กระดอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระดอม งานวิจัยและสรรพคุณ 18ข้อ

 

ชื่อสมุนไพร  กระดอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  มะนอยจา มะกะดอม (ภาคเหนือ) , ขี้กาเหลี่ยม (ภาคอีสาน) , ผักแคบป่า (น่าน) ,  มะนอย ฮกฟ้า  (แม่ฮ่องสอน) , ขี้กาลาย (นครราชสีมา) , ขี้กาน้อย , ขี้กาดง (สระบุรี) , ดอม (นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์   Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์   Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz
วงศ์  Cucurbitaceae

 

ถิ่นกำเนิดกระดอม 

กระดอมมีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของเอเชียใต้ เช่น อินเดีย , ศรีลังกา  แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปสู่เขตร้อนของภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศบังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยนั้น สามารถพบได้ตามที่รกร้างหรือชายป่าทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะทางภาคเหนือที่นิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร


ประโยชน์และสรรพคุณกระดอม

  • บำรุงน้ำดี
  • แก้ดีแห้ง ดีฝ่อ ดีเดือด
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • ทำให้โลหิตเย็น ดับพิษโลหิต
  • บำรุงมดลูก
  • รักษามดลูกหลังแท้งหรือคลอดบุตร
  • แก้มดลูกอักเสบ
  • แก้ไข้
  • รักษาภาวะคลั่งเพ้อ คุ้มดีคุ้มร้าย
  • แก้สะอึก
  • แก้ถอนพิษผิดสำแดง
  • บำรุงโลหิต  
  • ขับน้ำลาย
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ขับน้ำดี
  • บำรุงน้ำนม
  • ดับพิษร้อน
  • ใช้เป็นยานวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (กระดอมแห้ง บดผสมกับน้ำร้อน)

            กระดอมสามารถนำมารับประทานได้  นิยมนำมาใช้ทำแกงที่เรียกว่าแกงป่าหรือแกงคั่ว หรือจะนำมาใช้ลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้แต่ผลแก่หรือผลสุกที่เริ่มเป็นสีส้นหรือสีแดง ห้ามรับประทานเพราะมีพิษ


ลักษณะทั่วไปกระดอม

กระดอมจัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นเป็นเถาเป็นร่องรูปห้าเหลี่ยมมีขนปกคลุมมีมือเกาะบริเวณข้อลำต้นเลื้อยไปตามดิน หรือเกาะพันขึ้นกับต้นไม้ต่างๆ  ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปร่างต่างๆ กันตั้งแต่รูปไต จนถึงรูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือเป็นแฉกกว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ผิวใบสากทั้งสองด้าน ดอก เป็นแบบแยกเพศรวมต้น ใบประดับยาว 1.5-2 เซนติเมตร ดอยจักเป็นแฉกลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ก้านช่อยาว 7-15 เซนติเมตรกลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก 5 แฉก มีขนเป็นมันเลื่อม กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวโคนติดกันเล็กน้อย เกสรเพศผู้มี 3 อัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 1 ช่องยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ผล แบบผลมีเนื้อคล้ายกับตำลึง รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 4-5 เซนติเมตร ผิวสาก มีสันโดนสันมีสีเขียว ผลดิบสีเขียวและเมือสุกจะเป็นสีส้มแดง ใบผลมีเมล็ดหลายเมล็ด รูปรี กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร

กระดอม

กระดอม

การขยายพันธุ์กระดอม

กระดอมสามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งมีวิธีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ คือ นำผลแก่ๆ นำมาทิ้งไว้ให้สุกงอม แล้วนำไปบี้กับน้ำแล้วกรองเอาแต่เมล็ดล้างนำให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้งแล้วจึงสามารถนำไปปลูกได้สำหรับขั้นตอนการปลูกเริ่มต้นด้วยการเตรียมดินโดยไถดะ 1 ครั้ง ไถแปร 1 ครั้ง แล้วจึงพรวนดินกำจัดวัชพืชออกและทำการยกร่องระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมขัง ส่วนวิธีการปลูกกระดอมก็เหมือนการปลูกพืชตระกูลแตงทั่วไป โดยนำเมล็ดแช่น้ำ 1 ชั่วโมง แล้วทำการหยอดหลุมเป็นแถว หลุมละ 4-5  เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร และระหว่างแถว 50 เซนติเมตร และจะต้องปักหลักทำค้างให้ต้นกระดอมเกาะเลื้อยพันขึ้นมา ควรถอนให้เหลือหลุมละ 2-3 ต้น  เมื่อปลูกกระดอม 30-45 วัน นับจากวันปลูก จะเริ่มออกดอกแล้วติดผล พอลูกกระดอมโตเต็มที่แล้ว จะมีผลสีเขียวเข้มก็สามารถเก็บผลได้ ไม่ควรปล่อยให้สุกแดง เพราะจะทำให้ผลกระดอมมีพิษ รับประทานไม่ได้
           ทั้งนี้กระดอมสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ช่วงที่เหมาะในการปลูกที่สุด คือ พฤษภาคม – กรกฎาคม แต่โดยทั่วไปแล้วกระดอมจะชอบพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี แต่ก็สามารถขึ้นได้ทุกลักษณะพื้นที่และทุกสภาพดินฟ้าอากาศ เช่นกัน


องค์ประกอบทางเคมี

กระดอม ประกอบไปด้วย สารขม  เช่น cucurbitanemonodesmodidic  diglyceride และสารกลุ่มอื่นๆ เช่น  neolignan, nucleic acids, terpenoids, cerebroside, สารกลุ่ม phenolic และกรดไขมันต่างๆ เช่น oleic acid , palmitic acid, linoleic  acid เป็นต้น

   รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกระดอม

โครงสร้างกระดอม

 

ที่มา : Wikipedia

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ โดยใช้ผลแห้งครั้งละ 15-16 ผล หรือหนักประมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม ก่อนอาหารเช้า และเย็น หรือเวลามีอาการ ใช้เป็นยาแก้พิษสำแลง เป็นยาถอนพิษจากการกิน โดยใช้เมล็ดต้มกับน้ำแล้วใช้ดื่มเมื่อมีอาการ และใช้บำรุงธาตุบำรุงโลหิตบำรุงน้ำดี โดยนำผลกระดอมต้มกับน้ำแล้วใช้ดื่ม เช้า-เย็น


การศึกษาทางเภสัชวิทยา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระดอมพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัวในสัตว์ทดลอง  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการศึกษาวิจับทางพรีคลินิกพบว่า สารสกัดกระดอมมีฤทธิ์ลดไข้ได้ใกล้เคียงกับยาแอสไพริน


การศึกษาทางพิษวิทยา

มีการศึกษาทางด้านพิษวิทยาของกระดอมพบว่า  เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือป้อนสารสกัดผลแห้งด้วยแอลกอฮอล์:น้ำ (1:1) ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม แก่หนูถีบจักรปรากฏว่าไม่พบความเป็นพิษ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการนำกระดอมมาใช้รับประทานเป็นอาหารหรือนำมาเป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการนำมาใช้ เพราะในกระดอมแก่หรือกระดอมสุกมีสารที่ก่อให้เกิดพิษและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นไม่ควรนำกระดอมแก่หรือกระดอมสุกมารับประทานโดยเด็ดขาด
  2. การรับประทานกระดอมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ควรรับประทานแต่พอดีไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ รับประทานติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะในกระดอมมีสารขมอยู่มากซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อตับ และไต หรืออวัยวะภายในต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

 

เอกสารอ้างอิง

  1. กระดอม.คู่มือการกำหนดพืชที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย.พิมพ์ครั้งที่1.กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข.สำนักพิมพ์องค์การสงเครื่องทหารผ่านศึก.กรุงเทพฯ.กันยายน 2558
  2. ราชบัณฑิตยสถาน.2538.อนุกรมวิธานพืชอักษร ก.กรุงเทพมหานคร.เพื่อพิมพ์
  3. กระดอม.ข้อมูลพันธุ์ไม้.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspgor.th/plants_data/plants_data/plantdat/cucardit/qcochi_1.htm.
  4. กระดอม.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrrudedruy.com/main.php?action=viewpage&pid=5