หญ้ายาง ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

หญ้ายาง งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้ายาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าน้ำหมึก (ภาคเหนือ), ผักยาง (ภาคอีสาน), ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ (ทั่วไป), หญ้าหลังอึ่ง (ไทยใหญ่), ผักบุ้งป่า (ปะหล่อง), บานบา (ลาว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia heterophylla Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphorbia elliptica Lam. ,Euphorbia epilobiifolia W.T.Wang, Euphorbia linifolia Vahl nom. illeg., Euphorbia prunifolia Jacq., Euphorbia geniculata Ortega, Poinsettia frangulifolia (Kunth) Klotzsch & Garcke
ชื่อสามัญ Mexican fireplant, Red milkweed, Painted spurge, Wild poindettia
วงศ์ EUPHORBIACEAE


ถิ่นกำเนิดหญ้ายาง

หญ้ายาง จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนจากทวีปอเมริกา บริเวณอเมริกาใต้และอเมริการกลาง ได้แก่ ในเม็กซิโก, กัวเตมาลา, ปานามา, คอสตาริกา ไปจนถึงโคลัมเบีย เวนซูเอลา และบราซิล เป็นต้น ในปัจจุบันสามารถพบได้ในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล จนถึง 1800 เมตร ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศและถูกจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้ายาง

  • กระทุ้งพิษ
  • ขับน้ำนมสตรีหลังคลอด
  • แก้ไข้กาฬ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • รักษาหิด
  • เป็นยาระบาย
  • รักษาบาดแผล
  • รักษาฝีภายในและภายนอก
  • รักษาโรคหลอดลมอักเสบ
  • รักษาโรคหืด
  • รักษาโรคผิวหนังพุพอง
  • รักษาโรคหูด
  • รักษาโรคไฟลามทุ่ง
  • แก้พิษงู
  • แก้พิษแมลง

           ในบางพื้นที่มีการนำยอดและใบอ่อนของหญ้ายาง มาประกอบอาหารรับประทานรวมถึงมีการนำมาใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการนำส่วนต่างๆ ของหญ้ายางมาทำเป็นยารักษาอาการติดยาเสพติด (กัญชา, กระท่อม) เป็นต้น

หญ้ายาง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้หญ้ายาง

ใช้ขับน้ำนมสตรีหลังคลอด ใช้แก้ไข้กาฬ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายใน ราก หรือ ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก โดยนำยอดอ่อนใช้รับประทานสดประมาณ 3 ใบ มาล้างเอายางออกให้หมดแล้วรับประทานสดๆ ใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบ โรคหืด โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาฝีภายนอก แก้โรคผิวหนัง โรคหัด หูด ไฟลามทุ่ง โดยใช้รากหรือลำต้นมาต้มกับน้ำแล้วใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของหญ้ายาง

หญ้ายาง จัดเป็นพืชล้มลุกอายุฤดูเดียว ทรงพุ่มโปร่ง ลำต้นเปราะอ่อน ตั้งตรงด้านในกลวง แตกกิ่งก้านสาขาไม่มาก สูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร เปลือกลำต้นมีสีเขียว ผิวเรียบ มีขนปกคลุมบริเวณใกล้ปลายยอดโดยตลอด ทุกส่วนของลำต้นเมื่อหักจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น

            ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ มีหลายรูปร่างตั้งแต่รูปไข่ ยาวรีจนถึงกลม โคนใบเรียวสอบหรือเป็นรูปลิ่ม สีเขียวอ่อนปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แต่จะมีจักละเอียดแหลม หรืออาจหยักเป็นฟันไม่สม่ำเสมอ ใบกว้าง 1-5 เซนติเมตร และ ยาว 5-10 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบมีขนปกคลุมประปรายจนถึงไม่มีขนเลย ส่วนก้านใบมีสีม่วงแดงมีขนขึ้นปกคลุม

           ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุก บริเวณปลายกิ่งและซอกใบ โดยแต่ละช่อแตกเป็นง่ามประมาณ 5 ง่าม ส่วนช่อดอกย่อยเป็นช่อรูปถ้วย ขนาดกว้างประมาณ 2.5 มม. ยาวประมาณ 3.5 มม. มีวงใบประดับรูปถังทรงกระบอก เกลี้ยง มีต่อมแบบก้นปิดขนาดประมาณ 1 มม. รูปกรวย ปากต่อมเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 มม. มักมีขอบสีแดง แฉกของต่อมขนาดประมาณ 1.3 มม. กึ่งรูปกลม หยักซี่ฟันลึกและแหลม ขอบมีขนครุยเล็กๆ และจะมีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้มีใบประดับย่อย 2-3 อัน รูปลิ้น เบาคล้ายขนนก และเกสรเพศผู้จะยาวประมาณ 4 มม. ส่วนดอกเพศเมียที่รังไข่มีก้าน เกลี้ยง หรือมักมีขนกระจายห่างๆ วงกลีบรวมประกอบกันเห็นเป็นขอบชัดเจน ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มม. มักมีขนละเอียดเล็กๆ ปลายแยกเป็น 2 แฉก จนถึงครึ่งหนึ่งของก้าน และจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแน่น สำหรับใบประดับที่โคนลักษณะคล้ายใย แต่มีสีเขียวอ่อนกว่า ขนาดเล็กกว่า เป็นรูปใบหอกและไร้ก้าน ส่วนก้านช่อดอกสั้นลงตามลำดับตั้งแต่ 15 ซม. ลงไปจนถึง 2 มม.

           ผลเป็นผลแบบแห้งออกเป็นกลุ่มลักษณะ ทรงกลม ผิวเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่สีน้ำตาลเมื่อขนาดกว้าง 4-6 มิลลิเมตร ผลแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ ในแต่ละกลีบจะมีเมล็ด 1 เมล็ด สีน้ำตาลหรือดำ รูปร่างกลม-รีขนาดกว้าง 1.8-2.0 มิลลิเมตร ยาว 1.8-2.5 มิลลิเมตรผิว เมล็ดขรุขระเป็นร่องรอบเมล็ด 1-2 เส้น มีสันขรุขระ มีลักษณะเป็นปลายแหลมอยู่ข้างหนึ่ง

หญ้ายาง

การขยายพันธุ์หญ้ายาง

หญ้ายางสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของหญ้ายาง นั้นส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ จะไม่นิยมนำมาปลูก เนื่องจากหญ้ายางถูกจัดเป็นวัชพืชที่มีขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและยังเป็นพืชที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่สามารถขึ้นได้ดีในทุกสภาพดินอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนเหนือดินของหญ้ายาง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิดดังนี้ มีการแยกสารบริสุทธิ์ โดยคอลัมน์โครมาโทกราฟีของสารสกัดชั้นไคคลอโรมีเทน และสารสกัดชั้นเมทานอลของส่วนเหนือดินของต้นหญ้ายาง ระบุว่าสามารถแยกสารที่มีโครงสร้างสเตอริโอเคมีที่ไม่เคยมีรายงานในกลุ่ม megastigmane ได้ 3 ชนิด คือ (3R,5R,6R,7E,9S)-megastigman-7-ene-3,5,6,9-tetrol-3-O-β-D-glucopyranoside, (1S,5S,6S,7E,9S)-drummondol และ (1S,5S,6S,7E,9S)-drummondol-9-O-β-D-glucopyranoside และสารที่มีรายงานมาแล้ว12 ชนิด โดยเป็นสารกลุ่ม megastigmane5 ชนิด คือ blumenol A (หรือ vomifoliol), (6S)-dehydrovomifoliol, (3S,5R,6R,7E,9S)-megastigman-7-ene3,5,6,9-tetrol, (3S,5R,6R,7E,9S)-megastigman-7-ene-3,5,6,9-tetrol-3-O-β-D-glucopyranoside และ (3S,5R,6R,7E) -3,5,6-trihydroxy-7-ene-9-oxo-megastigmane สารกลุ่ม diterpene 2 ชนิด คือ ent-kaurane-3β,16β,17-triol และ 7,11,15-trimethyl-3-methylene-hexadecan-1,2-diol สารกลุ่ม triterpene 2 ชนิด คือ glut-5-en-3β-ol และ lupeol acetate สารกลุ่ม sterol 3 ชนิด คือ stigmast-4-en-3α,6β-diol, β-sitosterol และβ-sitosterol-3-O-β-D-glucose

            นอกจากนี้ในผลการศึกษาวิจัยอื่นๆ ยังระบุเพิ่มเติมว่าพบสาร quercetin tetracetate, phorbols, indole-3-methyl carboxylate ,15-O-acetyl-3,5-O-dibutanoyl-7-O-nicotinoylmyrsinol,methyl-4-coumarate, betulin, adenosine riboside , cycloart-23-one-3,5-diol และ secotaraxerene

โครงสร้างหญ้ายาง 

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้ายาง

มีรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของหญ้ายางระบุว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “Antinociceptive Activity of Euphorbia heterophylla Roots” ผลการวิจัยพบว่าการทดสอบฤทธิ์การยังยั้งการเจ็บปวด (Antinociceptive) ในหนูทดลองจากรากของต้นหญ้ายาง พบสารสกัดชั้นเฮกเซน ไดคลอโรมีเทนและเอทิลอะซีเตท มีฤทธิ์การยับยั้งอาการเจ็บปวด 25%, 56% และ 31% ตามลำดับ โดยผลการทดสอบสารสกัดทั้งหมด ให้ค่าทดสอบเป็นบวกสำหรับสารกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์หรือสเตอรอยด์ซึ่งแสดงสัมประสิทธิ์ของฤทธิ์ยับยั้งอาการเจ็บปวดในหนู ได้อย่างมีนัยสำคัญ  และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง “Phytochemical and Antimicrobial Analysis of the Crude Extract, Petroleum Ether and Chloroform Fractions of Euphorbia heterophylla Linn WholePlant” โดยผลการวิจัยพบว่า ผลการวิเคราะห์ทางพฤกษเคมีเบื้องต้นจากส่วนเหนือดินของต้นหญ้ายาง แสดงเอกลักษณ์ของกลุ่มสารอัลคาลอยด์ แทนนิน คาร์ดิแอคไกลโคไซด์ และซาโปนินไกลโคไซด์ ซึ่งผลการทดสอบฤทธิ์ต้านจุลชีพจากสารสกัดหยาบส่วนเหนือดินของต้นหญ้ายางแสดงสัมประสิทธิ์การยับยั้งบนเซลล์Staph albus, Proteus mirabilis, E. coli, Salmonella typhi และ Kleb. Pneumonae

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ ระบุว่าสารสกัดจากหญ้างยาง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory activity) ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (anticancer activity) ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) ฤทธิ์ต้าน HIV (anti-HIV activity) ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ (antimicrobial activity) ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย (antibacterial activity) ฤทธิ์ต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด (anticoagulant activity) และฤทธิ์ยับยั้งการเจ็บปวด (antinociceptive activity) อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้ายาง

มีรายงานการศึกษาทางพิษวิทยาในต่างประเทศระบุว่าหญ้ายาง เป็นพืชที่มีความเป็นพิษปานกลาง โดยส่วนที่เป็นพิษคือน้ำยาง โดยมีความเป็นพิษ คือให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังและปาก


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้หญ้ายางเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้ โดยเพราะส่วนของน้ำยางต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำยางมาถูกผิวหนัง เข้าตา หรือรับประทานเข้าไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง โดยอาจมีอาการแดง อักเสบ และคัน แต่อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง หากเข้าตา อาจทำให้เกิดการมองเห็นไม่ชัด น้ำตาไหล และตาแดงได้ หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดแผลพุพองในปากและทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ นอกจากนี้ผู้ที่อาการภาวะเลือดไม่แข็งตัวไม่ควรใช้หญ้ายาง เป็นสมุนไพรเพราะหญ้ายางมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจจะทำให้อาการของโรคเลวร้ายลงได้


เอกสารอ้างอิง หญ้ายาง
  1. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. 2550. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคใต้. ชุดภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร.กรุงเทพมหานคร: สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ).
  2. ธวัชชัย รัตน์ชเลศ และเจมส์ เอฟ. แมกซ์เวล. 2540. รายชื่อวัชพืชที่รายงานในประเทศไทย.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เวิร์เพรส
  3. เทวีรัตน์ ศรีทอง. 2548. “ประสิทธิภาพของผลมะเกลือ เมล็ดสะแกนา ต้นหญ้ายาง และเมล็ดฟักทอง ต่อการกำจัดตัวเต็มวัยของพยาธิไส้เดือน (Ascaridia galli) ในไก่พื้นเมืองและไก่ไข่.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  4. สุรชัย มัจฉาชีพ. 2544. วัชพืชในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: แพร่พิทยา
  5. วรรนภา เทพสุดา.องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากส่วนเหนือดินของต้นหญ้ายาง .รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม.ปีการศึกษา 2560.107 หน้า
  6. ดวงพร สุวรรณกุล และรังสิต สุวรรณเขตนิคม. 2545. รายชื่อวัชพืชในประเทศไทย.กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  7. อรอุมา ภู่ประเสริฐและอุทัย โสธนะพันธุ์. 2544. “สารที่มีฤทธิ์ ทางชีวภาพจากลำต้นของหญ้ายาง.”รายงานการวิจัย ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  8. ธัญชนก จงรักไทยศิริพร ซึงสนธิพรและกาญจนา พฤกษพันธ์. 2556. “สัณฐานวิทยาของเมล็ดวัชพืชสกุลน้ำนมราชสีห์ EuphorbiaSeed Morphology of Euphorbia Weeds .” ในรายงานผลงานวิจัยประจำปี 2556 เล่ม 3., หน้า 2106-2120. นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย
  9. สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.2556.คู่มือทะเบียนชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่ควรป้องกันควบคุมและกำจัดของประเทศไทย.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.กรุงเทพฯ.244 หน้า
  10. Falodun, A., Agbakwuru, E.O.P., and Ukoh, G.C. 2003. “Antibacterial Activity of Euphorbia heterophylla Linn (Family Euphorbiaceae).” ParkistanJournal of Scientific and Industrial Research46, 6: 471-472
  11. Vamsidhar, I., et al. 2000. “Antinociceptive Activity of Euphorbia heterophylla Roots.” Fitoterapia 71, 5: 562-563
  12. Okeniyi,S.O., Adedoyin, B.J., and Garba,S. 2013. “Phytochemical Screening, Cytotoxicity, Antioxidant and Antimicrobial Activities of Stem and Leave Extracts of Euphorbia heterophylla.” Journal of Biology and Life Science 4, 1: 24-31.
  13. Sundaram, M.M., et al. 2010. “Antimicrobial and Anticancer Studies on Euphorbia heterophylla.” Journal of Pharmacy Research 3, 9: 2332-2333.
  14. Fred-Jaiyesimi, A. A., and Abo, K. A. 2010. “Phytochemical and Antimicrobial Analysis of the Crude Extract, Petroleum Ether and Chloroform Fractions of Euphorbia heterophylla Linn Whole Plant.” Pharmacognosy Journal2, 16: 1-4.
  15. Falodun, A., Okunrobo, L.O., and Uzoamaka, N. 2006. “Phytochemical Screening and Anti- inflammatory Evaluation of Methanolic and Aqueous Extracts of Euphorbia heterophylla Linn (Euphorbiaceae).” African Journal of Biotechnology 5, 6: 529-531.
  16. Unekwe, P.C., Ughachukwu, P.O., and Ogamba, J.O. 2006. “Some Pharmacological Studies of Aqueous Extract of Leaves of Euphorbia heterophylla.” Tropical Journal of Medical Research10, 2: 1-5.
  17. Williams, C.A., et al. 1995. “A Biologically Active Lipophilic Flavonol from Tanacetum parthenium.” Phytochemistry 38, 1: 267-270.