กระชาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระชาย งานวิจัยและสรรพคุณ 36 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระชาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ละแอน, กะแอน, หัวละแอน (ภาคเหนือ), ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ), ขิงทราย (มหาสารคาม), กระชายป่า (โคราช), จี๊ปู, ซีฟู (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), เป๊าะซอเร๊าะ, เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กระชายเหลือง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltr., Gastrochillus panduratus (Ridl.) Schltr.
ชื่อสามัญ Fingerroot, Chinese ginger, Kaempfer.
วงศ์ Zingiberaceae


ถิ่นกำเนิดกระชาย

กระชาย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เช่น ประเทศไทย, พม่า, ลาว, มาเลเซีย, กัมพูชา, รวมไปถึง อินเดีย, บังคลาเทศ ฯลฯ โดยมักจะพบว่ากระชาย ขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น ของประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ กระชายมีอยู่สามชนิด คือ กระชายเหลือง กระชายดำ และกระชายแดง แต่คนนิยมมักใช้กระชายเหลืองมากกว่าชนิดอื่น (ซึ่งในบทความนี้ก็กล่าวถึงกระชายเหลือง)


ประโยชน์และสรรพคุณกระชาย

  1. แก้ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
  2. แก้ปวดมวนท้อง
  3. ช่วยขับลม
  4. ช่วยให้กระเพาะ และลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น
  5. แก้มุตกิด
  6. แก้ลมอันบังเกิดแต่กองหทัยวาต
  7. แก้ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตกเป็นแผล
  8. แก้บิดมูกเลือด
  9. แก้ปวดเบ่ง
  10. รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ
  11. ช่วยบำรุงกำลัง
  12. ช่วยเจริญอาหาร
  13. ช่วยขับระดูขาว
  14. แก้กามตายด้าน
  15. ช่วยทำให้กระชุ่มกระชวย
  16. ช่วยขับปัสสาวะ
  17. แก้กระษัย
  18. แก้เจ็บปวดบั้นเอว
  19. ช่วยบำรุงกำหนัด
  20. ช่วยบำรุงหัวใจ
  21. แก้ใจสั่นหวิว
  22. ช่วยบำรุงธาตุ
  23. แก้ไข้สันนิบาต
  24. แก้เลือด
  25. แก้เสมหะ
  26. แก้กามตายด้าน
  27. รักษาโรคทางดินปัสสาวะอักเสบ
  28. แก้กลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
  29. แก้คันศีรษะจากเชื้อรา
  30. แก้ท้องร่วง
  31. แก้ท้องเสีย
  32. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
  33. รักษาริดสีดวงทวาร
  34. ใช้บำบัดโรคกระเพาะ
  35. แก้ฝ้าขาวในปาก
  36. บรรเทาอาการแผลในปาก

           กระชาย มีสรรพคุณคล้ายโสม หมอโบราณเรียกว่า “โสมไทย ” หัว และราก ขับปัสสาวะ แก้กระษัย เบาเหลือง แดง เจ็บปวดบั้นเอว บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ใจสั่นหวิว ขับปัสสาวะ หัวใช้เผาไฟฝนรับประทานกับน้ำปูนใส เป็นยาแก้บิด แก้โรคบังเกิดในปาก แก้มุตะกิต

           กระชาย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร โดยใช้รากกระชาย เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง และขนมจีนน้ำยารวมถึงใช้เป็นส่วนประกอบของขนมอีกหลายชนิด เพื่อดับกลิ่นคาวเนื้อและปลา เช่น ผัดเผ็ดปลาดุก แกงเผ็ด เนื้อ แกงป่า หลนปล้าร้า ฯลฯ นอกจากนี้ กระชาย ยังสามารถบริโภคเป็นผักพื้นบ้าน อีกทั้งยังใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สมุนไพรทอดกรอบ และเป็นผลิตภัณฑ์ชาชงกระชาย ใช้ดื่มบำรุงร่างกาย ก่อนอาหารได้อีกด้วย

           ส่วนประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น รากกระชายสามารถช่วยไล่แมลงได้ ด้วยการนำตะไคร้ เหง้าข่า หอมแดง ใบสะเดาแก่ นำมาตำผสมกันแล้วใช้ผสมกับน้ำฉีดในบริเวณที่มีแมลงรบกวน

กระชาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

           ตำรายาแผนโบราณของไทย : มีการใช้กระชายใน “พิกัดตรีกาลพิษ” คือ การจำกัดจำนวนตัวยาแก้พิษตามกาลเวลา 3 อย่าง มีรากกะเพราแดง หัวกระชาย และเหง้าข่า สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงความกำหนัด แก้ไข้สันนิบาต แก้เลือด เสมหะ แก้กามตายด้าน

           ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา : ใช้เหง้า แก้โรคบิด โดยนำเหง้าย่างไฟให้สุกแล้วโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำปูนใส รับประทานทั้งน้ำ และเนื้อ ครั้งละครึ่งแก้ว เช้า เย็น และใช้เหง้าแก้กลากเกลื้อน โดยนำเหง้ามาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็นแผล
           ตำรายาพื้นบ้านล้านนา : ใช้เหง้า รักษาโรคทางดินปัสสาวะอักเสบ กลากเกลื้อน ท้องอืดเฟ้อ

  • แก้บิด ท้องร่วง ท้องเสีย นำรากกระชายย่างไฟให้สุก ตำให้ละเอียดผสมน้ำปูนใสในอัตราส่วน กระชายแก่ 4 หัว ต่อน้ำปูนใส 5 ช้อนแกง คนให้เข้ากันดีแล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มครั้งละ 3-5 ช้อนแกง ทุกครั้งที่ถ่าย เมื่ออาการดีขึ้นให้กินวันละ 3 คร้ัง เช้า กลางวัน เย็น เมื่อหายแล้วกินต่ออีก 1-2 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • ช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ตำรากระชาย 1 กำมือให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำผึ้งในอัตราส่วนที่เท่ากัน รับประทานก่อนอาหารเย็น 1 ชัวโมง ครั้งละประมาณ 1 ถ้วยชา
  • แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ปวดมวนในท้อง ใช้เหง้า และราก ประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5-10 กรัม, แห้ง 3-5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือ ใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน
  • แก้บิด
  • เป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้เหง้า และรากกระชายปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ผงแห้ง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ½ถ้วยชา รับประทานครั้งเดียว
  • ยารักษาริดสีดวงทวาร ใช้เหง้าสด 60 กรัม ประมาณ 6-8 เหง้า ผสมกับเนื้อมะขามเปียก 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง ตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว รับประทานครั้งละ ½ แก้ว ก่อนนอน รับประทานติดต่อกัน 1 เดือน ริดสีดวงทวารควรจะหาย
  • บำบัดโรคกระเพาะ กินรากสดแง่งเท่านิ้วก้อยไม่ต้องปอกเปลือก วันละ 3 มื้อก่อนอาหาร 15 นาทีสัก 3 วัน ถ้ากินได้ให้กินจนครบ 2 สัปดาห์ ถ้าเผ็ดร้อนเกินไปหลังวันที่ 3 ให้กินขมิ้น สดปอกเปลือกขนาดเท่ากับ 2 ข้อนิ้วก้อยจนครบ 2 สัปดาห์
  • บรรเทาอาการแผลในปาก ปั่นรากกระชายทั้งเปลือก 2 แง่งกับน้ำสะอาด 1 แก้วในโถปั่นน้ำ เติมเกลือครึ่งช้อนกาแฟโบราณ กรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้กลั้วปากวันละ 3 เวลาจนกว่าแผลจะหาย ถ้าเฝื่อนเกินให้เติมน้ำสุกได้อีก ส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งใช้เก็บในตู้เย็นได้ 1 วัน
  • แก้ฝ้าขาวในปาก บดรากกระชายที่ล้างสะอาด ไม่ต้องปอกเปลือก ใส่โถปั่นพอหยาบ ใส่ขวดปิดฝาแช่ไว้ในตู้เย็น กินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนกาแฟเล็ก (เหมือนที่เขาใช้คนกาแฟโบราณ) วันละ 3 มื้อก่อนอาหาร 15 นาที สัก 7 วัน
  • แก้กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า คันศีรษะจาก เชื้อรา นำรากกระชายทั้งเปลือกมาล้างผึ่งให้แห้ง ฝานเป็นแว่น แล้วบดให้เป็นผงหยาบ เอาน้ำมันพืช (อาจใช้น้ำมันมะกอก หรือ น้ำมันมะพร้าว ก็ได้) มาอุ่นในหม้อใบเล็กๆ เติมผงกระชาย ใช้น้ำมัน 3 เท่าของปริมาณกระชาย หุง (คนไปคนมาอย่าให้ไหม้) ไฟอ่อนๆ ไปสักพักราว 15-20 นาที กรองกระชายออก เก็บน้ำมันไว้ในขวดแก้วสีชาใช้ทาแก้กลาก เกลื้อน
  • แก้คันศีรษะจากเชื้อรา ให้เอาน้ำมันดังกล่าวไปเข้าสูตรทำแชมพูสระผมสูตรน้ำมันจากที่ไหนก็ได้ โดยใช้แทนน้ำมันมะพร้าวในสูตร ประหยัดเงินและได้ภูมิใจกับภูมิปัญญาไทย หรือ จะใช้น้ำมันกระชายโกรกผม ให้เพิ่มปริมาณน้ำมันพืชอีก 1 เท่าตัว โกรกด้วยน้ำมันกระชายสัก 5 นาที นวดให้เข้าหนังศีรษะ แล้วจึงสระผมล้างออก
  • เป็นยาอายุวัฒนะ ผงกระชายทั้งเปลือกบดตากแห้งปั้นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง กินวันละ 3 ลูกก่อนเข้านอน ตำรับนี้เคยมีผู้รายงานว่าใช้ลดน้ำตาลในเลือดได้ หรือ ใช้กระชายตากแห้ง บดผงบรรจุแคปซูล แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม กินวันละ 1 แคปซูลตอนเช้าก่อนอาหารเช้าในสัปดาห์แรก วันละ 2 แคปซูลตอนเช้าในสัปดาห์ที่ 2


ลักษณะทั่วไปของกระชาย

ต้นกระชาย จัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ รากอวบ รูปทรงกระบอก หรือ รูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ออกเป็นกระจุก ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อกระชาย ในสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว

           ใบกระชาย เป็นส่วนที่อยู่เหนือดิน มี 2-7 ใบ เป็นประเภทใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง 5-12 ซม. ยาว 12-50 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ เส้นกลางใบ ก้านใบ และกาบใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเป็นสัน ก้านใบเรียบ ยาว 7-25 ซม. กาบใบสีชมพู ยาว 7-25 ซม. ระหว่างก้านใบ และกาบใบมีลิ้นใบ

           ดอกกระชาย ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด ยาวประมาณ 5 ซม. แต่ละดอกมีใบประดับ 2 ใบ สีขาว หรือ ขาวอมชมพูอ่อน รูปใบหอก กว้างประมาณ 8 มม. ยาว 3.5-4.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาว หรือ ขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 ซม. ปลายแยกเป็น 3 กลีบ รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่ 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1.8 ซม. อีก 2 กลีบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน แต่ 5 อัน เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนสีชมพู รูปไข่กลับ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาวประมาณ 1.7 ซม. อีก 3 กลีบ ล่างสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 2.7 ซม. ปลายแผ่กว้างประมาณ 2.5 ซม. มีสีชมพูหรือม่วงแดงเป็นเส้นๆ อยู่เกือบทั้งกลีบโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรเพศเมีย

           ผลกระชาย แก่มักแตกเป็น 3 เสี่ยงมี เมล็ดค่อนข้างใหญ่

กระชาย 

กระชาย

การขยายพันธุ์กระชาย

กระชาย เป็นพืชผักประเภทเดียวกับ ขิง ข่า และขมิ้น เที่เป็นชนิดที่มีลำต้นใต้ดิน ซึ่งเรียกว่าเหง้าเป็นส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ โดยมีลักษณะตุ่มต่อจาก ส่วนหัวจะเป็นก้อนค่อนข้างจะกลม ติดกับลำต้น โดยมีวิธีการดังนี้ เลือกกระชายที่ปราศจากโรคและแมลง อายุตั้งแต่ 10 เดือนขึ้นไป นำเหง้ามาแบ่งส่วนตัดแต่งให้เหลือรากติดลำต้น ประมาณ 2 ราก นำมาแช่สารเคมีเพื่อป้องกันเชื้อราที่อาจติดมากับเหง้า โดยพื้นที่ 1 ไร่ ใช้พันธุ์กระชาย จำนวน 400 กิโลกรัม

  • การเตรียมดิน กระชายจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี เตรียมดิน โดยการพลินดินค่อนข้างลึกอย่างน้อยดินจะต้องร่วนซุยลึกประมาณหนึ่งคืบเศษๆ พอที่ราก หรือ ตุ้มจะแทงลงไปให้รากยาวตามต้องการ และย่อยดินตากไว้ประมาณ 7 วัน ยกเป็นแปลง หรือ ร่องสูงประมาณ 50 เซนติเมตร หลังร่องควรเกลี่ยให้แบนๆ ไม่ควรให้เป็นสัน ทำหลุมปลูกลึกประมาณ 1 หน้าจอบ ระยะปลูก 20x20 เซนติเมตร แล้วนำพันธุ์กระชายที่เตรียมไว้มาปลูกในหลุมปลูกกลบดิน
  • การให้ปุ๋ย ควรเร่งให้งามไปตั้งแต่เริ่มปลูก อย่าให้กระชายชะงักงัน ราก หรือ ตุ้มจะเเกร็น
  • การให้น้ำ ในหน้าฝน กรณีมีฝนตกทุกวันไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ในหน้าแล้งควรให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง และเมื่อกระชาย แตกยอดแล้วควรให้น้ำเวลาเย็น เพราะถ้าหากให้เวลาเช้า หรือ กลางวันอาจทำให้ใบไหม้ได้
  • การเก็บเกี่ยว กระชายสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 5-6 เดือน จนถึง 10-12 เดือน เก็บโดยใช้มือถอน หรือจอบขุด


องค์ประกอบทางเคมี

ในเหง้ากระชายมีน้ำมันหอมระเหยแต่พบในปริมาณน้อย (ราวร้อยละ 1-3) น้ำมันหอมระเหย ของกระชาย ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด เช่น 1.8-cineol, camphor, d-borneol methyl cinnamate penduratin, limonene, myrcene camphene, chavicinic acid ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่พบส่วนน้อย ได้แก่ d-pinene, zingi-berene, zingiberone, curcumin และ zedoarin นอกจากนี้ยังพบสารอื่น ได้แก่ กลุ่มไดไฮโดรชาลโคน boesenbergin A กลุ่มฟลาโวน ฟลาวาโนน และฟลาโวนอยด์ (ได้แก่ alpinetin, pinostrobin), pinocembrin และกลุ่มชาลโคน (ได้แก่ 2', 4', 6'-trihydroxy chalcone และ cardamonin)

โครงสร้างกระชาย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระชาย

           ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ คือ cineol มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงลดอาการปวดเกร็งท้องได้

           กระชายสามารถลดการบีบตัวของลำไส้หนูที่ตัดแยกออกจากลำตัว โดยใช้สารกระตุ้น 4 ชนิด คือ acetylcholine, histamine, barium chloride และ dimethyl-4-phenyl-piperaziniumiodide (DMPP) จึงลดอาการปวดเกร็งได้ และสารสกัดเอทานอล (95%) มีฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้หนูได้เช่นกัน

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การทดลองโดยใช้รากแห้งซึ่งเตรียมจากการแช่รากด้วยอีเทอร์ ปิโตรเลียมอีเทอร์และน้ำกลั่น 48 ชั่วโมง แล้วนำมากรอง พบว่าไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Bacillus subtilis แบคทีเรียในลำไส้ Escherichia coli แบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง Staphylococcus aereus และ Pseudomonas aeruginosa

           สารสกัดกระชาย จากรากสดด้วยน้ำร้อนและน้ำในความเข้มข้น 0.5 ซีซี/แผ่น ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ B. subtilis 2 สายพันธุ์ คือ H-17 (rec+) และ M-25 (rec-) นอกจากนี้ยังทำการทดลองโดยใช้น้ำคั้นจากรากสด  ก็ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียเช่นกัน

           ฤทธิ์ต้านเชื้อรา น้ำสกัด สารสกัดอัลกอฮอล์ และคลอโรฟอร์มของสารสกัดผสม ทดลองกับเชื้อ Candida albicans โดยใช้วิธี paper disc วัดความกว้างของ clear zone โดยเทียบกับ griseofulvin และ nystatin พบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มและอัลกอฮอล์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แต่น้ำสกัดมีฤทธิ์ต้านเชื้อราอย่างอ่อนๆ แต่สารสกัดคลอโรฟอร์ม เอทานอล (95%) และน้ำสกัดไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ C.albicans ในจานเพาะเชื้อ

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ สาร 5,7-dimethoxflavone, panduratin A และ hydroxypanduratin A จากกระชาย สามารถลดการอับเสบในหนูแรทได้

           ฤทธิ์แก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด น้ำมันหอมระเหยของกระชายมีฤทธิ์บรรเทาอาการหดตัว ของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหาร สารสกัดกระชายมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย E. coli ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการแน่นจุกเสียด นอกจากนั้นสาร cineole มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงลดอาการปวดเกร็ง
           ฤทธิ์แก้โรคกระเพาะ งานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์พบว่า สารสกัดรากกระชาย และสาร pinostrobin มีฤทธิ์ต้านการเจริญของแบคทีเรียกรัมลบ ชื่อ Helicobacter pylori ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ เมื่อใช้สารสกัดจากรากกระชายรักษาอาการแผลในกระเพาะอาหารในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดดังกล่าวนอกจากจะฆ่าเชื้อสาเหตุของโรคแล้วยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบของแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากมีรายงานว่าสาร pinostrobin จากพืชตระกูลพริกไทย (Piper methylsticum) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบทั้งใน ระบบ COX-I และ COX-II จึงอาจอธิบายฤทธิ์ที่เสริมกันได้ดังกล่าว

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ ในประเทศไทยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า สารสกัดคลอโรฟอร์ม และเมทานอลจากรากกระชายมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อ Giardia intestinalis ซึ่งเป็นพยาธิเซลล์เดียวในลำไส้ก่อให้เกิดภาวะท้องเสีย ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากกับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า pinostrobin, panduratin A, pinocembrin  และ alpinetin มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียหลายชนิด


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระชาย

การศึกษาความเป็นพิษจาก Hippocratic screening เมื่อใช้ 5,7-dimethoxy flavone ในขนาด 3 ก./กก. (10 เท่าของขนาดรักษาการอักเสบ) พบพิษต่ำมาก ขณะที่ทำการสังเกตใน 7 วัน ในขนาดที่มากขึ้น คือ 1.26 ก./กก. จะลดการหายใจ และอุณหภูมิร่างกาย เนื่องจากการกดประสาทส่วนกลาง พิษต่อเซลล์ สารสกัดเมทานอลของกระชาย ความเข้มข้น 20 มคก./มล. เป็นพิษต่อเซลล์ Raji

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดรากกระชายกับน้ำร้อนและน้ำ ขนาด 0.5 ซี.ซี./แผ่น ไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อ B. subtilis ทั้ง 2 สายพันธุ์ H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec-) รวมทั้งเมื่อใช้น้ำคั้นจากรากสด ก็ไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ แต่จะเสริมฤทธิ์ของสาร a-amino-3,8-dimethylimindazo (4,5-f) quinoxaline ในการก่อมะเร็งในตับ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร pinocembrin chalone, pinocembrin, cardamonin และ pinostrobin จากกระชายมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ที่แพ้ขิง ข่า ขมิ้น ไพล ควรหลีกเลี่ยงการใช้ กระชายเพราะเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน ซึ่งอาจมีสารออกฤทธิ์คล้ายกัน
  2. กระชายเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา รสเผ็ดร้อน ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ หรือ ระคายเคืองได้
  3. กระชายที่จะให้สรรพคุณทางยาได้อย่างเต็มที่นั้น ควรเป็นกระชายที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป และควรเป็นกระชายที่เก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง เพราะเหง้าจะสะสมสารออกฤทธิ์ไว้เต็มที่แล้ว

เอกสารอ้างอิง กระชาย
  1. เจริญ อัจฉราฤทธิ์, วรเทพ ปัญญายงค์ และเอกชัย รัชดาโกมุฑ. การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารสกัดจากสมุนไพรไทย. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2526-2527: 13 หน้า.
  2. กระชาย.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ. กระชาย. ชะลอความแก่และบำรุงกำลัง. คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้ นิตยสารหมอชาวบ้าน. เล่มที่ 315. กรกฎาคม. 2548
  4. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คู่มือสมุนไพรประจำตู้ยา. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล, 2531. หน้า 54.
  5. Apisariyakul A, Anantasarn V. A pharmacological study of the Thai medicinal plants used as cathartics and antispasmodics. Abstr 10th Conference of Science and Technology Thailand, Chiang Mai, Thailand, 1984:452-3.
  6. กระชาย. กลุ่มยาแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วง โรคกระเพาะ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs_07_1.htm.
  7. Haginiwa J, Harada M, Morishita I. Properties of essential oil components of aromatics and their pharmacological effect on mouse intestine. Pharmacological studies on crude drugs. VII. Yakugaku Zasshi 1963;83:624.
  8. กระชาย. สมุนไพรที่มีการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. กระชาย. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedeug.com/main.php?
  10. Ross MSF, Brain KR. An introduction to phytopharmacy. London: Pithman Medical Publishing Co. Ltd. 1977. p.158-76.
  11. Apisariyakul A. Investigation of fractions isolated from Thai medicinal plants affecting on isolated rat ileum. Abstr 10th Conference of Science and Technology Thailand, Chiang Mai, Thailand, 1984:450-1.
  12. Apisariyakul A. Investigation of fractions isolated from Thai medicinal plants affecting on isolated rat ileum. 10 th Conference of Science and Technology of Thailand, Oct 25-27, Chiang Mai, Thailand, 1984.
  13. Thamaree S, Pachotikarn C, Tenkeyoon M, Itthipanichpong C. Effects on intestinal motility of thirty herbal medicines used in the treatment of diarrhoea and dysentery. Chula Med J 1985;29(1):39-51.
  14. Nakahara K. Physiologically active flavonoids from Boesenbergia pandurata grown in Thailand. Nogyo Oyabi Engei 2001;76(7):761-8.
  15. Tasneeyakul W. A study on antiinflammatory activity of 5,7-dimethoxyflavone isolated from Boesenbergia pandurata extract in albino rats. MS Thesis, Chiangmai Univ, 1984.
  16. Evans BK, James KC, Luscombe DK. Quantitative structure-activity relationships and carminative activity. J Pharm Sci 1978;67:277.
  17. Lamthammachard S. Study on the effects of some medicinal plants in the family Zingiberaceae on the growth of some bacteria. MS Thesis, Chiang Mai Univ, 1982.
  18. Bharmapravati S, Mahady GB, Pendland SL. In vitro susceptibility of Helicobacter pyroli to extracts of Boesenbergia pandurata and pinostradin. The 3rd World Congress on Medicinal plants and Aromatic plants for Human Welfare, 3-7 Feb, Chiang Mai, Thailand, 2003.
  19. Apisariyakul A, Puddhasukh D, Niyomka P. Pharmacological screening of Thai natural products. The First Princess Chulabhorn Science Congress I, Bangkok, Thailand, 1987.
  20. Tasneeyakul W, Panthong A. Anti-inflammatory activity of 5,7-dimethoxyflavone isolated from Boesenbergia pandurataHollt/Schltr. 6th Congress of  The Pharmacological and Therapeutic Society of Thailand, 1984.
  21. Tiwawech D, Hirose M, Futakuchi M, Lin C, Thamavit W, Ito N, Shirai T. Enhancing effects of Thai edible plants on 2-amino-3, 8-dimethylimidazo (4,5-¦) quinoxaline hepatocarcinogenesis in a rat medium-term bioassay. Cancer Lett 2000;158:195-201.
  22. Ungsurungsie M, Suthienkul D, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Cosmet Toxicol 1982;120:527-30.
  23. Murakami A, Kondo A, Nakamura Y, Ohigashi H, Koshimizu K. Possible anti-tumor promoting properties of edible plants from Thailand, and identification of an active constituents, cardamonin, of Boesenbergia pandurata. Biosci Biotech Biochem 1993;57(11):1971-3.
  24. Mahidol C. Part I: Constituents of Boesenbergia pandurata (yellow rhizome) (Zingiberaceae). Part II. Additions of lithio chloromethyl phenylsulfoxide to aldimines and alpha, beta-unsaturated compounds. Dissertation Ph.D. Mahidol Univ 1985:291 pp.