เปล้าน้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เปล้าน้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 6ข้อ
ชื่อสมุนไพร เปล้าน้อย
ชื่ออื่นๆ / ชื่อท้องถิ่น เปล้าท่าโพ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton fluviatilis Esser
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Croton stellatopilosus Ohba. , Croton sublyratus Kurz.
ชื่อสามัญ Thai croton
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิดเปล้าน้อย
เปล้าน้อยเป็นไม้ประจำถิ่นในเขตร้อนของทวีปเอเชีย พบขึ้นกระจายในประเทศพม่าและไทย ตามป่าเบญจพรรณ ป่าแพะ รวมถึงป่าชายหาดบางพื้นที่ในประเทศไทยพบได้มากในหลายจังหวัด เช่น สุรินทร์ , อุบลราชธานี , นครพนม , กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเปล้าน้อยนี้เป็นพืชที่เจริญได้ดีในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน และเริ่มติดผลในเดือน มีนาคม – สิงหาคม
ประโยชน์และสรรพคุณเปล้าน้อย
- ตำรายาไทย ใบ รสร้อน แก้คันตามตัว รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ดี
- เปลือกและใบ รักษาโรคท้องเสีย บำรุงโลหิตประจำเดือน รักษาโรคผิวหนัง
- ราก รสร้อน แก้ลมขึ้นเบื้องบนให้เป็นปกติ ขับโลหิตแก้ช้ำใน
- ผล รสร้อน ต้มน้ำดื่ม ขับหนองให้กระจาย
- ดอก เป็นยาขับพยาธิ เปลือกต้น รสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ใบ
- ราก แก้คัน รักษามะเร็งเพลิงรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อนแก้พยาธิต่างๆ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้เปล้าน้อย
ในการใช้ตามตำรายาไทยเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้คันตามตัว รักษาโรคผิวหนัง ใช้บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต แก้พยาธิต่างๆ ให้นำใบ ค่อนข้างใบอ่อน ตากแห้ง บดละเอียดแล้วนำมาต้มหรือชงน้ำดื่ม หรือใช้ รากต้มน้ำดื่มตอนอุ่นๆ แก้โรคกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้ใบเปล้าน้อยยังสามารถนำไปสกัดเป็นยา “เปลาโนทอล” (Plaunotol) หรือยารักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย ความจริงแล้วสารเปลาโนทอลมีอยู่เกือบทุกส่วนของต้นเปล้าน้อย แต่มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนที่มีสารเปลาโนทอลสูงสุดคือส่วนของใบอ่อนที่อยู่บริเวณปลายช่อที่ได้รับแสงแดด สำหรับการใช้ยา Plaunotol นั้น ควรใช้ครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นถึง 80-90% ซึ่งอาจมีอาการข้างเคียงบ้างคือ ผื่นคัน ท้องร่วง แน่นท้อง ท้องผูก
ลักษณะทั่วไปเปล้าน้อย
เปล้าน้อย จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 1-5เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ที่เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ผิวลำต้นค่อนข้างเรียบ ใบเป็นแบบเรียงแบบสลับ เมื่อใบใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ก้านใบยาว 1-3.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย แผ่นใบตรงแคบยาว กว้าง 1.5 -2.44 เซนติเมตร ยาว 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ฐานใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยเป็นระยะ ขนาด 5-7 มิลลิเมตร ถึงเกือบเรียบ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนกระจายบนเส้นกลางใบเล็กน้อย หรือเกือบเกลี้ยง ไม่มีนวล มีต่อมที่ฐานของก้านใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7-1.0 มิลลิเมตร เส้นใบข้าง 11-16 คู่
ดอกออกเป็นช่อ เกิดช่อเดี่ยวเล็ก ที่ปลายยอด ขนาดยาว 7-19 เซนติเมตร แกนช่อเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ดอกเพศเมีย จำนวน 4-11 ดอก อาจมีหรือไม่มีดอกเพศผู้ ใบประดับของดอกเพศผู้รูปไข่ ขนาดยาว 2-3.5 มิลลิเมตร กว้าง 1.5-2 มิลลิเมตร บางคล้ายเยื่อ ดอกเพศผู้จำนวน 1-3-4 ดอกในหนึ่งใบประดับ ก้านดอกย่อยยาว 4-5 มิลลิเมตร เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเล็กน้อยที่ฐาน ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม ด้านนอกเกลี้ยง แต่พบขนครุยที่ปลายชัดเจน กลีบดอกลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยงแต่แคบกว่า ขนาดกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 10-12 อัน ก้านชูยาว 2.0-2.5 มิลลิเมตร อับเรณูยาว 0.6 มิลลิเมตร ดอกเพศเมีย ก้านดอกย่อยเกือบเกลี้ยง ขนาดยาว 2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตร ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม เกลี้ยง มองไม่เห็นกลีบดอก รังไข่ยาว 1.5 มิลลิเมตร ขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านชูเป็นอิสระ ขนาดยาว 3-5 มิลลิเมตร แบ่งเป็น 2 แฉก
ผลเปล้าน้อย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกผลเมื่อแห้งมีสีน้ำตาลและแตกได้ง่าย โดยผลจะแบ่งออกเป็นพู 3 พู มีรอยกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ก้นผล ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลผิวเรียบ มีลายเส้นตามแนวยาวสีขาวหนึ่งเส้น มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์เปล้าน้อย
การขยายพันธุ์เปล้าน้อยสามารถได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด และกระเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมากกว่าเพราะจะได้พันธุ์แท้ โดยมีรายงานว่าการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดเกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้น สำหรับการปลูกนั้นมีวิธีการคือ ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร (โดยอาจลดหรืเพิ่มได้ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นกล้าที่จะนำมาปลูก) จากนั้นนำดินที่ขุดออกมาผสมกับปุ๋ยคอกให้เข้ากัน แล้วนำต้นกล้าลงปลูกโดยใช้ระยะห่าง 4x4 เมตร กลบดิน รดน้ำให้ชุ่มและปักไม้ค้ำยันกันลมพัดล้ม
องค์ประกอบทางเคมี
ในใบพบสาร (E.Z,E) -7- hydroxymethyl -3, 11, 15-trimethy-2,6,10,14-hexadecate traen-1-01 มีชื่อว่า CS-684 หรือ Plaunotol, Plaunotol A,B,C,D,E ,Plaunotol
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเปล้าน้อย
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเปล้าน้อยในไทยมีน้อยมาก จะมีก็เพียงผลจากการทดสอบฤทธิ์ของเปลาโทนอลในคนไข้โรคกระเพาะที่มีแผลในกระเพาะอาหาร (ผลขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ได้ผลว่า คนไข้จำนวน 8 ใน 10 คน หลังได้รับยาเปลาโนทอลเข้าไป แผลในกระเพาะอาหารจะหายสนิทภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ และการศึกษาทางฤทธิ์ของ Plaunotol ที่ระบุว่า มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุลำไส้ที่เสียหาย ทำให้แผลหายเร็วขึ้นมีฤทธิ์ลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยให้ระบบป้องกัน การดูดซับกรดของเนื้อเยื่อบุกระเพาะซึ่งถูกทำลายด้วยสารบางชนิด กลับคืนดีได้
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมุลการศึกษาทางพิษวิทยา แต่มีข้อมูลระบุว่ายารักษาโรคกระเพาะจากเปล้าน้อย (Plaunotol) ผ่านการศึกษาถึงความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย มีประสิทธิภาพดีและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาสังเคราะห์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่การใช้เปล้าน้อยที่ไม่ใช่สารสกัดหรือการใช้ในทางพื้นบ้านยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ตามการใช้เปล้าน้อยในการรักษาโรคกระเพาะควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่น
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ยารักษาโรคกระเพาะที่สกัดมาจากเปล้าน้อย (Plaunotol) อาจมีอาการข้างเคียงได้ เช่น ท้องเสีย แน่นท้อง ท้องผูก หรือมีผื่นคัน ดังนั้นในการใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเสมอ
เอกสารอ้างอิง
- ภโวทัย พาสนาโสภณ.สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร.คอลัมน์บทความวิชาการ.วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปีที่27.ฉบับที่1กันยายน2556-กุมภาพันธ์2559 .หน้า120-131
- Khovidhunkit,S. O., Yingsaman, N., Chairachvit, K.,Surarit, R., Fuangtharnthip,P., & Petsom, A. (2011). In vitro study of the effects of plaunotol on oral cell proliferation and wound healing. Journal of Asian Natural Products Research, 13(2), 149-159.
- เปล้าน้อย,อังกาบหนู.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargenden.com/main.php?action=viewpage&pid=73
- เปล้าน้อยที่ไม่ใช่สารสกัดรักษาโรคกระเพาะได้หรือไม่.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=620
- เปล้าน้อย .กลุ่มยาแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วง โรคกระเพาะ.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.data/herbs/herbs.07.05.htm
- เปล้าน้อย.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=85