มะพูด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะพูด งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะพูด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะพูด, ปะหูด (ภาคเหนือ), มะหูด (ภาคอีสาน), จำพูด (ภาคกลาง), ตะพูด, สำม่าง, สัมปอง, พะวาใบใหญ่ (ภาคตะวันออก), ปะโหด, ปะหูด, ปะโฮด (เขมร), มันดู (อินโดนีเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia dulcis (Roxb.) Kurz.
ชื่อสามัญ Yelloe mangoesteen
วงศ์ Clusiaceae, Guttiferae
ถิ่นกำเนิดมะพูด
มะพูด เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลมังคุด และส้มแขก ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยเชื่อกันว่าเป็นพืชท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสามารถพบได้ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศอาทิ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า รวมทั้งประเทศไทยด้วย สำหรับในประเทศไทยพบแพร่กระจายในป่าดิบชื้น และตามชายน้ำหรือลำห้วยในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าโปร่งทั่วไป ซึ่งพบมากในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของไทย
ประโยชน์และสรรพคุณมะพูด
- ใช้ชำระล้างแผล
- ช่วยฆ่าเชื้อ
- แก้อาการบวม
- แก้ท้องเสีย
- แก้ไอ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้เจ็บคอ
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยบรรเทาอาการไข้
- ช่วยแก้อาการช้ำใน
- ช่วยขับถ่ายโลหิตเสียให้ตก
- แก้ร้อนใน
- ช่วยถอนพิษผิดสำแดง
- เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- รักษาโรคคางทูม
- รักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- รักษาคอพอก
มะพูด เป็นพรรณไม้ที่คนไทยรู้จักมาแล้วและยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ คือ
การใช้เป็นอาหาร ผลมะพูด สุกถูกนำมารับประทานเป็นผลไม้หรือถนอมอาหารโดยทำเป็นแยมและยังมีการนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และผลไม้กวนจำหน่ายส่วนผลดิบมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานจิ้มกับพริกเกลือหรือนำมาดอกเป็นผลไม้ดองหรือใช้แทนมะนาว ในการทำแกงส้มกุ้งสด
การใช้เป็นสีย้อมผ้า คนไทยในอดีตใช้ใบและเปลือกต้นขอมะพูดสกัดย้อมสีเส้นไหม โดยจะให้สีเหลืองคล้ายสีเหลืองของดอกบวบ ให้สีเหลืองสดหรือสีน้ำตาล ซึ่งจะสกัดสีโดยต้มกับน้ำย้อมด้วยวิธีย้อมร้อนและแช่เส้นไหมในสารละลายส้ม ซึ่งเป็นสารช่วยติดสีหลังการย้อมเพื่อให้สีมีความสดต่อแสงดีและซักดีและหากใช้เปลือกต้นรวมกับต้นครามก็จะให้สีน้ำตาล
การใช้เป็นไม้ประดับและให้ร่มเงา ต้นมะพูดเป็นไม้พุ่มที่มีทรงพุ่มหนาสวยงามให้ร่มเงาดี และผลสุกมีสีสวยงามตัดกับสีของใบแลดูสวยงามคนในอดีตจึงใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามบ้านเรือน ที่สาธารณะ วัดวาอาราม นอกจากนั้นมะพูดยังเป็นไม้มงคลที่คนโบราณเชื่อว่าเมื่อนำมาปลูกในบ้านแล้วลูกหลานจะช่างพูดเจรจากับผู้คนอีกด้วย
การใช้เป็นยาจากการศึกษาตำรายาไทย พบสรรพคุณมะพูด จากหนังสือ ประมวลสรรพคุณทางยา ว่าด้วยพฤกษศาสตร์ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะพูด
ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ เจ็บคอ แก้เลือดออกตามไรฟัน โดยใช้ผลสดรับประทานเป็นผลไม้ ใช้แก้ไข้ แก้ร้อนใน พิษผิดสำแดง โดยนำรากมาตัดเป็นชิ้นต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องเสีย ฆ่าเชื้อในลำไส้ โดยนำเปลือกต้นมะพูด มาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ชำระล้างแผลก็ได้ เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำส้ม หรือ เกลือ ใช้ทาแก้อาการบวม
ลักษณะทั่วไปของมะพูด
มะพูด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางลำต้นตั้งตรงมีความสูงของต้นประมาณ 7-15 เมตร มีทรงพุ่ม หรือ เรือนยอดใหญ่ลักษณะกลมหรือรูปไข่หนาทึบ ลำต้นมีร่องรอยบาดแผล ลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มเรียบ และแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามความยาวลำต้น มียางสีขาว และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไหลซึมออกมา
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ จากโคนถึงปลายกิ่งมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม กว้างประมาณ 9-12 ซม. และยาวประมาณ 13-25 เมตร แผ่นใบหนา ลักษณะของใบยาวรีคล้ายโคนใบตัดตรงและเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจแผ่นใบด้านล่างมีขนละเอียดปกคลุมก้านใบสั้น
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบแผลใบ หรือ ตามกิ่งก้านเป็นแบบแยกเพศในต้นเดียวกัน ซึ่งจะมีดอกย่อยช่อละประมาณ 3-5 ดอก ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ซ้อนกัน สีขาวอมเหลืองส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หนา เมื่อดอกบานเต็มที่จะเป็นรูปถ้วยโถและจะกว้างประมาณ 1-1.5 ซม.
ผล มีทั้งที่เป็นผลเดี่ยวและพวง ทรงกลมป้อม ผิวค่อนข้างหนาเป็นมัน ผลที่ยังอ่อนอยู่จะมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองออกแสด และจะเข้มขึ้นเมื่อผลแก่จัด ผลมีขนาดใหญ่เท่าส้ม หรือ แอปเปิ้ลโดยมีขนาดยาวประมาณ 5-7 ซม. เนื้อในของผลมีรสหวานอมเปรี้ยวมีลักษณะเป็นเส้นใยนุ่มประกบกันคล้ายกลีบ และมีเมล็ดรูปร่างแบนๆ ขนาดเท่าเล็บมือจำนวน 4-5 เมล็ด ฝังอยู่ภายในเนื้อ
การขยายพันธุ์มะพูด
มะพูด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ และเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินร่วนเหนียวชอบบริเวณที่ร่มที่มีความชื้นปานกลางสำหรับวิธีการเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้า และการปักชำนั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่งไม้ต้นอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของมะพูด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น เปลือกต้นพบสารในกลุ่ม แซนโทน 5 ชนิด ได้แก่ ไตรเทอร์ปีน 1 ชนิด คือ 1,7 dihydroxyxanthone, 12b-hydroxy-des-D-garsigerin A, symphoxanthone, 1-o-methylsymphoxanthone, garciniaxanthone E, olenoic acid
ผลมะพูดพบสาระสำคัญหลายกลุ่มอาทิเช่น
สารกลุ่ม prenylated เช่น isoxanthochymol, Xanthochymol
สารกลุ่ม Xanthone เช่น a-mangostin
สารกลุ่ม bioflavonoids เช่น morelloflavone
ใบมะพูด พบสาร morelloflavone dulxanthone E, friedellin, pyranoxanthones, dulxanthones E-H
รากมะพูด พบสาร Dulcio B,C,D,E, garciduols A-C, Garciniaxanthone A,B,D, Subelliptenone C,D,F,Glubuxanthone
เปลือกมะพูด พบสาร dulciol A, 12b-hydroxydes-D-garcigerin,symphoxanthone,isoprenylxanthone, toxyloxanthone B, Dulxanthone a,b,c,d, jacareubin, garsiniaxanthone E, 1,3,7 trihydroxy-2-3-methyl-2-butenyl xanthone, ugaarxanthone,toxyloxanthone
นอกจากนี้ผลสดของมะพูดยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะพูด (100 กรัม)
พลังงาน | 49 | Unit |
โปรตีน | 0.4 | กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 12.2 | กรัม |
เส้นใย | 1.0 | มิลลิกรัม |
ไขมัน | 0.5 | กรัม |
แคลเซียม | 5 | มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 0.4 | มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 13 | มิลลิกรัม |
วิตามิน เอ | 42 | มิลลิกรัม |
วิตามิน บี1 | 0.06 | มิลลิกรัม |
วิตามิน บี2 | 0.04 | มิลลิกรัม |
วิตามิน บี3 | 0.3 | มิลลิกรัม |
วิตามิน บี5 | 5 | มิลลิกรัม |
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะพูด
มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาขอมะพูดระบุว่า มีการนำสารสกัดจากมะพูด มาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ Xanthine oxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้อโรคเก๊าท์ระบุว่าสาร Xanthochymol และ สาร Morolloflavone แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แซนทีนออกซิเดสได้ดี และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งโดยได้ทำ การทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (anti-atherosclerotic effect) ของสาร สกัดจากใบมะพูด ในกระต่ายที่ถูกกระตุ้นให้มีระดับคอเลสเทอรอลในเลือดสูง กระต่าย จะถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ๆ ละ 4 ตัว ซึ่งได้รับอาหารแตกต่าง กัน คือ กลุ่ม 1 ได้รับอาหารปกติ กลุ่ม 2 ได้รับอาหารปกติผสมกับสารสกัด 0.02% โดย น้ำหนักอาหาร กลุ่ม 3 ได้รับอาหารที่มีคอเลสเทอรอล 1% ผสมอยู่กับสารสกัด 0.005% โดยน้ำหนักอาหาร กลุ่ม 4 ได้รับอาหารที่มีคอเลสเทอรอล 1% ผสมอยู่กับสารสกัด 0.01% กลุ่ม 3 ได้รับอาหารที่มีคอเลสเทอรอล 1% ผสมอยู่กับสารสกัด 0.02% และกลุ่ม 6 ได้รับอาหารที่มีคอเลสเทอรอล 1% ผสมอยู่อย่างเดียว โดยตลอด 4 เดือนของการทดลองจะ ทำการชั่งน้ำหนักตัวกระต่าย ตรวจสอบระดับของคอเลสเทอรอล (cholesterol) ระดับ ของไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) และ malondialdehyde (MDA) ในซีรัม (serum) ของ กระต่ายแต่ละกลุ่ม
เมื่อสิ้นการทดลองพบว่ากระต่ายในกลุ่ม III และ VI มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในกลุ่ม IV กับกลุ่ม กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ส่วนระดับคอเลส เทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ MDA ในซีรัมของกระต่ายกลุ่ม IV ลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่ม VI ในขณะที่กลุ่ม V ไม่แสดงผลยับยั้งใดๆ นอกจากนี้ผลการศึกษาทางเนื้อเยื่อวิทยาของ หลอดเลือดแดงกระต่ายเมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบว่า กระต่ายกลุ่ม IV ซึ่งได้รับสารสกัด ในปริมาณ 0.01% มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ากลุ่มกระต่ายที่ได้รับอาหารที่มีคอเลสเทอ รอผสมอยู่กับสารสกัดในปริมาณ 0.005% และ 0.02% โดยสังเกตจากปริมาณ plaque บนผิวหน้าของผนังหลอดเลือดแดง และค่าอัตราส่วนความหนาระหว่างชั้น intima กับ ชั้น media แสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากใบมะพูดแสดงผลดีที่สุดในการต้านภาวะหลอด เลือดแดงแข็งในกระต่ายเมื่อผสมกับอาหารในปริมาณ 0.01%
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยทั้งในและนอกประเทศอีกมากมายที่ได้ระบุถึงฤทธิ์ต่างๆ อีกเช่น ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอล ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาขอสารออกซิเดชั่นของ LDL และต้านอนุมูลอิสระเป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะพูด
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการรับประทานมะพูดในรูปแบบของอาหารมีความปลอดภัยสูง แค่ในการใช้เป็นสมุนไพร นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้มะพูดในรูปแบบสมุนไพรโดยเฉพาะการรับประทานเนื่องจากยังไม่มีรายงานการศึกษาด้านความปลอดภัยที่มากพอ
เอกสารอ้างอิง มะพูด
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. มะพูด(Mapud). หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 229.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. 2547. สมุนไพรไทย. กรุงเทพฯ: ฐานการพิมพ์.
- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2: ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน.กทม. สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 241.
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540 สารานุกรมสมุนไพรไทย: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. 358 หน้า. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
- วัฒนา ชยธวัช, อุบล ชื่นสำราญ. มะพูดไม้ผลที่มีสรรพคุณทางยา. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยปทุมธานี ปีที่ 1. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2563. หน้า 59-70
- ประเสริฐ สองเมือง. 2538. มะพูด. กสิกร 68:568.
- นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทองหงส์วิวัฒน์. ผลไม้ 111 ชนิด. คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด 2550 หน้า 136.
- อุษาวดี เดชะ. การทดสอบศักยภาพสารสกัดจากมะพูดในการป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2545. 73 หน้า.
- โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ 2520. ประมวลสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด กรุงเทพฯ นำอักษรการพิมพ์. หน้า 29.
- วาโนช วามานนท์ และเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. 2540. ยาสมุนไพรสำหรับสาธารณะสุขมูลฐาน 133 หน้า กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.
- สุญาณี คงคาช่วย, นงพร โตวัฒนะ และวิลาลวัลย์ มหาบุษราคัม.2544. ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของ LDL โดยสารสกัดจากมะพูด. บทคัดย่อการประชุมวิชาการวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 27.หน้า191.
- มะพูด.ประโยชน์และสรรพคุณ.พืชเกษตรดอทคอม เว็ปเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- linuma, M., Tosa, H., Ito, T., Tanaka, T. and Riswan, S. 1996b. Three new benzophenone-xanthone dimers from the root of Garcinia dulcis. Chem. Phar. Bull. 44 (9): 1744-1747.
- Kasahara, S. and Henmi, S. 1986. Medicine herb index in Indonesia; P.T. pp.92. Jakarta: Eisai Indonesia.
- Jansen, P.c.m. 1991. Garcinia L. p. 175-177. In. Plant Resources of South-East Asia 2. Edible fruits ant nuts. W.W.M. Verheij and R.e. Coronel. Prosea Pudoc, Wageningen.
- Kosela, S., Hu, L., Rachmatia, T., Hanafi, M. and Sim, K.Y. 2000. Dulxanthones F H, three new Pyranoxanthones from Garcinia dulcis. J. Nat. Prod. 63: 406-407.
- Likhitwitayawuid, K., Chanmahasatein, W., Ruanrungsi, N. and Krungkrai, J. 1998b.Habsah, Xanthones with antimalarial activity from Garcinia dulcis. Planta Med. 64: 281-282.