สังกรณี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สังกรณี งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ
ชื่อสมุนไพร สังกรณี
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น หญ้าหัวนาค, หญ้าหงอนไก่ (ภาคเหนือ), กวางหีแฉะ (ภาคกลาง/สุโขทัย), จุกโรหินี, ขี้ไฟนกคุ้ม (ภาคตะวันออก), กำแพงใหญ่ (ภาคอีสาน), เพิงดี (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria strigose willd.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Barleria caerulea Roxb., Barleria polytricha Wall., Pseudobarleria hirsute
วงศ์ ACANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดสังกรณี
สังกรณีมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริเวณญี่ปุ่น เกาหลี และทางตะวันออกของจีน ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่กึ่งเขตร้อน และเขตร้อนต่างๆ ของโลก เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันตก แอฟริการตะวันออก และทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบสังกรณี ได้บริเวณ ป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าไผ่ทั่วไป ของทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นทางภาคใต้
ประโยชน์และสรรพคุณสังกรณี
- ใช้ดับพิษไข้ทั้งปวง (ราก)
- ถอนพิษไข้กาฬ
- ลดความร้อนในร่างกาย
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้ไอ
- แก้โลหิตกำเดา
- ใช้ขับน้ำคาวปลาในสตรี
- ช่วยบำรุงกำลัง
- บำรุงกำหนัด
- แก้ร้อนไอเป็นเลือด
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ปัสสาวะพิการ
- แก้ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
- แก้กำเดา
- แก้คออักเสบ
สังกรณี ได้ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยมีทั้งในตำรายาไทย และตำรายาพื้นบ้าน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงกำลัง โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำรากมาต้มกับน้ำร่วมกับสมุนไพรฮ่อสะพายควาย และดู่เครือดื่ม
- ใช้บำรุงร่างกาย แก้ไอเป็นเลือด ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
- บำรุงกำหนัด โดยนำทั้งต้นใช้ดองกับเหล้าดื่ม
- ดับพิษไข้ทั้งปวง แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดความร้อนในร่างกาย
- ตำรับยาใช้ขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตร โดยนำรากสังกรณี รากชุมเห็ดไทย รากต้นก้างปลาแดง มาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาร้อน
- แก้ไข้หวัดใหญ่ แก้คออักเสบ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปของสังกรณี
สังกรณี จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงของประมาณ 60-120 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขารอบๆ ต้นมากมาย ทำให้ดูมีทรงพุ่มทึบ ลำต้นเกลี้ยงเป็นข้อปล้อง ตามกิ่งก้านมีขนสีน้ำตาลปกคลุม
ใบสังกรณี เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ถึงรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียง ปลายใบเรียวแหลม ของใบเรียบมีขนเล็กๆ ขึ้นปกคลุม เนื้อใบมีสีเขียว และบาง แผ่นใบด้านบนมีขนประปราย ส่วนด้านท้องใบมีขนตามเส้นใบ โดยเส้นใบข้างละ 4-6 คู่ ก้านใบยาว 0.2-0.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจะแน่น โดยจะออกบริเวณง่ามใบ หรือ ปลายยอด ช่อดอกมีใบประดับเป็นรูปรี หรือ รูปหอก 2 แผ่น ปลายแหลม ขอบหยักเป็นซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย หุ้มโคนดอก กว้าง 4 มิลลิเมตร และยาว 10 มิลลิเมตร และใน 1 ช่อ
ดอกสังกรณี จะมีดอกย่อยประมาณ 10 ดอก ดอกย่อยเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 2 กลีบ เรียงตัวตรงข้ามกันเป็นคู่ เชื่อมกันที่โคน ปลายแยก คู่ด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ 1.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแหลม ส่วนขอบหยักซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย ส่วนคู่ด้านในเป็นรูปใบหอกขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบมีขนต่อม ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ด้านนอกเรียบ ส่วนด้านในขรุขระ เชื่อมกันเป็นหลอด รูปปากเปิด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกมีสีม่วงอ่อน กลีบปากด้านบนมี 4 แฉก ในแต่ละแฉกจะมีขนาดใกล้เคียงกัน ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ปลายแฉกมนถึงกลม ขอบเรียบ ผิวด้านนอกมีขนต่อม กลีบปากด้านล่างมี 1 กลีบ มีขนาดใหญ่ เป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายแฉกมนกลมถึงเว้าตื้น ขอบเรียบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และมีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร
ผลสังกรณี เป็นฝัก ผลแห้งออกฝัก ลักษณะของฝักแบนเกลี้ยง สีน้ำตาล พอแห้งจะแตกดอก ด้านในผลมีเมล็กลักษณะกลมและแบนอยู่ 4 เมล็ด
การขยายพันธุ์สังกรณี
สังกรณีสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความชื้นปานกลาง สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกสังกรณี นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้พุ่มทั่วไปตามที่ได้กล่าวมาแล้วในหลายๆ บทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากสารสกัดของสังกรณี ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่ม Flavonoid ได้แก่ Apigenin 7-O-α-Lrhamnosyl-(1→6)-O-β-D-glucoside สารกลุ่ม Iridoid glycoside ได้แก่ 10-O-trans-coumaroyl-eranthemoside, Lyoniresinol 3 α -O-β -D-glucoside, 7-O-acetyl-8-epi-loganic acid, (3R)-1-octen-3-ol-3-O-β-D-xylosyl-(1→6)-β-D-glucoside สารกลุ่ม Phenylethanoidglycoside ได้แก่ Verbascoside, Isoverbascoside, Decaffeoylverbascoside, 4-hydroxyphenylethyl 4-O-β-D-glucopyranosyl-(1→3)-O-α-L-rhamnopyranoside
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสังกรณี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสังกรณีในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
สารสกัดจากส่วนเหนือดินของสังกรณี มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก เช่น Bacillus cereus, Bacillus pumilus, Bacillus sp., Bacillus subtilis, Enterococcus faecalis, Lactobacillus acidophilus, Lactobacillus rhamnosus, Lactobacillus sporogenes, Micrococcus luteus, Staphylococcus aureus และสารสกัดเอธานอลและสารสกัดจากใบปิโตรเลียมอีเทอร์จากส่วนใบของสังกรณี มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดแสดงฤทธิ์ยับยั้ง เอนไซม์ α-glucosidase และเอนไซม์ amylase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล โดยฤทธิ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามขนาดยา และพบว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบของสังกรณี ในขนาด 200 และ 400 มก./กก. มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต
นอกจากนี้ยังมีการทดลองศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดหยาบเมทานอลจากส่วนใบของสังกรณี ต่อเซลล์ไลน์ 5 ชนิด (P388, HT-29, HepG-2, MCF-7 และ Vero) ด้วยวิธี MTT พบว่าเมื่อบ่มสารร่วมเซลล์เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง สารสกัดหยาบจากใบสังกรณีมีความเป็นพิษต่อเซลล์ไลน์ P388 ซึ่งเป็นเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวหนูมากที่สุด โดยมีค่า CC50 เท่ากับ 413.89 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร แต่แสดงความเป็นพิษในระดับต่อต่อเซลล์ HT-29, HepG-2, MCF-7 และ Vero
การศึกษาทางพิษวิทยาของสังกรณี
มีรายงานการศึกษาวิจัยความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากใบของสังกรณี ในหนูขาวสายพันธุ์ wistar โดยให้สารสกัดทางปากในขนาด 250, 500, 1,000 และ 2,000 มก./กก.(น้ำหนักตัว) ครั้งเดียวในหนู ผลการศึกษาพบว่าการให้สารสกัดทุกขนาด ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้สังกรณี เป็นสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง สังกรณี
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. หน้า 180. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สังกรณี”.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “สังกรณี”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 769-770.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “สังกรณี (Sang Korani)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 295.
- ณัฐพร มานะประดิษฐ์, สุพัตรา โพธิเอี่ยม, พัชนี เจริญยิ่ง, ฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดหยาบจากใบสังกรณี, การประชุมวิชาการพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 18 “พันธุ์ศาสตร์ก้าวหน้าสู่อาเซียน” 17-19 กรกฎ 2556.หน้า 192-195
- สังกรณี. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargaeden.com/main.php?action=viewpage&pid=289.
- Kanchanapoom, T.; Noiarsa, P.; Ruchirawat, S.; Kasai, R.; Otsuka, H. Phenylethanoid and iridoid glycosides from the Thai medicinal plant, Barleria strigosa. Chem. Pharm. Bull. 2004, 52, 612–614.
- Amoo, S.O., Finnie, J.F. and Van Staden, J. 2009. In vitro pharmacological evaluation of three Barleriaspecies. J. Ethnopharmacol. 121: 274-277.
- Singh, B.; Chandan, B.K.; Prabhakar, A.; Taneja, S.C.; Singh, J.; Qazi, G.N. Chemistry and hepatoprotective activity of an active fraction from Barleria prionitis Linn. in experimental animals. Phytother. Res. 2005, 19, 391–404.
- Ansari, M.A., Tirry L. and Moens, M. 2005. Antagonism between entomopathogenic fungi and bacterial symbions of entomopathogenic nematodes. Biol. Control 50: 465-475.