พังแหรใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
พังแหรใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พังแหรใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พังแหร (ทั่วไป), ตะคาย, พังอีแหร, พังอีแร้ (ภาคกลาง), ปอแฮก, ปอหู, ปอแฟน, ขางปล่อยป่า (ภาคเหนือ), ตายไม่ทันเฒ่า, บาเละอางิ, กีกะบะซา (ภาคใต้), ปะตัง (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trema orientalis (L.) Blume.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Trema africana Blume, T. commersonii (Decaisne ex Planchon) Blume, T. grevei Baill., T. grisea Baker, T. guineense (Schumach. & Thonn.) Ficalho, T. hochstetteri Engl., T. nitens Blume, T. polygama Z.M. Wu & J.Y. Lin, T. wightii.,Sponia andaresa Commerson ex Lamarck, S. argentea Planch., S. commersonii Decaisne ex Planchon, S. glomerata Hochst., S. guineensis (Schumach. & Thonn.) Planch., S. orientalis (L.) Decne., S. wightii Planch.,Celtis commersonii Brongn., C. discolor Brongn., C. glomerata Hochst., C. guineensis Schumach. & Thon, C. madagascariensis Bojer, C. orientalis L., Colubrina leschenaultii (DC.) G.Don
ชื่อสามัญ Peach cedar, Pigeon wood
วงศ์ CANNABACEAE
ถิ่นกำเนิดพังแหรใหญ่
พังแหรใหญ่ จัดเป็นพืชในวงศ์กัญชา (CANNABACEAE) ที่มีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วโลก เช่น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ แอฟริกา และอเมริกากลางถึงอเมริกาใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบพังแหรใหญ่ ได้ทั่วประเทศบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ที่มีระดับความสูง 600-1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณพังแหรใหญ่
- ใช้ลดไข้
- แก้ปากเปื่อย
- ใช้เป็นยาเย็น
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้ปวดท้อง
- ใช้แก้ไอ
- รักษาหลอดลมอักเสบ
- รักษาปอดอักเสบ เยื้อหุ้มปอดอักเสบในเด็ก
- แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
- แก้เลือดออกที่กระเพาะอาหารและลำไส้
- ช่วยห้ามเลือด
- เป็นยาถ่ายพยาธิ ตัวกลม
- แก้บิด
- แก้ไข้มาลาเรีย
- บรรเทาปวดกล้ามเนื้อ และกระดูก
- แก้ปวดฟัน
- รักษาหลอดลมอักเสบ
- แก้ปวดบวม
พังแหรใหญ่ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- มีการนำเปลือกต้นนำมาลอกออกใช้ทำเป็นเชือกมัดสิ่งของเช่นเดียวกับปอ
- เนื้อไม้พังแหรใหญ่ สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง โรงเรือนขนาดเล็กที่ไม่ต้องการความแข็งแรง และใช้ทำอุปกรณ์เครื่องใช้สอย อุปกรณ์ทางการเกษตรที่ใช้ประโยชน์ได้ชั่วคราว
- และยังมีการนำมาใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ สำหรับปลูกฟื้น คืน สภาพป่าและยังมีการใช้ใบมาเป็นอาหารเลี้ยงปลากินพืชได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ลดไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดท้อง โดยนำแก่น หรือ รากมาฝนกินกับน้ำ
- ใช้แก้ปากเปื่อย แก้ปวดฟัน โดยนำเปลือกต้นพังแหรใหญ่ นำมาเคี้ยวอมไว้ประมาณ 30 นาที
- ใช้บรรเทาอาการไอ หลอดลมอักเสบ ภาวะปอดบวม และเยื่อหุ้มปอดอักเสบจากการติดเชื้อโดยนำใบสดมาคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว ดื่ม
- ใช้บรรเทาอาการไอ หลอดลมอักเสบ และภาวะปอดติดเชื้อในเด็ก โดยนำช่อดอกและช่อผลมาตากแห้งชงกับน้ำร้อนดื่ม
ลักษณะทั่วไปของพังแหรใหญ่
พังแหรใหญ่ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ โปร่งเป็นพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรง สูง 4-12 เมตร เปลือกต้น สีเทา หรือ สีเขียวอมเทาอ่อน หรือ น้ำตาล ผิว ลำต้น บางเรียบเกลี้ยง หรือ มีรอยแตกตามยาวบางๆ มีรูอากาศมาก เปลือกชั้นในสีเขียวสด และมักจะแตกกิ่งก้านออกในแนวขนานกับพื้นดิน ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม กิ่งแก่มีรูอากาศ
ใบพังแหรใหญ่ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือ ไข่แกมรูปใบหอก มีขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร และยาว 7-12 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยวไม่สมมาตร ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบจักรแบบเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ ผิวใบสากคาย ด้านบนมีขนหยาบขึ้นประปราย ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทาปะปนกับขนสีเงินที่ยาวกว่า มีเส้นใบออกจากฐานใบ 3-5 เส้น ส่วนยอดออกมีขนสีเงินขึ้นหนาแน่น
ดอกพังแหรใหญ่ จะออกในส่วนยอดของใบ ยอดออกมีขนสีเงินขึ้นหนาแน่น และมีก้านใบยาวประมาณ 0.4-1.7 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ บริเวณซอกใบ โดยเป็นแบบแยกเพร่วมต้น ซึ่งช่อดอกเพศผู้จะเป็นช่อแน่น และแตกแขนงยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร และจะมีจำนวนดอกมากกว่า 20 ดอก ส่วนช่อดอกเพศเมียจะมีดอกประมาณ 15-20 ดอก สำหรับดอกย่อยมีขนาดเล็กประมาณ 0.3 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้อยู่ตรงข้ามกับพูกลีบเลี้ยง 4 อัน
ผลพังแหรใหญ่ เป็นสดแบบผนังชั้นในแข็งมีลักษณะกลม แข็ง ขนาด 3-4 มิลลิเมตร ผลเป็นสีเขียวเข้มเมื่อสุกมีสีดำ มีขั้นกลีบเลี้ยงติดที่ฐานและปลายเกสรตัวเมียติดที่ยอดผล เนื้อภายในบาง มีก้านผลยาว 0.3 เซนติเมตร ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง ด้านในมีเมล็ดเดียว
การขยายพันธุ์พังแหรใหญ่
พังแหรใหญ่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ในปัจจุบันไม่นิยมนำมาปลูกไว้ตามบ้านเรือน หรือ ตามเรือกสวนไร่นาเนื่องจากมีรายงานว่าใบของพังแหรใหญ่ มีความเป็นพิษต่อสัตว์กินหญ้า เมื่อสัตว์กินเข้าไป เช่น แพะ, แกะ, วัว และควาย ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ของพังแหรใหญ่นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของลำต้นและเปลือกรกของพังแหรใหญ่ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น β-sitosterol, decussatin, decussating glycosides, scopoletin,sweroside, (-)-epicatechin, methylswertianin, lupeol, p -hydroxybenzoic acid, ส่วนเปลือกต้นพบ simiarenol, episimiarenol, tremetol, (-)-ampelopsin F, simiarenone, (-)-epicatechin, (+)-catechin, (+)-syringaresinol,hexacosanoic acid, N-(trans-p-coumaroyl) tyramine, N-(trans-p-coumaroyl) octopamine, 4-hydroxybenzoic acid และ trans-4-hydroxycinnamic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพังแหรใหญ่
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพังแหรใหญ่ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
มีการศึกษาสารสกัดหยาบส่วนเปลือกต้นพบว่าสามารถยับยั้งการผลิตสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์แมคโครฟาจ (Macrophage) ได้ และไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มนุษย์ ส่วนสารสกัดพังแหรใหญ่ ส่วนใบพบว่ามีฤทธิ์รักษาโรคหลอดลมอักเสบติดเชื้อ หนองในซึ่งมีสาเหตุมาจากแบคมีเรียก่อโรค และสารสกัดส่วนเปลือกต้น มีฤทธิ์ยังยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ทำให้เกิดปอดติดเชื้อได้
ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย มีการศึกษาวิจัยสารสกัดเฮกเซนจากเปลือกต้น พังแหรใหญ่ ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อพลาสโมเดีย P.falciparum ที่เป็นต้นเหตุของโรคมาลาเรีย
ฤทธิ์แก้ปวด และต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากใบพังแหรใหญ่พบว่าสามารถลดความเจ็บปวดในหนูทดลองจากการทดสอบการบิดงอที่เกิดจากรดอะซิติก และในหนูด้วยแบบจำลองจานร้อนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้สารสกัดจากใบยังแสดงฤทธิ์ต้านข้ออักเสบในรูปแบบเฉียบพลัน และเรื้อรังในหนูได้อีกด้วย
ฤทธิ์ต้านการชัก มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลและน้ำของใบพังแหรใหญ่ ในหนูทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านการชักจากอาการชักที่เกิดจากการฉีดเพนทิลีนเททราโซล และการชักที่เกิดจากไฟฟ้าช็อตในหนูได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพังแหรใหญ่
มีรายงานว่าแพะที่กินยอดและใบพังแหรใหญ่ สด ตายจากอาการเกิดพิษต่อตับโดยคาดว่าสารออกฤทธิ์ที่อยู่ในใบของพังแหรใหญ่ที่ทำให้แพะตาย คือ สาร Trematoxin glycocides (cyanogenetic) โดยแพะมีอาการไม่กินอาหาร ตัวสั่น กระตุก ลำไส้อักเสบ ตื่นเต้น ไม่รู้สึกตัว และตายในเวลาต่อมา
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้พังแหรใหญ่เป็นสมุนไพรควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษจากส่วนใบของพืชชนิดนี้ว่า ทำให้แพะตายจากการกินส่วนใบ ดังนั้นในการใช้พังแหรใหญ่ เป็นยาสมุนไพรควรใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง พังแหรใหญ่
- อัปสรสวรรค์ ใจบุญ และคณะ. พฤษเคมีเชิงนิเวศของพืชสมุนไพร พังแหรวงศ์กัญชาในพื้นที่กลุ่มป่าภูเมี่ยง-ภูทองประเทศไทย. วารสารวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้เมืองไทยปีที่ 4. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2563. หน้า 1-16
- พังแหร. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลับอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=250
- Sungkeaw, S. 2019. Field Dendrology. Parbpim Ltd. Part., Bangkok. (in Thai)
- Uddin SN, Uddin KM, Ahmed F. Analgesic and antidiarrhoeal activities of Trema orientalis Linn.in mice. Orient Pharm Exp Med. 2008;8:187–91.
- Ogunkoya, L., O. O. Olubajo and D. S. Sondha. 1977. A new triterpenoid alcohol from Trema orientalis. Phytochemistry 16: 1606-1608.
- Barbera R, Trovato A, Rapisarda A, Ragusa S. Analgesic and antiinflammatory activity in acute and chronic conditions of Trema guineense (Schum. et Thonn.) ficalho and trema micrantha blume extracts in rodents. Phytother Res. 1992;6:146–8.
- Rout, J., A. L. Sajem, M. Nath and M. Sengupta. 2012. Antibacterial efficacy of bark extracts of an ethnomedicinal plant Trema orientalis Blume. Current Trends in Biotechnology and Pharmacy 6(4): 464-471.
- Abiodun O, Gbotosho G, Ajaiyeoba E, Happi T, Falade M, Wittlin S, et al. In vitro antiplasmodial activity and toxicity assessment of some plants from Nigerian ethnomedicine. Pharm Biol. 2011;49:9–14.
- Zhang, H. L., J. J. Jin, M. J. Moore, T. S. Yi and D. Z. Li. 2018. Plastome characteristics of Cannabaceae. Plant Diversity 40:127-13
- Panchal HS, Master SM, Shah UD, Saluja AK, Dholwani KK. Anti-convulsion activity of leaf of Trema orientalis. Int J Pharm Res. 2010;2:53–5.
- Dijoux-Franca, M. G., T. D. Noungoué, B. Cherel, M. Cussac, E. Tsamo and A. M. Mariotte. 2001. New dihydrophenanthrene and phenyldihydroisocoumarin constituents of Trema orientalis. Journal of Natural Products 64: 832- 835.
- Chuakul, W. 2009. Traditional herbs for fever treatments. Thai Pharmaceutical and Health Science Journal4 (4):435-449. (in Thai)