ถั่วลันเตา ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ถั่วลันเตา งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ถั่วลันเตา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ถั่วหวาน, ถั่วแขก (ทั่วไป), ถั่วน้อย (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pisum sativum Linn.
ชื่อสามัญ Pea, Greenpea, Garden pea, Sweet pea, Sugar pea
วงศ์ FABACEAE-LEGUMINOSAE
ถิ่นกำเนิดถั่วลันเตา
สำหรับถิ่นกำเนิดของถั่วลันเตายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้วอยู่ที่ใดกันแน่ เนื่องจากถั่วลันเตาเป็นพืชที่มีอายุเก่าแก่และมีข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของถั่วลันเตาหลายทางที่แตกต่างกันเช่น บางข้อมูลระบุว่า ถั่วลันเตา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา จากนั้นจึงแพร่เข้ามาในแถบเมดิเตอเรเนียนและเอเชีย บางข้อมูลระบุว่าถั่วลันเตามีถิ่นกำเนิดอยู่เอเชียตอนกลาง หรือบางทีอาจเป็นอินเดีย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลระบุว่ามีการบันทึกการเพาะปลูกถั่วลันเตา เริ่มแรกในแถบเอเชียตะวันตก ทวีปยุโรป และแพร่เข้าสู่แถบเมดิเตอร์เรเนียน เอเชีย ดังนั้นถิ่นกำเนิดของถั่วลันเตาจึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนชื่อเรียกถั่วลันเตาที่เราเรียกกันนั้น สันนิษฐานว่าเมื่อครั้งประเทศจีนที่มีการนำเข้าถั่วลันเตา จากประเทศฮอลแลนด์ คนจีนเรียกถั่วเหล่านี้ว่า ห่อลันเตา (ฮอลแลนด์เตา) ซึ่งคำว่า เตา ในภาษาจีนแปลว่าถั่ว และมีการใช้คำนี้มากในหมู่คนจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จนเพี้ยนไปและเรียกว่า ถั่วลันเตา ดังในปัจจุบัน
ประโยชน์และสรรพคุณถั่วลันเตา
- ช่วยบำรุงไขมัน
- บำรุงเส้นเอ็น
- ช่วยซักตับ
- บำรุงตับ
- ช่วยเพิ่มน้ำนม
- บำรุงสายตา
- บำรุงผิวพรรณ
- บำรุงกระดูก
- บำรุงฟัน
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ปัสสาวะขัด
- บำรุงโรคตับพิการ
- รักษาโรคตับทรุด
- รักษาตับติดเชื้อ
- แก้อาการผิดปกติในตับ
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- ช่วยถอนพิษ
- แก้ตะคริว
- แก้เหน็บชา
- ใช้บำบัดโรคเบาหวาน
- ช่วยขับของเหลวในร่างกาย
- แก้ความดัน
- ช่วยป้องกันอาการขี้หลงขี้ลืมได้
- รักษาโรคหัวใจ
- ช่วยสลายลิ่มเลือด
ถั่วลันเตานับเป็นพืชผักที่มีการนำมาใช้ทำอาหารที่เก่าแก่หลายพันปีแล้ว โดยในปัจจุบันก็ยังมีการนำ เมล็ดฝักอ่อนและยอดอ่อน นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น ผัดผัก ผัดหมูถั่วลันเตา แกงเลียง แกงจืด คั่วเกลือ นำมาลวกหรือกินสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก และยังมีการนำส่วนต่างๆ ของถั่วลันเตามาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แป้งจากถั่วลันเตา ถั่วลันเตากระป๋อง ถั่วลันเตาแช่แข็ง หรือนำไปทำเป็นขนมขบเคี้ยวต่างๆ ได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ บำรุงกระดูกและฟัน โดยนำยอดอ่อนถั่วลันเตารับประทานหรือใช้ประกอบอาหารรับประทานก็ได้ ใช้แก้ปัสสาวะขัด ขับปัสสาวะ โดยใช้ยอดอ่อนถั่วลันเตามาต้มกับน้ำดื่ม หรือรับประทานยอดที่ต้มก็ได้ ใช้บำรุงไขมัน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงตับ เพิ่มน้ำนม โดยนำเมล็ดมาคั่วกินหรือใช้ประกอบอาหารก็ได้ ใช้รักษาโรคตับพิการ ตับหลุด ตับติดเชื้อ ถอนพิษ แก้เหน็บชา ขับปัสสาวะ ขับของเหลวในร่างกายโดยใช้เถามาต้มร่วมกับเถาลิ้นเสือ จากนั้นจึงนำน้ำที่ได้มาดื่ม ใช้รักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โดยใช้ฝักถั่วลันเตาทั้งฝัก นำไปคั้นเอาแต่น้ำให้ได้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งแก้ว ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น
ลักษณะทั่วไปของถั่วลันเตา
ถั่วลันเตาจัดเป็นพืชฤดูเดียวที่มีเถาเลื้อย มีความยาวได้ถึง 2 เมตร ลักษณะลำต้นเล็กและเป็นเหลี่ยม แตกกิ่งก้านตามข้อลำต้น ส่วนรากเป็นระบบรากแก้ว โดยถั่วลันเตาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทแรกเป็นพันธุ์ฝักเหนียว มีเมล็ดโต นิยมปลูกไว้เพื่อรับประทานเมล็ด ส่วนอีกประเภทจะปลูกไว้เพื่อรับประทานฝักสด โดยฝักจะมีขนาดใหญ่และมีปีก ใบ เป็นใบประกอบหรือใบสลับ มีก้านใบหลักแทงออกบริเวณข้อลำต้น ประกอบด้วยหูใบ 1 คู่ มีลักษณะเรียบหรือหยักลึก มีใบย่อยเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบ ใบมีสีเขียวเข้ม มีขนขนาดเล็กและมีเส้นใบชัดเจน ดอก ออกเป็นช่อโดยจะแทงออกบริเวณโคนใบและข้อในลำต้น ช่อละ 1-3 ดอก ซึ่งสายพันธุ์ที่ออกดอกเร็วจะออกดอกบริเวณข้อที่ 5-11 ส่วนพันธุ์ที่ออกดอกช้าจะออกบริเวณข้อที่ 13-15 สีดอกที่พบในปัจจุบันมี 2 สีคือ สีขาว และสีม่วงแล้วแต่สายพันธุ์ดอกจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 3 กลีบ โดยจะมีกลีบดอก Standard เป็นกลีบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ด้านบนสุดของดอกโดยขณะทีดอกตูมที่ยังไม่บานจะมีกลีบดอกชนิดนี้หุ้มดอกทั้งหมด แต่เมื่อดอกบาน กลีบนี้จะคลี่ออก และปลายกลีบโค้งออกด้านหลัง และมีกลีบดอก Wing เป็นกลีบดอกที่มีขนาดเล็กรองลงมา ประกอบด้วย 2 กลีบ อยู่ด้านข้างดอก ผล ออกเป็นฝัก ลักษณะสีเขียว แบนเรียบ ยาวรี จะนูนเฉพาะบริเวณของเมล็ด เมื่อฝักโตจะมีลักษณะอวบนูน ฝักจะโค้งคล้ายตาม เมล็ดภายในฝักมีประมาณ 2-7 เมล็ด ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
การขยายพันธุ์ถั่วลันเตา
ถั่วลันเตาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการเริ่มจาก นำเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ประมาณ 5-8 กิโลกรัมต่อไร่ แช่น้ำ 1 คืน และคลุกด้วยยากันเชื้อรา จากนั้นทำหลุมปลูกโดยใช้วิธีการขุดหลุมเป็นร่องยาวตื้นพอกลบเมล็ดได้ ลึกประมาณ 1-2.5 ซม. พร้อมโรยด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กก./ไร่ จากนั้นทำการหยอดเมล็ดซึ่งจะใช้หลุมละ 3-4 เมล็ด ให้มีระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30 ซม. กลบด้วยหน้าดิน และคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากปลูก 3-5 วัน เมล็ดถั่วลันเตาจะเริ่มงอกและเมื่อต้นอ่อนมีใบจริง 3-5 ใบ หรือสูงประมาณ 8-10 เซนติเมตร ให้ถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง โดยให้เหลือเพียงหลุมละ 2 ต้น เมื่อต้นถั่วลันเตามีอายุ 15-20 วัน หรือ สูง 15-20 เซนติเมตร จะเริ่มมีมือเกาะ ในระยะนี้จะต้องทำคานให้ถั่วเกาะ โดยใช้ไม้ไผ่ขนาด 2 นิ้ว ยาว 1.5-2 เมตร ปักระหว่างหลุม ระยะห่าง 2-3 เซนติเมตร แล้วรัดโยงด้วยเชือกหรือลวดเป็นชั้นๆ 4-6 ชั้น ส่วนการให้น้ำจะให้เพียงวันละ 1 ครั้ง ในระยะ 1-2 เดือนแรก และค่อยรดน้ำเป็น 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความชื้นในดิน แต่ละครั้งที่ให้น้ำควรให้เพียงหน้าดินชุ่ม และไม่ควรให้น้ำมากจนดินแฉะ
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของถั่วลันเตาพบว่ามีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์หลายชนิด อาทิเช่น Phytoestrogen, Zeaxanthin, lutein, lecithin, cabalamin, coumestrol และ purine เป็นต้น นอกจากนี้ถั่วลันเตายังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของถั่วลันเตา (100 กรัม)
พลังงาน |
81 |
กิโลแคลอรี่ |
คาร์โบไฮเดรต |
14.45 |
กรัม |
น้ำตาล |
5.67 |
กรัม |
เส้นไย |
5.1 |
กรัม |
ไขมัน |
0.4 |
กรัม |
โปรตีน |
5.42 |
กรัม |
38 |
ไมโครกรัม |
|
449 |
ไมโครกรัม |
|
ลูทีนและซีแซนทีน |
2,477 |
ไมโครกรัม |
วิตามิน บี1 |
0.266 |
มิลลิกรัม |
วิตามน บี 3 วิตามิน บี 6 |
0.132 2.09 0.169 |
มิลลิกรัม มิลลิกรัม มิลลิกรัม |
วิตามิน บี 9 |
65 |
ไมโครกรัม |
40 |
มิลลิกรัม |
|
วิตามิน อี |
0.13 |
ไมโครกรัม |
วิตามินเค |
24.8 |
ไมโครกรัม |
ธาตุแคลเซียม |
25 |
มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก |
1.47 |
มิลลิกรัม |
แมกนีเซียม |
33 |
มิลลิกรัม |
0.41 |
มิลลิกรัม |
|
ฟอสฟอรัส |
108 |
มิลลิกรัม |
244 |
มิลลิกรัม |
|
โซเดียม |
5 |
มิลลิกรัม |
1.24 |
มิลลิกรัม |
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของถั่วลันเตา
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของถั่วลันเตาระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้
ฤทธิ์รักษาผมร่วง มีการศึกษาในอาสาสมัคร จำนวน 10 คน อายุ 46-60 ปี ซึ่งให้ทาผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารสกัดต้นอ่อนถั่วลันเตา (pea sprout extract) 2% บริเวณศีรษะด้านหลัง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่ามีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการงอกของเส้นผม ได้แก่ fibroblast growth factor 7 (FGF7) และ noggin ได้ 56% และ 85% ตามลำดับ และการศึกษาในอาสาสมัครซึ่งมีอาการผมร่วงเล็กน้อยถึงปานกลาง (วันละ ≥100 เส้น) จำนวน 21 คน อายุ 22-63 ปี ซึ่งให้รับประทานสารสกัดต้นอ่อนถั่วลันเตา ขนาด 100 มก. ละลายในน้ำเย็น หรือน้ำผลไม้ 200 - 250 มล. วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ หลังจากการรักษา 28 วัน ไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย จึงสรุปได้ว่า ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดต้นอ่อนถั่วลันเตา มีผลช่วยลดผมร่วงและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมในผู้ที่มีปัญหาผมร่วงได้ โดยไม่มีผลข้างเคียง
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานการศึกษาในการต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH ของเปปไทด์ที่ได้จากการย่อยโปรตีนถั่วลันเตาโดยเอนไซม์โปรติเอสชนิดต่างๆ ที่ผ่านการแยกเปปไทด์ด้วยเครื่อง Amicon Ultramembrane MWCO 1 และ 3 kDa พบว่าเปปไทด์ที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วลันเตาที่ได้จากเอนไซม์เพปซิน ที่นำมาผ่านการแยกเพปไทด์ที่ระดับ 1 และ 3kDa มีความสามารถในการต้านอนมูลอิสระได้มากที่สุด เท่ากับร้อยละ 80.00 และ 78.70
นอกจากนี้ยังมีการศึกษารายงานจากต่างประเทศพบว่าถั่วลันเตามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น มีฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิดช่วยลดคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ช่วยยับยั้งคอหอยพอก ฤทธิ์บำรุงและปกป้องสายตา
การศึกษาทางพิษวิทยาของถั่วลันเตา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในถั่วลันเตามีสารพิวรีน ซึ่งสารนี้จะถูกแปรสภาพแล้วจะกลายเป็นกรดยูริกที่จะทำให้อาการโรคไต โรคนิ่ว และโรคเก๊าต์กำเริบได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน หรือรับประทานแต่น้อย
เอกสารอ้างอิง ถั่วลันเตา
- นิพนธ์ ไชยมงคล. ถั่วลันเตา. ระบบข้อมูลพืชผัก สาขาวิชาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- ประสิทธิภาพในการรักษาผมร่วงของสารสกัดต้นอ่อนถั่วลันเตา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- รัชนี ไสยประจง, สุรพงษ์ พินิจกลาง, เมธัส สิรสุทธิ. สมบัติทางเคมีกายภาพและสารต้านอนุมูลอิสระของไฮโดรไลเซทโปรตีนถั่วลันเตาที่ย่อยด้วยเอนไซม์. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 46.
- ถั่วลันเตา สรรพคุณ และการปลูกถั่วลันเตา. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Vermeirssen, V., Camp J.V. and Verstraete W., 2005, Fractonation of Angiotensin I Converting Enzyme Inhibitory Activity from pea and Whey Protein in Vitro Gastrointestinal Gigests, Journal of the Science of food and Agriculture, 85(3): 399-405.
- Rubatzky, E.V. and M. Yamaguchi. 1997. Garden and Field Peas. Principles, Production, and Nutritive Values. World Vegetables, Second Edition. ITP International Thomson Publishing. New York. Pp 477-488.
- Stanisavjevic N.S., Vukotic G.N. and Paster F.T., 2015, Antioxidant Activity of pea Protein Hydrolysates Produced by Batch Fermentation with Lactin Acid Bacteris, Archives of Biological Science, January 2015.