กระต่ายจันทร์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กระต่ายจันทร์ งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระต่ายจันทร์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สาบแร้ง, หญ้าต่ายจันทร์, หญ้าต่ายจาม, หญ้าผมยุ่ง (ภาคกลาง), หญ้าจาม (เชียงใหม่, ชุมพร), หญ้าขี้ตู๊ด (น่าน, แพร่), หญ้ากระจาม (สุราษฎร์ธานี), ง่อเกี้ยอึมเจี๊ยะเช่า, จูเกียเช่า, ง่อเกียไฉ่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Centipeda minima(L.)A.Braun.et Aschers.
ชื่อสามัญ Spreading-sneezeweed
วงศ์ ASTERACEAE (COMPOSITAE)

ถิ่นกำเนิดกระต่ายจันทร์

จากการศึกษาค้นคว้าปรากฏว่ายังไม่พบข้อมูลถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกระต่ายจันทร์ พบแต่เพียงว่ามีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และแอฟริการวมไปถึงเขตร้อนของออสเตรเลีย โดยจะพบได้มากในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึงความสูง 1,800 เมตร จนในบางพื้นที่ได้จัดให้กระต่ายจันทร์เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งมักจะพบขึ้นตามบริเวณที่โล่ง ที่รกร้างว่างเปล่าตามริมแหล่งน้ำ ริมชายฝั่ง นาข้าว หรือตามที่ชื้นแฉะต่างๆ

ประโยชน์และสรรพคุณกระต่ายจันทร์

  • ใช้แก้ไอ
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้ภูมิแพ้
  • แก้จมูกอักเสบ
  • แก้ไซนัสอักเสบ
  • แก้ปวด
  • ช่วยทำให้โลหิตที่คั่งค้างตกทวารหนัก
  • ใช้ทำให้เลือดกระจาย
  • ใช้แก้ไอเป็นเลือด
  • แก้หวัดคัดจมูก
  • แก้อาเจียน
  • แก้ตานขโมย
  • ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย
  • บำรุงสายตา
  • แก้ตาอักเสบ
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้ริดสีดวงจมูก
  • แก้บวม
  • แก้ไอกรน
  • แก้ช้ำใน ฟกช้ำ
  • ใช้ขับลมขึ้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระต่ายจันทร์

แก้ไอเป็นเลือด และแก้อาเจียนโดยใช้ต้นสด และใบสดของต้นกระต่ายจันทร์ นำไปตำผสมกับเหล้า คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม ใช้แก้หวัดคัดจมูก โดยใช้กระต่ายจันทร์แบบสด 20 กรัม หรือ แบบแห้ง 5 กรัม มาต้มกับหัวหอม 5 หัว รับประทาน ใช้แก้ไอกรน โดยใช้กระต่ายจันทร์ ต้นสด 20 กรัม หรือ ต้นแห้ง 5 กรัม ต้มรับประทานโดยใส่น้ำตาลกรวด หรือ ใส่น้ำตาลทรายก็ได้แต่หากเป็นน้ำตาลทรายให้นับอายุ 3 ปี แต่ 7.5 กรัม ใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะโดนใช้ต้นกระต่ายจันทร์ ไปผสมกับใบข่อย และเทียนดำ ใช้ตำสุมหัว ใช้แก้ช้ำใน ฟกช้ำปวดบวม โดยใช้ต้นกระต่ายจันทร์ 20 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปตุ๋นกับเหล้ารับประทาน ส่วนกากให้นำไปพอกบริเวณที่มีอาการ ใช้แก้ไซนัส ริดสีดวงจมูก หรือแก้จมูกอักเสบ โดยใช้ต้นกระต่ายจันทร์ สด นำมาตำให้แหลก แล้วนำไปใส่ในรูจมูก หากเป็นต้นแห้งให้นำมาบดเป็นผงทำเป็นยานัตถุ์

ลักษณะทั่วไปของกระต่ายจันทร์

กระต่ายจันทร์ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กฤดูเดียว ลำต้นมีขนาดเล็กทอดนอนเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดินประมาณ 2-3 นิ้ว และจะแตกกิ่งก้านมาก ส่วนปลายยอดจะแตกกิ่งก้านชูตั้งขึ้นเล็กน้อย หรืออาจชูได้สูงถึง 15 เซนติเมตร ลำต้นจะเป็นสีเขียวอ่อน มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย ส่วนลำต้นที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนขึ้นปกคลุมคล้ายใยแมงมุม ใบดอกเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก เรียงสลับ โดยใบจะเกิดจากต้นโดยตรงไม่มีก้านใบกว้างประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปช้อน ปลายใบแหลม หรือ มน โคนใบสอบแหลมกว่าปลายใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ข้างละ 2-3 หยัก ในใบอ่อนใต้ท้องใบจะมีขน ดอก ออกเป็นแบบช่อกระจุกแน่น รูปร่างค่อนข้างกลม ประกอบด้วยดอกจำนวนมาก โดยจะออกตามง่ามใบ ช่อดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มม. ก้านช่อดอกสั้นมากหรืออาจไม่มีเลย โคนช่อมีใบประดับรูปช้อนขนาดเล็กจำนวนมากเรียงซ้อนประมาณ 2 ชั้น อยู่โดยรอบฐานรองดอกที่เป็นแผ่นกลมขนาดเล็กและนูนเล็กน้อย ดอกเพศเมียเล็กมากและมีจำนวนมาก เรียงเป็นวงบนฐานรองดอกล้อมรอบดอกสมบูรณ์เพศซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และมีจำนวนน้อยกว่า ดอกเพศเมียมีกลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดเรียว สั้นมาก ปลายแยก 2-3 แฉก รังไข่เล็ก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบดอกสีเหลือง หรือ เหลืองอมเขียว โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 4 แฉก รังไข่เล็ก เกสรเพศผู้ 4 อัน ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะของผลมีขนาดเล็กมักเป็นสี่เหลี่ยมรูปรี หรือ เป็นรูปเกือบขอบขนาน ด้านปลายหนา เปลือกด้านนอกมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมเล็กน้อย

 กระต่ายจันทร์

กระต่ายจันทร์

การขยายพันธุ์กระต่ายจันทร์

กระต่ายจันทร์ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด เช่นเดียวกันกับพืชล้มลุกที่มีเมล็ดอื่นๆ และโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์โดยวิธีทางธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก เพราะกระต่ายจันทร์มีอัตราการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วมาก หากได้อยู่ในพื้นที่ ที่ชื้นแฉะ หรือ มีความชื้นสูง จนในบางพื้นที่จัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของกระต่ายจันทร์ พบว่ามีน้ำมันหอมระเหยรวมถึงสารสำคัญบางชนิด เช่น Arinidiol, Taraxasterol, Taraxerol, Brevirin A, Arnicolide D, Isochlorogenic A และ C เป็นต้น

 โครงสร้างกระต่ายจันทร์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระต่ายจันทร์

จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ากระต่ายจันทร์เป็นสมุนไพร อีกชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัย น้อยมากโดยมีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาเพียงไม่กี่ฉบับดังนี้
           มีการศึกษาวิจัยกระต่ายจันทร์ที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์และสกัดด้วยน้ำ พบว่ามีประสิทธิภาพในการแก้ไอ ขับเสมหะ และช่วยบรรเทาอาการหืดหอบได้ดี ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งระบุว่าได้มีการค้นพบสารเคมีจำพวก sesquiterpene 2 ชนิด และ flavonoid อีก 3 ชนิด ในกระต่ายจันทร์ที่มีผลในการยับยั้ง และต้านภูมิแพ้
          นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าสารสกัดจากกระต่ายจันทร์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย ต้านเซลล์มะเร็งต่างๆ อาทิเช่น มะเร็งโพรงจมูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระต่ายจันทร์

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เด็ก, สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรไม่ควรใช้กระต่ายจันทร์รับประทาน เป็นสมุนไพร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ ผู้ที่มีร่างกายปกติ ควรใช้กระต่ายจันทร์ในปริมาณที่พอเหมาะตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้กระต่ายจันทร์ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง กระต่ายจันทร์

⦁ “กระต่ายจันทร์”. หน้า 66.ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.
⦁ ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก.กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
⦁ วิทยา บุญวรพัฒน์.“กระต่ายจาม”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 30.
⦁ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กระต่ายจันทร์”.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 22-23.
⦁  Zhu P, Zheng Z, Fu X, Li J, Yin C, Chou J, et al. . Arnicolide D exerts anti-melanoma effects and inhibits the NF-κB pathway. Phytomedicine. (2019) 64:153065. 
⦁ Su M, Wu P, Li Y, Chung HY. Antiproliferative effects of volatile oils from Centipeda minima on human nasopharyngeal cancer CNE cells. Nat Prod Commun. (2010) 5:151–6.
⦁ Tang W, Eisenbrand G. Centipeda minima (L.) A. Braun et Aschers. Chinese Drugs of Plant Origin. Berlin, Heidelberg: Springer Berlin Heidelberg; (1992). pp. 277–9. 
⦁ Huang SS, Chiu CS, Lin TH, Lee MM, Lee CY, Chang SJ, et al. . Antioxidant and anti-inflammatory activities of aqueous extract of Centipeda minima. J Ethnopharmacol. (2013) 147:395–405.
⦁ Wu JB, Chun YT, Ebizuka Y, Sankawa U. Biologically active constituents of Centipeda minima: sesquiterpenes of potential anti-allergy activity. Chem Pharm Bull (Tokyo). (1991) 39:3272–5.
⦁  Liu R, Qu Z, Lin Y, Lee CS, Tai WC, Chen S. Brevilin A Induces cell cycle arrest and apoptosis in nasopharyngeal carcinoma. Front Pharmacol. (2019) 10:594. 10.3389/fphar.2019.00594
⦁ You P, Wu H, Deng M, Peng J, Li F, Yang Y. Brevilin A induces apoptosis and autophagy of colon adenocarcinoma cell CT26 via mitochondrial pathway and PI3K/AKT/mTOR inactivation. Biomed Pharmacother. (2018) 98:619–25.
⦁ Taylor RS, Towers GH. Antibacterial constituents of the Nepalese medicinal herb, Centipeda minima. Phytochemistry. (1998) 47:631–4.