จินเจอรอล

จินเจอรอล

ชื่อสามัญ Gingerol

ประเภทและข้อแตกต่างสารจินเจอรอล

สารจินเจอรอลเป็นสารที่ให้กลิ่น และรสเผ็ดร้อนของขิง ที่จัดอยู่ในกลุ่มฟินอลลิกดีโตน (phenolic ketones) ซึ่งมีสูตรทางเคมี คือ C17 H26 O4 มีมวลโมเลกุล 29.4.88 g/mol มีจุดหลอมเหลวที่ 30-32 องศาเซลเซียส โดยที่จินเจอรอลเป็นหน่วยที่ซ้ำๆ กัน (homologues) ของ 1-(3-methoxy-4-hydroxyphenyl)-3-keto-5- hydroxyhexane ที่มีตั้งแต่ [4]-, [6]-, [8]-, [10]- และ [12]-gingerol ซึ่งพบในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน โดย [6]-gingerol จะมีปริมาณสูงที่สุด ส่วนคุณลักษณะของจินเจอรอลนั้น โดยปกติจะพบเป็นน้ำมันสีเหลืองที่มีกลิ่นฉุน ก็สามารถจับตัวเป็นผลึกแข็งที่มีการละลายต่ำได้เช่นกัน

            สำหรับประเภทของจินเจอรอล พบว่ามีเพียงชนิดเดียว แต่ทั้งนี้สารจินเจอรอลยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นสาระสำคัญได้อีก 2 ชนิด คือ โชกาออล (shogaol) และซิงเจอโรน (Zingerone) โดยผ่านกระบวนการได้รับความร้อน ดังนี้ จินเจอรอลจะเปลี่ยนเป็นโชกาออล ซึ่งให้กลิ่นฉุนมากกว่าในระหว่างการแปรรูปด้วยความร้อน หรือ การเก็บรักษาเป็นระยะเวลานานด้วยปฏิกิริยาดีไฮเดรชัน (Dehydration) ทำให้หมู่ไฮดรอกซิล (–OH) ที่คาร์บอนตำแหน่งที่ 5 แยกออก เกิดเป็นพันธะคู่ระหว่างคาร์บอนตำแหน่งที่ 4 และ 5 และเมื่อจินเจอรอลได้รับความร้อนที่อุณหภูมิสูงถึง 200 องศาเซลเซียส จะเกิดปฏิกิริยารีโทรอัลดอล (Retro-aldol) ทำให้จินเจอรอล เปลี่ยนเป็นซิงเจอโรน

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารจินเจอรอล

สำหรับแหล่งที่มาของสารจินเจอรอล นั้นจะพบได้ในพืชวงศ์ Zingiberac eae เช่น ขิง ข่า ขมิ้น และไพล เป็นต้น แต่พืชที่เป็นแหล่งที่สำคัญของสารจินเจอรอลที่มีการค้นพบว่ามีปริมาณสารจินเจอรอลมากที่สุด คือ ขิง โดยมีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารจินเจอรอลในขิงอ่อน ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 4-5 เดือน และขิงแกที่มีอายุเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน วิเคราะห์ปริมาณสารจินเจอรอลโดยใช้  HPLC (High Pcrformance Liquid Chromatofrgraphy) พบว่าขิงอ่อนมีปริมาณจินเจอรอลอยู่ในช่วง 0.65-0.88% ส่วนขิงแก่ มีปริมาณ จินเจอรอลอยู่ในช่วง 1.10-1.56% และยังมีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำมันชัน สารในกลุ่มจินเจอรอลและโชกาออล ระหว่าการเจริญเติบโตของขิงจาไมก้า (Jamaican) ช่วง 7-9 เดือน ภายหลังการเพาะปลูก 7 แหล่ง พบว่าน้ำมันขันที่สกัดจากขิงมีปริมาณที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 4.34±0.35 ถึง 8.46±0.46% และเมื่อวิเคราะห์สารในกลุ่มจินเจอรอล ในน้ำมันชิน พบว่ามีสาร [6]-gingerol เป็นองค์ประกอบหลักโดยมีปริมาณตั้งแต่ 10.11±0.31 ถึง 28.94±0.39% ส่วนสาร [6]-shogaol มีปริมาณตั้งแต่ 0.52±0.06  ถึง 4.47±0.56% โดยขิงจากเมือง Portland มีปริมาณน้ำมันชันสูงที่สุดภายหลังการเพาะปลูก 8 เดือน มีค่าเท่ากับ 8.46±0.46% และลดลงเป็น 7.25±0.20% ในเดือนที่ 9 และมีปริมาณสาร [6]-gingerol สูงที่สุดภายหลังการเพาะปลูก 9 เดือน เท่ากับ 28.94±0.39% ส่วนปริมาณของสาร [6]-, [8]-, [10]- gingerol ซึ่งเทียบกับปริมาณจินเจอรอลทั้งหมดในขิงสดทั่วไปเท่ากับ ร้อยละ 75.00, 8.00 และ 11.00 ตามลำดับ

จินเจอรอล

ปริมาณที่ควรได้รับสารจินเจอรอล

ในอดีตการได้รับและการใช้สารจินเจอรอล ของมนุษย์จะเป็นการได้รับ โดยผ่านการใช้ขิงเป็นอาหาร หรือ ยาสมุนไพรในแต่ละภูมิภาคของโลก ซึ่งปริมาณและขนาดการใช้ ก็จะแตกต่างกันไปตามตำรับตำรายาของแต่ละภูมิภาค เช่น ในประเทศไทยแก้ท้องอืด ขับลม แก้จุดเสียด รับประทานผงขิงแห้ง 2-4 กรัม/วัน หรือ ใช้เหง้าสดขนาด 2 หัวแม่มือทุบให้แตก ต้มกับน้ำ 1/3 ถ้วยดื่ม แก้คลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ แก้อาเจียน รับประทานผงขิงเหง้า 1-2 กรัม/วัน (ก่อนเดินทาง) ใช้แก้ไอ ระคายคอ ขับเสมหะ โดยใช้เหง้าขิงแก่ ขนาดหัวแม่มือ 2 หัวฝนกับน้ำมะนาวกวาดคอ หรือ ใช้จิบบ่อยๆ ส่วนในจีนระบุถึงสรรพคุณว่า มีรสเผ็ดอุ่น ขับเหงื่อ จุเสียดกระเพาะ แก้วปวดท้อง แก้โรคไต แก้ไข้ แก้หวัด โดยจะใช้ต้มเป็นยาต้ม หรือ ใช้ปรุงกับอาหารต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีการสกัดสารจินเจอรอล จากเหง้าขิงมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้านแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีเกณฑ์ในการกำหนดปริมาณ และขนาดการใช้สารจินเจอรอล ที่แน่ชัดแต่อย่างใดแต่ทั้งนี้ทางคณะกรรมการอาหาร และยา ได้มีการประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาเรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ได้ระบุว่าอนุญาตให้ใช้เหง้าขิงสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ โดยผ่านกระบวนการ บดผง สกัดด้วยน้ำและน้ำ+เอทอนอล โดยให้มีการใช้ปริมาณขิงบดผง หรือ ปริมาณสารสกัด ไม่เกิน 1 กรัม/วัน ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดนั้นๆ

ประโยชน์และโทษสารจินเจอรอล

สำหรับประโยชน์ของจินเจอรอลนั้นในปัจจุบันมีการสกัดเอาจินเจอรอลจากเหง้าขิงมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ทางการแพทย์ และเภสัชกรรม โดยจินเจอรอล เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ให้กลิ่นรส และความเผ็ดร้อนที่เป็นเอกลักษณ์ ยังมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงมีการนำมาใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในอาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร เครื่องดื่มวิตามิน C สบู่ แชมพู ยาสีฟัน รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงามอื่นๆ เป็นต้น และในปัจจุบันยังมีการใช้สารจินเจอรอลมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และขึ้นทะเบียนเป็นบา (สารสกัดจากสมุนไพร) ต่างๆ มาวางจำหน่ายอีกมากมายโดยมีการระบุถึงประโยชน์ และสรรพคุณว่า ใช้ลดการอักเสบ และป้องกันการอักเสบ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาเจียน ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารจินเจอรอล

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของจินเจอรอลทั้งใน และต่างประเทศหลายฉบับโดยมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญๆ ดังนี้

            ฤทธิ์ต่อหัวใจ สารกสัดเมทานอล และสาร gingerots และ shogaol ในขนาดยาที่สูง จะมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ โดยกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจหนู และทำให้หัวใจทำงานลดลง โดยทำให้เส้นเลือดคลายตัว ผ่านกลไกการกระตุ้นการสร้าง prostacyclin แต่ขนาดยาต่ำมีผลทำให้หัวใจคลายตัว สารสกัดเอทานอลมีฤทธิ์ปกป้องหัวใจ โดยมีกลไกต้านออกซิเดชั่น   

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และลดการอักเสบสารสำคัญที่พบในขิง ได้แก่ [6]-, [8]-, [10]-gingerol, [6]-, [8]-, [10]-shogaol, [6]-paradol และ [1]-dehydrogingerdione มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด H-1299 และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT-116 ได้ โดยในสารในกลุ่ม shogaol จะมีฤทธิ์ดีกว่าในกลุ่ม gingerol โดยเมื่อเปรียบเทียบค่า IC50 ของ [6]-shogaol กับ [6]-gingerol จะมีค่า 8 และ 150 ไมโครโมล ตามลำดับ สำหรับการทดลองในเซลล์ murine macrophage RAW264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide พบว่าสาร [6]-shogaol ที่ความเข้มข้น 5 ไมโครโมล จะออกฤทธิ์ลดการอักเสบโดยยับยั้งการหลั่งกรด arachidonic ได้ดีกว่า [6]-gingerol ที่ความเข้มข้น 50 ไมโครโมล (ยับยั้งได้ 90% และ 30% ตามลำดับ) และ [6]-shogaol ที่ความเข้มข้น 5 ไมโครโมล ยังมีผลยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ได้ดีกว่า [6]-gingerol ที่ความเข้มข้น 35 ไมโครโมล 

            ฤทธิ์แก้ไข้แก้ปวด สาร [6]-gingerols และ [6]-shogaol (ขนาดฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 1.75-3.5 มก./กก. และขนาดรับประทาน 70-140 มก./กก.) มีฤทธิ์ลดไข้ และแก้ปวดได้ และช่วยเสริมฤทธิ์ของยา hexobarbital ทำให้หลับนานขึ้น โดยที่ [6]-gingerols มีฤทธิ์แรงกว่า [6]-shogaol

            ฤทธิ์ขับน้ำดี การให้สารสกัดอะซิโดน (ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย) เข้าลำไส้หนู พบว่าจะเพิ่มการหลั่งน้ำดีได้ ภายใน 3 ชม. ซึ่งสาระสำคัญคือ [6]- และ [10]-ginferol แต่สารสกัดน้ำไม่ให้ผลดังกล่าว

           ฤทธิ์รักษาอาการอาเจียน ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีการศึกษาวิจัยในระยะแรก พบว่า สาร 6-gingerol ในขิงมีการศึกษาทางคลินิกในระยะแรกมาแล้วว่ามีฤทธิ์ต้านการอาเจียนได้ โดยไปยับยั้ง neurokinin-1, serotonin และ dopamine receptors ส่วนการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาระยะที่ 2 แบบสุ่มในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง และได้รับการผ่าตัดแล้ว แต่ต้องได้รับยาเคมีบำบัดต่อที่มีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 88 คน ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับยาแผนปัจจุบันที่รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ondansetron, metoclopramide และ dexamethasone แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 42 คน ได้รับสารสกัด 6-gingerol 10 มก. วันละ 2 ครั้ง กลุ่มที่ 2 จำนวน 46 คน ได้รับยาหลอก นาน 12 สัปดาห์ พบว่าอัตราการตอบสนองต่อการรักษาของสาร 6-gingerol ในขิงสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (77 vs. 32%) และกลุ่มที่ได้รับสาร 6-gingerol มีความอยากอาหารมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก เมื่อประเมินคะแนนคุณภาพชีวิตพบว่ากลุ่มที่ได้รับ 6-gingerol มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกเมื่อทำการศึกษาได้ 64 วัน (86.21 vs. 72.36) โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงจาการได้รับสาร 6-gingerol นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับสาร 6-gingerol มีความอ่อนเพลียลดน้อยลง

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดลองที่อุ้งเท้าหนู พบว่าการป้อนหนูขาวด้วยการการสกัดขิงจากสาร shogaol มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเทียบเท่ากับยาแอสไพริน นอกจากนี้ [6]-gingerol dehydrogiogerdiones และ gingerdiones มีผลในการยับยั้งการสร้าง prostacyclin โดยยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase

           ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทจากการทำลายของเบต้า-อะไมลอยด์ มีการศึกษาผลของ [6]-gingerol ที่ได้จากขิง ต่อการปกป้องจากการทำลายเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงด้วย เบต้า-อะไมลอยด์ พบว่า ในเซลล์ประสาทที่เลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีระดับ เบต้า-อะไมลอยด์ 20 ไมโครโมลาร์ จะมีระดับโปรตีนกระตุ้นการตายของเซลล์ (Bax) เพิ่มขึ้น และมีระดับโปรตีนที่ป้องกันการตายของเซลล์ (Bcl2) ลดลง มีการทำงานของ caspase-3 เพิ่มขึ้น และการตายของเซลล์แบบ apoptosis เพิ่มขึ้น ระดับเบต้า-อะไมลอยด์ ยังชักนำให้มีการทำลายเซลล์จากสารอนุมูลอิสระ โดยมีระดับเปอร์ออกไซด์, peroxynitrite และ malnonedialdehye (MDA) ซึ่งเป็นผลผลิตของขบวนการเกิดปฏิกิริยาลิปิดเปอร์ออกซิเดชั่น (lipid peroxidation) เพิ่มขึ้นในเซลล์ มีระดับกลูตาไธโอน (GHS) ลดลง และระดับ NF-E2-redox-sensative transcription factor (Nrf2) ลดลง ซึ่งส่งผลให้มีการแสดงออกของโปรตีน gamma-glutamylcystein ligase (GCL) และ heme oxygenase-1 (HO-1) ลดลง ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ลดอนุมูลอิสระ ในขณะที่เซล์ประสาทที่ได้รับสาร [6]-gingerol ขนาด 10 ไมโครโมลาร์ ก่อนได้รับเบต้า-อะไมลอยด์ 24 ชั่วโมง มีการทำลายเซลล์จากสารอนุมูลอิสระลดลง โดยมีระดับเปอร์ออกไซด์, peroxynitrite, และ MDA ในเซลล์ลดลง มีระดับกลูตาไธโอน, GCL และ HO-1 เพิ่มขึ้น จากการทำงานของ Nrf2 ที่เพิ่มขึ้น มีระดับโปรตีน Bax ลดลง และมีระดับโปรตีน Bcl2 เพิ่มขึ้น มีการทำงานของ caspase-3 ลดลง และการตายของเซลล์แบบ apoptosis ลดลง 

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพิษวิทยาของสารจินเจอรอล พบว่าขนาดความเป็นพิษของสารสำคัญในขิง พบว่า LD50 ของ [6]-gingerol และ [6]-shogaol อยู่ระหว่า 250-680 cc/kg นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความปลอดภัยของสารกสัดขิงซึ่งเตรียมจากการสกัดเหง้าขิงด้วยเอธานอลโดยมี gingerol และ shogaol สูง เมื่อทดสอบในหนูขาว พบว่าไม่มีผลต่อปริมาณน้ำตาลในเลือด การแข็งตัวของเลือด ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ จึงนับว่าปลอดภัย

โครงสร้างจินเจอรอล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้จินเจอรอล ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้ในรูปแบบการบริโภคขิง (ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของสารจินเจอรอลโดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า ขิงมีฤทธิ์ยับยั้งเอมไซม์ thromboxane synthase ซึ่งมีผลต่อเวลาการแข็งตัวของเลือด และการได้รับขิงในปริมาณสูงอาจจะทำให้เกล็ดเลือดลดลงได้

            นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าขิง และสารสกัดจากขิงยังมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆ อีกเช่น ยากลุ่มลดการหลั่งของกรด และยาลดกรด (antacid) โดยขิง และสารสกัดขิงมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งของกรดจะทำให้ยากลุ่มลดการหลั่งของกรด และยาลดกรดมีประสิทธิภาพลดลง ยานอนหลับกลุ่ม barbiturates, benzodiazepines และ CNS depressants ซึ่งขิง และสารสกัดขิงมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะเสริมฤทธิ์ของยานอนหลับ และยากลุ่ม digoxin, β-blockers หรือ ยาที่มีผลกระตุ้นหัวใจ โดยขิง และสารสกัดขิงมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ซึ่งจะเข้าไปเสริมฤทธิ์ของยากลุ่มดังกล่าว

            ดังนั้นการใช้ขิง และสารสกัดขิงในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มลดกรด ยานอนหลับ ยากระตุ้นหัวใจ รวมถึงยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด และผู้ป่วยนิ่วถุงน้ำดี จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง จินเจอรอล
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์.สมุนไพรในตำรับยาหอม.จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 28. ฉบับที่ 2 มกราคม 2554.หน้า 13-18
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร.แม้นมาส ชวลิต, และวิเชียร จีรวงศ์. (2258).คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์:ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 (พิมพ์ครั้งที่ 3), กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
  3. ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และลดการอักเสบของสาระสำคัญในขิง ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ปุณยนุช อมรดลใจ.การใช้ขิงรักษา และบำบัดอาการโรคข้อเสื่อม.วารสารสุขภาพกับการจัดการสุขภาพปีที่ 3.ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2559. หน้า 13-22
  5. [6]-gingerol มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทจากการทำลายของเบต้า-อะไมลอยด์.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร.ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560
  7. เสาวนิตย์ ดาวรัตนชัย .ขิงแก้อาเจียน.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 20. ฉบับที่ 1 ตุลาคม 2545. หน้า 4-12
  8. การศึกษาทางคลินิก ระยะที่ 2 ของสาร 6-gingerol ในขิงกับการรักษาอาการอาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. Bisset NG. Herbal Drugs and Phytopharmaceuticals. London:CRC Press.1994.  
  10. Bailey-Shaw,Y.A.,Williams,L.A.D.,Junor,G.O.,Green,C.E.,Hibbert.,S.L.,Salmon,C.N.A.and Smith,A.M.2008.Changes in the contents of oleoresin and pungent bioactive principle of Jamaican ginger (Zingiber officinal Roscoe) during maturation J Agric.Food Chem.56:5564-5571.
  11. Ansari MN Bhandari U Pillai KK Ethanolic Zingiber officinale R extract pretreatment alleviates isoproterenol-induced oxidative myocardial necrosis in rats.Indian J Exp Biol 2006;44(11):892-7.
  12. Zhenxian,Z.,Xizhen,A.,Qi,Z.,&Shi-jie,Z.(2000).Studies on the diurnal changes of photosynthetic efficiency of ginger. ActaHory.Sinica,27(2).pp107-111.
  13. Burnham TH(ed).The Review of Natural Products 1st ed. Missouri : Facts and Comparisons, 2001.
  14. Weidner MS.Sigwart K The safety of a ginger extract in the rat J Ethnopharmacol 2000;73:513-20.
  15. Ulbricht CE.Basch EM (eds). Natural Standard Herb&Supplement Reference Evidence-based Clinical Reviews. Missoui: Eisevuer Mosby, 2005.
  16. Surh,Y.-J,Lee,E.and Lee,J.M.1998.Chemoprotextive properties of some pungent ingredients present in red pepper and ginger Mutat Res 402:259-267.
  17. World Heath Organization WHO Monographs on Selected Medicinal Plants Vol. 1.Geneva:World Heaith Organization,1999.
  18. Balladind,A.,Headlaey,O.,Chang-Yen,L.,&Mcgaw,D.(1997,Oetober).Extraction and evaluation of main pungent principles of solar dried West lndian ginger (Zingiber officinale Roscoe) rhizome. Renewable Energy.12(2),pp.125-130.
  19. Chen.J.,Lindmark-Mansson, H., Gorton,L.and Akesson.B.2003.Antioxidant capaciry of bovine milk as assayed by spectrophotometric and ampetmetric methods Int,Dairy J,13:927-935.
  20. Fulder S, Tenne M,Ginger as an antinausea remedy in pregnancy; the issue of safety, Herbalgram 1991;38:47-50.