แอล-ธีอะนีน

แอล-ธีอะนีน

ชื่อสามัญ L-Theanine

ประเภทและข้อแตกต่างแอล-ธีอะนีน

แอล-ธีอะนีน จัดเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง โดยเป็นกรดอะมิโนอนาล็อกของกรดอะมิโนโปรตีน L-gluamate และ L-glutamine ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1949 จากการสกัดจาก เกียวกุโระ (gyokuro) ซึ่งเป็นชาเขียว คุณภาพสูงที่สุด ที่ได้มาจากยอดอ่อนของใบชาที่อยู่ในที่ร่มเพื่อให้ใบชาห่างจากแสงแดด ต่อมาในปี ค.ศ.1964 ได้มีการศึกษาทดสอบเรื่องความเป็นพิษ และความปลอดภัย จากนั้นจึงส่งผลให้มีการวิจัยถึงประโยชน์ของแอล-ธีอะนีนอย่างมากจนถึงปัจจุบัน

            สำหรับประเภทของ แอล-ธีอะนีนนั้นมีเพียงประเภทเดียว แต่ในส่วนของรูปแบบนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ แอล-ธีอะนีน ในรูปแบบที่พบในแหล่งอาหารในธรรมชาติที่ร่างกายรับประทานเข้าไป และประเภทที่เป็นสารที่ถูกสกัด หรือ สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อให้ร่างกายได้รับประทานเข้าไปแล้วดูดซึมได้ทันที เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาแอล-ธีอะนีน

แอล-ธีอะนีนพบได้ในพืช และเชื้อราโดยจะพบมากใบชา (ที่ตอนเก็บเกี่ยวไม่ถูกแสงแดด และถูกนำมาทำชาเขียว) ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนิยมดื่มชาเขียวกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสกัด และสังเคราะห์แอล-ธีอะนีน ออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ เพื่อช่วยให้เกิดความสะดวกในการที่ร่างกายจะได้รับสารแอล-ธีอะนีน โดยที่ไม่ต้องรับคาเฟอีน ในชามากเกินไป หรือ ช่วยเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ดื่มชาอีกด้วย

แอล-ธีอะนีน

ปริมาณที่ควรได้รับจากแอล-ธีอะนีน

มีผลการศึกษาวิจัยจากสถาบัน Natural Standard ในสหรัฐอเมริการะบุว่า ปริมาณของสารแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) ที่มีความปลอดภัย และแนะนำให้บริโภค คือ 200-250 มิลลิกรัม/วัน แต่ไม่ควรเกิน 1200 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้

ประโยชน์และโทษแอล-ธีอะนีน

ประโยชน์เด่นๆ ของ แอล-อะนีน (L-Theanine) คือ ช่วยทำให้ระบบประสาท และสมองผ่อนคลาย ลดความเครียดทำให้จิตใจสงบ สดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีความจำที่ดีขึ้น รวมถึงยังสามารถช่วยให้ประสิทธิภาพในการนอนหลับดีขึ้นอีกด้วย โดยแอล-ธีอะนีน จะกระตุ้นการผลิตคลื่นสมองชนิดอัลฟา (Alpha wave) ซึ่งเป็นช่วงคลื่นสมองที่พบบ่อยในเด็กที่มีความสุข หรือ ขณะที่ร่างกายอยู่ในช่วงของการผ่อนคลาย รวมทั้งเป็นช่วงคลื่นที่สมองมีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ และจดจำได้อย่างรวดเร็ว

            นอกจากนี้แอล-ธีอะนีน ยังมีบทบาทสำคัญในการผลิต GABA (Gamma amino butyric acid) ซึ่งเป็นสารอาหารที่ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้ง (Inhibitor) โดย GABA จะทำหน้าที่รักษาสมดุลสารเคมีในสมองที่ได้รับการกระตุ้นให้เข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย และนอนหลับสบาย ส่วนโทษของแอล-ธีอะนีน นั้นยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบ หรือ อาการข้างเคียง ทั้งในภาวการณ์ขาด แอล-ธีอะนีน และในภาวะการบริโภค แอล-ธีอะนีน เกินขนาด

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องแอล-ธีอะนีน

มีผลการศึกษาวิจัยถึงกลไกการทำงานของแอล-ธีอะนีน ระบุไว้ว่าแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) มีกลไกการทำงานโดยการเข้าไปยับยั้งการจับสาระสำคัญต่อกลูตาเมท รีเซพเตอร์ในสมองเมื่อวัดสารสำคัญในการสื่อประสาทในเซลล์สมอง พบว่า แอล-ธีอะนีนสามารถเพิ่มสารซีโรโทนิน (Serotonin) โดปามีน (Dopamine) และ GABA ทำให้หนูทดลองเพิ่มการเรียนรู้ และความจำ (learning and memory)

            สำหรับการวิจัยในคน พบว่า แอล-ธีอะนีน จะช่วยให้สมองปลดปล่อยคลื่นสมองอัพฟา (Alpha Brain) มากขึ้น และลดการปลดปล่อยคลื่นสมองเบต้า (Beta Brain Wave) ลงทำให้เกิดการผ่อนคลาย (Ralaxation) ลดความเครียด มีจิตใจที่สงบ ไม่หงุดหงิด และมีสมาธิมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถลำดับความคิดเป็นระเบียบมากขึ้น  

            ส่วนในประเทศญี่ปุ่นได้มีการศึกษาทดลองในคนด้านการตอบสนองเรื่องความเครียด โดยให้อาสาสมัครรับประทานแอล-ธีอะนีนเทียบกับยาปลอมในกลุ่มควบคุมแล้วให้ทำโจทย์คณิตศาสตร์ พบว่า กลุ่มที่รับประทานแอล-ธีอะนีนมีความเคียดน้อยกว่า ผ่อนคลายมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และอีกงานวิจัยหนึ่งในอาสาสมัครรับประทานแอล-ธีอะนีน เทียบกับยาคลายเครียด ที่ยอมรับ และใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย คือ ยาอัลพราโซแลม (Alprazolam) พบว่า แอล-ธีอะนีนมีการผ่อนคลายได้จริงโดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ที่เป็นอันตราย

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยในด้านส่งเสริมให้คุณภาพของการนอนหลับ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องนอนไม่เต็มอิ่ม โดยทำการวิจัยในพบว่า แอล-ธีอะนีนมีผลต่อกลไกการนอน (sleep-wake cycle) เนื่องจากงานวิจัยพบว่าการรับประทาน แอล-ธีอะนีน 200 มก. ก่อนนอน 1 ชั่วโมง จะช่วยให้คุณภาพการนอนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงลดอาการสะดุ้งตื่นระหว่างที่นอนหลับอีกด้วย

            ส่วนการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยในปริมาณการใช้แอล-ธีอะนีน พบว่ามีการศึกษาวิจัยในปี พ.ศ.2549 โดยจากผลการศึกษาวิจัยในหนูที่ได้รับแอล-ธีอะนีน ในปริมาณสูงเป็นเวลา 13 สัปดาห์ พบว่าไม่พบผลข้างเคียงที่สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยตลอดการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งพฤติกรรมการเจ็บป่วยการตาย น้ำหนักตัวการบริโภคอาหาร รวมถึงความผิดปกติทางโลหิตวิทยา

โครงสร้างแอล-ธีอะนีน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

สารแอล-ธีอะนีน ที่ได้จากใบชา จะมีปริมาณมาก หรือ น้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับ ขั้นตอนการทำใบชา ความร้อนรูปแบบ และวิธีการชง รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ในบางครั้งการดื่มชาประเภทหนึ่ง อาจจะให้ แอล-ธีอะนีน 8 มิลลิกรัมต่อถ้วย หรือ บางครั้งอาจจะมีมากถึง 24 มิลลิกรัมต่อถ้วย ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการชง และขั้นตอนการทำใบชานั้นๆ

เอกสารอ้างอิง แอล-ธีอะนีน
  1. กาญจนา พลอยศรี. ชากับการผ่อนคลายของระบบประสาท. คอลัมน์ Health Tea.จดหมายข่าวชา ปีที่ 3. ฉบับที่ 10 มกราคม-มีนาคม 2556.หน้า 8-10
  2. Theanine.wikipsdia สารานุกรมเสรี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.en.m.wikipedia.erg/wiki/Theanine
  3. Effects of L-theanine on the retease of alphe-waves in human votunteers. Nippon Nogeikagaku Kaishi 1998;72:153-7.
  4. Theanine in Tea Causes Alert Relacation, merican Botanicat Council. August 2001,HC 070312.199.
  5. The acute effects of L-thearine in compaeison with aiprazolam on anticipatory anticipatory anxiety in humansซHum Psychopharmacol.2004 Oct;19(7):457-65.
  6. Borzelleca, J.F.; Peters, D.; Hall, W. (2006). "A 13-week dietary toxicity and toxicokinetic study with l-theanine in rats". Food and Chemical Toxicology. 44 (7): 1158–66. doi:10.1016/j.fct.2006.03.014. PMID 16759779.
  7. Inhicition by theanine of binding of (3H)AMPA, (3H)cainite, and (3H)MDL 105,519 to glutamate receptors. Biosci Biotechem.2002 Dec,66(12):2863-6