ไม้เท้ายายม่อม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ไม้เท้ายายม่อม งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ไม้เท้ายายม่อม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปิ้งขม, ปิ้งหลวง (ภาคเหนือ), ไม้เท้าฤาษี (ภาคใต้), หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์), พินพี (เลย), พมพี (อุดรธานี), พญาเล็งจ้อน (เชียงใหม่), ว่านพญาหอกหล่อ (สระบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum indicum (L.) Kuntze
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum longicolle G.Mey., Clerodendrum indicum f. semiserratum (Wall.) Moldenke, Siphonanthus indicus L., Siphonanthus angustifolius Willd.,
วงศ์ LABIATAE

 

ถิ่นกำเนิดไม้เท้ายายม่อม

ไม้เท้ายายม่อม เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ในแถบประเทศอินเดีย แล้วต่อมามีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง เช่น ในบังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามบริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง หรือ บริเวณชายป่าทั่วไปที่มีความชื้นพอประมาณ

ประโยชน์และสรรพคุณไม้เท้ายายม่อม

  1. แก้พิษ
  2. แก้ไข้
  3. กระทุ้งพิษไข้
  4. ลดความร้อนในร่างกาย
  5. ช่วยถอนพิษไข้ทุกชนิด 
  6. แก้หืด
  7. แก้ไอ
  8. แก้อาการแพ้
  9. แก้อักเสบ
  10. แก้ปวดบวม 
  11. แก้กระหายน้ำ
  12. ช่วยขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ
  13. แก้ไข้เมื่อดีพิการ
  14. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  15. แก้อาเจียน
  16. ช่วยดับพิษฝี
  17. แก้พิษสัตว์กัดต่อย พิษงู

            นอกจากนี้ในบัญชียาจากสมุนไพรตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติยังได้ระบุการใช้รากไม้เท้ายายม่อม ในตำรับ “ยาห้าราก” ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีส่วนประกอบของรากเท้ายายม่อมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ในตำรับ (รากไม้เท้ายายม่อม, รากชิงชี่, รากคนทา, รากมะเดื่อชุมพร และรากย่านาง)


รูปแบบและขนาดวิธีใช้
 
 

ใช้แก้พิษ, แก้ไข้ต่างๆ, กระทุ้งพิษไข้, ขับเสมหะ, แก้ร้อนใน กระหายน้ำ โดยใช้รากสด หรือ รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้หืดโดยใช้ราก และใบมาต้มกับน้ำดื่ม ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้แก้พิษไข้กาฬ โดยใช้รากไม้เท้ายาม่อน เหง้าว่านกีบแรด เนระพูสีทั้งต้น และใบพิมเสน ต้น มาบดให้เป็นผลใช้ผสมกันแล้วใช้น้ำซาวข้าว และน้ำเกสรดอกบุนนาค เป็นน้ำกระสายยาจากนั้นปั้นเป็นลูกกลอนกิน ใช้แก้พิษ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้อาการแพ้ ดับพิษฝี แก้อักเสบ ปวดบวม โดยใช้รากสดมาตำเอากากพอกบริเวณที่มีอาการ


ลักษณะทั่วไปไม้เท้ายายม่อม
  

ไม้เท้ายายม่อม จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2.5 เมตร เป็นพันธุ์ไม้ที่มีรากแก้วอันเดียวไม่มีรากฝอย หรือ รากแขนง พุ่งตรงลงในดินลึก ลักษณะรากกลมโดยรากแท้มีสีดำ ส่วนลำต้นตั้งตรง มีสีเขียว หรือ เขียวอมเหลืองไม่มีกิ่งก้านสาขา แต่จะแตกกิ่งเล็กๆบริเวณใกล้ยอด และบริเวณปลายกิ่งจะเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม โดยจะออกรอบข้อของลำต้น ข้อละ 3-5 ใบ จนถึงส่วนยอด ใบมีขนาดเล็กรูปวงรีแกมขอบขนาน หรือ รูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ กว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ปลายใบ และโคนใบแหลม แผ่นใบสีเขียว มีเส้นกลางใบขนาดใหญ่งอโค้งเข้าหาลำต้น จนเกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนง บริเวณปลายกิ่ง โดยจะออกเป็นพุ่มกระจาย คล้ายฉัตรเป็นชั้นๆ ตั้งขึ้น กลีบดอกมีสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว กว้าง 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 10-12 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดรูปทรงแป้น ขนาด 4-6 มิลลิเมตร กลม หรือ อาจเป็นผลกลมแยกเป็นพู โดยจะมี 4 พูติดกัน เมื่อผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมดำ หรือ สีดำแดง บางทีอาจเป็นสีดำ ซึ่งในแต่ละผลจะมีกลีบเลี้ยงสีแดงขนาดใหญ่ติดอยู่

ไม้เท้ายายม่อม

การขยายพันธุ์ไม้เท้ายายม่อม 

ไม้เท้ายายม่อมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง แต่การขยายพันธุ์ของไม้เท้ายายม่อม นั้นส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดในธรรมชาติมากที่สุด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเริ่มมีการนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดเพื่อให้ได้ต้นกล้าของไม้เท้ายายม่อม มาปลูกนั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่

ไม้เท้ายายม่อม

องค์ประกอบทางเคมี 

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของรากไม้เท้ายายม่อม ที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรโดยพบว่ามีสารสำคัญหลายกลุ่มดังนี้ 

             สารกลุ่ม flavonoids เช่น Hispidulin, pectolinarigenin สารกลุ่ม triterpenoids เช่น lupeol, oleanolic acid-3-acetate, taraxerol, 3beta-hydroxy-D:B-friedo-olean-5-ene สาร steroids และ steroid glycosides เช่น clerosterol, (22E)-stigmasta-4,22,25-trien-3-one, stigmasta-4,22-dien-3-one, stigmasta-4,25-dien-3-one, 22-dehydroclerosterol, 22-dehydroclerosterol-3-O-beta-D-glucopyranoside, stigmasterol, clerosterol-3-O-beta-D-glucopyranoside, stigmasterol-3-O-beta-D-glucopyranoside เป็นต้น

โครงสร้างไม้เท้ายายม่อน

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของไม้เท้ายายม่อม

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศหลายฉบับพบว่า ราก และใบของไม้เท้ายายม่อม มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ฤทธิ์ระงับปวด, ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อจุลชีพ

การศึกษาทางพิษวิทยาของไม้เท้ายายม่อม

มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของราก และลำต้นไม้เท้ายายม่อม โดยป้อนสารสกัดดังกล่าวให้หนูถีบจักรในปริมาณ 10 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งเปรียบเทียมกับการรักษาในคน 50,000 เท่าพบว่าไม่เป็นพิษ จากนั้นทำการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักรในปริมาณ 0.01 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ก็ไม่พบความเป็นพิษเช่นกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ในการใช้ส่วนต่างๆ ของไม้เท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป และใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้องรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ไม้เท้ายายม่อมเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสนอ

เอกสารอ้างอิง ไม้เท้ายายม่อม
  1. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สตราวาหะ, การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีที่ 13. ฉบับที่ 4 มกราคม-มีนาคม 2514. หน้า 21
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ท้าวยายม่อม (เท้ายายม่อม)”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 379-380.
  3. ไม้เท้ายายม่อม.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=pid=191
  4. เท้ายายม่อม. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargardedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=57
  5. Somwong P, Moriyasu M, Suttisri R. Chemical constituents from the roots of Clerodendrum indicum and Clerodendrum villosum. Biochemical Systematics and Ecology. 2015;63:153-156.