สารสกัดชาเขียว

สารสกัดชาเขียว


ชื่อสามัญ Green tea extract


ประเภทและข้อแตกต่าง

สารสกัดชาเขียว (Green tea extract) เป็นสารที่เกิดจากการสกัดสาระสำคัญในชาเขียวโดยในชาเขียวพบสารออกฤทธิ์ต่างๆ มากมายหลายชนิดโดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญได้แก่ สารกลุ่มโพลิฟีนอล (Polyphenolic compround) โดยเฉพาะสารในกลุ่ม Catchchin ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 8 ชนิด (ชนิดที่สำคัญที่สุด คือ EGCG) นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ อีกหลายชนิดเช่น คาเฟอีน (Caffein) ธิโอฟิลลีน (Theiphylline) วิตามิน B, C, E รวมถึงกรดอะมิโนต่างๆ สำหรับประเภทของสารสกัดชาเขียวนั้น ในปัจจุบันพบได้หลากหลายประเภททั้งมนรูปแบบของเหลว และรูปแบบผง อีกทั้งยังมีการนำสารสกัดชาเขียว มาผสมกับวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ ออกวางจำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆอีกด้วย


แหล่งที่พบและแหล่งที่มา

สารสกัดชาเขียว ได้จากสารสกัดใบชาที่ผ่านกรรมวิธีทำให้เป็นชาเขียว โดยการนำใบชาอ่อนที่ไม่ผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเข้าสู่กระบวนการทำให้แห้ง ในทันทีโดยไม่ผ่านการนวด หรือ หมักซึ่งใบชาจะถูกนำมาให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงในเวลาสั้นๆ ก่อน เพื่อหยุดยั้งการทำงานของเอนไซม์ Polyphenol oxidase ที่จะทำลายสารประกอบ โพลิฟีนอล ที่มีอยู่ในใบชา ซึ่งในชาเขียวจะพบได้ถึง 10-30% โดยน้ำหนักเลยทีเดียว

สารสกัดชาเขียว

สารสกัดชาเขียว

ปริมาณที่ควรได้รับ

สำหรับขนาด และปริมาณที่ควรได้รับใน 1 วัน ของสารสกัดชาเขียวนั้นยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างแน่ชัด แต่มีรายงานวิจัยถึงขนาดที่เหมาะสมของสารสกัดชาเขียว ที่มีคุณภาพคือ 100-750 มิลลิกรัมต่อวัน อีกทั้งยังมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าปริมาณสารในกลุ่มคาเทชินเหมาะสมกับร่างกาย คือ วันละ 200 มิลลิกรัม ซึ่งในชาเขียวร้อน 1 ถ้วยมี EGCG ประมาณ 100-200 มก. แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคชาเขียวที่มีสารกลุ่มคาเทชินพบว่าหากบริโภคในปริมาณสูง และติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อตับได้ ซึ่งรายงานการวิจัยจากหนูเม้าส์พบว่าสาร epigallochatchin gallate (EGCG) เมื่อบริโภคในขนาดสูง (2,500 มก./กก.) ติดต่อกัน 5 วัน จะส่งผลให้ตับถูกทำลายเล็กน้อย และความเป็นพิษต่อตับจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อบริโภคในขณะที่เป็นไข้อีกด้วย


ประโยชน์และโทษ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับระบุว่าสารสกัดชาเขียวมีคุณประโยชน์ต่างๆมากมายหลายประการอาทิเช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอี ถึง 20 เท่า สามารถช่วยป้องกันเซลล์ไม่ให้ได้รับอันตราย จึงสามารถป้องกันการเกิดโรคร้ายต่างๆ อาทิเช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และช่วยชะลอวัย ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปาก ช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุ ช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง และลดการเกิดสิว ช่วยบำรุงผิว ช่วยทำให้ร่างการเผาผลาญพลังงานได้โดยไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเต้นหัวใจ ช่วยยับยั้งการผิดปกติของก้อนเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวาย และลมชัก ยับยั้งการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจวาย และหลอดเลือดสมอง ช่วยกำจัดไขมันคอเลสเตอรอลในหลดเลือด จึงส่งผลให้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงจากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด และช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ตัวเองอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำสารสกัดชาเขียว ไปใช้ประโยชน์ต่างๆ หลายด้าน เช่น ในด้านอาหารมีการนำสารสกัดจากชาเขียวมาเป็นส่วนผสมในขนมต่างๆ เช่น เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม ทอฟฟี่ เป็นต้น ส่วนด้านผลิตภัณฑ์เสริมความงามก็มีการนำสารสกัดจากชาเขียวมาเป็นส่วนผสมของโลชั่นทาผิว ครีมทาหน้า ครีมกันแด แชมพู ครีมนวด และน้ำหอม เป็นต้น สำหรับโทษของสารสกัดจากชาเขียวนั้นโดยหลักๆ แล้วจะเป็นการใช้ในปริมาณที่มากเกินไปซึ่งอาจมีผลต่อตับโดยอาจทำให้ตับถูกทำลายได้


การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดชาเขียว มากมายหลายฉบับโดยส่วนมากจะเป็นการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดชาเขียวที่มีต่อโรคต่างๆ ดังนี้

           มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุงของสารสกัดจากชาเขียว เพื่อทดสอบตัวชี้วัดการทำงานของปฎิกิริยาต้านการเกิดออกซิเดชั่น (ทั้งปฏิกิริยาที่ใช้ และไม่ใช้เอนไซม์) ในผู้ป่วยภาวะลงพุง โดยทำการทดสอบในผู้ป่วย 35 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกดื่มชาเขียว 4 แก้วต่อวัน กลุ่มควบคุมดื่มน้ำเปล่า 4 แก้วต่อวัน และกลุ่มที่ใช้สารสกัดชาเขียว 2 แคปซูลและดื่มชาเขียว 4 แก้วต่อวัน โดยทำการทดสอบเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทดสอบตรวจเลือดของผุ้ป่วยที่สัปดาห์ที่ 1 และ 8 เปรียบเทียบกัน ทดสอบวัดปริมาณสารกลุ่ม (α-carotene, β-carotene, lycopene) และ tocopherols (α-tocopherol, γ-tocopherol) และทดสอบแร่ธาตุต่างๆ ส่วนเอนไซม์ต่างๆของปฎิกิริยาต้านออกซิเดชั่น (glutathione peroxidase, glutathione, catalase) ในซีรั่มและสมรรถภาพของปฏิกิริยาการต้านออกซิเดชั่นในพลาสมา ผลการทดสอบพบว่าการดื่มชาเขียว และการใช้สารสกัดชาเขียวช่วยเพิ่มสมรรถภาพของปฏิกิริยาต้านการเกิดออกซิเดชั่นในพลาสมา (1.5 ถึง 2.3 μmol/L และ 1.2 ถึง 2.5 μmol/L ตามลำดับที่ P < 0.05) และปริมาณกลูต้าไทโอนในเลือดสูงขึ้น (1783 ถึง 2395 μg/g hemoglobin และ 1905 ถึง 2751 μg/g hemoglobin ตามลำดับที่ p< 0.05) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ 8 สัปดาห์ แต่ไม่มีผลต่อระดับของสาร carotenoids, tocopherols, glutathione peroxidase และ ปฏิกิริยา catalase ในซีรั่ม และพบว่าสารสกัดชาเขียวมีผลลดปริมาณของเหล็กในพลาสมา (จาก 128 เป็น 92 μg/dL P <0.02 ) แต่ไม่มีผลต่อระดับทองแดง สังกะสี และซีลีเนียม

           มีการศึกษาแบบสุ่ม และปกปิดทั้งสองฝ่ายในผู้หญิงจำนวน 50 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-50 ปี ที่มีน้ำหนักเกิน หรือ เป็นโรคอ้วน (ดัชนีมวลกาย : BMI ≥ 25 กก.ตรม.) โดยทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 25 คน กลุ่มที่ 1 ได้รับสารสกัดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดแคปซูลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดชาเขียว 125 มก. สารสกัดจากพริก 25 มก. และสารสกัดจากขิง 50 มก./1 แคปซูล โดยให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหารกลางวัน และอาหารเย็น กลุ่มที่ 2 ได้รับยาหลอกในขนาดที่เท่ากัน นาน 8 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดชาเขียว พริก และขิง น้ำหนักร่างกายลดลง (-1.8 ± 1.5 กก.) ในขณะที่กลุ่มควบคุมเพิ่มขึ้น (+0.4 ± 1.2 กก.) BMI ลดลง (-0.7 ± 0.5 กก.) นอกจากนี้ยังลดระดับอินซูลินในเลือด (-2.6 ± 3.9 µIU/ml.) ลดภาวะการดื้อยาต่ออินซูลิน และเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนในเลือด (+73.8 ± 120.6 ) µmol/L. เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดชาเขียว 125 มก. พริก 25 มก. และขิง 50 มก./1 แคปซูล วันละ 4 แคปซูล นาน 8 สัปดาห์ มีผลให้น้ำหนักร่างกาย BMI และอินซูลินในเลือดลดลง แต่ระดับกลูต้าไธโอนเพิ่มขึ้น

           มีการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นทั้งชาย และหญิง จำนวน 270 คน อายุ 25–55 ปี ที่มีค่า body mass index (BMI) 24–30 กก./ตร.ม. หรือ มีรอบเอว 80–90 ซม. ซึ่งจัดว่าอ้วนชนิด visceral fat-type โดยทำการสุ่มแบบอิสระเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม catechin จำนวน 135 คน (ชาย 77 คน หญิง 58 คน) ดื่มเครื่องดื่มจากสารสกัดชาเขียว (สารสกัดจากใบชาเขียว 2 ชนิด ใน 1 กระป๋องจะมี catechin 600 มก. และคาเฟอีน 70 มก.) และกลุ่มควบคุม จำนวน 135 คน (ชาย 79 คน หญิง 56 คน) ดื่มเครื่องดื่มควบคุม (ใน 1 กระป๋องจะมี catechin 100 มก. และคาเฟอีน 70 มก.) ทั้งสองกลุ่มดื่มวันละ 1 กระป๋อง (340 มล.) ต่อคน ในมื้อเย็น นาน 12 สัปดาห์ เวลาในการดื่มไม่จำกัด แต่แนะนำให้ดื่มหมดภายใน 1 ชม. และห้ามกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ ยาที่มีผลต่อเมตาบอลิสมของไขมัน และคาร์โบฮัยเดรท ทำการวัดผลทุก 4 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลองอาสาสมัครออกจากการทดลอง 30 คน คงเหลือกลุ่ม catechin 123 คน และกลุ่มควบคุม 117 คน ผลการทดลองพบว่ากลุ่ม catechin จะมีน้ำหนักร่างกาย, body mass index, body fat ratio, body fat mass, รอบเอว รอบสะโพก, visceral fat area และ subcutaneous fat area ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม ความดันโลหิตค่าบน (systolic blood pressure) ในกลุ่ม catechin ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม และในกลุ่ม catechin ที่มีความดันโลหิตค่าบน ≥ 130 มม.ปรอท จะมี low density lipoprotein cholesterol (LDL cholesterol) ลดลง โดยไม่พบผลข้างเคียงใดๆ

           มีการศึกษาวิจัยผลของสารสกัดชาเขียว ในการลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอาสาสมัครทั้งชาย และหญิง จำนวน 111 คน อายุระหว่าง 21–70 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับประทานแคปซูลชาซึ่งประกอบด้วยสารสกัดชาเขียวที่สกัดคาเฟอีน 200 มก. (มีสาร polyphenol และ catechin > 80%, EGCG > 45% และคาเฟอีน < 1%) และ L-theanine 100 มก. กับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก โดยให้รับประทานวันละ 2 แคปซูล เช้า-เย็น เป็นเวลา 3 เดือน ผลพบว่าหลังจาก 3 สัปดาห์ ในกลุ่มที่รับประทานแคปซูลชา มีความดันโลหิตจะลดลง และระดับของ amyloid-α ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ และรวมถึง malondialdehyde ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดออกซิเดชั่นในเลือด จะมีค่าลดลง 42% และ 11.9% ตามลำดับ สำหรับในอาสามัครเพศชาย และอาสาสมัครที่มีระดับของไขมัน LDL ในเลือด > 99 มก./ดล. จะมีระดับของคอเลสเตอรอลรวมและไขมัน LDL ในเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับไตรกลีเซอไรด์และ HDL แสดงว่าการรับประทานแคปซูลชาเขียว มีผลลดความดันโลหิต ไขมัน LDL สารที่เกี่ยวกับการอักเสบ และการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

           มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบสุ่ม ปกปิดทั้งสองฝ่ายเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน และมีความดันโลหิตสูง จำนวน 56 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานสารสกัดชาเขียว 1 แคปซูล/วัน มีสารสกัดชาเขียว 379 มก./แคปซูล กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอก ในขนาดที่เท่ากัน นาน 3 เดือน หลังสิ้นสุดการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดชาเขียวระดับความดันโลหิต (ทั้ง systolic และ diastolic blood pressure) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลิน ภาวะการต้านอินซูลิน สารที่ทำให้เกิดการอักเสบก็ลดลงเช่นกัน ในขณะที่สารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL (Low density lipoprotein) และไตรกลีเซอไรด์ลดลง ส่วนระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL (High density lipoprotein) เพิ่มขึ้น จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานสารสกัดชาเขียวขนาด 379 มก./วัน มีผลในการลดความดันโลหิต ระดับอินซูลิน ภาวะต้านอินซูลิน ลดการอักเสบ แต่เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ และมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดในผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีความดันโลหิตสูง

           มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสารสกัดชาเขียวในอาสาสมัครเพศหญิงที่มีภาวะอ้วน และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 20 คน (อายุเฉลี่ย 41.1 ± 8.4 ปี) โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานแคปซูลสารสกัดชาเขียวขนาด 500 มก. (มีปริมาณสารโพลีฟีนอล 260 มก.) วันละ 3 แคปซูล นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอก (placebo) จากนั้นเว้นช่วงระหว่างการทดลอง 2 สัปดาห์ (wash out period) แล้วสลับกลุ่มการทดลอง และให้รับยาในขนาดและระยะเวลาเช่นเดียวกับการทดลองช่วงแรก ก่อนเริ่ม และสิ้นสุดการทดลองวัดค่าความดันโลหิต ประเมินการทำงานของเยื่อบุชั้นในของหลอดเลือด (endothelial function) เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีต่างๆ ได้แก่ lipid profil กลูโคสและอินซูลิน สารบ่งชี้ของการอักเสบ ผลจากการศึกษาพบว่า กลุ่มสารสกัดชาเขียวมีค่าความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) ที่ 24 ชั่วโมง ช่วงเวลากลางวัน (06.00-18.00 hours) และช่วงเวลากลางคืน (18.00-06.00 hours) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก ส่วนความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure) มีค่าลดลงเช่นกัน แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก และพบว่าสารสกัดชาเขียวไม่มีผลเปลี่ยนแปลงค่าทางชีวเคมีอื่นๆ และไม่มีผลต่อทำงานของเยื่อบุชั้นในของหลอดเลือด จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า การรับประทานสารสกัดชาเขียวทุกวันเป็นระยะเวลาสั้นๆ (4 สัปดาห์) อาจช่วยลดความดันโลหิตได้ในหญิงอ้วนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง

           มีรายงานการศึกษาวิจัยผลของสารสกัดชาเขียวต่อความรุนแรงของโรค และคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ โรคลูปัส (systemic lupus erythematosus; SLE) โดยศึกษาแบบสุ่ม ในผู้ป่วยโรค SLE จำนวน 68 คน ที่เข้าร่วมการศึกษาครบระยะเวลา 12 สัปดาห์ อายุเฉลี่ย 39.1 ± 10.3 ปี และมีค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) เฉลี่ยเท่ากับ 25.7 ± 5.21 กก/ม2 แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานแคปซูลสารสกัดชาเขียว 2 แคปซูล (1,000 มก./วัน ซึ่งมีปริมาณสารโพลีฟีนอล 22%) และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ให้รับประทานแป้ง 2 แคปซูล (1,000 มก./วัน) ‎ติดต่อกันทุกวันนาน 12 สัปดาห์ วัดผลลัพธ์หลักโดย ประเมินความรุนแรงของโรคลูปัสก่อนเริ่มทดลอง และหลัง 3 เดือน ด้วย Systemic Lupus Erythematosus Disease Activity Index 2000 (SLEDAI-2K) ซึ่งเป็นแบบประเมินที่ใช้ในการทดลองทางคลินิก และศึกษาการพยากรณ์โรค SLE รวมทั้งประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยการตอบแบบสอบถาม SF-12 questionnaire ก่อน และหลังการทดลองเช่นกัน ผลจากการศึกษาพบว่าสารสกัดชาเขียวสามารถลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มทดลอง นอกจากนี้ ผลการประเมินแบบสอบถามคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพบว่า การรับประทานสารสกัดชาเขียวทำให้รู้สึกมีกำลังวังชา และสุขภาพทั่วไปดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

           มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกฤทธิ์ลดการเกิดสิวของสาร EGCG จากสารสกัดชาเขียวในผู้หญิงช่วงอายุหลังวัยรุ่น (post adolescent) ที่มีอายุระหว่าง 25-45 ปี จำนวน 64 คน และมีอาการเป็นสิวระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้รับประทานชาเขียวที่สกัดคาเฟอีนออกไป (decaffeinated green tea) 1,500 มก./วัน ซึ่งประกอบด้วยสาร Epigallocatechin gallate; EGCG ปริมาณ 856.8 มก./วัน (รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล ขนาด 500 มก. หลังมื้ออาหาร 30 นาที 3 ครั้ง/วัน) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก ผลการทดสอบพบว่ารอยอักเสบแต่ละบริเวณ ได้แก่ จมูก รอบๆ ปาก และคาง ของกลุ่มทดสอบ และกลุ่มยาหลอกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่รอยอักเสบรวมทั้งหมดของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน กลุ่มที่ได้รับสารสกัดชาเขียวจะมีรอยอักเสบบริเวณหน้าผาก และแก้ม รวมทั้งรอยอักเสบรวมทั้งหมดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มทำการทดสอบ นอกจากนี้ยังมีผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือด จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสาร EGCG ที่สกัดได้จากชาเขียว อาจมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดสิวอักเสบบริเวณต่างๆ บนผิวหน้า

           นอกจากนี้ยังมีการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ α-amylase* ของสารสกัดชาเขียว (Camellia sinensis (L.) Kuntze) ซึ่งมีสาร epicatechin 59.2%, สาร epigallocatechin gallate 14.6% และสาร epicatechin gallate 26.2% พบว่าสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ได้ 63.5% และมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ 50% (IC50) เท่ากับ 2.07 มก./มล. เป็นการยับยั้งแบบไม่แข่งขัน (noncompetitive) ส่วนการศึกษาในระดับกลไกการออกฤทธิ์พบว่า เมื่อสารสกัดชาเขียวเข้าจับกับเอนไซม์ α-amylase จะเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนชนิดใหม่ และการศึกษาการเข้าจับกันของโมเลกุล (Docking study) พบว่าสาร epicatechin gallate สามารถเข้าจับกับเอนไซม์ α-amylase ได้ดีกว่าสาร epigallocatechin gallate จากผลการทดลองทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดชาเขียวสามารถยับยั้งการย่อยแป้งได้


ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าสารสกัดจากชาเขียวจะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมายหลายประการแต่ในการนำมาใช้ก็ควรใช้แต่พอดี และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเพราะมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าอาจมีผลต่อตับ โดยอาจทำให้ตับถูกทำลายได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคตับควรระมัดระวังในการใช้สารสกัดชาเขียวเป็นพิเศษ นอกจากนี้ สารสกัดชาเขียว ยังมีสารออกฤทธิ์ชนิดอื่นๆ  อีกหลายชนิดเช่น คาเฟอีน และธิโอฟิลลีน ซึ่งหากบริโภคมากเกินไปอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

โครงสร้างสารสกัดชาเขียว

เอกสารอ้างอิง สารสกัดชาเขียว
  1. ศักดิ์ บวร.2543. ชาเขียว. บริษัท โอเอ็นจี การพิมพ์ จำกัด.กรุงเทพฯ. 96 หน้า
  2. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. ชาเขียว (Green Tea)…ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ชาเขียวมีดีอะไร.คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 279 กรกฎาคม 2545 หน้า 232
  4. สมเดช ศรีชัยรัตนกุล และคณะ. การตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติต้านออกซิเดชั่น และจับธาตุเหล็กของสารคะเตชินในใบชาจากโครงการหลวง. โครงการวิจัยมูลนิธิโครงการหลวง ประจำปี 2546. 19 หน้า.
  5.  หนังสือวิตามินไบเบิล. (ดร.เอิร์ล มินเดลล์). “สารสกัดจากชาเขียว (Green tea extract)”. หน้า 252-253.
  6. วรนันท์ ศุภพิพัฒน์. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับชาเขียว สารออกฤทธิ์ที่สำคัญและปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม, สรุปการประชุมและสัมมนาเรื่อง การดื่มชาเขียวในประเทศไทย; สิงหาคม 2548; สภาสมาคมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท).
  7. Nanjo, F., Goto, K., Seto, R., Suzuki, E., Sakai, M., & Hara, Y. (1996). Scavenging effects of tea catechins and their derivatives on 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl radical. Free Radical Biology & Medicine, 21, 895-902.
  8. Higuchi A, Yonemitsu K, Ako Koreeda and Tsunenari S. (2003) Inhibitory activity of epigallocatechin gallate (EGCg) in paraquat-induced microsomal lipid peroxidation-a mechanism of protective effects of EGCg against paraquat toxicity. Toxicol. 183;143-149
  9. Cowan,M.M.1999.Plant products as antimicrobial agents .Clinical Microbiology Reviews.12(4):564-582.
  10. Zheng XX, Xu YL, Li SH, Liu XX, Hui R, Huang XH. Green tea intake lowers fasting serum total and LDL cholesterol in adults: a meta-analysis of 14 randomized controlled trials. Am J Clin Nutr. 2011;94(2):601-10.
  11. Nanjo, F., Goto, K., Seto, R., Suzuki, E., Sakai, M., & Hara, Y. (1996). Scavenging effects of tea catechins and their derivatives on 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl radical. Free Radical Biology & Medicine, 21, 895-902.
  12. Wang QM, Gong QY, Yan JJ, et al. Association between green tea intake and coronary artery disease in a Chinese population. Circ J. 2010 Feb; 74(2): 294-300
  13.  Balentine, D. A., Wiseman, S. A. and Bouwens, L. C. M. (1997). The chemistry of tea flavonoids. Critical Reviews in Food Science and Nutrition 37: 693–704
  14.  Baladia E, Basulto J, Manera M, Martinez R, Calbet D. Effect of green tea or green tea extract consumption on body weight and body composition: systematic review and meta-analysis. Nutr Hosp. 2014; 2993):479-90.
  15. Graham HN. (1992) Green Tea Composition, Consumption, and Polyphenol Chemistry. Prev. Med. 21(3);334-350
  16. Ibrahim G. Saleh, Zulfiqar Ali, Naohito Abe, et al. Effect of green tea and its polyphenols on mouse liver. Fitoterapia 2013; 90: 151-159
  17. Roy M, Chakrabarty S, Sinha D, Bhattacharya RK and Siddiqi M. (2003) Antilastogenic,antigenotoxic and apoptotoc activity of epigallocatechin gallate: a green tea polyphenol. Mutat. Res.523;33-41