ผักหนาม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักหนาม งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ผักหนาม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กะลี (มลายู), ผะตูโป่ (กะเหรี่ยง), บอนหนาม (ลื้อ), หลั่นฉึ่งโก, จุยหลักเท่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lasia spinosa (L.) .Thwaites
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lasia aculeate Lour., L. crassifolia Eagl., L. heterophylla Roxb. Schott, L. descissens schott, L. hermannii schott L. jenkinsii Schott, L. roxburghii Griff., L. zollingeri Schott, Pothos heterophyllus Roxb., P. lasia
วงศ์ ARACEAE

ถิ่นกำเนิดผักหนาม

ผักหนาม จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และยังรวมถึงจีนตอนใต้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณพื้นที่ที่มีความชื้นสูง พื้นที่ชื้นแฉะ ที่มีน้ำขัง หรือบริเวณตามริมคลอง หนองบึง หรือตามริมน้ำทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณผักหนาม

  • แก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้คันเนื่องจากพิษหัดเหือด
  • แก้ไข้
  • แก้ผื่นค้น
  • แก้สุกใส ดำแดง
  • ใช้ถอนพิษ
  • ใช้แก้ปวดท้อง
  • แก้ปัสสาวะพิการ
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ปวดตามข้อ
  • แก้โรคผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้
  • ยาแก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ
  • ยาบำรุงกำลัง
  • แก้อาการปวดเมื่อย
  • แก้กระหายน้ำ
  • รักษาผิวหนังเน่าเปื่อยเป็นหนอง
  • ยาถ่ายพยาธิ

           ผักหนามใช้ประโยชน์จากผักหนาม หลายประเภทเช่น ยอดอ่อนและใบอ่อนของผักหนามสามารถนำไปรับประทานเป็นผักโดยนำมาลวก หรือ ต้มและยังมีการนำใช้ทำผักดอง รับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือ แกล้มแกงไตปลาหรือขนมจีนหรืออาจจะนำไปผัด และปรุงเป็นแกง อย่างแกงส้ม แกงไตปลา ก็ได้ และในอดีตยังมีการนำลำต้นมาสับเป็นชิ้นๆ ใช้ผสมในข้าวสารแล้วนำไปหุง จะช่วยเพิ่มปริมาณข้าวหุงได้ นอกจากนี้เกษตรกรในชนบทยังใช้ก้านและใบเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโคกระบือเพื่อให้อ้วนท้วมสมบูรณ์อีกด้วย

ผักหนาม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ผักหนาม

ใช้แก้ไอ หรือ ขับเสมหะโดยใช้รากเหง้าแห้ง 10-15 กรัมมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดท้องแก้ไอ โดยใช้ใบตากแห้งมาต้มกับน้ำโดยชงกับน้ำดื่ม ใช้แก้เจ็บคอ ขับเสมหะโดยใช้รากหรือใบแห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ปัสสาวะพิการโดยใช้ทั้งต้นมาตากให้แห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้คันเนื่องจากพิษหัด ไข้ออกผื่น อีสุกอีใส ไข้ดำแดง และใช้ถอนพิษโดยนำลำต้นมาต้มน้ำอาบใช้น้ำคั้นจากต้นเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ใช้ลำต้นและผลเป็นยาแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ ใช้ทั้งต้นรวมกับไม้เปาและไม้จะลาย นำไปต้มอาบและดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย หง้าฝนกับน้ำกินเป็นยาถ่ายพยาธิ


ลักษณะทั่วไปของผักหนาม

ผักหนาม จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นเป็นเหง้าแข็งอยู่ในดินทอดเลื้อย ขนานกับพื้น ตั้งตรงและโค้งงอเล็กน้อย ชูยอดขึ้น ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 ซม. ยาวได้ถึง 75 ซม. มีหนามแหลมตามลำต้น

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวลูกศร ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร หรืออาจมากกว่า ยาวประมาณ 30-40 ซม. ขอบใบเรียบ มีรอยหยักเว้าลึก เกือบถึงเส้นกลางใบมี 9 พู ปลายใบแหลมและมีหนามแหลมตามเส้นใบด้านล่างและตามก้านใบ ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ส่วนก้านใบมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแข็งยาวประมาณ 40-120 ซม.

           ดอก ออกเป็นช่อเชิงลด รูปทรงกระบอก เป็นแท่งยาว ขนาดเท่ากับใบ (ประมาณ 4 เซนติเมตร) ซึ่งจะแทงออกมาจากกาบใบ มีก้านช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร และมีหนาม มีดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ อัดกันแน่นมีใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาล แกมเขียว ม่วง โดยกาบหุ้มจะม้วนบิดเป็นเกลียวตามความยาวของกาบ ซึ่งจะยาวได้ถึง 55 เซนติเมตร และมีดอกแบบแท่งสแพติก สีน้ำตาล โดยจะมีดอกตัวผู้จำนวนมากอยู่ตอนบนส่วนตัวเมียอยู่ด้านล่างและมีจำนวนน้อยกว่า

           ผล เป็นแท่งทรงกระบอก เรียงชิดกันแน่น ผลอ่อนมีสีเขียวเนื้อนุ่ม แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแกมแดง หนาและเหนียว

ดอกผักหนาม  ต้นผักหนาม

ผลผักหนาม

การขยายพันธุ์ผักหนาม

ผักหนาม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการแยกหน่อมาปลูก แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันคือการแยกหน่อมาปลูกเพราะสะดวก รวดเร็วกว่าการเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของผักหนาม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิด ดังนี้
ใบ พบสารกลุ่ม Alkaloids เช่น Berberine
           สารกลุ่ม Aldehyde เช่น   p-Hydroxy benzaldehyde และสารอื่นๆอีกเช่น 4-Hydroxy benzoic acid, 2-(4'-methoxyphenyl)- ethanol, 4-methoxyphenethyl alcohol, 1- tetracosane
           ลำต้นพบสารกลุ่ม Carotenoid เช่น α-Carotene, B-carotene, B-carotene-5,6,5',6'. diepoxide; 5, 6, 5', 6'-diepoxy-5, 8, 5',8'- tetrahydro-, cis-neoxanthin
           ส่วนเหนือดิน พบสารกลุ่ม Terpinoid เช่น Limonene, B-elemene, squalene, caryophyllene Methyl octadec-6,9-dien-12-ynoate, a-glyceryl- linolenate a-pinene, a-selinene, camphene, 6-3- carene, camphor
           
สารกลุ่ม phenolics เช่น 4-Hydroxybenzoic acid, morin, cinnamic acid, syringic acid, gentisic acid Methyl ester of oleic acid, palmitic acid, stearic acid epoxyetic acid
           
สารกลุ่ม Steroid เช่น Spinasterone, f-sitosterol, y-sitosterol,stigmasterol, campesterol, crinosterol
           
สารกลุ่ม Alkane เช่น Hexatriacontane, heptacosane
           รากและเหง้าพบสารกลุ่ม Lignan เช่น Lyoniresinol,meridinol, secoisolariciresinol; 5,5'-dimethoxysecoiso-lariciresinol; 2-(4- hydroxy-3,5-dimethoxy benzy1)-3-(4-hydroxy-3- methoxybenzyl)-1,2-butanediol;(7'S,8S,8R)-4,4'- dihydroxy-3,3'5,5'-tetramethoxy-7',9- eproxylignan-9'-ol-7-one; 5,5'-dimethoxy- lariciresinol; 5'-methyoxlariciresinol, dihydrodehydrodiconifery alcohol; syringaresinol
           สารกลุ่ม Phenolic เช่น  Procyanidin A1
           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า จากการเก็บตัวอย่างผักหนามไปวิเคราะห์ พบว่าผักหนามสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน โดยพบสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนชาย (Testosterone) ในส่วนของรากและเหง้า และพบสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (Oestradiol) ในส่วนของใบแก่ ส่วนก้านและยอดอ่อนก็พบเช่นกันแต่พบในปริมาณต่ำ

ผักหนาม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักหนาม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของผักหนามหลายฉบับระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเอาไว้ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย มีการศึกษาวิจัยโดยการสกัดจากพืชสมุนไพร ในเวียดนาม 14 ชนิด โดยใช้ methanol, methanol-water และ water เป็นตัวทำละลาย แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ในการต้านมาลาเรีย ด้วยการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดต่อ Plasmodium falciparum strain FCR-3 และ mouse mammery tumor FM3A cell line พบว่าสารสกัดจากผักหนาม มีฤทธิ์ต่อต้าน P. falciparum , FM3A ได้ดีในระดับหนึ่ง EC50 <10 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยโดยการหา phenolic content , free radical-scavenging capacity ของสมุนไพรไทย 26 ชนิด หนึ่งในนั้นคือส่วนตา ของผักหนามซึ่งหลังจากการสกัดด้วย 95% ethanol จะให้ค่า total phenolics เท่ากับ 6.4+- 0.1 มิลลิกรัม GAE Gallic acid equivalent/ กรัมของน้ำหนักแห้ง ให้ค่า total flavonoids เท่ากับ 4.4+- 0.1 มิลลิกรัม RE rutin equivalents/กรัมของน้ำหนักแห้ง และให้ค่า DPPH radical-scavenging activity เท่ากับ 7.49 +- 0.02 ไมโครกรัม/ไมโครลิตร DPPH ซึ่งมีประสิทธิภาพในการจับกับอนุมูลอิสระเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ ที่นำมาทดสอบ นอกจากนี้ยังมีการ ศึกษา antioxidant properties และองค์ประกอบทางเคมีของผักหนาม และสมุนไพรไทยอีก 27 ชนิด พบว่า ใบปักหนามที่สกัดด้วย 95% ethanol มี antiradical activity เท่ากับ 0.1 มี total phenolics เท่ากับ 6.4 มิลลิกรัม GAE/กรัมของน้ำหนักแห้ง มี total flavonoids เท่ากับ 4.4 มิลลิกรัม/กรัมของน้ำหนักแห้ง อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งระบุว่าผักหนาม มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Beta-streptococcus group A ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจโดยใช้ส่วนของใบสัดด้วย 95% ethanol alcohol ซึ่งจะให้ผลในการยับยั้งเชื้อที่เพาะเลี้ยงในจานทดสอบใกล้เคียงกับฟ้าทะลายโจร โดยสารสำคัญที่พบในผักหนามคือ Trilochinin นอกจากสรรพคุณทางเภสัชวิทยาแล้วพบว่าผักหนามยังมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน (Phytohormone) อีกด้วย

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่ารากผักหนาม แบคทีเรียแกรมบวกคือ S. aureus และ B. cereus ได้อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ ระบุสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของผักหนามยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอาการท้องร่วง ต้านพยาธิ ต้านเบาหวาน และต้านไขมันในเลือดสูง ได้อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของผักหนาม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของผักหนามระบุว่า ใบ ก้านใบ และต้นผักหนาม มีสารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนสารพิษเป็นไซยาไนด์ได้ซึ่งสารพิษชนิดนี้เป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนเลือดโดยเมื่อรับประทานเข้าไปดิบๆ จะทำให้ได้รับสารพิษชนิดนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการอาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้อกระตก หายใจลำบาก มึนงง ไม่รู้ตัว มีอาการชักก่อนจะหมดสติ และมีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว หากได้รับสารดังกล่าวในปริมาณมาก อาจทำให้โคม่าภายใน 10-15 นาที และเสียชีวิตได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การบริโภคผักหนาม เป็นผักจิ้ม จะต้องดอง ปิ้งย่าง ต้ม หรือ ลวกให้สุกด้วยความร้อนก่อน ซึ่งเป็นวิธีการลดพิษมิฉะนั้นก็จะเกิดพิษเนื่องจากสารไซยาโนจินิคกลัยโคไซด์ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเป็นพิษจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับการนำมาใช้เป็นสมุนไพรก็เช่นกัน ยิ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้รับประทานควรนำมาตากแห้งสนิทแล้วนำมาต้มด้วยความร้อนจนเดือดจึงสามารถนำมารับประทานได้
 

เอกสารอ้างอิง  ผักหนาม 
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์.พืชพิษ. ในรุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พัลลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2542.
  2. สำนักงานคณะกรรมการสาธาณะสุขมูลฐาน. 2538. ผักพื้นบ้าน ความหมายของภูมิปัญญาของสามัญชนไทย. สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สถาบันการแพทย์แผนไทย. กรมการแพทย์.กระทรวงสาธารณสุข:52 77 81 104-105 180 และ 193.
  3. ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล. 2541. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขมุชาวลัวะและชาวถิ่นในบางพื้นที่ของจังหวัดน่านวิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 242 หน้า.
  4. รศ.ดร.พญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. ผักผลไม้. ที่ควรระวังในผู้ป่วยเรื้อรัง. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. อารีรักษ์ ลออปักษา, สุรัตนา ผลอำนวย และ วิเชียร จงบุญประเสริฐ. 2531. การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1). ไทยเภสัชสาร ปีที่ 13 ฉบับที่ 1: 24-35.
  6. สมฤทัย ทรัพย์เจริญพันธ์. การศึกษาฤทธิ์เบื้องต้นในการต้านอนุมูลอิสระการยับยั้งแบคทีเรียและการยับยั้งเซลล์มะเร็งของสมุนไพรพื้นบ้าน. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชิเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2552. 113 หน้า.
  7. ผักหนาม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=240.
  8. Rahman A., Siddiqui S. A., Oke-Altuntas F., OKAY S., GUL F., Demirtas I. Phenolic profile, essential oil composition and bioactivity of Lasia spinosa (L.) Thwaites. Brazilian Archives of Biology and Technology. 2019;62.
  9. Thi hong  van N., Van Minh, C., Leo M.D., Siciliano T. and Braca A. 2006. Secondary metabolites from Lasia spinosa L. Thw. Araceae. Biochemical Systematics and Ecology 34; 882-884.
  10. Alam F., Haque M., Sohrab H., Monsur M. A., Hasan C. M., Ahmed N. Antimicrobial and cytotoxic activity from Lasia spinosa and isolated lignan. Latin American journal of Pharmacy . 2011;30(3):550-553.
  11. Maisuthisakul P., Pasuk S and Ritthiruangdej P. 2008. Relationship between antioxidant properties and chemical composition of some thai plant. Journal of food composition and analysis 21 229-240.
  12. Priyadarshani A. M. B. Jansz E. R. The effect of maturity on carotenoids of Lasia spinosa stem and the effects of cooking on in-vitro bioaccessibility of carotenoids. Journal of the National Science Foundation of Sri Lanka . 2006;34(3):131-136.
  13. Tran Q.L., Tezuka Y., Ueda J.Y., Nguyen N.T., Marutama Y., Begum K., Kim H.S., Wataya Y., Tran Q.K. and Kadota S. 2003. In vitro antiplasmodial activity of antimalarial medicinal plants used in Vietnamese traditional medicine. Journal of Ethnopharmacology 86; 249-252.
  14. Salchi B. Sharif-RadJ.Cappellini E, et al. The therpetc potential of anthocyanins: current approaches based on their molecular mechanism of action. Frontiers in Pharmacology . 2020;1 1:p. 20.
  15. Maisuthisakul P., Suttajit M and Pongsawatmanid R. 2007. Assessment of phenolic content and free radical-scavenging capacity of some Thai indigenous plants. Food Chemistry 100;1409-1418.
  16. harifi-Rad M., Anil Kumar N. V., Zucca P, et al. Lifestyle, oxidative stress, and antioxidants: back and forth in the pathophysiology of chronic diseases. Frontiers in Physiology . 2020;1 1:p. 21
  17. Deka L,, Majumdar R., Dutta A. M. Some ayurvedic important plants from district Kamrup (Assam) Ancient Science of Life. 1983;3(2):108-115. 23) Rahman A., Siddiqui S. A., Oke-Altuntas F., OKAY S., GUL F., Demirtas I. Phenolic profile, essential oil composition and bioactivity of Lasia spinosa (L.) Thwaites. Brazilian Archives of Biology and Technology. 2019;62.