ประดู่ป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ประดู่ป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร  ประดู่ป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  ดู่ป่า (ภาคเหนือ), ประดู่เสน (ภาคกลาง), ประดู่ (ภาคอีสาน), เตอะเลอ (กะเหรี่ยง), จิต๊อก (ฉาน) ,ฉะนอง (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus macrocarpus Kurz.
ชื่อสามัญ Burmese Padauk, Burma Padauk, Burmese ebony, Narva
วงศ์ PAPILONACEAE


ถิ่นกำเนิดประดู่ป่า

ประดู่ป่าจัดเป็นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในบริเวณประเทศอินเดีย บังคลาเทศ พม่า และไทย ซึ่งจะต่างจากประดู่บ้านที่เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณแถบทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และในมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากในภาคเหนือและภาคอีสานบริเวณป่าเบญจวรรณและป่าดิบแล้งทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณประดู่ป่า

  • ช่วยบำรุงเลือด 
  • แก้โลหิตจาง
  • บำรุงกำลัง
  • แก้กษัย
  • แก้คุดทะราด
  • แก้ไข้
  • แก้เสมหะ
  • แก้เลือดกำเดาไหล
  • แก้พิษเบื่อเมา
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ผื่นคัน
  • บำรุงร่างกาย
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยสมานบาดแผล
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้พอก ใช้เป็นยาพอกฝีให้สุกเร็ว ใช้พอกบาดแผ
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้อาเจียน
  • แก้ท้องร่วง

           ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าประดู่ป่าเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทยมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังนั้นจึงได้มีการนำประดู่ป่ามาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ  มาตั้งแต่ในอดีตแล้วเช่นกัน โดยจากการศึกษาค้นกว้าพบว่ามีการนำมาใช้ประโยชน์หลายประเภทดังนี้ เนื้อไม้เป็นไม้มีค่าทางเศษฐกิจ เนื้อแข็ง สีแดงอมเหลือง เนื้อละเอียดปานกลาง มีคุณภาพดี  ปลวกไม่ทำลาย ลวดลายงดงาม ตกแต่งขัดเงาได้ดี สามารถนำมาใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ทำเกวียน เรือ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องดนตรี เป็นต้น และเปลือกไม้ประดู่ยังสามารถนำมาใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำตาล ส่วนแก่นก็สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าได้เช่นกัน โดยให้สีแดงคล้ำ และยังสามารถใช้นำฝาดสำหรับใช้ฟอกหนังได้อีกด้วย

ประดู่ป่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้ใบ 1 กำมือต้มกับน้ำ 3 แก้ว แบ่งดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น ใช้บำรุงเลือด บำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้คุดทะราด แก้เสมหะ ขับปัสสาวะ แก้พิษเบื่อเมา แก้กษัยโดยใช้แก่นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงร่างกาย แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาเจียน แก้ท้องร่วง โดยนำผลมาต้มกับน้ำดื่มหรือฝนกินกับน้ำ


ลักษณะทั่วไปของประดู่ป่า

ประดู่ป่าจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึง 15-30 เมตร ทรงพุ่มไม่แผ่กว้าง ลำต้น ตรงไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขาเปลือกลำต้นหนา แตกระแหงมีสีน้ำตาลเทาถึงเทาเข้ม เปลือกในสีน้ำตาล เมื่อถากเปลือกจะมียางสีแดงไหลออกมา (ซึ่งประดู่บ้านจะไม่มีน้ำยางสีแดง) เนื้อไม้แข็งมีสีน้ำตาลอมเหลือง แก่นสีน้ำตาลแดงกิ่งและก้านอ่อนมีขนนุ่มขึ้นทั่วไป แต่เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยง  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ โดยในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 5-11 ใบย่อย โดยจะออกเป็นคู่ยกเว้นปลายช่อจะเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปค่อนข้างมน โคนใบมนปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ส่วนใบแก่จะเกลี้ยง  ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ บริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอก ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร (มีขนาดใหญ่กว่าประดู่บ้าน) แต่จะออกดอกประปราย ดอกเรียบ ดอกเป็นสีเหลือง มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่วขนาดเล็กสีเหลือง มี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อ กลีบยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเขียว มี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร  ดอกเป็นฝักลักษณะเป็นวงกลม โดยจะใหญ่กว่าฝัก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร ประดู่บ้าน ฝักจะมีขนปกคลุม ฝักอ่อนมีสีเขียวส่วนฝักแก่จะมีสีน้ำตาลแกมเทาตรงกลางมีเปลือกคลุมแข็งหนาด้านในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด ซึ่งเมล็ดมีสีน้ำตาลแดงยาว 0.4-0.5 นิ้ว

ประดูป่า

ผลประดู่ป่า

ดอกประดูป่า

การขยายพันธุ์ประดู่ป่า

ประดู่ป่าสามารถได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งในอดีตจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเท่านั้นแต่ในปลูกในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น หลังจากมีการปลดล๊อคกฎหมายไม้หวงห้าม สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดวิธีการปลูกและการดูแลรักษาสามารถทำได้ เช่นเดียวกับการปลูกประดู่บ้าน ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความ “ประดู่บ้าน” ก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของประดู่ป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Homopterocarpin ,Cryptomeridiol , Alloaromacdendrene oxide Spathulenol , 2(3H)-Furanone , 5-butylditydro-4-methyl , alpha-acorenol , 2-Propen-1-ol ,3-(2,6,6-trimethyl-1-cyclohexen-1-y1)-,1,2-Benzenedicarboxylic acid, butyl 2-merhylpropyl ester ส่วนในเนื้อไม้พบสาร epicatechin , narrin , santalin , tannic acid และ anholensin เป็นต้น นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยของประดู่ป่ายังพบสาร β-eudesmol ,machilol ,espatulenol ,dimethyl 2,3-dicyano-2-butenedioate อีกด้วย โครงสร้างประดู่ป่า

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของประดู่ป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของประดู่ป่าในต่างประเทศ ระบุว่าประดู่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ลดความดันโลหิต , ฤทธิ์กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย , ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด , ฤทธิ์ต้านเชื้อุจุลชีพ , ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง , และฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของประดู่ป่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ประดู่ป่าเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้  สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์หรือผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้ประดู่ป่าเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง


เอกสารอ้างอิง ประดู่ป่า
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ประดู่”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 100-101.
  2. ประดู่ป่า.สวนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่ากรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 17 หน้า
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 705.
  4. เดชา ศิริภัทร.ประดู่:ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 291.กรกฎาคม 2546
  5. Ataa S , Hazmi L.R., Samsudin S.F. Insect’s visitation on visitation on melastomamalabathricum in UKM Bangl forest reserve Environ. Ecosyst Sci 2017;(1):20-22.
  6. Gao W., Wang Y., Basavanagoud B., jamil M.K. Characteristics studies of molecular structures in drugs. Saudi Pharm J.2017;25(4):500-586.