ดองดึง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ดองดึง งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ดองดึง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านก้ามปู, ดาวดึงส์ (ภาคกลาง), มะขาโก้ง (ภาคเหนือ), พันมอก, หัวฟาน (ภาคอีสาน), บ้องขวาน, หัวขวาน, คมขวาน (ชลบุรี), ก้ามปู (ชัยนาท)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gloriosa superba Linn.
ชื่อสามัญ Glory lily, Climbing lily, Gloriosa lily, Flame lily
วงศ์ COLCHICACEAE

 

ถิ่นกำเนิดดองดึง

ดองดึงเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปแอฟริกา ในหลายๆ ประเทศ ต่อมาจึงได้ กระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกทั้ง มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน จนถึงภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สำหรับในประเทศไทยสามารถพบดองดึงได้ทุกภาค แต่จะพบมากในภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยเฉพาะตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างแล้งที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิด 800 เมตร นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าพืชในสกุลเดียวกับดองดึง (Genus : Gloriosa) ทั่วโลกมีทั้งหมด 7 ชนิด โดยมีถึง 6 ชนิด พบได้ในทวีปแอฟริกา ส่วนในทวีปเอเชียพบเพียงชนิดเดียว คือ ดองดึง นั้นเอง
 

ประโยชน์และสรรพคุณดองดึง

  1. แก้โรคเรื้อน
  2. แก้คุดทะราด
  3. ช่วยขับผายลม
  4. แก้เสมหะ
  5. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  6. แก้ปวดตามข้อ
  7. แก้ลมพรรดึก
  8. แก้กามโรค
  9. ช่วยรักษาบาดแผล
  10. ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง
  11. แก้ข้ออักเสบฟกบวม
  12. แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  13. แก้ลมจุกเสียด
  14. แก้ระดูขัดยาขับโลหิต
  15. แก้ริดสีดวงจมูก

            ทั้งนี้ดองดึง จัดเป็นพืชที่มีความเป็นพิษสูงมากชนิดหนึ่ง โดยในตำรายาสมุนไพรไทย ยังได้ระบุถึงการใช้ หัวดองดึงมาปรุงเป็นยาว่าจะต้องใช้ในปริมาณน้อยๆ และเจือจางก่อนการนำมาใช้ หากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ โดยมีการศึกษาพบว่า เหง้าดองดึงเป็นพิษจากสารที่มีชื่อว่า colchicine โดยเป็นพิษต่อการแบ่งตัวของเซลล์ และเป็นพิษต่อทางเดินอาหารโดยอาการของพิษจะเกิดเมื่อกินสารนี้เข้าไปประมาณ 2 ชั่วโมง จะรู้สึกแสบร้อนในปากและลำคอ คอแห้ง กระหายน้ำ โดยมีอาการเจ็บปวดตามตัว ปากและผิวหนังชา คลื่นไส้ และท้องร่วงอย่างแรง อุจจาระมีเลือดปน ปวดท้องปวดเบ่งแต่ไม่มีอุจจาระออกมา หายใจลำบาก กลืนไม่ลง ชัก หมดสติเนื่องจากร่างกายเสียน้ำมาก ตัวเย็น และอาจตายได้ใน 3-20 ชั่วโมง อุณหภูมิร่างกายจะลดลงต่ำมากก่อนเสียชีวิต จึงไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปนำมาใช้เอง

ดองดึง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ดองดึง

เนื่องจากดองดึง เป็นพืชที่มีความเป็นพิษสูง และการใช้ในตำรายาสมุนไพรไทยนั้น ต้องใช้และปรุงโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันหากผู้เชี่ยวชาญได้ยาก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้นำมาใช้หรือน้ำมาปรุงเป็นยาเองดังนั้นการใช้ดองดึงเป็นสมุนไพรหรือยานั้นควรต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น ซึ่งในการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น มีการใช้เหง้าดองดึง สกัดเป็นสารบริสุทธิ์ ซึ่งมีสาร colchicines ในขนาดที่ปลอดภัย โดยทำเป็นยาเม็ดรักษาโรคต่างๆ อาทิเช่น โรคเก๊าท์ เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของดองดึง

ดองดึง จัดเป็น ไม้เถาล้มลุกขนาดเล็ก เลื้อยเกาะพันต้นไม้อื่น มีอายุหลายปี และสามารถยาวได้ถึง 5 เมตร และมีขนาดเถา 10.5-1.5 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นหัวหรือเหง้าขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน รูปร่างกลมเรียว หรือทรงกระบอกโค้ง มีหงอนเหมือนขวาน เปลือกหัวบาง มีสีน้ำตาลอมแดง ส่วนเนื้อด้านในมีลักษณะเป็นแป้ง สีขาวนวล แข็งเล็กน้อย ส่วนลำต้นเหนือดิน เป็นส่วนที่ต่อมาจากเหง้าใต้ดิน  ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ โดยจะออกเรียงสลับกันตามข้อ ข้อละ 1-3 ใบ ตามความยาวของกิ่ง ใบมีรูปหอก กว้างประมาณ 1.5.4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวสด เป็นมัน โคนใบสอบมน ไม่มีก้านใบ ปลายใบแหลมยาว ทำหน้าที่เป็นมือเกาะ ใบมีเส้นกลางใบมองเห็นได้ชัดเจน โดยจะขนานกันไปสุดที่ปลายใบ ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว แบบสมบูรณ์เพศขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณซอกใบ ใกล้ปลายเถา ดอกมีสีเหลืองปลายกลีบสีแดง บริเวณโคนกลีบเมื่อดอกบานใหม่ๆ มีสีเหลือง แต่เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งดอก โดยดอกแต่ละดอกจะมีกลีบ 6 กลีบ สีเขียวอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวและแดงตามลำดับ ซึ่งกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปแถบ เรียวยาว 5-7.5 เซนติเมตร โค้งกลับไปทางก้านดอก ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น เกศรเพศผู้ 6 อัน ชี้ออกเป็นรัศมีตามแนวนอน มีก้านยาว 3-5 เซนติเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.3-0.7 เซนติเมตร แยกเป็น 3 แฉก ผลเป็นฝัก ลักษณะเป็นทรงกระสวยหรือทรงกระบอก กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ขั้วผลสอบแหลม ปลายผลขยายใหญ่ และทู่มน ผิวเปลือกไม่เรียบ มีสันหรือพูตามแนวยาวของผล 3 พู ผลดิบมีสีเขียวอ่อน ผลสุกมีสีเหลืองอมเขียว ด้านในผลจะมีเมล็ด 30-50 เมล็ด มีลักษณะทรงกลม และแข็ง ขนาด 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมล็ดแก่มีสีแดงอมส้ม 

ดองดึง

การขยายพันธุ์ดองดึง

ดองดึง สามารถขยายพันธุ์ด้วยการใช้หัว และการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่นิยมจะเป็นการปลูกด้วยหัวเป็นหลัก เพราะมีอัตราการรอดสูงกว่าเมล็ดสามารถเกิดต้นใหม่ได้เร็ว และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เร็วกว่าอีกด้วย สำหรับการปลูกมีวิธีการดังนี้ การเลือกหัวดองดึง ที่นำมาปลูก ควรเลือกหัวที่มีขนาดใหญ่ เก็บจากแปลงในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม และพักทิ้งไว้สักระยะ 2-3 เดือนก่อนปลูก เพื่อให้หัวอยู่ในระยะพักตัวก่อนโดยควรมีน้ำหนักตั้งแต่ 7-8 กรัม ขึ้นไป และมีหน่อแทงออกจากตาหน่อซึ่งจะทำให้ได้ต้นใหม่ทุกหัว หากใช้หัวที่มีน้ำหนักน้อย จะไม่มีการงอกของต้นใหม่ หลังจากที่คัดเลือกหัวได้แล้ว ให้นำหัวปลูกลงหลุม หลุมละ 1-2 หัว โดยให้มีระยะห่างระหว่างหลุม 80-100 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว 1.5-2 เมตร เกลี่ยดินกลบ รดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้การปลูกด้วยหัว ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณต้นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีในส่วนหัวของดองดึง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Colchicine Colchicoside superbine 1, 2-didemethylcolchicines 2, 3-didemethylcolchicine GloriosineN-deacetylcolchicines  Lumicolchicine 3-demethyl-N-deformyl-N-deacetylcolchicine 3-demethylcolchicine N-formyl-deacetylcolchicine Tannins benzoic acid salicylic acid sterols ส่วนในดอก เมล็ดและใบ พบสาร superbine และ lumicolchicine อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งได้ระบุถึง การวิจัยปริมาณสารโคลชิซิน (Colchicine) ในหัวดองดึงพบว่าในหัวดองดึมีปริมาณ สาร colchicine อยู่ประมาณ 0.02-0.358% 

โครงสร้างดองดึง                

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของดองดึง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกดึงระบุว่า มีงานศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง (in vitro) ระบุว่า หัวดองดึงสาร colchicines ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านพิษงู ต้านเชื้อมาลาเรีย และต้านเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า ดองดึง มีฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบ ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อปรสิตต้านพิษงู และสารสกัดเหง้าดองดึงด้วยแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลพอกซิจีเนส (lipoxygenase) อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส (acetylcholinesterase) และบิวทิริลโคลีนเอสเทอเรส (butyrylcholinesterase) ได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของดองดึง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเหง้าดองดึง พบว่าพบสาร โคลชิซีน (Colchicine) ซึ่งเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์มีคุณสมบัติละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ ในทางการแพทย์มีการนำมาใช้รักษาโรคเกาต์ไขข้ออักเสบแต่อย่างไรก็ตามสารดังกล่าวก็มีความเป็นพิษสูงเช่นเดียวกัน โดยความเป็นพิษของโคลชิซีนนั้น ได้มีรายงานขนาดความเป็นพิษในขนาด 7-60 มิลลิกรัม โดยพบมีรอยไหม้ที่ปากและคอ อาเจียน ระคายเคือง เป็นไข้ อาการปวด และไตวาย การทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะหลายระบบเกิดขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมง จนทำาให้ถึงแก่ชีวิตได้ และในปัจจุบันยังไม่มียาต้านฤทธิ์โคลชิซีนโดยตรง แต่เป็นการดูแลแบบประคับประคอง การรักษาภาวะสมดุลของเกลือแร่ที่ผิดปกติ และการให้สารน้ำทดแทนอย่างเพียงพอเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีรายงานของเคสตัวอย่างของผู้ที่ได้รับพิษจากหัวดองดึงดังนี้

  • มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากรับประทานหัวดองดึง 3 ราย เพราะเข้าใจผิดคิดว่าหัวดองดึงเป็นสมุนไพรที่สามารถใช้รักษาอาการท้องอืดเฟ้อ และปวดเมื่อยตามร่างกายได้ จึงนำไปต้มและนำมารับประทานคนละ 1 แก้ว เกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น
  • ผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 28 ปี รับประทานหัวดองดึงเป็นอาหาร เพราะเข้าใจว่าเป็นกลอย มีอาการอาเจียน ท้องเสีย หลังจากรับประทานไปได้ 2-3 ชั่วโมง เข้าโรงพยาบาลในวันต่อมา มีอาการขาดน้ำ และความดันเลือดต่ำวัดไม่ได้ มีไข้ อาเจียน และท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว วันที่ 4 หายใจไม่ได้ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
  • ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 21 ปี รับประทานหัวดองดึงต้ม หลังจากรับประทานไปได้ 2 ชั่วโมง เริ่มอาเจียน จากนั้น 8 ชั่วโมงต่อมา ถ่ายท้องอย่างแรงเป็นน้ำ และท้องเสียตลอดทั้งคืน ไปโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการหมดสติ ขาดน้ำ หัวใจเต้นเร็ว แพทย์ให้น้ำเกลือ และยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยอาการดีขึ้น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

หัวดองดึงมีสาร colchicine ซึ่งมีความเป็นพิษสูงมาก ดังนั้นจึงไม่ควรนำดองดึงมาใช้เป็นยาสมุนไพรด้วยตนเอง เพราะในการนำดองดึมาใช้ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูงที่รู้ทั้งวิธีการปรุงยา และรู้ขนาดในการใช้อย่างแท้จริงเท่านั้น สำหรับอาการการเกิดพิษที่แสดงออกมาหลังรับประทานหัวดองดึง ที่ควรรู้ไว้เบื้องต้นมีดังนี้  อาการเกิดพิษเริ่มจาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้องหลังจากรับประทานเข้าไปประมาณ 2-6 ชั่วโมง ต่อมาปาก และคอจะร้อนไหม้ กระหายน้ำ กลืนลำบาก การอาเจียนอาจจะรุนแรงมาก และไม่สามารถควบคุมอาการได้ ในกรณีที่เกิดอาการพิษอย่างเฉียบพลัน จะมีอาการท้องเดิน อาจจะถ่ายเป็นน้ำ และมีเลือดปนออกมาด้วย เนื่องจากมีการทำลายเส้นเลือดเกิดขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่มาก อาจมีอาการหมดสติเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ท่อไตก็ถูกทำลายเช่นกัน ทำให้ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด แต่ปริมาณปัสสาวะน้อย มีอาการจุกเสียดท้อง และปวดเบ่งปัสสาวะ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย และในที่สุดระบบประสาทส่วนกลางเป็นอัมพาตทำให้ตายได้ เนื่องจากหยุดหายใจ ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน

เอกสารอ้างอิง ดองดึง
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2541: 640 หน้า.
  2. ดองดึง.คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1 .กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.กันยายน 2558.หน้า112-113
  3. ทัศนีย์ ปานผดุง.สายใจ ปริยะวาที,สายัน ขุนนุช, นฤมล บุญราศี.การศึกาคุณภาพของหัวดองดึง.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีที่ 58. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2559. หน้า 270-282.
  4. นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). ผู้อ่าน…ผู้อ่าน (ดองดึง). จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2530;4(2):26-8.
  5. ดองดึง .ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pig=43
  6. ดองดึงสรรพคุณและการปลูกดองดึง.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. Gooneratne BW. Massive generalized alopecia after poisoning by Gloriosa superba. Br Med J 1966;231(5494):1023-4.
  8. McEvoy GK, edited. AHFS drug information. Bethesda, MD.: American Society of Health-System Pharmacists; 1999. p.3234-3236
  9. Fernando R, Fernando DN. Poisoning with plants and mushrooms in Sri Lanka: a retrospective hospital based study. Vet Hum Toxicol 1990;32(6):579-81.