คนทีสอทะเล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
คนทีสอทะเล งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร คนทีสอทะเล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คนทิ, คนที (ภาคใต้), ถูนิง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex rotundiflolia L.f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vitex trifolia sabsp., litoralis steenis
ชื่อสามัญ Beach vitex
วงศ์ LAMIACEAE
ถิ่นกำเนิดคนทีสอทะเล
คนทีสอทะเล จัดเป็นพืชในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณแนวชายฝั่งของประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์ เลสเต ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเกาะต่างๆ รวมถึงดินแดนของทวีปออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทย สามารถพบคนทีสอทะเล ได้บริเวณทางภาคใต้ ตามป่าชายเลนรวมถึงที่ชื้นแฉะและลำคลองใกล้ๆ ชายทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณคนทีสอทะเล
- ใช้รักษาโรคตับ
- ช่วยขับเสมหะ
- ช่วยขับประจำเดือนในสตรี
- แก้อาการปวดจากการถูกแมงกะพรุน
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน
- แก้เชื้อรา
- แก้กลากเกลื้อน
- แก้ชันนะตุ
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้ลม
- แก้ริดสีดวง
- แก้ริดสีดวงในลำคอ
- แก้อาการฟกช้ำบวม
- แก้ปวดเมื่อย
- รักษาเล็บมือเล็บเท้าที่เป็นเชื้อรา
มีการใช้ประโยชน์จากคนทีสอทะเล หลากหลายรูปแบบอาทิเช่น มีการใช้ใบของคนทีสอทะเลมาเป็นส่วนประกอบในการทำขนมพื้นเมืองของชาวใต้ โดยมีลักษณะเหนียวๆ คล้ายกาละแม มีสีเขียว รสชาติหวานและยังมีการนำใบคนทีสอทะเล แห้งไปผสมกับแป้งข้าวเหนียวและน้ำ แล้วนำไปนึ่งจนสุก นำมาหั่นเป็นชิ้นๆ คลุกกับมะพร้าวขูด น้ำตาลและเกลือ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำคนทีสอทะเลมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งโดยมักจะนิยมนำมาปลูกลงในกระถาง ตั้งประดับไว้ในที่แจ้ง หรือ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้โรคตับ ขับเสมหะ ขับประจำเดือนในสตรี โดยนำรากคนทีสอทะเล ต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงธาตุ ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ลมโดยนำใบคนทีสอทะเลสดมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงในลำคอ แก้ลม แก้อาการฟกช้ำ โดยนำเถาสดคนทีสอทะเลมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการเจ็บปวดแสบจากการถูกแมงกะพรุน โดยใช้รากของคนทีสอทะเล ฝนกับน้ำฝนทาบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน
- ใช้แก้โรคผิวหนัง แก้เชื้อรา กลากเกลื้อน ชันนะตุ โดยนำใบคนทีสอทะเล สดมาต้มกับน้ำใช้อาบ 3-4 วัน
- ใช้นวดแก้ปวดเมื่อย โดยนำใบคนทีสอทะเลไปดองกับแอลกอฮอล์แล้วกรองเอาแต่น้ำมาไว้ใช้เป็นหัวเชื้อ หรือ จะนำใบไปสกัดกับน้ำกะทิเคี่ยวทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง จนได้น้ำมันคนที แล้วนำมานวดตัว หรืจะเอาน้ำมันใบคนที 1 ส่วนผสมกับน้ำมันมะรุมอีก 1 ส่วนใช้เป็นยาหยอดเป็นยารักษาเล็บมือเล็บเท้าที่เป็นเชื้อราก็ได้
ลักษณะทั่วไปของคนทีสอทะเล
คนทีสอทะเล จัดเป็นไม้เถาเลื้อยริมทะเลที่มักจะไปตามพื้นทราย มีความสูงของส่วนยอดเถาที่ชูตั้งขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวเรียบแต่เมื่อเถาอายุมากจะมีสะเก็ดหลุดร่วงออกมา ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขามาก โดยกิ่งจะโค้งงอลง
ใบคนทีสอทะเล เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับบริเวณปลายยอด โดยมักจะออกเรียงสลับแบบถี่ๆ ใบมีลักษณะเป็นรูปรีมีขนาดกว้าง 1.5-3 เซนติเมตร และยาว 3-6 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ผิวใบเรียบเนื้อใบค่อนข้างหนาและมักโค้งสอบขึ้นข้างบน ใบมีสีเขียวเข้มหลังใบสีอ่อนกว่าด้านบนใบจนสีนวล
ดอกคนทีสอทะเล ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด ช่อดอกมีความยาว 6-10 เซนติเมตร ซึ่งในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกจำนวนมาก ลักษณะของดอกย่อยเมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเกือบ 1 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ส่วนกลีบดอกมีสีฟ้าอมม่วง สีม่วงหรือสีคราม กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 4 ก้าน
ผลคนทีสอทะเลเป็นผลสด มีลักษณะกลมปลายผลมีติงและมีกลีบเลี้ยงหุ้มไว้เกือบครึ่งผล สีของผลเป็นสีเขียวหรือสีม่วงภายในมีเมล็ด 4 เมล็ด
การขยายพันธุ์คนทีสอทะเล
คนทีสอทะเล สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการตอนกิ่งและการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันวิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์คนที่สอทะเล คือ การตอนกิ่งเนื่องจากสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว และสามารถทำได้ครั้งละหลายๆ ต้น สำหรับวิธีการตอนกิ่งคนทีสอทะเล นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งไม้เถาเลื้อยชนิดอื่นๆ ที่เคยได้กล่าวถึงแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของส่วนใบและผลของคนทีสอทะเลระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น พบสารกลุ่ม Flavonoid ได้แก่ Vitexicarpin (Casticin), Artemetin, Luteolin, Quercetagetin, 5,3'-dihydroxy-6,7,4' -trimethoxyflavanone, Penduletin สารกลุ่ม Monoterpenes/ Iridoid compounds ได้แก่ 10-O-Vanilloyl aucubin, Eurostoside, Iridolactone, Viteoid I, Viteoid II, Pedicularis lactone, Agnuside Eucommiol, 1-Oxoeucommiol, 10-O-vanilloylaucubin, 10-O-p hydroxybenzoylaucubin, Aucubin, Iridolactone สารกลุ่ม Lignin ได้แก่ Vitrofolal A, Vitrofolal B, Vitrofolal C, Vitrofolal D, Vitrofolal E, Vitrofolal F, Vitex lignin 7, Vitex lignin 8 สารกลุ่ม Terpenes (Diterpenes) ได้แก่ Rotundifuran, Vitexifolin A, Vitexifolin B, Vitexifolin C, Vitexifolin D, Vitexifolin E, Viterotulin A, Viterotulin B, Previtexilactone สารกลุ่ม Phenolic acid ได้แก่ 4-hydroxybenzoic acid methyl ester, Vanillic acid methyl ester, 4-hydroxy benzaldehyde, 4-hydroxybenzoic acid, Ferulic acid สารกลุ่ม Phenol glucoside ได้แก่ 4-(Y,4'-dihydroxyphenyl)-butan-2-one- 4'-O-fl-D-glucoside เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของคนทีสอทะเล
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดคนทีสอบทะเล จากส่วนต่างๆ ของคนทีสอบทะเล ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่าสารกลุ่ม polymethoxy flavonoids ที่สกัดจากผลของคนทีสอทะเลมีฤทธิ์ ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด myeloid HL-60 ได้ นอกจากนี้สาร polymethoxy flavonoids อีก 4 ชนิด คือ Oroxylin A, casticin, artemetin และ 5,3’-dihydroxy-6,7,4’-trimethoxyflavanone ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งตับ HepG2 ได้และสาร Vitexicarpin (Casticin) ซึ่งเป็นสารประกอบ flavonoid ที่สกัดจากผลของคนทีสอทะเลยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งโดยเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากและถุงน้ำดีของมนุษย์ได้อีกด้วย ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าสารประกอบ Phenylnaphthalene ที่แยกได้จากคนทีสอทะเล (ไม่ระบุส่วน) ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Helicobacter pylori ส่วนสาร trans-resveratrol ที่แยกได้จากคนทีสอทะเล ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้เป็นอย่างดี จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยชะลอวัย และทำให้ผิวขาวขึ้นได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของคนทีสอทะเล
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้คนทีสอทะเล เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง คนทีสอทะเล
- เต็ม สมิตินันทน์. (2544). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้
- มัณฑนา นวลเจริญ (2552). พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี: สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. หน้า 27.
- พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.สมุนไพร ที่น่าใช้. คอลัมน์การรักษาพื้นบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 30. ตุลาคม 2524.
- คนทีสอทะเล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 208.
- อรทัย เนียมสุวรรณ; นฤมล เส้งนนท์; กรกนก ยิ่งเจริญ; พัชรินทร์ สิงห์ดำ (2012). "พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา". วารสารวิทยาศาสตร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ปีที่40 ฉบับที่ 3 : หน้า 981-991.
- ณัฐชา พัฒนา และคณะการตรวจสอบสาระสำคัญทางพฤกษศาสตร์เบื้องต้น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียของสารสกัดใบคนทีสอทะเล. วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ. ปีที่ 17. ฉบับที่ 3 (ฉบับพิเศษ) จากการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลับทักษิณครั้งที่ 24 ประจำปี 2557. หน้า169-176.
- Kouno I, Inoue M, Onizuka Y, Fujisaki T, Kawano N Iridoid and phenolic glucoside from Vitex rotundifolia. Phytochemistry 1988; 27: 611-612.
- Kawazoe K, Yutani A, Takaishi Y Aryl naphthalenes norlignans from Vitex rotundifolia, Phytochemistry 1999; 52: 1657-1659.
- Meena AK, Niranjan US, Rao MM, Padhi MM and Babu R A review of the important chemical constituents and medicinal uses of Vitex genus. AJTM 2011, 6, 54-60.
- Xue G, Gang C Isolation, identification and cytotoxic activity analysis of polymethoxylated flavonoids from Vitex rotundifolia fruit. Journal of Plant ResourcesandEnvironment2015;24:118-120.
- Kim DK Antioxidative Constituents from the Twigs of Vitex rotundifolia. Biomol Ther 2009; 17: 412-417.
- Choi, J.K., Cha, D.S., Lee, Y.J., Ko, H.S., Park, H.J., Lee, S. Y., Choi, J.H. and Jeon, H. (2010). Effects of Vitex rotundifolia on radical scavenging and nitric oxide production. Oriental Pharmacy and Experimental Medicine . 10(2), 51-58.
- Song X, Zhang Y, Wang X, Zhang W, Wang Z, Zhang F, Zhang Y, Lu J, Mei J, Hu Y, Chen L, Li H, Ye Y, Liu Y and Gu J Casticin induces apoptosis and G0/G1 cell cycle arrest in gallbladder cancer cells. Cancer Cell Int 2017; 17: 9.
- Yao JL, Fang SM, Liu R, Oppong MB, Liu EW et al. A Review on the terpenes from genus Vitex. Molecules 2016; 21: 1179.
- Kawazoe K, Yutani A, Tamemoto K, Yuasa S, Shibata H, Higuti T and Takaishi Y Phenylnaphthalene compounds from the subterranean part of Vitex rotundifolia and their antibacterial activity against methicillin-resistant Staphylococcus aureus. J Nat Prod 2001; 64: 588-91.
- Yoshiokaa T, Inokuchib T, Fujiokac S and Kimurab Y Phenolic compounds and flavonoids as plant growth regulators from fruit and leaf of Vitex rotundifolia. Z. Naturforsch. B 2004;59: 509-514.