กลูตาไธโอน

กลูตาไธโอน

ชื่อสามัญ Glutathione

ประเภทและข้อแตกต่างกลูตาไธโอน

กลูตาไธโอน (Glutathione) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่สำคัญ 3 ชนิ ดรวมกัน คือ กลูตาเมท (Glutamate) ซิสเตอิน (Cystein) และไกลซิน (Glycine) โดยจัดเป็นสารประกอบไทออล (thiol) ที่มีพันธะเพปไทด์แกมมาระหว่างหมู่คาร์บอกซิลของหมู่ข้างกลูตาเมต หมู่เอมีนของซิสทีน และพันธะเพปไทด์ธรรมดาระหว่างซีสทีนกับไกลซีน ซึ่งเริ่มจาการสร้าง glutamyl linkage ระหว่าง L-glutamic acid กับ L-cysteine โดยการเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์ g-glutamyl-cysteine synthase ปฏิกิริยานี้เป็น rate-limting step ของการสังเคราะห์ ซึ่งเอนไซม์นี้จะถูกยับยั้งโดยระดับของกลูตาไธโอน และ cysteine ที่เพิ่มขึ้น ปฏิกิริยาถัดมาเป็นการเชื่อม หรือ คอนจูเกดระหว่าง glutamylcysteine กับ glycine โดยการเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์ glutathione synthase ซึ่ง cysteine จะมีหมู่ thiol หรือ α-sulphydryl (-SH) ที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยา กลูตาไธโอนมีน้ำหนักโมเลกุลเพียง 307 จึงจัดเป็น thiol compound ที่มีขนาดเล็ก

            สำหรับประเภทของกลูตาไธโอนนั้นมีเพียงประเภทเดียวแต่สามารถแยกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ กลูตาไธโอน ในธรรมชาติ ซึ่งจะพบในพืช สัตว์ เห็ดรา แบคทีเรีย และอาเดียบางชนิด ซึ่งรวมถึงในพืช และสัตว์ที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ด้วย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ กลูตาไธโอนที่ถูกสกัด และสังเคราะห์ขึ้นโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพบเห็นได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ ที่วางขายตามท้องตลาด

แหล่งที่พบและแหล่งที่มากลูตาไธโอน

ความจริงแล้วกลูตาไธโอน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เซลล์ในร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เอง โดยในเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ซึ่งถูกผลิตมากที่สุดที่ตับ ปอด ไต ม้าม ตับอ่อน และเลนส์แก้วตา แต่ปริมาณการสังเคราะห์กลูตาไธโอนในร่างกายจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ รวมถึง กิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อมีอายุที่มากขึ้น ปริมาณกลูตาไธโอนที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้ก็จะน้อยลง โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าเมื่อย่างเข้าอายุ 20 ปี ปริมาณกลูตาไธโอน ในร่างกายจะลดลงเฉลี่ย 8-12% ต่อ 10 ปี แต่หากร่างกายมีการบริโภคยา หรือ เคมีมากเกินไป ปริมาณการลดลงของกลูตาไธโอนในร่างกายจะลดเร็วขึ้น

            ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับจากแหล่งอาหาร สำหรับแหล่งอาหารในธรรมชาติที่มีกลูตาไธโอนอยู่ เช่น โปรตีน นม ไข่ ถั่วเหลือง หน่อไม้ฝรั่ง ผลอะโวคาโด สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ ผักบร็อคโคลี่ ถั่วลันเตา เห็ด ส้มเกรปฟรุต บีทรูท กระเจี๊ยบเขียว (กระเจี๊ยบมอญ) และผักโขม เป็นตัน

            นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสังเคราะห์ และสกัด กลูตาไธโอนออกมาในรูปแบบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ เพื่อใช้รับประทานเสริมจากแหล่งอาหารในกรณีที่ร่างกายไม่ได้รับ กลูตาไธโอนจากแหล่งอาหารอย่างเพียงพอ

กลูตาไธโอน

ปริมาณที่ควรได้รับกลูตาไธโอน

สำหรับปริมาณของกลูตาไธโอนที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วันนั้น ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่นอนว่าควรได้รับในปริมาณมากเท่าไหร่ เพราะจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของบุคคลว่ามีการใช้กลูตาไธโอนไปเท่าไหร่ เช่น ปัจจุบันด้าน อายุ เพศ สภาพร่างกาย การใช้พลังงานในแต่ละวัน รวมถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และการบริโภค เป็นต้น อีกทั้งปริมาณกลูตาไธโอน ที่มีอยู่ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติก็ไม่สามารถระบุออกมาได้ชัดเจนว่าอาหารชนิดไหนมีปริมาณเท่าใด แต่เชื่อกันว่าหากรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของกลูตาไธโอนในมื้ออาหารก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว แต่ในปัจจุบันมีการสกัด และสังเคราะห์กลูตาไธโอน ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม มาวางขายเพื่อให้รับประทานเสริมจากมื้ออาหารปกติ ซึ่งปริมาณที่ร่างการควรได้รับกลูตาไธโอนในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยอ้างอิงตามตารางแนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องข้อกำหนดการใช้ส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดกรดอะมิโน ลงวันที่ 28 กันยายน 2549 ระบุว่า ปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ตามคำแนะนำให้บริโภค 1 วัน คือ ไม่เกินวันละ 250 มิลลิกรัม

ประโยชน์และโทษกลูตาไธโอน

มีผลการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของกลูตาไธโอนอย่างกว้างขวางทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยสรุปสารสำคัญได้ดังนี้

           ทำหน้าที่กำจัดสารพิษที่ผ่านเข้าในร่างกาย โดยจะจับสารพิษที่ไม่ละลายน้ำให้เปลี่ยนเป็นสารที่ละลายน้ำ และกำจัดออกทางไต หรือ ทางลำไส้ ดังนั้นตับ และไตซึ่งเป็นอวัยวะที่มีของเสีย และสารพิษสะสมมากที่สุด จึงพบ กลูตาไธโอนถูกผลิตออกมามากที่สุด เพื่อทำหน้าที่กำจัดของเสีย ส่วนในปอดก็พบกลูตาไธโอน ในปริมาณสูง เพื่อกำจัดของเสียที่เราหายใจเอาฝุ่นละอองและควันพิษเข้าไปที่ปอด

           สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย โดยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งเซลล์มะเร็ง โดยกลูตาไธโอนจะส่งผลในการเพิ่มความสามารถในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม และเชื้อโรคของเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophils และยังเพิ่มความสามารถในการทำงานของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานของร่างกายด้วย ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น และยังสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดเพื่อให้ร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอม รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส นอกจากนี้กลูตาไธโอนยังช่วยสร้าง และซ่อมแซม DNA สร้างโปรตีน และ prostaglandin ได้อีกด้วย เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งกลูตาไธโอนจะผลิตขึ้นเองโดยธรรมชาติในทุกเซลล์ในร่างกาย มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปกป้องเซลล์ให้แข็งแรง ช่วยการไหลเวียนของระบบเลือด รักษาการทำงานของหัวใจ และปอด ช่วยชะลออายุของเซลล์ทุกเซลล์ และชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกาย และของอวัยะวะทุกส่วน โดยกลูตาไธโอนจะถูกเปลี่ยนเป็นเอนไซม์ glutathione peroxidase ที่มีคุณสมบัติเป็นสาร antioxidant ที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งจะทำงานร่วมกับวิตามินซี และสามารถช่วยความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ส่วนโทษของกลูตาไธโอนนั้นมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าหากรับประทานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ปวดหัว  มึนงง ตาพล่ามัว อาจมีสารตกค้าง ทำให้เป็นนิ่วที่ไต และกระเพาะปัสสาวะ

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกลูตาไธโอน

มีผลการศึกษาวิจัยรายการดูดซึมกลูตาไธโอนของร่างกายระบุว่า กลูตาไธโอนสามารถถูกดูดซึมสู่ร่างกายได้จากทางเดินอาหาร โดยเฉพาะลำไส้เล็กบริเวญส่วนต้นของ jejunum  โดยไม่ถูกทำลายเป็นกรดอะมิโน หรือ กลไกการดูดซึม กรดอะมิโนโดยเอนซ์ gamma-glutamyl transpeptidase (GGT) โดยขึ้นกับความเข้มข้นของกรดอะมิโนในทางเดินอาหาร ถ้าความเข้มข้นต่ำ จะเกิดการดูดซึมผ่าน glutathione pathway ซึ่งมีการใช้กลูตาไธโอนเป็น co-substrate แต่ถ้ามีความเข้มข้นสูง กรดอะมิโนก็สามารถเกิดกระบวนการซึมผ่านได้ (diffusion pathway) โดยมีการศึกษาหลายการศึกษาที่ยืนยันว่าการรับประทานกลูตาไธโอน สามารถถูกดูดซึมได้ในมนุษย์  Richie และคณะในปี 2015 โดยพยว่า ปริมาณของกลูตาไธโอน และระยะเวลาของการับประทานที่ยาวนานขึ้น สัมพันธ์กับระดับของกลูตาไธโอนในเลือดที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และการศึกษานี้มีระยะเวลาติดตามนานถึง 6 เดือน ยังพบว่า สารกลูตาไธโอนมีผลข้างเคียงน้อยและไม่รุนแรง

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยด้านต่างๆ อีกหลายฉบับ เช่น มีรายงานว่ากลูตาไธโอนช่วยปกป้องเซลล์ตับจากการได้รับสารบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ สารพิษจากสูบบุหรี่ และพาราเซตามอล (paracetamol) เกินขนาด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดอนุมูลอิสะของวิตามินซี วิตามินอี เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และกำจัดสารพิษโดยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย และไวรัส โดยเฉพาะไวรัสเอดส์ ช่วยควบคุมการสร้าง prostaglandins จึงลดอาการอักเสบได้ และช่วยรักษาสมดุลของเซลล์ (cellular homeostasis) การสังเคราะห์และการทำลายกลูตาไธโอนจะเกิดขึ้นใน Ƴ-glutamyi cycle ซึ่งจะพบความผิดปกติของวัฏจักรนี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบประสาทส่วนกลาง กลูตาไธโอนไม่เพียงปกป้องเยื้อหุ้มเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ sulphydryl group ของโปรตีนหลายชนิดคงตัวอยู่ในรูปที่ถูกรีดิวซ์เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นปกติอีกด้วย

            และยังมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกว่ากลูตาไธโอน สามารถป้องกันการเกิดพิษต่อไต (nephrotoxicity) ของยาเคมีบำบัด cisplatin ซึ่งจัดเป็นยาที่มีพิษต่อเซลล์ (cytotoxic drug) ได้ นอกจากนี้กลูตาไธโอนยังไม่มีผลกระทบต่อฤทธิ์ต้านเนื้องอก (antitumor activity) ของ cisplatin อีกด้วย อีกทั้งกลูตาไธโอนช่วยลดความเป็นพิษต่อหู (ototoxicity) ของยาปฏิชีวนะ gentamicin โดยพบว่าหลังจากการฉีด gentamicin เข้าใต้ผิวหนัง (10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) ของหนูทดลองที่ได้รับโปรตีน หรือ กรดอะมิโนที่มีซัลเฟอร์ไม่สามารถช่วยป้องกันความเป็นพิษต่อหูที่เกิดจาก gentamicin เมื่อได้รับ glutathione monoethyl ester (1.2 กรัม/กิโลกรัม/วัน) ร่วมกับวิตามินซี (100) มิลลกิรัม/กิโลกรัม/วัน)

โครงสร้างกลูตาไธโอน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

  1. เนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าการใช้กลูตาไธโอน ในขนาดที่สูงเกินไปมีผลทำให้เกิดอาการช้างเคียงได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้โดยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง
  2. ขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นพิษของกลูตาไธโอนจึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
  3. ยาบางชนิดอาจทำให้ระดับของกลูตาไธโอนในร่างกายลดลง เช่น ยารักษาโรคจิตเภท (haloperidol) ทำให้กลูตาไธโอนในสมอง และตับลดลง ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ (cerebrolysin) และยาแก้ปวด (morphine) ทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และมีระดับกลูตาไธโอนในสมองลดลง  

เอกสารอ้างอิง กลูตาไธโอน
  1. วารสาร สารตำรายา ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2555.
  2. นพ.ปรวิตร พิศาลบุตร.กลูตาไธโอน...สวยต้องเสี่ยง และสวยเพียงพอ เตือนวัยรุ่นคลั่งขาวระวังอันตราย. คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369. มกราคม 2553
  3. รศ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล. กลูตาไธโอน ตอนที่ 1: ต้านโรค ชะลอวัย. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. อริน วิกุล.กลูตาไธโอน.วารสารเพื่อการวิจัย และพัฒนาองค์กร องค์กรเภสัชกรรมปีที่ 22. ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2558. หน้า 23-26
  5. ภญ.รศ.ดร.ชุติมา ลิ้มมัทวาภิริติ์,ภญ.รศ.ดร.สนทยา ลิ้มมัทวาภิรัติ์.ประโยชน์ทางการแพทย์ของกลูตาไธโอน และสารที่กระตุ้นการสร้างกลูตาไธโอน.บทความฟื้นฟูวิชาการ.วารสารไทยไภษชัยนิพนธ์ปีที่ 6 .มกราคม-ธันวาคม 2554. หน้า 1-14
  6. รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล. กลูตาไธโอน ตอนที่ 2 : ยาฉีดและยาทา. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55
  8. Malin Hultberg, Björn Hultberg, The effect of different antioxidants on glutathione turnover in human cell lines and their interaction with hydrogen peroxide. ChemicoBiological Interactions 2006; 163(3): 192-198.
  9. Richie Jr., J. P., Nichenametla, S., Neidig, W., Calcagnotto, A., Haley, J. S., Schell, T. D. & Muscat, J. E. (2015). Randomized controlled trial of oral glutathione supplementation on body stores of glutathione. Eur J Nutr, 54(2), 251-63.
  10. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55.
  11. Mariapia Vairetti, Fausto Feletti, Angelo Battaglia, et al. Haloperidol-induced changes in glutathione and energy metabolism: effect of nicergoline. European Journal of Pharmacology 1999; 367(1): 67-72.
  12. Hagen, T. M., Wierzbicka, G. T., Bowman, B.  B., Aw,  T.Y.  &  Jones,  D.  P. (1990). Fate of dietary glutathione: disposition in the gastrointestinal tract. Am J Physiol, 259, 530-5.
  13. Lomaestro B, Malone M. Glutathione in health and disease. Pharmacotherapeutic Issues. Ann Pharmacother 29: 1263-73, 1995.
  14. Helmut Sies, Glutathione and its role in cellular functions. Free Radical Biology and Medicine 1999; 27(9-10): 916-921.
  15. Kern, J. K., Geier, D. A., Adams, J.B., Garver, C.R., Audhya, T. & Geier, M.R. (2011). A clinical trial of glutathione supplementation in autism spectrum disorders. Med Sci Monit, 17(12), 677-682.
  16. Jürgen Lautermann, John McLaren, Jochen Schacht, Glutathione protection against gentamicin ototoxicity depends on nutritional status. Hearing Research 1995; 86(1-2): 15-24
  17. Anna Pastore, Giorgio Federici, Enrico Bertini, Fiorella Piemonte, Analysis of glutathione: implication in redox and detoxification. Clinica Chimica Acta 2003; 333(1): 19-39.
  18. Godson, O. (1979). The kinetics of the y-Glutamyl cycle-mediated uptake of aminoacid. North-Holland Biomedical Press, 110, 192-4.
  19. David Calderón Guzmán, Norma Osnaya Brizuela, Raquel García Álvarez, et al. Cerebrolysin and morphine decrease glutathione and 5-hydroxyindole acetic acid levels in fasted rat brain. Biomedicine & Pharmacotherapy 2009; 63(7): 517-521.
  20. Franco Zunino, Graziella Pratesi, Antonella Micheloni, et al. Protective effect of reduced glutathione against cisplatin-induced renal and systemic toxicity and its influence on the therapeutic activity of the antitumor drug. Chemico-Biological Interaction 1989; 70(1-2): 89-101.