กระดุมทองเลื้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กระดุมทองเลื้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระดุมทองเลื้อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เบญจมาศเครือ (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Wedelia trilobata (L.) Hitchc.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sphagneticola trilobata (L.) Pruski, Wedelia paludosa DC.
ชื่อสามัญ Creeping daisy, Climbing wedelia, Trailing daisy, Singapore daisy, Rabbits paw
วงศ์ ASTERACEAE


ถิ่นกำเนิดกระดุมทองเลื้อย

กระดุมทองเลื้อย จัดเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกา (เขตร้อน) โดยมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา มักจะพบมากในแถบประเทศอบอุ่น และเขตร้อนชื้นทั่วโลกกระดุมทองเลื้อย เป็นพืชที่เติบโตเร็ว และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามสองข้างถนน ที่รกกร้างว่างเปล่า หรือ ถูกนำมาปลูกตามสวนหย่อม สวนสาธารณต่างๆ ซึ่งกระดุมทองเลื้อยมักจะเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณกระดุมทองเลื้อย

  • ใช้รักษาโรคตับอักเสบ
  • รักษาโรคอาหารไม่ย่อย
  • รักษาโรคติดเชื้อ
  • ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด
  • เป็นยาชาช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือกและฟัน (ดอก)
  • บำรุงร่างกาย (ยอดอ่อนและใบ)
  • รักษาอาการโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  • รักษาการอักเสบอีกด้วย
  • มีฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับ
  • ป้องกันโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
  • ช่วยบำรุงสายตาป้องกันสายตาเสื่อม
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • ช่วยลดอาการภูมิแพ้
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  • ช่วยป้องกันผิวจากรังสีดวงอาทิตย์

           ในปัจจุบันกระดุมทองเลื้อย ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ มีการนำกระดุมทองเลื้อยมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนหย่อม หรือ สวนสาธารณะต่างๆ รวมถึงตามอาคารสถานที่ต่างๆ เนื่องจากดอกมีสีเหลืองสดในตัดกับใบสีเขียวสดมองดูแล้วสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการนำกระดุมทองเลื้อยมาใช้เป็นยาสมุนไพร โดยมีการนำทุกส่วนของกระดุมทองเลื้อยมา ใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ หลายชนิด

กระดุมทองเลื้อย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ลดไข้ ช่วยย่อยอาหาร แก้ตับอักเสบ แก้ติดเชื้อ โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้หวัด โดยนำใบมาตำพอกบริเวณ ศีรษะ และขมับ ใช้แก้พกช้ำ ใช้ห้ามเลือด โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้บำรุงร่างกาย โดยนำยอดอ่อนของกระดุมทองเลื้อย มาต้มน้ำดื่ม หรือ ใช้ตากแห้งชงดื่ม ใช้เป็นยาชาแก้ปวดเหงือก ปวดฟัน โดยนำดอกมาต้มกับน้ำใช้กลั้วปาก รักษาโรคติดเชื้อส่วนใบนำมาใช้เป็นยาพอก ดอกมีสารแคโรทีน (Carotene) และแซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) ช่วยบำรุงสายตาป้องกันสายตาเสื่อม เสริมสร้างภูมิต้านทาน ลดอาการภูมิแพ้ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวจากรังสีดวงอาทิตย์

ลักษณะทั่วไปของกระดุมทองเลื้อย

กระดุมทองเลื้อย จัดเป็นไม้ล้มลุกใบเลี้ยงคู่ ลำต้นแตกแขนงทอดราบไปกับพื้นดิน ลำต้นมีขนแข็งขึ้นประปรายแตก กิ่งที่มีข้อเป็นที่แตกออกของใบ ส่วนยอดจะชูตั้งสูงอยู่ด้านบน หากอยู่ในพื้นที่กว้าง จะแผ่ราบขนานกับพื้น แต่หากอยู่ในพื้นที่แคบ ลำต้นจะยืดตัวสูงขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามบริเวณข้อกิ่ง รูปรี หรือ รูปไข่กลับกว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 3-10.5 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบจักเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวสด มีขนขึ้นปกคลุม และมีจักเป็นรูปสามเหลี่ยมกลางแผ่นใบทั้ง 2 ข้าง มีเส้นแขนงใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบสั้น หรือ อาจไม่มี ดอกออกเป็นช่อกระจุก โดยจะแทงออกบนซอกใบ และจะออกมากบริเวณปลายยอด  ช่อดอกกว้างประมาณ 2 ซม. มีก้านช่อดอกยาว 4-6 ซม. มีสีเหลือง เช่นเดียวกับกลีบดอก ซึ่งจะออกเรียงซ้อนสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4-5 ใบ แต่ละกลีบยาวประมาณ 1 ซม. ปลายกลีบดอกเว้าเป็น 3 แฉก ถัดไปจะเป็นส่วนดอกที่รวมกันเป็นกระจุก ประกอบด้วยดอก 2 ชั้น มีลักษณะเป็นหลอด ชั้นแรก เป็นดอกวงนอกของดอกเพศเมีย มีขนาด 1-1.5 ซม. มีประมาณ 8-10 ดอก ส่วนชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีขนาด 4.5-5.5 มม. และมีจำนวนมาก ผลเป็นผลแห้งที่เกิดจากดอกวงนอก เป็นรูปไข่กลับ ส่วนโคนที่ติดกันกับฐานเรียวแหลมเป็นสามเหลี่ยม ปลายผลมีเยื่อสีขาว รูปถ้วย ยาวประมาณ 5 มม. เมล็ดล่อน มีขนาดเล็กลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม สีดำ ยาวประมาณ 3-4 มม. ผิวมีตุ่ม แพปพัสคล้ายเกล็ด

กระดุมทองเลื้อย

กระดุมทองเลื้อย

การขยายพันธุ์กระดุมทองเลื้อย

กระดุมทองเลื้อย สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำกิ่ง เนื่องจากทำได้ง่าย และรวดเร็ว โดยใช้กิ่งยาวประมาณ 15-20 ซม. ปักเสียบบริเวณที่ต้องการปลูก เพียงไม่กี่วันรากก็จะงอก เติบโตเป็นต้นใหม่ได้ โดยในระยะแรกอาจต้องคอยกำจัดวัชพืช แต่หากปลูกติดแล้วกระดุมทองเลื้อย ก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้กระดุมทองเลื้อย เป็นพืชที่ชอบดินชุ่ม ชอบพื้นที่โล่งที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน แต่ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยของกระดุมทองเลื้อย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดกระดุมทองเลื้อย จากส่วนเหนือดินพบสาร luteolin, apigenin, wedelolactone 5,7,4’-trihydroxyflavone, 3-O-[β-D-glucopyranosyl (1-4)-β-D-glucoronopyranosyl] oleanolic acid 28-O-β-D-glucopyranosyl ester และ (3α)-3-(tiglinoyloxy)-ent-kaur-16-en-19-oic acid ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบและดอกกระดุมทองเลื้อยพบสาร α-pinene, Limonene, phellandrene, ocimene z,1 e, unknwon, epoxycarbophyllene, transcaryophyllene, α caryophyllene, germacrene D, chlorophyll, Lutein, α–humulene, squalene, p–cymene, sitosterol และ kaurenoic acid เป็นต้น

 โครงสร้างกระดุมทองเลื้อย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระดุมทองเลื้อย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากกระดุมทองเลื้อยระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานการศึกษาผลของสารสกัดหยาบจากกระดุมทองเลื้อย ต่อจุลินทรีย์ แบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ ยีสต์ และเชื้อรา พบว่า สารสกัดจากตัวทำลาย n-hexane แสดงผลการต้านทาน แบคทีเรียแกรมบวก Bacillus subtilis, Mycobacterium smegmatis, Staphylococcus aureus และ Staphylococcus epidermidis และ ต้านทานแบคทีเรียแกรมลบ Proteus vulgaris, Pseudomonas aeruginosa, Salmonella group C, Salmonella paratyphi และ Shigella sonnei และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Collectotrichum gloeosporioides Penz ได้ และมีรายงานผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่ากระดุมทองเลื้อยมีรายงานสารออกฤทธิ์ในการต้านการอัเกสบ ได้แก่ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยน้ำมันหอมระเหยกระดุมทองเลื้อย พบว่ามีฤทธิ์ในการเป็นสารฆ่าแมลงได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระดุมทองเลื้อย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดดอกกระดุมทองเลื้อยด้วยเอทานอล 95% ระบุไว้ดังนี้

           มีการศึกษาพิษเฉียบพลัน แบบป้อนสารสกัดดังกล่าวครั้งเดียว และพิษกึ่งเฉียบพลัน แบบป้อนวันเว้นวัน โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว ป้อนสารสกัดดอกกระดุมทองเลื้อยขนาด 1,000 1,500 และ 2,000 mg/kg สำหรับพิษกึ่งเรื้อรัง แบ่งหนูออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว โดยป้อนสารสกัดขนา 250  mg/kg แบบป้อนทุกวันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า สารสกัดดอกระดุมทองเลื้อยไม่ทำให้หนูแสดงอาการความเป็นพิษ และไม่ทำให้หนูทดลองตาย นอกจากนี้สารสกัดยังทำให้หนูทดลองมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ค่าทางโลหิตวิทยา ได้แก่ Haematocrit (Hct), Hemoglobin (Hb), และ Red blood cell (RBC) ค่าเคมีโลหิต ได้แก่ Blood urea nitrogen (BUN), Creatinin, Albumin, Total Protein (TP) และ Triglyceride (TG) และน้ำหนักสัมพันธ์ของตับ ไต หัวใจ และปอดของหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดมีค่าไม่แตกต่างกัน และไม่แตกต่างจากหนูกลุ่มควบคุม แต่ทั้งนี้สารสกัดทำให้ White blood cells (WBC) สูงขึ้น แต่ทำให้ Alanine aminotransferase (ALT) และ Aspartate aminotransferase (AST) ลดลง ผลการศึกษาครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า สารสกัดดอกกระดุมทองเลื้อย ด้วยเอทานอล 95% ไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังในหนูทดลอง โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายไปครึ่งหนึ่ง ( LD50) สูงกว่า 2,000 mg/kg อย่างไรก็ตาม การได้รับสารสกัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบกับการทำงานของตับได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้กระดุมทองเลื้อย มาเป็นยาสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง กระดุมทองเลื้อย
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  2. บุปผา ลาวัลย์ กระดุมทองเลื้อย.วารสารธรรม ชาติและสัตว์เลี้ยง 2534;3:29-30.
  3. วราภรณ์ สุทธิสา และศิริประภา คำจันดี (2562).การคัดแยกแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชจากดินบริเวณรอบรากต้นกระดุมทองเลื้อย (Wedelia trilobata (L.)A.S. Hitchocock).วารสารวิชาการและวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร,13(2),79-92.
  4. ประไพพรรณ นำพรรณธุ์วิวัฒน์.ผลของสารสกัดจากกระดุมทองเลื้อย (Wedelia trilobata(L.)A.S. (Hitchcock) ต่อการเจริญเติบโตของพืช และการยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรคพืช กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:2547.
  5. นิศารัตน์ สังคะรัมย์, บันลือ สังข์ทอง, รุจุลักษขณ์ รัตนารมย์.ฤทธิ์ทางชีวภาพ ปริมาณฟีนอลิกรวม และรอยพิมพ์โครมาโตกราฟีของกระเม็งตัวเมีย กระเม็งตัวผู้ และกระดุมทองเลื้อย.วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารภามปีที่ 40.ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม 2546. หน้า 341-351.
  6. บุญยาพร สะทองรอด. ศักยภาพของน้ำมันหอมระเหยจากใบหูเสือ และใบกระดุมทองเลื้อย ป้องกันกำจัดด้วงถั่วเขียว.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.มีนาคม 2544. 16 หน้า
  7. อัญชัน ไตรธิเลน.พิษเฉียบพลันของสารสกัดจากกระดุมทองเลื้อยในหนูขาว.วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2557
  8. สุรศักดิ์ ณ.อุบล, วิลาวัลย์ พร้อมพรม, ชูศรี ตลับมุข.องค์ประกอบทางเคมีและความเป็นพิษของสารกสัดดอกระดุมทองเลื้อยในหนูขาว.การประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 11. 20 สิงหาคม 2558. หน้า 48-54
  9. กระดุมทองเลื้อย และเบญจมาศเครือ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  10. Thaman RR . Wedelia trilobata: daisy invader of the pacifi c Islands. IAS technical report 1999
  11. Xu, J., Wang, Z., Sun, L., Wang Y., Wang, Yi. and He, X. (2021). (3α)-3-(tiglinoyloxy)-ent-kaur-16-en-19-oic acid, isolated from Wedelia  trilobata L., exerts an anti-inflammatory effect via the modulation of NF-κB, MAPK and mTOR pathway and autophagy in LPS-stimulated macrophages. Toxicology in Vitro, 73. doi: 10.1016/j.tiv.2021.105139
  12. Taddei A. and Rosas-Romero AJ. Antimicrobial Activity of WedeliaTrilobata Crude Extracts”. Phytomed 1999; 6[2]: 133-134.
  13. Khater, K.S. and Samah, N.S.E.l. (2015). Insecticidal Effect of Essential Oils from Two Aromatic Plants Against Tribolium castaneum (Herbst), (Coleoptera: Tenebrionidae). Journal of Biological Pest Control, 25(1), 129-134