนาดใหญ่สุด และเว้ามากกว่ากลีบอื่น กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่กลับ กว้าง 6-10 มม. ยาว 9-12 มม. ผิว และขอบกลีบย่น กลีบกลางขนาดเล็กกว่า มีก้าน กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกเป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง มี ออวุล 3-6 เม็ด ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน แกมรูปไข่กลับ แบนแข็งเป็นจะงอยแหลม มีสีน้ำตาลเข้ม กว้าง 3-4 ซม. ยาว 5-8.5 ซม. ส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักจะสอบเอียงเล็กน้อย ด้านปลายฝักจะผายกว้าง และมีจะงอยแหลมที่ปลายด้านหนึ่ง เมล็ด มี 3-4 เมล็ดเป็น รูปรี สีน้ำตาล กว้าง 0.8-1 ซม. ยาว 1.5-1.8 ซม.
การขยายพันธุ์ฝาง
ฝาง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูก สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้ยืนต้นหรือไม่พุ่มชนิดอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ฝางจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งสามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดินแต่จะชอบดินร่วนซุยมากเป็นพิเศษ และยังเป็นพืชทนแล้งได้ดี ในอดีตพบฝาง มากในธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำมาปลูกเชิงพาณิชย์มากขึ้น
องค์ประกอบทางเคมี
แก่นฝาง พบสารกลุ่ม flavonoid ชนิด 7-hydroxy-3-(4’-hydroxybenzylidene)-chroman-4-one, 3,7- dihydroxy-3-(4’-hydroxybenzyl)-chroman-4-one, 3,4,7-trihydroxy-3-(4’-hydroxybenzyl)- chroman, 4,4’-dihydroxy-2’-methoxychalcone, 8-methoxybouducellin, quercetin, rhamnetin และ ombuin สารกลุ่ม sterols ชนิด beta-sitosterol 69.9%, campesterol 11.2% และ stigmasterol 18.9% brazilin, brazilein, protosappanin E และ taraxerol นอกจากนี้ยังพบสาร phellandrene, ocimene, sappanin, tannin, intricatinol, caesalpin J, protosappanin A ส่วนสารที่ให้สีชมพูอมส้มถึงแดง (sappan red) ที่นำมาทำน้ำยาอุทัย คือ brazilin และพบ tannin
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของฝาง
ที่มา : wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฝาง
ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของฝาง สารสกัด hydro-alcoholic จากแก่นฝาง (Caesalpinia sappan L.) ขนาด 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรทจากการเหนี่ยวนำด้วยการป้อนเอทานอล หรือ ป้อนด้วยยา indomethacin และวิธีผูกช่วงต่อระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็ก (pylorus ligation) โดยอาศัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มการหลั่งเยื่อเมือกจากผนังเซลล์กระเพาะอาหาร ยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนทีเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ได้แก่ prostaglandin E2, cyclooxygenase-1, cyclooxygenase-2 และ nitric oxide synthase จากการทดสอบในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดจากแก่นฝางมีฤทธิ์ปกป้องความเป็นพิษต่อเซลล์ผนังกระเพาะอาหารจากการได้รับยา indomethacin และสารสกัดแก่นฝางที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มล. สามารถยังยับยั้งการทำงานของ H+/K+ ATPase ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้ถึง 63.91% การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัด hydro-alcoholic จากแก่นฝาง มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยผ่านกลไกป้องกันความเสียหายต่อผนังเซลล์ และต้านอนุมูลอิสระ
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร brazilin ซึ่งเป็นสารที่แยกได้จากสารสกัดแก่นฝางด้วยเมธานอล มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนู ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เท้าบวมโดยการฉีด carrageenin ในขนาดใช้ 10 ก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. และยังมีการทดลองป้อนสารสกัดเอทานอลจากแก่นฝางขนาด 1.2, 2.4 และ 3.6 ก/กก.น้ำหนักตัว และน้ำมันมะกอก 10 มล. (vehicle control)เป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน ให้หนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดอาการข้ออักเสบด้วยการฉีด collagen-II พบว่าอาการของโรคข้ออักเสบลดลงในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากแก่นฝาง โดยลดค่าดัชนีการอักเสบของข้อ (arthritis index) อาการบวม และลดสารก่อการอักเสบ ได้แก่ interleukin-1-β (IL-1β), IL-6, tumor necrosis factor-α และ prostaglandin E2 ในเลือดลง รวมทั้งลดการหลั่ง cyclooxygenase-2 และ nuclear factor-kappa-β ในเนื้อเยื่อที่เกิดอาการอักเสบลง แต่อย่างไรก็ตามพบความเป็นพิษต่อตับของแก่นฝางในหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดในขนาดสูง (3.6 ก./กก.) โดยพบค่าเอนไซม์ alanine aminotransferase ในตับเพิ่มสูงขึ้น และสัตว์ทดลองมีน้ำหนักตัวลดลงจากการศึกษานี้จะเห็นว่าแก่นฝางมีประสิทธิภาพในบรรเทาอาการข้ออักเสบได้ดี แต่ควรระมัดระวังการใช้ในขนาดที่สูงเพราะสามารถก่อความเป็นพิษต่อตับได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดเนื้อไม้ด้วยเอธานอล 70% สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Shigella flexneri, Staphylococcus aureus, Vibrio cholerae และ Vibrio parahaemolyticus ที่ความเข้มข้น 5 ม.ก. และสารสกัดเนื้อไม้ด้วยเอธานอล 95% ยังสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Shigella dysenteriae และ Escherichia coli และ ได้ที่ความเข้มข้น 100 ม.ก.
ฤทธิ์ขยายหลอดเลือด สารสกัดแก่นฝาง ด้วยเมธานอล มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของหลอดเลือด aorta ที่ตัดมาจากช่องอกหนู rat ที่ความเข้มขันตั้งแต่ 10 ม.ค.ก./มล.
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด Fructose-2,6-biphosphate (F-2,6-BP) เป็นสาร intermediate ซึ่งสำคัญในการส่งออก glucose จากตับ โดยเป็นตัวควบคุมการสร้าง glucose และ glycolysis ในตับ ซึ่งถ้ามีการส่งออก glucose จากตับมาก ทำให้เกิดภาวะในน้ำตาลในเลือดสูง การศึกษาครั้งนี้พบว่า brazilin เพิ่มการผลิต F-2,6-BP ในตับ และเพิ่มปริมาณ fructose-6-phosphate (F-6-P) และ hexose-6-phosphate (H-6-P) ระหว่างเซลล์ แต่ไม่มีผลต่อ glucose-6-phosphatase จึงช่วยลดน้ำตาลในเลือด
ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมของไขมันบริเวณหลอดเลือด มีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร hematein ซึ่งแยกไดจาก แก่นฝางสามารถลดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดของกระต่ายได้
การศึกษาทางพิษวิทยา มีรายงานการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของฝางพบว่า สารสกัดแก่นฝางด้วยเอธานอล-น้ำ (1:1) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ทั้งเพศผู้ และเพศเมียพบว่า ขนาดของสารสกัดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 750 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานฝาง หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฝาง เพราะฝางมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้แท้งบุตรได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือ ผู้ที่รับประทาน Aspirin, Dipyridamde หรือ Ticlopidine ก็ไม่ควรใช้ฝางเช่นกัน เพราะฝางมีฤทธิ์ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน
- ในการใช้ฝางเพื่อเป็นสมุนไพรในการใช้บำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ฝางในการเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ฝาง
- โสภา คำมี.ฝาง.ภาควิชาเภสัชเวท และเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.หน้า 1-4
- เต็ม สมิตินันท. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชนจํากัด.
- ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของฝาง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- นันทวัน บุณยะประภัศร บรรณาธิการ. 2542.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ บริษัท ประชาชน จำกัด
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ฝาง ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 516-517.
- อรุณพร เหมือนวงศ์ญาติ. 2537. สมุนไพรก้าวใหม่.กรุงเทพฯเมดิคัลมีเดีย
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ฝาง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 362.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ฝาง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 113.
- แก่นฝางช่วยรักษาข้ออักเสบ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3: พืชให้สีย้อมและแทนนิน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 71 – 72
- พเยาว์ เหมือนวงศ์ญาติ. 2537. สมุนไพรก้าวใหม่. กรุงเทพฯเมดิคัลมีเดีย
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ฝาง Sappan Tree”. หน้า 69.
- ผลของ brazilin จากฝางในการยับยั้งการสร้าง Fructose-2,6-biphosphate. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. “ฝาง (Fang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 184.
- ฝาง. ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=241
- ฝาง. สมุนไพรให้สีแต่งอาหารสีอาหาร. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_30_3htm.
- ฝาง. ฐานข้อมูลสมุนไพรเครื่องยา. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=88
- Avirutnant, W. and Pongpan, A. 1983. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ. J. Pharm Sci. 10: 81-86.
- Hikino, H., Toguchi, T., Fujimura, H. and Hiramatsu, Y. 1977. Antiinflammatory principles of Caesalpinia sappan wood and of Haematoxylon
- Ueda, J.Y., Tezuka, Y., Banskota, A.H., Tran, Q.L., Tran, Q.K., Harimaya, Y., Saiki, J. and kadota, S. 2002. Antiproliferative activity of Vietnamese medicinal plants. Biol.Pharm.Bull. 25: 753-760.
- Oh, G.T., Choi, J.H., Hong, J.J., Kim, D.Y., Lee, S.B., Kim, J.R., Lee, C.H., Hyun, B.H., Oh, S.R., Bok, S.H. and Jeong, T.S. 2001. Dietary hematein ameliorates fatty streak lesions in the rabbit by the possible mechanism of reducing VCAM-1 and MCP-1 expression. Atherosclerosis. 159: 17-26.
- Gritsanapan, W. and Chulasiri, M. 1983. A preliminary study of antidiarrheal plants : I, antibacterial activity. Mahidol Univ. J. Pharm Sci. 10: 119-122.
- Yadava, R.N. and Nigam, S.S. 1987. Constituents on the heartwood of Caesalpinia sapan Linn. Acta. Cienc. Indica Chem. 13: 87-88.
- Namikoshi, M., Nakata, H. and Saitoh, T. 1987. Homoisoflavonoids from Caesalpinia sappan. Phytochemistry. 26: 1831-1833.