ปอเตาไห้ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ปอเตาไห้ งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ปอเต่าไห้
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พญาไม้ผุ (ราชบุรี), ปอตับเต่า (เลย), พันไฉน, พันไสน (ภาคกลาง, กรุงเทพฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Enkleia siamensis (Kurz) Nevling
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Enkleia malaccensis Griff.
วงศ์ Thymelaeaceae

ถิ่นกำเนิดปอเต่าไห้

ปอเต่าไห้ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยเชื่อกันว่าบริเวณที่เป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิมนั้นอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ โดยมีรายงานว่ามีการค้นพบพืชชนิดนี้ครั้งแรกที่ประเทศไทย และในปัจจุบันมีเขตการกระจายพันธุ์ไปทั่วทั้ง 2 ภูมิภาคดังกล่าว สำหรับประเทศไทยสามารถพบปอเต่าไห้ ได้เกือบทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ จะพบได้บริเวณชายป่า หรือ ตามป่าเบญจพรรณป่าเต็งรัง ที่ค่อนข้างชื้น และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณปอเต่าไห้ 

  1. ใช้เป็นยาระบาย
  2. แก้ไอ
  3. ช่วยขับเสมหะ
  4. แก้ประดง
  5. แก้หืด
  6. ช่วยขับลม
  7. แก้ผื่นคันตามผิวหนัง
  8. แก้โรคเรื้อน
  9. แก้คุดทะราด
  10. ใช้รักษาโรคตา
  11. ช่วยถ่ายพยาธิ
  12. ใช้เป็นยาถ่าย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาระบายโดยการนำรากประมาณ 2 ข้อนิ้ว มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ขับลม แก้หืด แก้ประดง แก้ผื่นคันตามผิวแห้ง แก้คุดตะราด โดยนำแก่นปอเต่าไห้ ต้นมาทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตากให้แห้ง จากนั้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิโดยใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของปอเต่าไห้

ปอเต่าไห้ จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยตั้งลำต้นตรง หรือ ไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง สูงได้ 2-5 เมตร เปลือกต้น สีน้ำตาลเข้มผิวเรียบ เปลือกมีความเหนียว และมีมือเกาะออกตรงข้าม ส่วนกิ่งอ่อน และยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง ประปราย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม กว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. ลักษณะรูปไข่ หรือ รูปรีขอบเรียบ ปลายแหลมหรือมน มีติ่งหนามเล็กๆ โคนรูปลิ่ม แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นสีเขียวเกลี้ยงด้านล่างสีอ่อนกว่า และมีขนสีเทาสั้นนุ่มตามร่องเส้นใบด้านล่าง และที่เส้นแขนงใบ โดยมีเส้นแขนงใบข้างละ 15-25 เส้น สามารถมองเห็นชัดเจนทั้งสองด้าน และก้านใบยาว 6-8 มม. ช่อดอก เป็นแบบช่อซี่ร่ม ออกบริเวณปลายกิ่ง ซึ่งจะมีจำนวนดอก 3-15 ดอก ดอกเป็นสีเขียว หรือ สีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ รูปลิ้นยาวประมาณ 2.5 มม. เป็นแบบอวบน้ำ ปลายเป็นแฉกลึก 2 แฉก รูปขอบขนาน มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เรียงเป็น 2 วง รังไข่รูปรี อยู่เหนือวงกลีบ ยาว 1-2 มม. ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยาว 1.5-2 มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มีก้านช่อดอก ยาว 2-5 ซม. ผลเป็นแบบผลสดลักษณะผลเกลี้ยงรูปไข่มีสีเขียว กว้าง 6-8 มม. ยาว 1-1.5 ซม. ปลายแหลม และมีผนังชั้นในแข็ง มีก้านผลยาว มีใบประดับ 2 ใบ สีน้ำตาลอ่อน ขนาด 2-4 เซนติเมตร เมล็ดรูปไข่ กว้าง 4-5 มม. ยาว 6-8 มม.

ปอเต่าไห้

การขยายพันธุ์ปอเต่าไห้ 

ปอเต่าไห้สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่นิยมนำมาปลูกเป็นพืชทางการเกษตร หรือ ปลูกในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นการขยายพันธุ์ของปอเต่าไห้ จะเป็นการขยายพันธุทางธรรมชาติ แต่หากต้องการที่จะทำการปลูก หรือ ขยายพันธุ์ปอเต่าไห้ ก็สามารถทำได้ โดยมีวิธีการเช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของรากปอเต่าไห้ พบว่ามีสาระสำคัญดังนี้ รากพบ umbelliferone,chamaejasmin, nordentatin, linobiflavonoid, 7-O-β-d-glucopyranosyl chamaejasmin, ormocarpin, ( - )-wikstromol, matairesinol, clausarin, carthamidin, daphnoretin, (+)-lariciresinol

โครงสร้างปอเต่าไห้

ที่มา: Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของปอเต่าไห้

ปอเต่าไห้ มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาทั่วไปไทย และต่างประเทศน้อยมาก แต่มีผลการศึกษาฉบับหนึ่งระบุว่า ในสารสกัดจากรากพบสาร daphnoretin ที่แสดงฤทธิ์กดการแสดงออกของยีนไว้รัสตับอักเสบบีในเซลล์ตับของมนุษย์ในหลอดทดลอง

การศึกษาทางพิษวิทยาของปอเต่าไห้

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ปอเต่าไห้ เป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณในตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้ เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา และในการศึกษาทางเภสัชวิทยานั้นก็เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น ดังนั้นในการใช้ควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ปอเต่าไห้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ปอเต่าไห้
  1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุลและอนันต์ พิระภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย. กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551. หน้า 51
  2. ปอเต่าไห้,ผักเขียด .อุทยานธรรมชาติวิทยา สีรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ปอเต่าไห้ 1. สารานุกรมพืชในประเทศไทย. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  4. ปอเต่าไห้. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?acton=riewpege&pid=235