หญ้าตีนตุ๊กแก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าตีนตุ๊กแก งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าตีนตุ๊กแก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตีนตุ๊กแก (ภาคกลาง), หญ้าตีนตุ๊กโต (ภาคเหนือ), ผักเสี้ยน (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tridax procumbens Linn.
ชื่อสามัญ Coat buttons, Wild daisy, Maxican daisy, Tridax daisy
วงศ์ ASTERACEAE-COMPOSITAE


ถิ่นกำเนิดหญ้าตีนตุ๊กแก

หญ้าตีนตุ๊แก จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาบริเวณอ่าวเม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ต่อมามีการกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนอื่นๆ ของทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย โดยในทวีปเอเชียสามารถพบได้ใน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน มณฑลไหหลำของจีน และประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณตามริมทาง ที่ชื้นทั่วไป และตามทุ่งนา ทุ่งหญ้า โดยจัดเป็นวัชพืชที่สำคัญชนิดหนึ่ง


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าตีนตุ๊กแก

  • ใช้รักษาบาดแผล
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • ใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด
  • รักษาไทฟอยด์
  • แก้ไอ
  • ช่วยป้องกันผมร่วง
  • รักษาโรคหวัดหลอดล
  • โรคบิดท้องเสีย
  • รักษาแผลในช่องปาก
  • รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
  • ใช้รักษาโรคหวัด
  • โรคโลหิตจาง
  • แก้อาการอักเสบ
  • ใช้รักษาฝี
  • แก้อาการปวด
  • แก้อักเสบตามข้อและปวดตามกระดูก

           สำหรับการนำหญ้าตีนตุ๊กแก มาใช้ประโยชน์นั้น จะมีเพียงการนำต้นอ่อนมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ และนำมาใช้เป็นสมุนไพรเท่านั้น โดยในการนำมาใช้เป็นสมุนไพร จากการศึกษาค้นคว้าพบว่าในหลายประเทศก็มีการนำมาใช้

หญ้าตีนตุ๊กแก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับรูปแบบการใช้หญ้าตีนตุ๊กแก ในตำรายาไทยนั้นได้ระบุเอาไว้ว่า ใช้รักษาฝี แก้อาการปวด อักเสบตามข้อและกระดูก โดยนำต้นสดประมาณ 1 กำมือ มาตำพอกบริเวณที่เป็น โดยทำต่อเนื่องกันประมาณ 1 อาทิตย์จะเห็นผล


ลักษณะทั่วไปของหญ้าตีนตุ๊กแก

ตีนตุ๊กแก จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีรากแก้ว มีอายุได้หลายปี ลำต้น มีขนาดเล็ก และเรียวสีขาวแกมสีเขียว มีขนยาวสีขาวขึ้นปกคลุม แตกแขนงเล็กน้อย ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน และจะชูส่วนยอดตั้งตรง ซึ่งจะสูงได้ 30-50 เซนติเมตร ส่วนข้อที่สัมผัสพื้นดินจะออกรากฝอยสามารถทนแล้งได้ดี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงรอบข้อ หรือ เรียงตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปรีขอบขนานแหลม หรือ รูปหอก กว้าง 1-2 เซนติเมตร และยาว 2-3 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ส่วนขอบเป็นหยักซี่ฟันห่างๆ ตามหลังใบและท้องใบมีขนขึ้นปกคลุมแต่ท้องใบจะมีขนหนาแน่นกว่า และมีก้านใบยาวประมาณ 5-15 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อชนิดฐานเดียว โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ก้านช่อดอก ยาว 10-25 เซนติเมตร มีขนปกคลุมมีลักษณะเรียวเล็กยื่นยาวชูเหนือลำต้น โคนช่อดอกมีใบประดับสีเขียว ลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน โคนมน หรือ ตัดตรง ปลายแหลม กว้าง 1-3 มิลลิเมตร และยาว 3-6 มิลลิเมตร มีขนขึ้นปกคลุมจำนวนมาก เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ดอกแบบรอบนอก 1 วง จำนวน 4-6 ดอก และดอกชั้นในเป็นกระจุกหลายวง อัดกันแน่นบนฐานรองดอก ซึ่งดอกรอบนอกเป็นแบบ ligulate type มีกลีบเลี้ยงสีขาวลักษณะเป็นเส้นขนเล็กๆ ยาว 3-4 มิลลิเมตร จำนวนมาก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเป็นสีขาวติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบเป็นสีเหลือง ติดกันเป็นแผ่นเดียว มีขนาดกว้าง 3-4 มิลลิเมตร และยาว 3-4 มิลลิเมตร ปลายกลีบเว้าหยักเป็นพู 2-3 พู ไม่มีเกสรเพศผู้ มีแต่เกสรเพศเมีย ดอกชั้นในเป็นแบบ tubular type มีกลีบเลี้ยงสีขาว ลักษณะเป็นเส้นขนเล็กๆ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร จำนวนมาก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเป็นสีขาวติดกันเป็นหลอด ปลายหลอดเป็นสีเหลือง แยกกันเป็นแฉก 5 แฉก หลอดกลีบกว้าง 0.5-1.2 มิลลิเมตร และยาว 5-7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรังไข่แบบใต้วงกลีบ มีขนปกคลุม โคนดอกย่อย และบริเวณมีใบประดับสีขาวแกมม่วง ยาวได้ประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ผลเป็นผลแห้งแบบเมล็ดล่อน ลักษณะของผลเป็นรูปรียาว หรือ รูปหอก สีดำ ยาว 1-3มิลลิลิตร ผลมีขนขึ้นปกคลุม ภายในผลมีเมล็ดรูปยาวรี 1 เมล็ด สีน้ำตาล ปลายผลมีใบประดับเป็นเส้นเล็กๆ 20 เส้น ช่วยพยุงให้ลอยลมได้

หญ้าตีนตุ๊กแก

หญ้าตีนตุ๊กแก 

การขยายพันธุ์หญ้าตีนตุ๊กแก

หญ้าตีนตุ๊กแก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่เนื่องจากหญ้าตีนตุ๊กแก จัดเป็นวัชพืชที่เป็นปัญหาสำคัญทางการเกษตรเพาะสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่นิยมนำมาเพาะปลูกขยายพันธุ์ สำหรับการขยายพันธุ์ของหญ้าตีนตุ๊กแกนั้นส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ โดยอาศัยแรงลมพันดที่จะทำให้เมล็ดที่มีพู่ขุยให้ลอยตามลม เพื่อเจริญเป็นต้นใหม่ข้อของต้นที่งอดใหม่เมื่อแตะพื้นจะมีรากและเจริญเป็นต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากสวนของดอก ใบ ลำต้น และรากของตีนตุ๊กแก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ Hexadecanoic, Zerumbone, Didehydrofalcarinol, bisabolene, selinene, Vomifoliol, dehydrovomifoliol, dentroarborelo B, Biochanin, Luteolin-4’-O-β-D-glucopyranoside, Butein, Naringenin, β-Sitosterol, centaureidin, centaurein, 3-6-dimethoxy-5-7 ,2,3,4-pentahydroxyflavone-7-o-β-D-gluco-pyranoside และ (35)-16,17-didehydrofalcarinol เป็นต้น

โครงสร้างหญ้าตีนตุ๊กแก

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้าตีนตุ๊กแก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหญ้าตีนตุ๊กแก จากส่วนใน ดอก ลำต้น และราก ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์รักษาแผล มีรายงานการใช้หญ้าตีนตุ๊กแกเป็นสมุนไพรพื้นบ้านในประเทศอินเดียว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ช่วยสมานแผล และต้านการอักเสบ จึงได้มีการทำการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาแผล ของสารสกัดเอทานอล ซึ่งการวิเคราะห์ทางเคมีด้วยเทคนิค gas-chromatography mass-spectrometry พบว่าสารสกัดดังกล่าว มีสารประกอบถึง 50 ชนิด โดยสารที่พบมากที่สุดได้แก่ ergosta-5,7,22-trien-3-ol, (3.beta.,22E) (47.45%), diethyl phthalate (10.67%), ergosta-5,8–dien-3-ol, (3.beta) (5.60%), 2-(imidazo[1,2- α]pyridin-2-yl)phenol (2.84%), และ tritriacontane (2.75%) ซึ่งสาร 2-(imidazo[1,2- α]pyridin-2-yl)phenol มีรายงานฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารก่อการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย E. coli ด้วยวิธี agar well diffusion method โดยใช้สารสกัดจากใบของหญ้าตีนตุ๊กแก ที่ความเข้มข้น 500 มคก./มล. มีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณที่มีการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) เท่ากับ 6.5 มม.

           ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งระบุว่า สารสกัดเฮกเซนของดอก และทั้งต้นหญ้าตีนตุ๊กแก สามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ Escherichia coli, Klebsiella sp., Salmonella group C, Salmonella paratyphi, และ Smegmatis ป้องกันไวรัสตับอักเสบในหนู และกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่วนสารสกัดเอธิลอะซีเตตทุกส่วนของหญ้าตีนตุ๊กแก (ทุกส่วน) และสารสกัดเมทานอลของใบออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าตีนตุ๊กแก

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การใช้หญ้าตีนตุ๊กแก เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนี้ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง หญ้าตีนตุ๊กแก
  1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “หญ้าตีนตุ๊กแก (Ta Tin Tukkae)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 317.
  3. องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. พิมพ์ที่ โอ.เอส พริ้นติ้ง เฮาส์. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2545.
  4. ดวงพร สุวรรณกุล และ รังสิต สุวรรณเขตนิยม. 2544. วัชพืชในประเทศไทย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
  5. องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์รักษาแผลของสารสกัดจากใบของหญ้าตีนตุ๊กแก และส่วนเหนือดินของตำแยแมว. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. อำไพ ยงบุญเกิด. วัชพืชในสวนยางพารา. พิมพ์ที่ แอ๊สเสทการพิมพ์. กรุงเทพฯ.
  7. อรุณรัตน์ สัณฐิติกวินสกุล และฑิฆัมพร พันหุ่น. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 80 เปอร์เซ็นต์เอทานอลจาหญ้าตีนตุ๊กแก “ในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 51.กรุงเทพฯ 5-7ก.พ.3656. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2556. หน้า 77-83.
  8. Ravikumar, V., K. S. Shivashangari and T. Devaki. 2005. Hepatoprotective activity of Tridax procumbens against D-galactosamine/lipopolysaccharide-induced hepatitis in rats. Journal of Ethnopharmacology 101: 55-60.
  9. Jachak, S. M., R. Gautam, C. Selvam, H . Madhan, A. Srivastava and T. Khan. 2011. Anti-inflammatory cyclooxygenase inhibitory and antioxidant activities of standardized extracts of Tridax procumbens L. Fitoterapia 82: 173-177.
  10. Taddei A. and A. J. Rosas-Romero. 2000. Bioactivity studies of extracts from Tridax procumbens. Phytomedicine 7: 235-238.
  11. Journal of the Arnold Arboretum Volume 32 Page 13-14, Journal of the Arnold Arboretum Volume 51 Page 148
  12. Krishani, P. M., X. Ratlinam, K. Marimuthua, A. Diwakar, S. Ramanathan, S. Kathiresan and S. Subamaniam. 2010. A comparative study on the antioxidant activity of methanolic leaf extracts of Ficus religiosa L, Chromolaena odorata (L.) King & Rabinson, Synodal dactylon (L.) Pers. and Tridax procumbens L. Asian Pacific Journal of Tropical Medicine 3: 348-350.
  13. Ikewuchi, C.C., Ikewuchi, J.C., Ifeanacho, M.O., 2015. Phytochemical composition of Tridax procumbens Linn leaves: potential as a functional food. Food Nutr. Sci 06, 992–1004.
  14. Chen, W.H., Ma, X.M., Wu, Q.X., Shi, Y.P., 2008. Chemical-constituent diversity of Tridax procumbens. Can. J. Chem. 86, 892–898. https://doi.org/10.1139/V08-097. Christudas, S., Kulathivel, T.M., Agastian, P., 2012. Phytochemical and antibacterial studies of leaves of Tridax procumbens L. Asian Pac. J. Trop Biomed 2, S159–S161