ตานหม่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ตานหม่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตานหม่อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตานหม่อน (นครศรีธรรมราช), ตานค้อน (สุราษฏร์ธานี), ช้าหมักหลอด, ข้าหมักหลอด (หนองคาย), ตานขี้นก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tarlmounia elliptica (DC.)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vernonia elliptica DC., Vernonia elaeagnifolia DC., Cacalia elaeagnifolia Kuntze
วงศ์ Asteraceae
ถิ่นกำเนิดตานหม่อน
ตานหม่อนเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียในบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น แล้วจึงได้มีการแพร่กลายพันธุ์ไปยังเขตร้อน บริเวณใกล้เคียงเช่น ภูมิภาคเอเชียใต้ ดังนั้นจึงถือได้ว่า ตานหม่อน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยตานหม่อน สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยตามป่าดงดิบ และป่าผลัดใบทั่วไป รวมถึงอาจพบได้ตามแหล่งรกร้างบางพื้นที่อีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณตานหม่อน
- แก้พิษตานซาง
- ช่วยห้ามเลือด
- รักษาแผลเรื้อรัง
- ช่วยขับพยาธิไส้เดือนในท้อง
- ช่วยบำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื่น
- ช่วยคุมธาตุในร่างกาย
- ช่วยรักษาลำไส้
- ช่วยแก้ตานซางในเด็ก
- ช่วยฆ่าพยาธิ
- ช่วยบรรเทาอาการไอ
- ช่วยขับเสมหะ
- ช่วยคุมธาตุ
- ช่วยทำให้ชุ่มคอ
- ช่วยขับปัสสาวะ
ในบางพื้นที่มีการนำยอดอ่อนและใบอ่อนของตานหม่อน มารับประทานโดยจะนำมา ลวก หรือ นึ่ง สำหรับใช้จิ้มน้ำพริก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้คุมธาตุ ฆ่าพยาธิไส้เดือน แก้พาตานซางในเด็ก บำรุงเนื้อหนัง โดยการนำใบแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้ ราก หรือ เนื้อไม้มาต้มน้ำดื่มแทนก็ได้ ช่วยห้ามเลือดที่เกิดจากบาดแผล หรือ แผลเรื้อรัง โดยนำใบสดมาขยี้หรือตำพอกบริเวณที่เป็นแผล ส่วนการใช้ประสะมะแว้งที่มีใบตานหม่อน เป็นส่วนประกอบ และมีสรรพคุณบรรเทาอาการไอขับเสมหะทำให้ชุ่มคอนั้น
ชนิดผง และชนิดเม็ด (ลูกกลอน) ผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ หรือ อาจจะละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทานก็ได้ เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการ
ลักษณะทั่วไปของตานหม่อน
ตานหม่อน จัดเป็นไม้เถารอเลื้อยพาดไม้ยืนต้นอื่นๆ เถามีเนื้อแข็ง เป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านมาก ลักษณะกิ่งก้านเล็กเรียงเป็นสันยาว มีขนสีเงิน หรือ สีขาวขึ้นปกคลุม และอาจแตกต้นใหม่ได้ตามเถาแก่ที่ทอดไปตามพื้นดิน ใบออกเป็นลักษณะใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปไข่ หรือ รูปไข่กลับ หรือ รูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบสองแคบไปหาก้านใบ แผ่นใบเรียงหนาผิวใบด้านบนเกลี้ยงมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนสีเงินขึ้นปกคลุม ดอกออกเป็นช่อแบบกระจุก ที่ปลายหยด หรือ ตามง่ามใบปลายกิ่ง ส่วนดอกย่อยมีโคนหนีบเชื่อมติดกับกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และมีกลีบดอกเป็นเส้นๆ สีขาวขึ้นเป็นกระจุกจำนวนมาก ผลออกเป็นผลแบบแห้งมีลักษณะเหมือนกระสวย มีสัน 5 สัน มีต่อมรยางค์สีขาว ส่วนเมล็ดเป็นแบบเมล็ดล่อนมีสีดำ
การขยายพันธุ์ตานหม่อน
ตานหม่อน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการปักชำ ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และการปักชำไม้เถาชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้การขยายพันธุ์ตานหม่อน ในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดในส่วนมากจะเป็นการเก็บมาจากป่าเสียมากกว่า
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบเคมีของตานหม่อน ระบุ ส่วนเหนือดิน (ไม่ระบุส่วน) พบสาร lupeol, stigmasterol นอกจากนี้ยังพบสาร กลุ่ม sesquiterpene lactone ได้แก่ glaucolides A และ glaucolidesB และอนุพันธ์ของสารกลุ่ม acetate, sitosterol, taraxasterol
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตานหม่อน
ฤทธิ์ต้านเชื้อรา มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ของสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอล์ ของเนื้อไม้ตานหม่อน ต่อเชื้อรา 3 ชนิด คือ Trichophyton rubrum, Epidermophyton floccosum และ Microsporum gypseum ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์จากเนื้อไม้ตานหม่อน สามารถยับยั้งเชื้อรา M.gypseumได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอล และน้ำ ของลำต้น (เนื้อไม้) ตานหม่อน ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 6 สายพันธุ์ คือ S.aureus, B.subtilis, E.coli, Sh.disenteriae, S.typhi และ C.albicans โดยใช้เทคนิค disk diffusion method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของตานหม่อน สามารถยับยั้งเชื้อ S.aureus, B.subtilisและ C.albicansได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต่อการยับยั้งเชื้อ (diameter of inhibition zone) เท่ากับ 7-12, 7-12 และ >12-19 มิลลิเมตร ตามลำดับ
การศึกษาทางพิษวิทยาของตานหม่อน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ตานหม่อน เป็นสมุนไพรนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป และไม่ควรใช้ในปริมาณมากจนเกินไป โดยควรใช้ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ส่วนเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ตานหม่อน เป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ ในการใช้ยาประสะมะแว้งที่มีใบตานหม่อน เป็นส่วนประกอบนั้นมีข้อควรระวังในการใช้ดังนี้
- ในผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องจำกัดการใช้เกลือ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ไม่ควรใช้น้ำมะนาว แทรกเกลือในการรับประทานยา
- ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน
เอกสารอ้างอิง ตานหม่อน
- “ตานหม่อน ”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 205.
- วันดี อวิรุทธ์นันท์, แม้นสรวง วุธอุดมเลิศ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของพืชสมุนไพร. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2536;10(3):87-89.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ตานหม่อน (Tan Mon)”. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. หน้า 128.
- Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ J Pharm Sci. 1983;10(3):81-86.
- ตานหม่อน. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=168