มะเดื่อหอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะเดื่อหอม งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะเดื่อหอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เดื่อขน, หาด, นอดน้ำ (ภาคเหนือ), มะเดื่อขน (ภาคกลาง), นมหมา, พุงหมู (ภาคอีสาน), เดื่อหอมเล็ก, นอดหอม, มะเดื่อเตี้ย (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus hirta Vahl
ชื่อสามัญ Hairy fig
วงศ์ MORACEAE


ถิ่นกำเนิดมะเดื่อหอม

มะเดื่อหอม จัดเป็นไม้พุ่มตระกูล ficus (มะเดื่อ) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างคลอบคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และทางตอนใต้ของจีน เช่น มลฑลกุ้ยใจ กวางซี และไห่หนาน สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ โดยจะพบได้บริเวณป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าโปร่งทั่วไปรวมถึงบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า


ประโยชน์และสรรพคุณมะเดื่อหอม

  • บำรุงหัวใจ
  • บำรุงกำลัง
  • ทำให้ชื่นบาน (ทำให้เบิกบาน)
  • แก้ตับพิการ
  • แก้หัวใจพิการ
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้พิษอักเสบ
  • แก้พิษงู
  • แก้พิษฝี
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ใช้บำรุงน้ำนมของสตรี
  • แก้ผิดสำแดง
  • เป็นยาระบาย
  • ช่วยบำรุงน้ำนม
  • แก้ผิดสำแดง

         มะเดื่อหอม ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลักๆ ก็คือ ใช้เป็นยาสมุนไพร แต่ทั้งนี้ก็มีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกเช่นกัน เช่น ผลสุกสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ และส่วนของราก หรือ เหง้าสะสมอาหารใต้ดินที่มีกลิ่นหอมก็ถูกนำมาสกัดเป็นส่วนผสมในน้ำหอมอีกด้วย

มะเดื่อหอม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1. ใช้บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นบาน แก้หัวใจพิการ ตับพิการ แก้พิษอักเสบ ขับลมในลำไส้ โดยนำรากมะเดื่อหอม มาต้มกับน้ำดื่ม
  2. ใช้บำรุงน้ำนมของสตรี แก้ผิดสำแดง ขับลม โดยนำรากและลำต้นมาฝนกับน้ำดื่ม
  3. ใช้แก้พิษอักเสบ แก้พิษฝี แก้พิษงู โดยนำรากมาฝนทาบริเวณที่เป็น
  4. ใช้แก้พิษฝี โดยนำผลมาตำพอกบริเวรที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของมะเดื่อหอม

มะเดื่อหอม จัดเป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่ง มีรากเก็บสะสมอาหารเป็นหัวใต้ดิน ลำต้น และกิ่งก้านมีขนแข็ง สากคาย สีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน ลำต้นแก่ข้างในจะกลวง ตาดอกและใบอ่อนมีขนหนาแน่น มีน้ำยางขาวทุกส่วนของต้น

           ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 7-11 เซนติเมต และยาว 12-20 เซนติเมตร แผ่นใบลักษณะหยักเป็นพูลึก 3-5 พู ไม่เท่ากัน โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ส่วนขอบใบจักเป็นเลื่อย แผ่นใบมีขนขึ้นทั้งสองด้าน ด้านบนเป็นขนหยาบสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นอยู่ประปราย บนเส้นใบ มีขนยาว และหยาบส่วนด้านล่างขนอ่อนนุ่มกว่า ใบแก่มีแผ่นใบบาง มีเส้นข้างใบประมาณ 7-9 เส้น ส่วนก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร และมีหูใบแหลม ดอก เป็นแบบแยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน โดยจะออกเป็นช่อภายในโครงสร้างกลวงซึ่งจะออกบริเวณซอกใบ ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก เบียดกันแน่นบนฐานรองดอก มีช่องเปิดด้านบน มีใบประดับซ้อนทับหลายชั้นดูภายนอกคล้ายผล รูปไข่ค่อนข้างกลม กลีบดอกมี 3-4 กลีบ ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย อยู่บริเวณรูเปิดของช่อดอกมีเกสรตัวผู้ 1-2 อัน ส่วนดอกเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ ผลเป็นผลสด ออกบริเวณซอกใบ หรือ ตามกิ่งลักษณะของผลกลมรี หรือ รูปไข่ มีขนหยาบสีทองหนาแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.1-2.5 เซนติเมตร มักจะออกเดี่ยวๆ หรือ ออกคู่ไม่มีก้านผล ผลดิบเป็นสีเขียว หรือ สีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้ม หรือ น้ำตาลแกมแดง และมียางสีขาวทั้งผล

มะเดื่อหอม

มะเดื่อหอม

การขยายพันธุ์มะเดื่อหอม

มะเดื่อหอม จัดเป็นไม้ตระกูลมะเดื่อที่สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดการปักชำกิ่ง และการปลูกมะเดื่อหอมนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับมะเดื่ออุทมพร (มะเดื่อชุมพร) และมะเดื่อปล้อง ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนผล และสารสกัดจากส่วนรากของมะเดื่อหอม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดเอทานอลจากผลของมะเดื่อหอมพบสาร pubinernoid A, vomifoliol, dehydrovomifoliol, icariside B2, naringenin-7-O-β-d-glucoside, eriodictyol-7-O-β-d-glucoside ส่วนสารสกัดจากรากของมะเดื่อหอมพบสาร Epicatechin, Chlrorgenic acid, Psoralenoside, Picraquassioside A, Methoxypsoralenoside, Psoralen, Hydrasine, 4,5-dihydrogenpsoralenoside, Pelargonidin 7-glucoside, Isoliquiritigenin, Vitexin, Isoeugenitol, Kaempferol, (±)-Naringenin, Apigenin, Bergapten, Aloin A, Resveratrol และ Pinolenic Acid เป็นต้น

โครงสร้างมะเดื่อหอม

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะเดื่อหอม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะเดื่อขน จากรากและผล ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

           ฤทธิ์ต้านภาวะสมองอักเสบ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านภาวะสมองอักเสบของสาร ficuside A และสาร methyl 2-hydroxybenzoate-2-O-β-D-apiofuranosyl-(1 → 2)-O-β-D-glucopyranoside ซึ่งแยกได้จากรากมะเดื่อหอม (Ficus hirta Vahl.) ในเซลล์ไมโครเกลีย (microglia cell) ชนิด BV2 พบว่า สารทั้ง 2 ชนิด สามารถยับยั้งกระบวนการ phosphorylation ของ AKT, JNK, และ ERK1/2 ได้ นอกจากนี้ สาร methyl 2-hydroxybenzoate-2-O-β-D-apiofuranosyl-(1 → 2)-O-β-D-glucopyranoside ยังสามารถยับยั้งกระบวนการ phosphorylation ของ NF-κB p65 ได้ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาร ficuside A และสาร methyl 2-hydroxybenzoate-2-O-β-D-apiofuranosyl-(1 → 2)-O-β-D-glucopyranoside ซึ่งแยกได้จากรากมะเดื่อหอม ออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบในเซลล์สมอง โดยยับยั้งการทำงานของ NF-κB, MAPK (JNK และ ERK1/2), และ AKT signaling pathways

           ฤทธิ์ต้นเชื้อจุลชีพ มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ในหลอดทดลองของสารสกัดจากราก และผลของมะเดื่อหอมระบุว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ Escherichia coli, Staphylococcus aureus, Alternaria citri และ Botrytis cinerea และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา P. italicum และ P. Digitatum หลอดทดลองอีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากรากของมะเดื่อหอมยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องตับ และป้องกันโรคหอบหืดอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะเดื่อหอม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่า สารสกัดแอลกอฮอล์ 50% จากส่วนเหนือดินของมะเดื่อหอม มีพิษเฉียบพลันปานกลาง เมื่อทำการฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรมีค่า LD50 เท่ากับ 681 มิลลิกรัม/กิโลกรัม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

จากผลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาที่ระบุว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของมะเดื่อหอม มีพิษเฉียบพลับปานกลาง ดังนั้นในการใช้ส่วนต่างๆ ของผลมะเดื่อหอมเป็นสมุนไพร จึงควรระมัดระวังในการใช้ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะเดื่อหอม
  1. กรมป่าไม้,2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย, สำนักพิมพ์ประชาชนจำกัด,กรุงเทพมหานคร,
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “มะเดื่อหอม”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 154.
  3. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2554. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 271 หน้า
  4. ภานุมาศ จันทร์สุวรรณ. 2549, มะเดื่อ-ไทร ในป่าตะวันออก. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร.
  5. วรดร ไผ่เรือง. เครื่องหมายโมเลกุลของประชากรมะเดื่อหอม (Ficus hirta Vahl.) และมะเดื่อปล้อง (Ficus hispida L.f.) ในพื้นที่ฟื้นฟูป่าเขตร้อนจังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. มีนาคม2554. 81 หน้า
  6. ฤทธิ์ต้านภาวะสมองอักเสบจากรากมะเดื่อหอม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. มะเดื่อหอม. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=92
  8. Deng, R.X.; Zhang, C.F.; Liu, P.; Duan, W.L.; Yin, W.P. Separation and identification of flavonoids from Chinese Fringetree Flowers (Chionanthus retusa Lindl et Paxt). Food Sci. 2014, 35, 74–78.
  9. Wan C., Chen C., Li M., Yang Y., Chen M., Chen J. Chemical Constituents and Antifungal Activity of Ficus hirta Vahl. Fruits. Plants. 2017;6:44.
  10. Woo, K.W.; Lee, K.R. Phytochemical constituents of Allium victorialis var. platyphyllum. Nat. Prod. Sci. 2013, 19, 221–226.
  11. Chen Q., Ye S.X. Antibacterial activity of Ficus hirta roots by chromotest microassay. Anhui Agric. Sci. 2012;40:8452–8454.
  12. Ding, Y.X.; Guo, Y.J.; Ren, Y.L.; Dou, D.; Li, Q. Isolation of flavonoids from male flowers of Eucommia ulmoides and their anti-oxidantive activities. Chin. Tradit. Herb. Drugs 2014, 45, 323–327.
  13. Cheng J., Yi X., Chen H., Wang Y., He X. Anti-inflammatory phenylpropanoids and phenolics from Ficus hirta Vahl. Fitoterapia. 2017;121:229–234. 
  14. Yang, N.Y.; Duan, J.A.; Li, P.; Qian, S.H. Chemical constituents of Glechoma longituba. Acta Pharm. Sin. 2006, 41, 431–434.
  15. Cai, L.; Liu, C.S.; Fu, X.W.; Shen, X.J.; Yin, T.P.; Yang, Y.B.; Ding, Z.T. Two new glucosides from the pellicle of the walnut (Juglans regia). Nat. Prod. Bioprospect. 2012, 2, 150–153.