คลอโรฟีลล์
คลอโรฟีลล์
ชื่อสามัญ Chlorophyll
ประเภทและข้อแตกต่างคลอโรฟีลล์
คลอโรฟีลล์ เป็นสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในทุกส่วนของพืชที่เป็นสีเขียว มักพบมากในใบ และส่วนอื่นๆ ที่มีสีเขียว โดยจะมีลักษณะเป็นสารสีที่ปรากฏอยู่ใน organelle ที่เรียกว่า คลอโรพลาสต์ (chloroplast) ซึ่งจะพบในส่วน cytoplasm ของเซลล์พืช ซึ่งเป็นกลุ่มของสารสีที่มีสีเขียว ทำหน้าที่ในกระยวนการสังเคราะห์แสงเพื่อให้ได้พลังงานทางชีวเคมีแก่พืช โดยคลอโรฟิลล์จะสามารถดูดกลืนพลังงานแสงเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำให้กลายเป็นออกซิเจน และกลูโคส ส่วนโครงสร้างของคลอโรฟีลล์ตามธรรมชาตินั้นพบว่าคลอโรฟีลล์มีโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า porphyrin ring ที่คล้ายคลึงกับโครงสร้างของฮีมในฮีโมโกลบินของเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่จะต่างกันที่อะตอมที่ศูนย์กลางของคลอโรฟีลล์เป็นแมกนีเซียม (Mg) แทนที่จะเป็นธาตุเหล็ก (Fe) แบบของฮีม และยังประกอบไปด้วยไฮโดรคาร์บอนสายยาว (phytol side chain) นอกจากนี้คลอโรฟีลล์ในธรรมชาติจะอยู่ในรูปของคลอโรฟิลล์ที่ละลายในน้ำมันเท่านั้น และยังเป็นโมเลกุลซึ่งไม่ค่อยเสถียรสลายตัวได้ง่ายจากความร้อน ออกซิเจน และสารเคมีอื่นๆ ส่วนหางถูกย่อยออกจากโมเลกุลได้ง่ายด้วยสารละลายที่มีคุณสมบัติเป็นด่างอ่อน และเอนไซม์ chlorophyllase ในขณะที่แมกนีเซียมในส่วนของ tetrapyrrole ถูกดึงออกได้ง่ายด้วยสารละลายที่เป็นกรดอ่อน
สำหรับประเภทของคลอโรฟีลล์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.คลอโรฟีลล์จากธรรมชาติ โดยสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
- คลอโรฟีลล์ เอ (chlorophyll a) ซึ่งมีสูตรเคมี คือ C55 H72 O5 N4 Mg มีคุณสมบัติมละลายน้ำเป็นคลอโรฟีลล์ที่มีสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งสารคลอโรฟีลล์ เอ จัดเป็น primary pigment ที่ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสงโดยตรง ส่วนสารสีชนิดอื่นๆ ต้องรับแสงแล้วส่งต่อให้คลอโรฟีลล์ บี ประมาณ 2-3 เท่า โดยคลอโรฟีลล์ เอ จะมีช่วงการดูดกลืนแสงที่ 420 นาโนเมตร และ 660 นาโนเมตร ส่วนมากจะพบคลอโรฟีลล์ เอ ในพืชชั้นสูงทุกชนิดที่มีการสังเคราะห์แสงได้
- คลอโรฟีลล์ บี (chlorophyll b) มีสูตรเคมี คือ C55 H70 O6 N4 Mg ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ เป็นคลอโรฟีลล์ที่มีสีเขียวแกมเหลือง โดยคลอโรฟีลล์ บี จะมีช่วยการดูดกลืนแสงที่ 435 นาโนเมตร และ 643 นาโนเมตร ส่วนมากพบคลอโรฟีลล์ บี ได้ทั่วไปในพืชชั้นสูงทุกชนิด และสาหร่ายสีเขียว (green algae)
- คลอโรฟีลล์ ซี (chlorophyll c) เป็นคลอโรฟีลล์ชนิดที่พบได้ในพวกสาหร่ายสีน้ำตาล (brown algae) และสาหร่ายสีทอง (golden algae) แต่ไม่พบในพืชชั้นสูง
- คลอโรฟีลล์ ดี (chlorophyll d) เป็นคลอโรฟีลล์ชนิดที่พบในพวกสาหร่ายสีแดง (red algae) รวมถึงแบคทีเรียบางชนิดที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ แต่ไม่พบในพืชชั้นสูงเช่นกัน
2. คลอโรฟีลล์ สังเคราะห์ ที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟีลลิน (Sodium Copper Chlorophyllin) เป็นการดัดแปลงโครงสร้างคลอโรฟีลล์ตามธรรมชาติทำให้ได้สารคลอโรฟีลลินที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่มีความคงตัว และสามารถละลายน้ำได้ดีจึงนำมาผสมในอาหารเครื่องดื่ม
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาคลอโรฟีลล์
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า คลอโรฟีลล์เป็นสารสีที่พบในเซลล์ของพืชที่มีสีเขียว ดังนั้น แหล่งของคลอโรฟีลล์ก็ คือ ผัก และผลไม้สีเขียว เช่น ผักชีฝรั่ง ผักกาด ผักขม ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว แอปเปิ้ลเขียว กล้วย กล้วยน้ำว้า ส้มโอ แตงไทย เป็นต้น รวมถึง สาหร่ายต่างๆ และแบคทีเรียบางชนิด ดังในตารางต่อไปนี้
ตารางแสดงปริมาณคลอโรฟีลล์ในพืชผักต่างๆ
ปริมาณคลอโรฟีลล์ทั้งหมดในผลไม้บางชนิด
ชื่อผลไม้ |
พันธุ์ |
ส่วนของผลไม้ |
ปริมาณคลอโรฟีลล์ ไมโครกรัม/น้ำหนักผลสด(กรัม) |
กล้วย |
Dwarf Cavendish |
เนื้อ |
60.00 |
แตงไทย |
Galia |
เนื้อ |
345.00 |
ส้มจี๊ด |
Nagami |
ผิวเปลือก |
26.50 |
ส้มจีน |
Dancy |
ผิวเปลือก |
330.00 |
ส้มโอ |
Goliath |
ผิวเปลือก |
90.00 |
กูลเบอร์รี่ |
Achilles |
ทั้งหมด |
21.00 |
อลุ่ม |
Riecling |
ทั้งหมด |
15.00 |
แพร์ |
Super Trevoux |
เนื้อ |
4.50 |
|
Spadona |
เนื้อ |
45.00 |
แอปเปิ้ล |
Golden Delicious |
เนื้อ |
53.00 |
นอกจากนี้ยังมีการนำคลอโรฟีลล์จากธรรมชาติมาสังเคราะห์ และดัดแปลงโครงสร้างให้ละลายในน้ำได้ ซึ่งเป็นสารที่มีชื่อว่า Sodium copper chlorophyllin เพื่อใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อีกด้วย
ปริมาณที่ควรได้รับจากคลอโรฟีลล์
สำหรับขนาด และปริมาณที่ใช้คลอโรฟีลล์โดยทั่วไป ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เสริมอาหารจะใช้ในปริมาณ 100 มก./วัน นอกจากนี้ในอเมริกากำหนดความปลอดภัยของสารคลอโรฟีลลินในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ ใช้เป็นสีผสมอาหารได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับผู้ใหญ่ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถรับประทานคลอโรฟีลลินได้ในขนาด 90 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งองค์การอาหาร และยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้รับรองความปลอดภัยเฉพาะคลอโรฟีลล์ชนิดที่ละลายในน้ำเท่านั้น เนื่องจากคลอโรฟีลล์ที่ละลายในน้ำหากได้รับมากเกินไปสามารถละลายออกมาทางปัสสาวะได้แต่หากได้รับคลอโรฟีลล์ชนิดละลายในไขมันมากเกินไป จะทำให้มีการสะสมเกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับ และไตได้
ประโยชน์และโทษคลอโรฟีลล์
จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า คลอโรฟีลล์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของคลอโรฟีลล์ มีฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอกที่เต้านม ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งตับ ช่วยเพิ่มจำนวน และประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว ช่วยลดกลิ่นตัว กลิ่นของอุจจาระ และกลิ่นของปัสสาวะ ช่วยให้รอยแผลบริเวณผิวหนังซึ่งเกิดจากการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งหายเร็วขึ้น และช่วยขับสารพิษ (อย่างไรก็ตาม การได้รับคลอโรฟีลล์มากเกินไปอาจเกิดการสะสม และมีผลเสียต่อตับ และไตได้)
นอกจากนี้คลอโรฟีลล์ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกเช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยควบคุมความเป็นกรดในกระเพราะอาหาร และส่งเสริมการย่อยอาหาร ช่วยป้องกันแผลอักเสบ และระงับเชื้อ ช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร ส่วนผลข้างเคียงของการรับประทานคลอโรฟีลล์อาจเกิดขึ้นได้โดยอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้
ปัสสาวะมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเขียว อุจจาระมีสีเขียว ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกือบดำ และยังมีรายงานว่าทำให้ท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดอาการแพ้สารคลอโรฟีลลิน โดยอาจพบผื่นแพ้ขึ้นตามตัว เวียนศีรษะ เหงื่ออกมาก และความดันโลหิตตกอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องคลอโรฟีลล์
มีการศึกษาในคนของคลอโรฟีลล์ พบว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมและป้องกันการเกิดมะเร็งที่ตับ ซึ่งขนาดที่ใช้รับประทานในการศึกษาคือคลอโรฟิลล์ชนิดเม็ดขนาด 100 มก./วัน รับประทานวันละ 3 ครั้ง นาน 3-4 เดือน นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์เพิ่มปริมาณและกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ยับยั้งสารพิษ ปกป้องผิวหนังจากรังสีอีกด้วย และยังมีผลการศึกษาวิจัยของสถาบัน Linus Pauling, มหาวิทยาลัย Oregon state แสดงให้เห็นว่าทั้งคลอโรฟิลล์และคลอโรฟิลลิน มีประสิทธิภาพเท่าๆ กันในการยับยั้งสารก่อมะเร็ง (aflatoxin B1) เข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตามงานวิจัยเหล่านี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังคงต้องทำการวิจัยต่อไปเพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่คลอบคลุมทุกมิติรวมถึงยังต้องศึกษาวิจัยในคนอีกต่อไป
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคลอโรฟีลล์รูปแบบรับประทานนี้ คือ การดูดซึม (absorption) เนื่องจากคลอโรฟีลล์จะมีผลในการสร้างสารพิษในร่างกายได้ ต้องถูกดูดซึมเพื่อให้เข้าสู่กระแสเลือดก่อนเท่านั้น ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึม และประสิทธิภาพเกี่ยวกับการล้างสารพิษของคลอโรฟีลล์ในมนุษย์ อ้างอิงจาก Natural Medicines Comprehensive มีค่อนข้างจำกัด และผลการศึกษาส่วนใหญ่ ได้มากจากสัตว์ทดลอง หรือ เซลล์ในหลอดทดลอง จึงทำให้ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมากในอนาคต
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
- การรับประทาน chlorophyll และ chlorophyllin เสริมนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ หรือ ไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มี chlorophyll และ chlorophyllin เป็นส่วนประกอบ
- หากต้องการรับประทานผักผลไม้ให้ได้ปริมาณของคลอโรฟีลล์อย่างเต็ม ที่ควรรับประทานในรูปแบบ ผัก และผลไม้สด เพราะหากมีการนำไปผ่านความร้อนมากเท่าไหร่ก็จะทำให้ปริมาณของคลอโรฟีลล์สูญเสียไปมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง คลอโรฟีลล์
- พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. คลอโรฟีลล์มีประโยชน์จริงเหรอ?. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 24. ฉบับที่ 2 มกราคม 2550. หน้า 2-12
- ภาคภูมิ พระประเสริฐ. สรีรวิทยาของพืช. กรุงเทพฯ, โอเดียนสโตร์. 2550
- Gruskin B. Chlorophyll-its therapeutic place in acute and suppurative disease. Am J Surg 1940:49;49-56.
- Whong WZ, Stewart J, Brockman HE, Ong TM. 1988 Comparative antimutagenicityof chlorophyllin and five other agents against aflatoxin B1-induced reversion in salmonella typhimurium strain TA98. Teratog Carcinog Mutagen. Vol. 8(4): 215-24
- Egner PA, Wang JB, Zhu YR. 2001. Chlorophyllin intervention reduces aflatoxin-DNAadducts in individuals at high risk for liver cancer. Proc Natl Acad Sci. Vol. 98(25): 14601-14606.
- Rudolph C. The therapeutic value of chlorophyll. Clin Med Surg 1930:37;119-21.
- Breinholt V, Schimerlik M, Dashwood R, Bailey G. 1995. Mechanisms ofchlorophyllin anticarcinogenesis against aflatoxin B1: complex formation with the carcinogen. Chem Res Toxicol. Vol. 8(4): 506-514.
- Schwartz J, Shklar G, Reid S, Trickler D. 1988. Prevention of experimental oralcancer by extracts of Spirulina-Dunaliella algae. Nutr Cancer. Vol. 11(2): 127-34