ทุเรียนเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทุเรียนเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ทุเรียนเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ทุเรียนแขก (ภาคกลาง), มะทุเรียน (ภาคเหนือ), หมากเชียดหลบ, หมากพิลด (ภาคอีสาน), ทุเรียนน้ำ (ภาคใต้), ทุเรียนนก, ทุเรียนเบา, ทุเรียนรอปา, รอปา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona muricata Linn.
ชื่อสามัญ Soursop, Prickly custard apple
วงศ์ ANNONACEAE (วงศ์เดียวกับเสาวรส)

ถิ่นกำเนิดทุเรียนเทศ 

ทุเรียนเทศเป็นไม้ผลเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิด อยู่ในแถบอเมริกากลาง และเป็นพืชพื้นเมืองของแถบนั้น ต่อมาได้เริ่มแพร่กระจายไปสู่พื้นที่เขตร้อนทั่วโลกราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในปัจจุบันสามารถเพาะปลูกได้ในเขตร้อนชื้นทั่วโลก สำหรับในทวีปเอเชียมีการสันนิษฐานว่ามีการนำเข้ามาในประเทศแถบเอเชียครั้งแรกโดยชาวยุโรป และถูกนำเข้ามาแถบประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวสเปน ในทวีปเอเซียพบได้ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยพบทุเรียนเทศ ได้มากทางตอนใต้ของประเทศไทย

ประโยชน์และสรรพคุณทุเรียนเทศ

  1. ทำเป็นชาชงดื่มแก้อาการเครียด
  2. ช่วยลดอาการเจ็บปวด
  3. ช่วยลดลดการเกร็ง
  4. ช่วยทำให้นอนหลับสบาย
  5. ใช้เป็นยาระงับประสาท
  6. ใช้รับประทานเพื่อรักษาโรคบิด
  7. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  8. ช่วยกระตุ้นน้ำนมหลังคลอดบุตร
  9. ช่วยสมานแผล
  10. ช้วยห้ามเลือด
  11. ช่วยบำรุงหัวใจ
  12. ใช้รักษาโรคกระเพาะ
  13. ฆ่าพยาธิ แบคทีเรีย
  14. แก้โรคเบาหวาน 
  15. แก้อาการท้องร่วง
  16. ใบใช้ดื่มเพื่อให้คลอดบุตรง่าย
  17. แก้อาการท้องอืด
  18. แก้ปวดฟัน
  19. รักษาอาการปวดจากการโดนครีบปลาแทง
  20. ช่วยแก้อาการเมา


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ท้องอืดใช้ใบทุเรียนเทศ มาขยี้ผสมกับปูนขาวใช้ทาที่ท้อง แก้ปวดฟันนำใบสดไปต้มกับน้ำเกลือใช้กลั้วปาก รักษาอาการปวดจากการโดนครีบปลาแทง โดยนำรากทุเรียนเทศตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวประคบบริเวณแผล แก้เลือดออกตามไร้ฟันให้รับประทานผลสุก ช่วยแก้อาการเมา ด้วยการใช้ใบขยี้ลงในน้ำกับน้ำมะนาว 2 ลูก แล้วนำมาจิบเล็กน้อย  ในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศทางยุโรปมีผลิตภัณฑ์ใบทุเรียนเทศ หลายรูปแบบ ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคมะเร็ง ได้แก่ รูปแบบชาชง (infusion) โดยรับประทานครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง ส่วนในรูปแบบยาทิงเจอร์ รับประทานครั้งละ 3-4 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง และรูปแบบยาผงบรรจุแคปซูล รับประทานขนาด 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง


ลักษณะทั่วไปของทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับกระดังงา นมแมว น้อยหน่า และการเวก จัดเป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 10 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบเดี่ยวค่อนข้างหนาเรียงสลับกัน รูปไข่กลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ด้านบนของใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า กว้าง 4.3-7 ซม. ยาว 5-15 ซม. เมื่อฉีกใบจะได้กลิ่นเหม็นเขียวฉุดจัด ดอกออกเดี่ยวๆ ขนาดใหญ่น้อยลงที่ซอกใบอยู่รวมกัน 3-4 ดอก จากลำต้นหรือกลางกิ่ง สีเหลืองแกมเขียว กลิ่นหอมแรง กลีบรองดอก 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยมเล็กๆ กลีบดอกอวบหนา มี 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้น กว้าง 2 ซม. ยาว 2-3 ซม. เกสรผู้ และรังไข่มีเป็นจำนวนมาก ผลเป็นผลกลุ่ม มีเนื้อ รูปกลมป้อมแกมรูปไข่ โคนกว้างกว่าส่วนปลาย เปลือกหนาเหนียว มีหนามโค้งสั้นๆ โดยรอบ ผลยาว 12-20 ซม. ยาว 15-30 ซม. หนักประมาณ 0.5-3 กิโลกรัม สีเขียวเข้ม เมื่อสุกสีเหลือง เนื้อมีรสหวานอมเปรี้ยวเมล็ดแก่มีสีน้ำตาลดำ

ทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ

การขยายพันธุ์ทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความชุ่มชื้น และระบายน้ำได้ดี ชอบที่มีแสงแดดถึงรำไรทุเรียนเทศ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดแก่มาแช่น้ำทิ้งไว้ 1-2 วัน จากนั้นนำไปเพาะดินผสมตามปกติ เมล็ดจะงอกขึ้นมาได้ภายใน 7 วัน สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดนี้ต้นกล้าแข็งแรงจึงย้ายลงปลูกในแปลง โดยขุดหลุมให้มีระยะปลูก 4X4 เมตร แต่ต้นกล้าจะโตช้าและออกดอกเมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นไป และจะติดผลในปีที่ 4 ดังนั้นในปัจจุบันจึงนิยมใช้วิธีเสียบตา และทาบกิ่งมากกว่า


องค์ประกอบทางเคมี

สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบทุเรียนเทศ (หรือ รูปแบบยาทิงเจอร์ หรือ ยาดอง) พบว่า สารประกอบทางเคมีส่วนใหญ่ที่พบในสารสกัดแอลกอฮอล์จากใบ คือ สารกลุ่ม annonaceous acetogenins และสารกลุ่ม isoquinoline alkaloids ซึ่งสารกลุ่ม annonaceous acetogenins ที่สกัดได้จากส่วนใบมีมากกว่า 30 ชนิด เช่น annonacin (เป็นสารหลัก พบได้มากกว่า 70%), annonacin-10-one, annonacin A, annomutacin, isoannonacin isoannonain-10-one, annomuricin C, annopentocins A-C, annocatacin A และ B, Bullatacin, goniothalamicin, gigantetrocin A, gigantetronenin, muricoreacin, murihexocin A-C, muricatetrocins A และ B, muricatocins A-C, annohexocin, annomuricins A และ B ส่วนสารกลุ่ม isoquinoline alkaloids ที่พบได้แก่ reticuline, coclaurine, coreximine, atherosperminine, stepharine, anomurine และ anomuricin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของทุเรียนเทศ

                       โครงสร้างทุเรียนเทศ         

 ที่มา : Wikipedia

            นอกจากนี้ทุเรียนเทศ ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ คุณค่าทางโภชนาการของผลทุเรียนเทศดิบ (100 กรัม)

-          พลังงาน                               66         กิโลแคลอรี

-          คาร์โบไฮเดรต                     16.84     กรัม

-          น้ำตาล                                 13.54     กรัม

-          เส้นใย                                  3.3         กรัม

-          ไขมัน                                   0.30       กรัม

-          โปรตีน                                 1.00       กรัม

-          วิตามินบี 1                          0.070     มิลลิกรัม 6%

-          วิตามินบี 2                            0.050     มิลลิกรัม 4%

-          วิตามินบี 3                            0.900     มิลลิกรัม 6%

-          วิตามินบี 6                           0.059     มิลลิกรัม 5%

-          วิตามินบี 9                            14           ไมโครกรัม 4%

-          วิตามินซี                               20.6       มิลลิกรัม 25%

-          ธาตุแคลเซียม                    14          มิลลิกรัม 1%

-          ธาตุเหล็ก                              0.6         มิลลิกรัม 5%

-          ธาตุแมกนีเซียม                     21         มิลลิกรัม 6%                                    

-          ธาตุฟอสฟอรัส                    27         มิลลิกรัม 4%

-          ธาตุโพแทสเซียม                  278       มิลลิกรัม 6%

-          ธาตุสังกะสี                           0.1        มิลลิกรัม 1%

          % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของทุเรียนเทศ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของทุเรียนเทศ โดยเฉพาะการวิจัยในส่วนใบ จะเห็นได้ว่างานวิจัยจากทั่วโลกจนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาระดับการศึกษาในคน (clinical trial) ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยในระดับหลอดทดลอง และสารสกัดส่วนใหญ่ที่วิจัยจะเป็นสารสกัดจากแอลกอฮอล์ มีงานวิจัยที่พบว่าสารสำคัญที่สกัดได้จากใบด้วยตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว (เช่น hexane, chloroform) หรือ มีขั้วน้อยถึงปานกลาง (ethanol, methanol, butanol) มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง ซึ่งสารเหล่านั้น คือ สารกลุ่ม annonaceous acetogenins, alkaloids, styryllactones ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารที่ไม่มีขั้ว หรือ มีขั้วน้อย สารดังกล่าวจะไม่ถูกสกัดออกมาด้วยน้ำ 

           สารสกัดจากใบทุเรียนเทศ ด้วยน้ำ (อุณหภูมิห้อง) ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับชนิด Ehrlich Ascites Carcinoma ในทุกความเข้มข้นขนาด 250, 500, 750, 1000, และ 1250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แต่สารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งได้ โดยมีค่า IC50 = 335.85 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ โดยมีค่า IC50 = 0.9077 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์มีค่า = 2.0456 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งกลุ่มสารที่พบได้ในทั้งสองสารสกัด คือ alkaloids (ถ้าอยู่ในรูปเกลือจะละลายน้ำได้ แต่ถ้าอยู่ในรูปอิสระจะไม่ละลายในน้ำ), flavonoids, terpenoids, coumarins และ lactones, anthraquinones, tannins, Cardiac glycosides, phenols, phytosterols, และ saponins7 เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Arthur และคณะ (2011) ที่พบว่าน้ำต้มประกอบด้วยสารกลุ่ม saponins, condensed tannins, flavonoids และสาร glycosides อื่นๆ แต่จากงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า สารสกัดน้ำจากใบทุเรียนเทศมีผลต่อเซลล์มะเร็งตับ โดยมีผลฆ่าเซลล์มะเร็งตับได้ โดยเฉพาะน้ำต้มจากใบแห้ง ส่วนน้ำคั้นจากใบสดมีผลเช่นเดียวกันแต่มีพิษต่อเซลล์ตับปกติด้วย ถ้าจะวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยนี้ โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น แสดงว่าสารสำคัญในน้ำต้มใบทุเรียนเทศอาจจะเป็นสารกลุ่ม annonaceous acetogenins ที่ละลายออกมาได้บ้างด้วยน้ำร้อน ส่วนในกรณีน้ำคั้นใบทุเรียนเทศ สารออกฤทธิ์อาจจะเป็นสารกลุ่มอื่นที่มีขั้ว เช่น flavonoid glycosides, phenolic compounds, saponins, tannins

           การศึกษาในหลอดทดลอง สารสกัดต่อเนื่องด้วยตัวทำละลาย hexane, ethyl acetate และ methanol จากส่วนใบ พบว่าสารสกัด ethyl acetate มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งปอดชนิด A549 ได้ดีที่สุด โดยมีกลไกหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ (cell cycle arrest) และทำให้เซลล์ตายแบบ apoptosis โดยผ่านกระบวนการ mitochondrial-mediated signaling pathway ซึ่งเกี่ยวข้องกับ NF-kB signalling pathway

           สารกลุ่ม annonaceous acetogenins ได้แก่ annonacin, isoannonacin, isoannonain-10-one, goniothalamicin และ gigantetrocin มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งอวัยวะต่างๆ ของคน (human tumor cell lines) หลายชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด (A549 lung carcinoma), เซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7 breast carcinoma), และเซลล์มะเร็งลำไส้ (HT-29 colon adenocarcinoma) ส่วนสาร muricoreacin และ murihexocin มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งตับอ่อน (PACA-2 pancreatic carcinoma) และ เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก (PC-3 prostate adenocarcinoma cell lines) สาร bullatacin และสาร acetogenins อื่นๆ มีผลยับยั้งการสร้าง adenosine triphosphate (ATP) ซึ่งจะมีผลในการยับยั้งเนื้องอกที่ดื้อยา สาร annohexocin มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด เต้านม ลำไส้ ตับอ่อน ไต โดยเฉพาะต่อมลูกหมาก โดยมีค่า ED50 เท่ากับ 0.0195 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารมาตรฐาน adriamycin มีค่า ED50 เท่ากับ 0.0310 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงว่าสาร annohexocin มีฤทธิ์ดีกว่าสาร adiamycin 

           ในปี ค.ศ. 1976 สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง (ในหลอดทดลอง) ของสารกลุ่ม annonaceous acetogenins ที่สกัดได้จากใบและลำต้น พบว่า สารกลุ่มดังกล่าวมีผลเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งชนิดที่ดื้อต่อยา งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวไต้หวันพบว่า สาร annonacin เป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งผิวหนัง 2 นักวิจัย Fidianingsih และคณะ (2014) พบว่าสารกลุ่ม annonaceous acetogenins มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ และมะเร็งที่ดื้อต่อยา


การศึกษาทางพิษวิทยาของทุเรียนเทศ

การศึกษาความเป็นพิษของน้ำต้มจากใบทุเรียนเทศโดยป้อนให้หนูขาว พบว่า ค่า LD50 มีค่า <5 กรัม/กิโลกรัม ถือได้ว่าน้ำต้มใบทุเรียนเทศมีความปลอดภัย (จากการคำนวณ การดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา จะได้รับสารสกัดน้ำต้ม 211 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) 

           การศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของน้ำต้มใบทุเรียนเทศในหนูขาวทั้งเพศผู้และเพศเมีย เป็นเวลา 14 วัน พบว่า ขนาดความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลลดน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือดได้ โดยเฉพาะ low density lipoprotein (LDL-cholesterol) และเพิ่มระดับของ high density lipoprotein (HDL-cholesterol) โดยไม่เป็นพิษต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย แต่ขนาดความเข้มข้น 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลทำให้น้ำหนักตัวหนูลดลง และทำให้มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และขนาดความเข้มข้น 2,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลเป็นพิษต่อไต ทำให้ระดับเอนไซม์ creatinine สูงขึ้น ผลงานวิจัยนี้แสดงว่าการบริโภคน้ำต้มใบทุเรียนเทศ ในปริมาณน้อยจะเป็นประโยชน์ทั้งเรื่องน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด ส่วนการบริโภคในปริมาณที่มากจะเป็นพิษต่อไตและมดลูก

           การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอล (95%) พบว่าเมื่อป้อนให้หนูถีบจักร มีค่า LD50 เท่ากับ 1.67 กรัม/กิโลกรัม มีงานวิจัยพบว่า การป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบ ขนาด 10, 20, และ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 40 วัน มีผลทำให้ไตวายได้ การป้อนสาร annonacin แก่หนูขาวเป็นเวลานาน จะเกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง และเกิดอาการ atypical parkinsonism โดยมีกลไกทำให้เกิดความผิดปกติที่ substantia nigra และ basal ganglia ซึ่งความเป็นพิษนี้จะมีมากกว่าสาร reticuline ซึ่งเป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ (benzyl-tetrahydroisoquinoline) 1,000 เท่า และมากกว่าสาร 1-methyl-4-phenylpyridinium (MPP+) (สารที่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท) ประมาณ 100 เท่า

ผลทุเรียนเทศ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
  2. ควรระวังในการใช้ ในกรณีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและรับประทานยาลดความดัน จะต้องติดตามตรวจสอบความดันโลหิต เพราะใบทุเรียนเทศมีผลลดความดันโลหิต
  3. ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ควรระวังในการใช้ ทั้งนี้เพราะใบทุเรียนเทศ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
  4. การกินทุเรียนเทศติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) เนื่องจากในผลทุเรียนเทศมีสารที่เรียกว่า “แอนโนนาซิน” (Annonacin) มีคุณสมบัติในกาทำลายเซลล์สมอง และอาจเกิดภาวะไตวายได้
  5. ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องการใช้ทุเรียนเทศ ในการรักษามะเร็งนั้น ควรใช้ควบคู่ร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

 

เอกสารอ้างอิง ทุเรียนเทศ
  1. รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ?).ที่นี่มีคำตอบ.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ:สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  3. อุไร จิรมงคลการ. 2547. ผักพื้นบ้าน 2. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์บ้านและสวน. 224 หน้า
  4. Taylor L. Technical Data Report for GRAVIOLA (Annona muricata). Austin: Sage Press, Inc., 2005
  5. Fidianingsih I, Handayani ES. Annona muricata aqueous extract suppresses T47D breast cancer cell proliferation. Univ Med 2014;33:19-26.
  6. Badrie N, Schauss AG. Soursop (Annona muricata L.): Composition, nutritional value, medicinal uses, and toxicology. In Bioactive Foods in Promoting Health: Fruits and Vegetables. Elsevier Inc., 2010.
  7. Gavamukulya Y, Abou-Elella E, Wamunyokoli F, AEl-Shemy H. Phytochemical screening, anti-oxidant activity and in vitro anticancer potential of ethanolic and water leaves extracts of Annona muricata (Graviola). Asian Pac J Trop Biomed 2014;4(1):930-9.
  8. Sousa OV, Vieira GDV, Pinho JJ, Yamamoto CH, Alves MS. Antinociceptive and anti-inflammatory activities of the ethanol extract of Annona muricata L. leaves in animal models. Int J Mol Sci 2010;11:2067-78.
  9. Solomon-Wisdom GO, Ugoh SC, Mohammed B. Phytochemical screening and antimicrobial activities of Annona muricata (L) leaf extract. Am J Biol Chem Pharm Sci 2014;2(1):1-7.
  10. Champy P, Melot A, Guerineau V, Gleye C, Fall D, Hoglinger GU, et al. Quantification of acetogenins in Annona muricata linked to atypical parkinsonism in Guadeloupe. Movement Disorders 2005;20(12):1628-33.
  11. Arthur FKN, Woode E, Terlabi EO, Larbie C. Evaluation of acute and subchronic toxicity of Annona muricata (Linn.) aqueous extract in animals. Eur J Exp Biol 2011;1(4):115-24.