มะไฟ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะไฟ งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะไฟ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หมากไฟ (ภาคอีสาน), ส้มไฟ (ภาคใต้), หัมกัง (เพชรบูรณ์), แซเครือแช (กะเหรี่ยง), ผะยิ้ง (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea ramiflora Lour.
ชื่อสามัญ PHYLLANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดมะไฟ

มะไฟจัดเป็นพืชที่คนไทยปลูกกันมานานมากแล้ว โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่าแพร่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยอยุธยาพร้อมกับการค้าขาย โดยเริ่มปลูกช่วงแรกในแถบภาคใต้ ในปัจจุบันสามารถพบมะไฟ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยตามสวนไร่นา และยังมีการปลูกไว้ตามบ้านเรือนอีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณมะไฟ

  • บำรุงธาตุในร่างกาย 
  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • รักษาอาการอาหารไม่ย่อย
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้โรคหวัด
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยละลายเสมหะ
  • ใช้ขับปัสสาวะ
  • ใช้ถ่ายพยาธิ
  • แก้พิษฝี
  • รักษากลากเกลื้อน และโรคเรื้อน
  • ช่วยดับพิษร้อน
  • แก้ฝีภายใน
  • แก้ไข้
  • แก้อาการผิวหนังอักเสบชนิดที่เป็นถุงน้ำและลอกออกมา
  • แก้โรคเริม
  • แก้พิษตานซาง
  • แก้อาการท้องร่วง
  • แก้โรคหวัด
  • บรรเทาอาการไข้ประดง

           มะไฟจัดเป็นผลไม้พื้นบ้านของไทยเนื่องจากมีการปลูกกันมาอย่างช้านานแล้ว โดยนิยมนำผลสุกมารับประทานเป็นผลไม้ซึ่งจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ซึ่งในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ส่วนผลอ่อนนำไปใช้แกง อีกทั้งยังมีการใช้มะไฟ ในการปรุงอาหารอย่างการดอง หรือ นำไปหมักทำไวน์ นอกจากนี้ยังมีการนำเปลือกต้นมาใช้ย้อมผ้าโดยจะให้สีดำน้ำตาล

มะไฟ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ทำให้ชุ่มคอ แก้ท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย โดยนำผลสุกมารับประทานสด ใช้บำรุงธาตุ แก้โรคหวัด บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และช่วยละลายเสมหะ ใช้ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษากลากเกลื้อน และโรคเรื้อน แก้พิษฝี โดยนำใบสดมะไฟ มาขยี้ หรือ ตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้ฝีภายใน บรรเทาอาการไข้ประดง รักษาโรคเริม แก้พิษตานซาง โดยนำรากสด หรือ รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการผิวหนังอักเสบชนิดที่เป็นถุงน้ำลอกออกมา โดยนำรากสด หรือ รากแห้งมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของมะไฟ

มะไฟ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ลำต้นสูง 10-15 ม. ไม่ผลัดใบมีขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ทรงพุ่มกลม แน่น ทึบ เปลือกต้นเรียบ หรือ อาจแตกเป็นสะเก็ดตามแนวยาวสีน้ำตาลปนเทา หรือ สีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลีบ ลักษณะใบรูปหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง 6-10 ซม. ยาว 10-20 ซม. ขอบใบเรียบ หรือ หยักเป็นติ่งโคนใบสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลม ผิวใบบางเกลี้ยง สีเขียวเป็นมันด้านบนของใบมีสีเขียวเข้ม ท้องมบสีจางกว่าหลังใบ มีก้านใบยาว 3-7 ซม.

           ดอก ออกเป็นช่อ บริเวณซอกใบบริเวณปลายกิ่ง และลำต้น ดอกมีก้านช่อดอกยาว โดยดอกเป็นดอกแยกเพศ ต่างช่อ และต่างต้น สั้นกว่าช่อดอกเพศเมีย ช่อดอกจะห้อยลงยาว 10-30 ซม. ในแต่ละช่อจะมี ดอกย่อย 10-15 ดอก เป็นดอกขนาดเล็กมีกาบรองดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีส้มอมเหลือง ซ้อนกันไม่มีกลีบดอก มีขนาด เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.3-1 ซม.

           ผล เป็นผลสดทรงกลม มีขนาด 2-2.5 ซม. เนื้อผลอวบน้ำ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เปลือกผลหนา และเหนียวด้านในมีเมล็ดค่อนข้างแบนมีเยื่อสีชมพูห่อหุ้ม ในหนึ่งผลมี 1-3 เมล็ด

มะไฟ

มะไฟ

การขยายพันธุ์มะไฟ

มะไฟสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งซึ่งในปัจจุบันนิยมปลูกพันธุ์เหรียญทอง พันธุ์ไข่เต่า และมะไฟสีม่วง เป็นต้น สำหรับการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งมะไฟ นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในเนื้อผล และเยื่อผลมะไฟ ในต่างประเทศระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น Phloridzin, Engeletin, Hesperidin, Rhusflavanone, Rhusflavanone, Procyanidin B1, Oleamide, α-eleostearic acid, Caftaric acid, Ethylparaben, Paeonolide, Peucedanol, Rosavin, Decursinol, Rosamultin, α-Hederin, Lupenone, Atractyloside A, Lupeol, Forsythoside E, Helicid, Androsin, Citric acid, Gabapentin เป็นต้น

โครงสร้างมะไฟ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะไฟ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพฤกษเคมีที่อยู่ในเนื้อเยื่อเปลือกผล ผล ใบ และรากของมะไฟ ในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดเอทานอลจากส่วนเปลือกผล เนื้อเยื่อผล ราก และใบ ของมะไฟ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ฤทธิ์แก้ปวด และฤทธิ์ต้านการอักเสบ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะไฟ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการรับประทานผลสุกของมะไฟ ซึ่งมีรสหวานอมเปรี้ยวนั้นควรรับประทานแต่พอดี เพราะหากรับประทานเป็นจำนวนมากแล้วอาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้อง ท้องเสียได้ ส่วนในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้นก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะไฟ
  1. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า.
  2. มะไฟ. พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.). หน้า 247-248.
  3. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะไฟ ใน ผลไม้ 111 ชนิด : คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550. หน้า 169-170.
  4. มะไฟ มะไฟจีน สรรพคุณและการปลูกมะไฟ. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  5. A. Inta, P. Trisonthi, C. Trisonthi Analysis of traditional knowledge in medicinal plants used by Yuan in Thailand J. Ethnopharmacol, 149 (1) (2013), pp. 344-351.
  6. B.T. Li, G.G. Michael Flora of China, 11, Science Press, Beijing (2008), pp. 216-217.
  7. M.S. Uddin, M.S. Hossain, A.A. Mamun, et al. Phytochemical analysis and antioxidant profile of methanolic extract of seed, pulp and peel of Baccaurea ramiflora Lour Asian Pac. J. Trop. Med, 11 (7) (2019), pp. 443-450.
  8. T. Usha, S.K. Middha, M. Bhattacharya, et al. Rosmarinic acid, a new polyphenol from Baccaurea ramiflora Lour. leaf: a probable compound for its anti-inflammatory activity Antioxidants, 3 (2014), pp. 830-842.