ทองโหลง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทองโหลง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ทองโหลง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ทองหลางน้ำ, ทองหลางบ้าน, ทองหลางหนาม (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina fusca Lour.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Corrallodron fuscum (Lour.) Kuntze, Duchassaingia glauca (Wild.) Walp. Erythrina gluaca wild.
ชื่อสามัญ Swamp erythrina, corol tree, Purple coral tree, Chekring
วงศ์  FABACEAE-LEGUMINOSAE


ถิ่นกำเนิดทองโหลง

มีข้อมูลระบุว่าทองโหลง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศแทนซาเนีย และบริเวณใกล้เคียงจนถึงแปซิฟิกตะวันตก จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในแอฟริกาตะวันออก อเมริกาเขตร้อน ออสเตรเลีย อินเดีย รวมถึง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้มากทางภาคกลาง


ประโยชน์และสรรพคุณทองโหลง

  • ใช้แก้ไข้
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • แก้เสมหะ
  • แก้ลม
  • แก้ดีพิการ
  • ช่วยขับนิ่ว
  • แก้โรคตา
  • แก้ริดสีดวง
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้โรคตาแดง
  • ช่วยดูดพิษหนอง
  • ใช้ขับโลหิตระดู
  • บำรุงน้ำดี
  • แก้พิษฝี
  • แก้ฝีในท้อง
  • ใช้แก้พิษทั้งปวง
  • แก้โรคดี

           มีการใช้ประโยชน์จากทองโหลง หลายด้านได้แก่ ใบอ่อนของทองโหลงมีการนำมารับประทานสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือ นำมาใช้ทำเมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู หรือ นำมารับประทานร่วมกับส้มตำเป็นต้น และยังมีการนำทองโหลงมาปลูกคู่กับสวนทุเรียนนนท์เพื่อเอาไว้ล่อหนอนเจาะต้นทุเรียน เพราะเนื้อไม้จะนิ่มกว่าทุเรียน ซึ่งหนอนจะชอบมากกว่า นอกจากนี้ใบทองโหลงยังมีกำมะถันมากเมื่อย่อยสลายในท้องร่อง แล้วนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยทุเรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเกษตรกรยังมีการนำใบแก่ของทองโหลงมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เนื่องจากใบทองโหลง อุดมไปด้วยโปรตีน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ทองโหลง

ใช้แก้ไข้ ขับลม ขับเสมหะ ขับนิ่ว แก้ดีพิการ โดยใช้เปลือกทองโหลงมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ลม ขับพยาธิ แก้ริดสีดวง โดยใช้ใบทองโหลง มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับระดูในสตรีโดยใช้ดอกแห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้พิษฝี ฝีในท้องโดยใช้แก่นต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้พิษทั้งปวง โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคตาแดง โดยใช้น้ำคั้นจากใบมาหยอดตา ใช้ดูดพิษหนองโดยใช้ใบแก่มารมควันแล้วนำไปปิดแผลหนองที่เป็น
           นอกจากนี้ส่วนรากของทองโหลงยังถูกจัดไว้ในพิกัดยาต่างๆ ดังนี้ พิกัดเบญจโลหะ ได้แก่ ราก
ทองกวาว รากทองหลางหนาม รากทองกลางใบมน รากทองโหลง รากทองพันชั่ง แก้โรคดี เสมหะ และลมที่เป็นพิษ แก้ริดสีดวง ทำลายพยาธิ และพิกัดเนาวโลหะ ได้แก่ รากทองกวาว รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากทองโหลง รากทองพันชั่ง เนื้อไม้ขันทองพยาบาท รากต้นใบทอง รากต้นทองเครือ รากจำปาทอง แก้โรคดี เสมหะ และลมที่เป็นพิษ แก้ริดสีดวง ทำลายพยาธิ


ลักษณะทั่วไปของทองโหลง

ทองโหลง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ สูง 10-15 เมตร ทรงพุ่มหนาทึบกลม หรือ รูปไข่ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทาแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามแนวยาว ลำต้นเล็ก และกิ่งมีหนามสั้นๆ

           ใบ เป็นใบประกอบปลายคี่มี 3 ใบย่อย โดยใบย่อยเป็นรูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 6-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร โคนใบสอบ มนเว้า ปลายใบแหลม แผ่นใบหนาและเหนียว มีสีเขียวเข้ม

           ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะแบบสลับขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นรูปดอกถั่วสีแดง มีกลีบดอก 5 กลีบ โดยกลีบดอกโค้ง 4-7 เซนติเมตร เมื่อบานจะกว้าง 8-10 เซนติเมตร และมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยัก ซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก ขนสั้นๆ

           ผล ออกเป็นฝักรูปทรงกระบอก สีน้ำตาลอ่อนกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร มีรอยคอดระหว่างเมล็ดเป็นข้อๆ เมื่อแก่ฝักจะมีสีเทาอมดำ และจะแตกออก ภายในเมล็ดสีน้ำตาลรูปไตโดยจะมี 3-10 เมล็ดต่อ 1 ฝัก

ทองโหลง

ทองโหลง

การขยายพันธุ์ทองโหลง

ทองโหลงสามารถขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง ซึ่งเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ง่าย โดยการปักชำกิ่งในถุงเพาะชำ หรือ ปักลงแปลงปลูก เพียงให้ความชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยระยะเวลาในการปักชำจะประมาณ 20-30 วัน จึงแตกใบอ่อน และเมื่อได้ต้นทองโหลง ที่ปักชำอายุ 6-12 เดือน เอาลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ กลบดินปักไม้พยุงต้นผูกเชือก และรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ สำหรับการเตรียมดินทำได้โดยการขุดหลุมกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 ลึก 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม จากนั้นจึงนำต้นกล้าที่ได้ปลูกลงไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารพฤกษเคมีจากส่วนเปลือกลำต้น และเมล็ดพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ ส่วนเปลือกต้นทองโหลง พบสาร betaine, choline, butyric acid, hypaphorine, resins, shinpterocarpin, 3,9-dihydroxy-4-3,3-dimethylalyl-pterocarpan,lupinifolin, Beta-sitosterol เป็นต้น

           ส่วนในเมล็ดพบสารที่เป็นพิษได้แก่ erysodine, erysopine, erythraline, erythratidine, erysovien, erythratine, d-acetyl-ornithine เป็นต้น

โครงสร้างทองโหลง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของทองโหลง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเปลือกต้นทองโหลง ระบุว่า สารสกัดจากเปลือกต้นของใบทองโหลงในสัตว์ทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ นอกจากนี้การศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเปลือกใบ และรากทองโหลงในต่างประเทศยังระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านมาลาเรีย ต้านไวรัสเริม ต้านการอักเสบ ต้านไขข้ออักเสบ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความดันโลหิต และมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูก อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของทองโหลง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าส่วนของเมล็ดของทองโหลง มีความเป็นพิษสูงเนื่องจากมีสารพิษในกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) หลายชนิดอาทิเช่น erysodine, erysopine, erysovine เป็นต้น


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การใช้ทองโหลง เป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานควรระมัดระวังในการใช้เนื่องจากในส่วนของเมล็ดมีความเป็นพิษสูงหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดความคลุ้มคลั่ง หรือ วิกลจริตได้ อีกประการหนึ่งคือ สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ส่วนต่างๆ ของทองโหลงเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะการใช้ในรูปแบบรับประทานเพราะมีสรรพคุณขับระดูสตรี

เอกสารอ้างอิง ทองโหลง
  1. ทองหลางใบมน. กลุ่มพืชมีพิษ พิษต่อระบบประสาทและทำให้เสพติด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ
  2. ทองหลางน้ำ. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข. กันยายน 2558. หน้า 79-81.
  3. doi: 10.3109/13880209.2015.1107103. 77 Pino-Rodriguez S, Gonzalez-Guevara JL, Garcia-Torres M, Carballo-Gonzalez MT, Echemendia-Arana /OA, Garrido-Garrido G, Gonzalez-Lavaut JA, Molina-Torres J and Pricto-Gonzalez S. Preliminary phytochemical screening and in vitro antiherpetic activity of Erythrina fusca Lour. Acta Farm. Bonaerense 2004;23: 453-458.
  4. Wasuwat, S. (1967). A list of Thai medicinal plants. ASRCT, Bangkok: pp. 22.
  5. Willaman, John James (1961). Alkaloid-bearing Plants and Their Contained Alkaloids (Vol. 1234). Washington, D.C., US: United States Department of Agriculture. p. 111.
  6. El-Halawany AM, EI Dine RS, Chung MH, Nishihara T and Hattori M. Screening for estrogenic and antiestrogenic activities of plants growing in Egypt and Thailand. Pharmacog, Res. 2011; 2 3: 107-113.
  7. Widianto, M. B., Padmawinata, K. and Suhalim,H. (1980). An evaluation of the sedative effect of the seeds of Erythrina fusca Lour. 4th Asian Symposium on Medicinal Plants and Spices,Thailand: pp. 147
  8. Quattrocchi, Umberto (2016). CRC World Dictionary of Medicinal and Poisonous Plants: Common Names, Scientific Names, Eponyms, Synonyms, and Etymology (5 Volume Set). Boca Raton, Florida: CRC Press. p. 1634.
  9. Bipat R, Toclsie JR, Magali I, Sockhoc R, Stender K, Wangsawirana A, Ocdairadjsingh K, Pawirodihardjo J and Mans DRA. Beneficial effect of medicinal plants on the contractility of post-hypoxic isolated guinea pig atria - potential implications for the treatment of ischimic- reperfusion injury. Pharm. Biol. 2016; 54: 1483-1489.