ลำบิดดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ลำบิดดง งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลำบิดดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ค้นจ้อง, จังนัง (ภาคอีสาน), ดำบิดดง (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros filipendula Pierre ex Lecomte
วงศ์ EBENACEAE


ถิ่นกำเนิดลำบิดดง

ลำบิดดง จัดเป็นพืชพื้นถิ่นของไทยชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียใต้ ผ่านทางพม่าและบังคลาเทศ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบลำบิดดง ได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ บริเวณป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-400 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณลำบิดดง

  1. ใช้แก้ไข้
  2. แก้ปวดท้อง
  3. แก้บิด
  4. ใช้เป็นยาสำหรับสตรีหลังคลอดที่อยู่ไฟไม่ได้
  5. ใช้แก้ซางเด็ก (เบื่ออาหาร ซึม มีเม็ดขึ้นในปาก และคอ ลิ้นเป็นฝ้า)
  6. แก้ประดง
  7. ใช้แก้โรคปวดหลัง
  8. ใช้แก้ท้องอืด
  9. แก้ปวดท้อง

           เนื่องจากลำบิดดงเป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของไทย และยังมีสรรพคุณทางยา ดังนั้นจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ใบอ่อนลำบิดดง นำมารับประทาน ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรตั้งแต่ในอดีต โดยในตำรายาไทยและตำรายาพื้น บ้านอีสาน

ลำบิดดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ แก้ปวดท้อง แก้บิด โดยนำรากลำบิดดงมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาเย็น แก้ประดง โดยนำรากลำบิดดง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาสตรีหลังคลอด โดยนำรากลำบิดดงมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ซางในเด็ก โดยนำรากลำบิดดง มาทุบพอแหลก ใช้แช่กับน้ำ นำมาดื่ม และอาบ
  • ใช้แก้ท้องอืด ปวดท้องโดยนำผลลำบิดดงสุกมารับประทานสด
  • ใช้แก้ปวดหลังโดยนำใบลำบิดดงมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดท้อง โดยนำเปลือกลำบิดดง ต้นมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของลำบิดดง

ลำบิดดง จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกสีเทาปนน้ำตาล มีขนนุ่มสั้นๆ ขึ้นปกคลุมตามกิ่งก้าน เนื้อไม้มีสีขาว

           ใบลำบิดดง เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับบนก้านใบ โดยใน 1 ก้านใบจะมีใบย่อย 2-10 ใบ ลักษณะใบย่อยเป็นรูปรี หรือ รูปไข่ กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 4-6 ซม. โคนมน กลม หรือ อาจเป็นหยักเว้าตื้น ปลายใบแหลม หรือ มน ขอบใบเรียบแผ่นใบมีสีเขียวบางมีขนนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน และมีก้านใบยาว 1-3 มิลลิเมตร

           ดอกลำบิดดง เป็นดอกเดี่ยวออกบริเวณปลายกิ่ง หรือ ตามซอกใบเป็นแบบแยกเพศต่างต้น โดยดอกตัวผู้จะออกเป็นกระจุกบริเวณซอกใบ ประมาณ 2-3 ดอก มีกลีบเลี้ยงรูประฆัง จำนวน 4 กลีบ ยาว 0.2-0.4 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกแยกเป็นแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ มีขนสากด้านนอก กลีบดอกสีขาว รูปดอกเข็ม ยาว 1.2-1.6 เซนติเมตร กลีบแยกประมาณกึ่งหนึ่ง มีขนขึ้นปกคลุมด้านนอก มีเกสรเพศผู้เกลี้ยงๆ 12-16 อัน และมีก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร สำหรับดอกตัวเมียก็มีลักษณะคล้ายดอกตัวผู้แต่ขนาดจะใหญ่กว่า มีรังไข่เป็นขนยาวที่โคนในแต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด มีก้านเกสรเพศเมียลักษณะเกลี้ยง ไม่มีเกสรเพศผู้ มีก้านดอกยาว 2-4 เซนติเมตร

           ผลลำบิดดง เป็นผลสดแบบมีเนื้อรูปทรงกลม หรือ รูปรีกว้าง ยาว 2-2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เมื่อผลแก่ผิวผลจะเกลี้ยงและมีนวลสีขาว โดยมีกลีบเกลี้ยงแฉกลึกเกือบจรดโคน ด้านในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด และมีก้านผลยาว 2-4 เซนติเมตร

ลำบิดดง

ลำบิดดง

ที่มาของภาพ www.blogger.com : By Photograph​ Joyrawee​1

การขยายพันธุ์ลำบิดดง

ลำบิดดง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกลำบิดดง นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ในตระกูล Diospyros เช่น “มะเกลือ” ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสานสกัดจากราก และกิ่งของลำบิดดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดหยาบของรากลำบิดดง พบสาร taraxerol, syringic acid, gallic acid, N-benzoyl-(2R)-2-(acetylamino)-3 phenylpropyl ester, Z-butylidenephthalide, Z-ligustilide, bergapten, cis-6,7 dihydroxyligustilides, ergosterol peroxide, β-sitosterol, friedelin, friedelinol, taraxeryl acetate, betulinic acid, 3-O-trans-p-coumaroylalphatolic acid, 5-methoxysalicylic acid, stigmast-5-ene-7-one, betulonaldehyde ส่วนสารสกัดหยาบของกิ่งลำบิดดงพบสาร α tocopherol, stigmast-5-en-7-one, β,28-dihydroxyurs-12-ene, (3β,18α)-oleanan-3-ol, 28-hydroxy-18α,19βH-urs-20-en-3-one

โครงสร้างลำบิดดง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของลำบิดดง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของ สารสกัดจากส่วนเหนือดิน ราก และกิ่งของลำบิดดง ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           มีรายงานการวิจัยระบุว่า สารกลุ่ม triterpenes : pentacyclic core ที่พบในสารสกัดลำบิดดง จากส่วนเหนือดินของลำบิดดง ได้แก่ lupine, ursane, oleanane, taraxerane, friedelane มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง (anti-cancer) ต้านไวรัสเอดส์ (anti-HIV) และ ต้านการอักเสบ (anti-inflammation) อีกทั้งยังมีรายงานว่ามีการนำสารสกัดเฮกเซนจากรากลำบิดดง (D.filipendula) ซึ่งประกอบไปด้วย สารบริสุทธิ์ 2 ชนิด คือ stigmasterol และ taraxcrol มาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเจริญในเซลล์มะเร็งปากมดลูกโดยเทคนิค MTT โดยทำการสกัด DNA จากตัวอย่างและทดสอบการแตกของเส้น DNA ด้วยวิธี electrophoresis ใน 1.5% agarose gel และทดสอบการแตกของนิวเคลียสด้วยสีผลูออเรสเซนต์ DAPI และ propidium iodide (PI) ผลการทดสอบพบว่าสาร stigmasterol และ taraxerol ทำให้เซลล์ตาย ตามขนาดความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเซลล์ที่ตายมีลักษณะกลม โดยความเข็มข้นที่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ได้ 50% เท่กับ 37 ± 2.49 และ 10=1.3 µg/ml ตามลำดับ และเมื่อย้อมนิวเคลียสด้วยสีฟลูออเรสเซนต์ พบเซลล์ในกลุ่มทดลองมี apoptotic nuclei เท่ากับ 30.27 = 0.9 และ 23.8 ± 0.99 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 3.12 ± 1.29% จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารทั้ง 3 ชนิด สามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งปากมดลูกตายแบบ apoptosis ได้

           นอกจากนี้ยังมีการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารที่แยกได้ พบว่า สาร ergosterol peroxide, betulonal dehyde และ 3-o-trans-p-coumaroy lalphatolic acid มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum ที่ค่า IC50 ระหว่าง 3.08, 3.36 และ 4.03 µg/mL ตามลำดับ อีกทั้งสาร gallic acid, N-benzoyl-(2R)-2-(acetylamino)-3-phenylpropylester, bergapten, z-ligustilide, ergosterol peroxide, betuinic acid และ betulonaldehehyde มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งช่องปากชนิด KB และมะเร็งปอดชนิด NCI-H187 ที่ค่า IC50 ระหว่าง 15.16 ถึง 48.52 µg/mL อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของลำบิดดง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ลำบิดดง เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ลำบิดดง
  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2550). สมุนไพร. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 278 ฉบับที่ 1410, 66.
  2. ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ตอน 3 ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ พฤษภาคม 2526
  3. รัศมี เหล็กพรม, สมเดช กนกเมชากุล, องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากรากและกิ่งของลำบิดดง. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. กรกฎาคม 2562.
  4. วารี เนื่องจำนงค์. ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จากสารสกัดบริสุทธิ์ลำบิดดง และท้าวแสนปม. รายงานการวิจัย.มหาวิทยาลัยบูรพา. ปีงบประมาณ 2553. 30 หน้า
  5. ลำบิดดง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpag&pid=278
  6. Furusawa M, Tanaka T, Ito T, Nakaya K, Ohyama M, Ilnuma M, Murata H, Inatomi Y, Inada. A, Nakanishi T, Matsushit'S, Kubota Y, Sawa R, & Takahashi Y. Flavonol Glycosides in Leaves of Two Diospyros Species. Chem Pharm Bull. 2005, 53(5); 591- 93.
  7. Mallava,dhani UV., Panda AK., & rao YR. Pharmacology and chemotaxonomy of Diospyros. Phytochemishy. 1998, 49; 901-51.
  8. Kaufmann SH, Earnshaw WC. Induction of apoptosis by cancer chemotherapy. Exp Cell Res. 2000, 256; 42-49.
  9. Farnsworth NR, Akerele 0, Binge! AS, Soejarto DD & Guo Z. Medicinal plants in therapy. Bull World Health Organ. 1985, 63; 965-81.
  10. Ting CY, Hsu CT, Hsu Su, Su JS, Chen TY, Tam WY, Kuo YH, Whang-Peng J, Liu LF, & Hwang J. lsodiopyrin as a novel human DNA topoisomerase I inhibitor. Biochem Pharmacol. 2003, 66; I 981-91.
  11. ที่มาของภาrลำบิดดง .www.blogger.com By Photograph​ Joyrawee​1​: ลำบิดดง​ (Diospyros filipendula pierre ex lecomte)​ (travel-itinerancy.blogspot.com)