สารสกัดถั่วขาว

สารสกัดถั่วขาว

ชื่อสามัญ White Kidney Bean Extract

ประเภทและข้อแตกต่าง

สารสกัดจากถั่วขาวจัดเป็นสารสกัดจากพืชที่มีความสำคัญ และเป็นที่นิยมในปัจจุบันเนื่องจากมีสารไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ชนิดหนึ่งที่ชื่อ ฟาซิโอลามีน (phaseolamin) ที่ช่วยในการยับยั้งการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลในร่างกายจึงสามารถควบคุมน้ำหนักได้ และในปัจจุบันก็มีการนำสารสกัดจากถั่วขาว มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายประเภท อาทิเช่น ท็อปปิ้ง ผลสารสกัดจากถั่วขาว แคปซูลสารสกัดถั่วขาว และเจลลี่จากสารสกัดถั่วขาว เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มา

สารสกัดถั่วขาวมีสารที่สำคัญชื่อ ฟาซิโอลามีน (phaseolamine) ซึ่งสามารถพบได้ในธรรมชาติซึ่งสามารถพบได้ในพืชวงศ์ถั่ว (Fabaceae) บางชนิดเช่น ถั่วขาว (White kidney bean) และถั่วแดงหลวง (Kidney bean) ซึ่งในถั่วขาวจะสามารถพบสารชนิดนี้ได้มากกว่าถั่วแดงหลวง และในปัจจุบันจะนิยมสารสกัดถั่วขาวมากกว่าจึงได้ชื่อว่าสารสกัดถั่วขาว

สารสกัดถั่วขาว

ปริมาณที่ควรได้รับ

สำหรับปริมาณของสารสกัดถั่วขาวที่ควรได้รับใน 1 วันนั้น จากประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาของไทยได้กำหนดให้ใช้สารสกัดถั่วขาว จากส่วนของเมล็ดโดยผ่านกรรมวิธีการบดผลหรือสกัดด้วยน้ำ โดยต้องให้มีการใช้สารสกัดจากถั่วขาว ไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน (1500mg/วัน) นอกจากนี้ในส่วนของต่างประเทศมีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าการใช้สารสกัดถั่วขาว 500-3000 มิลลิกรัม/วัน สามารถช่วยควบคุม และลดน้ำหนักได้

ประโยชน์และโทษ

สารสกัดจากถั่วขาวถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอาหาร หลายประเภท เช่น นำมาผสมในคุ้กกี้ เค้ก ขนมปัง หรือ แป้งที่ใช้ทำอาหารต่างๆ และยังมีการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจะช่วยในเรื่องการขับถ่าย ลดความเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลสูง และที่เป็นไฮไลท์สำคัญ คือ ช่วยลดพลังงานจากอาหารจำพวกแป้งที่ร่างกายได้รับ เนื่องจากสามารถลดการดูดซึมสารอาหารประเภทแป้งได้ (Starch blocker) จึงส่งผลให้แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาล และถูกเก็บเป็นไขมันน้อยลง พอเมื่อร่างกายได้รับพลังงานจากแป้งส่วนนั้น ร่างกายจึงเข้าไปดึงไขมันที่สะสมอยู่มาเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงานแทนซึ่งจะทำให้ไขมันสะสมในร่างกายของเราลดน้อยลง ซึ่งสารออกฤทธิ์ที่สำคัญที่อยู่ในสารสกัดจากถั่วขาว ที่ช่วยในการลดการดูดซึมของคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายได้รับ คือ สารไกลโคโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ฟาซิโอลามีน (phaseolamine)


การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง

สารสกัดถั่วขาวมี คุณสมบัติที่โดดเด่น คือ ช่วย ควบคุมน้ำหนักโดยการยับยั้งการย่อยคาร์โบไฮเดรตโดยมีการศึกษาวิจัยทดลองให้ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเล็กน้อยประมาณ 5-15 กิโลกรัม จำนวน 60 คน ซึ่งได้ทำการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มแรก รับประทานสารสกัดจากถั่วขาว อัดเม็ด น้ำหนัก 445 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด ก่อนรับประทาน อาหารเที่ยงที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น พาสต้า ข้าว มัน ฝรั่ง ขนมปัง ผลไม้สด และกาแฟใส่น้ำตาล ส่วนอีกกลุ่มให้รับประทานยาหลอกแล้วรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเช่นกัน โดย ควบคุมอาหารทุกๆ มื้อของผู้ทดสอบทั้ง 2 กลุ่มให้ เหมือนกันต่อเนื่องนาน 30 วัน โดยตรวจติดตามค่าน้ำหนักตัว น้ำหนักไขมัน และส่วนที่ไม่ใช่ไขมันในร่างกาย ความหนาของผิวหนัง ระยะรอบ เอว สะโพก และต้นขา พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับสารสกัดจากถั่วขาวมีค่าที่ถูกตรวจติดตามทุกค่าลดลงอย่างมี นัยสำคัญ โดยส่วนที่ลดลงเป็นผลมาจากไขมันที่ลดลง เท่านั้น ส่วนของกล้ามเนื้อยังคงเดิม การที่ผู้ทดลอง กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากถั่วขาว มีน้ำหนักลดลง เกิดขึ้นจากกลไกการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ อัลฟาอะไมเลส โดยสารประกอบโปรตีนชื่อ ฟาซิโอลา มีน ซึ่งปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างให้ไม่เหมาะกับการทำงานของเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส จากค่าความเป็น กรด-ด่างที่ 6.6–7.6 ให้กลายเป็น 5.5 ส่วนกลไกการทำงานเอนไซม์นี้ ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล และจะถูกดูดซึมที่ผนังลำไส้เล็ก จากนั้นน้ำตาลจะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ต่อไป น้ำตาลส่วนที่ไม่ถูกใช้จะเปลี่ยนเป็นไกลโคเจน สะสมอยู่ในตับหรือไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วน แต่หากเอนไซม์อัลฟาอะไมเลสถูก ยับยั้ง แป้งจะไม่ถูกย่อย และดูดซึมที่ผนังลำไส้เล็ก แต่จะคงสภาพเดิมเคลื่อนที่สู่ลำไส้ใหญ่เป็นกากใย และถูก ขับถ่ายจากร่างกายออกไป นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่ามีการศึกษาในอาสาสมัครที่เป็นคนอ้วน 50 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธีสุ่มตัวอย่าง กลุ่มแรกให้รับประทานสารสกัดถั่วขาว 1,500 มก. วันละ 2 เวลาพร้อมอาหาร ส่วนอีกกลุ่มเป็น กลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้รับจากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากถั่วขาวสามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด มีผลต่อการลดน้ำหนัก และสัดส่วนได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ผู้ที่แพ้พืชตระกูลถั่วควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสารสกัดถั่วขาว อีกทั้งการบริโภคสารสกัดถั่วขาวก็ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น จุกเสียดท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียนได้นอกจากนี้การบริโภคสารสกัดถั่วขาวที่ไม่ผ่านการปรุง หรือ สกัดอย่างถูกวิธีอาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษในกลุ่มไฟโตฮีแมกกลูเตนิน ซึ่งสารพิษนี้ทำให้เม็ดเลือดแดงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกาะกลุ่มกัน และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยอาการของผู้ได้รับสารในกลุ่มไฟโตฮีแมกกลูเตนิน คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ซึ่งอาการจะคงอยู่ 3-4 ชั่วโมง และจะหายได้เอง

โครงสร้างสารสกัดถั่วขาว

เอกสารอ้างอิง สารสกัดจากถั่วขาว
  1. สารสกัดจากถั่วขาว มหัศจรรย์ ลดอ้วน ชัวร์ หรือมั่วนิ่ม. คอลัมน์ เคล็ด(ไม่) ลับ เพื่อประโยชน์ในการเลือกบริโภค คู่มือโครงการอย่าหลงเชื่ออ่าน ศูนย์วิทยาบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา. กระทรวงอาหาร และยา กระทรวงสาธารณสุข.
  2. ภก. คทา บัณฑิตานุกุล. ลดความอ้วน ลดการเพิ่มออกกำลังกาย. คอลัมน์เรียนรู้จากข่าว. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 375. กรกฎาคม 2553.
  3. ลักขณา ร่มเย็น ถั่วขาวพืชมหัศจรรย์บนที่สูง. คอลัมน์เคียงบ่าชาวไร่. หนังสือพิมพ์กสิกร ปีที่ 82 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม 2552 หน้า 32-34
  4. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาเรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2560
  5. สุมินทร์ สมุทคุปติ์. 2549. วิจัย และพัฒนาถั่วบนที่สูง รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ มูลนิธิโครงการหลวง เชียงใหม่ 130 หน้า
  6. บุศรินทร์ จงเจริญยานนท์. คุณสมบัติเชิงหน้าที่ของถั่วขาว และการประยุกต์แป้งถั่วขาวในผลิตภัณฑ์ขนมอบ. วารสารเทคโนโลยีการอาการ มหาวิทยาลัยสยาม ปีที่ 11. มกราคม-ธันวาคม 2559. หน้า 1-12.
  7. นส. รินทร์ลภัส พุกจินดา. นส.กฤติกา สิมปิทีป. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากสารสกัดถั่วขาว ในรูปแบบเยลลี่. โครงการพิเศษหลักสูตร ปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. สำนักงานพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. ลองสารสกัดถั่วขาวอย่างไรคุ้มค่ามากที่สุด.
  9. Celleno, L., Tolaini, M.V., D'Amore, A., Perricone, N.V. and Preuss, H.G. (2007). A dietary supplement containing standardized Phaseolus vulgaris extract influences body composition of overweight men and women. International Journal of Medical Sciences. 4(1): 45–52
  10. Marshall, J.J. and Lauda, C.M. (1975). Purification and properties of phaseolamin, an inhibitor of alphaamylase, from the kidney bean, Phaseolus vulgaris. The Journal of Biological Chemistry. 250(20): 8030- 8037
  11. Larive (Thailand) Co Ltd. (2013). Business Opportunities Study in Thai Bakery Sector. [Online]. Available: http:// thailand.nlembassy.org/binaries/content /assets/postenweb/t/thailand/embassyof-the-kingdom -of-the-netherlands-inbangkok/ import/ bakery – final - report_ 2013-7-01.pdf (3 June 2015).
  12. Mohhmod, R.J. (2010). Kinetics of alphaamylase enzyme in human serum. Journal of Kerbala University. 8(3): 237- 244.
  13. Sharon, N. and Lis, H. (2004). History of lectins: from hemagglutinins to biological recognition molecules. Glycobiology: Oxford Journals.14(11): 53R-62R.