ชิงช้าชาลี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ชิงช้าชาลี งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ชิงช้าชาลี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จุ้มจะลิงตัวแม่ (ภาคเหนือ), บอระเพ็ดตัวผู้, บรเพ็ชร์ (ภาคกลาง), ตะซิคึ, ตะคึ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tinospora baenzigeri Forman
ชื่อสามัญ Heart - leaved moonseed, Gulancha tinospora
วงศ์ MENISPERMACEAE
ถิ่นกำเนิดชิงช้าชาลี
ชิงช้าชาลี จัดเป็นพืชในวงศ์บอระเพ็ด (MENIXPERMACEAE) ชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียโดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ปากีสถาน และบังคลาเทศ เป็นต้นต่อมา จึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในแอฟริกา อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยพบชิงช้าชาลี ได้มากในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณที่รกร้างว่างเปล่า หรือ ตามป่าทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณชิงช้าชาลี
- ใช้บำรุงกำลัง
- ใช้บำรุงธาตุ
- แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ธาตุพิการ
- แก้อ่อนเพลีย
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้มะเร็ง
- แก้เบาหวาน
- แก้ไข้
- แก้ไข้กาฬ
- แก้ไข้เหนือ
- แก้ไข้มาลาเรีย
- ใช้เป็นยาแก้ไข้พิษร้อน
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้โลหิตเป็นพิษ
- แก้โรคทางเดินปัสสาวะ
- แก้อาการเกร็ง
- แก้พิษฝีดาษ ฝีกาฬ
- ใช้ขับลม
- แก้ท้องเฟ้อ
- ใช้ฆ่าพยาธิในท้อง
- แก้ปวดฟัน
- ใช้แก้รำมะนาด
- ทำให้อาเจียนอย่างแรง
- แก้ปวดเมื่อย
- ใช้เป็นยาบำรุงน้ำดี
- แก้ดีพิการ
- ใช้เป็นยาถอนพิษ ดับพิษทั้งปวง
- ใช้ทารักษาแผล
- แก้ไฟลามทุ่ง
- ใช้ฆ่าพยาธิผิวหนัง
- รักษาฝีทำให้เย็น
- แก้อาการปวดแผล
ในอดีตตามชนบทมีการนำใบสดของชิงช้าชาลี มาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำชิงช้าชาลีมาปลูก ปล่อยให้เลื้อย เป็นซุ้มประตู ตามวัดวาอารามต่างๆ ให้ดูสวยงาม แต่ประโยชน์หลักๆ ของชิงช้า ก็คือ ในด้านการใช้เป็นยาสมุนไพร
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้มะเร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้เบาหวาน แก้ไข้ ไข้กาฬ ไข้เหนือ แก้ไข้มาลาเรีย แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โลหิตเป็นพิษ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการเกร็ง แก้พิษฝี ฝีดาษ ฝีกาฬ โดยนำเถาชิงช้าชาลี มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ฆ่าพยาธิในท้อง โดยนำดอกมาตากแห้งงน้ำร้อนดื่ม
- ใช้บำรุงน้ำดี แก้ดีพิการ ใช้ถอนพิษทั้งปวง โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้อาการปวดแผล โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็นใช้
- ขับลม บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ลดเบาหวาน แก้ไข้ต่างๆ ขับพิษ แก้อาการเกร็ง แก้ปวดเมื่อย แก้โรคทางเดินปัสสาวะ โดยน้ำคั้น ใบ เถา รวมกัน 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 10-15 นาที แล้วนำมาดื่มเช้าและเย็น หรือ อาจจะใช้รากชิงช้าชาลี 90-120 กรัม นำมาทุบใหแหลก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเช้า และเย็นก็ได้
ลักษณะทั่วไปของชิงช้าชาลี
ชิงช้าชาลี จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถามีลักษณะกลม และเหนียว มีรูอากาศสีขาว และมีปุ่มปมเล็กน้อย เถาอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล และจะมีรสขม โดยเฉพาะเถาแก่
ใบชิงช้าชาลี เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ บนเถามีขนาดกว้างและยาว 6-10 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบมนเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบบางมีสีเขียวหลังใบ และท้องใบเรียบ ด้านหลังใบมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจนบริเวณใกล้กับโคนใบมีปุ่มเล็กๆ 2 ปุ่ม อยู่บนเส้นใบและมีก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร
ดอกชิงช้าชาลี ออกเป็นช่อ โดยจะออกตามเถาและซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ซึ่งดอกตัวผู้เป็นช่อสีเหลือง ส่วนดอกตัวเมีย เป็นดอกเดี่ยวสีเหลือง และมีเกสรเพศผู้
ผลชิงช้าชาลี เป็นผลสดลักษณะรูปทรงกลมมีขนาด 1-1.5 เซนติเมตร ผิวผลเป็นสีเขียว เรียบเป็นมัน เมื่อลุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อผลฉ่ำน้ำสีขาวใส ด้านในของผลมีเมล็ดผิวขรุขระ 1 เมล็ด เป็นสีดำ หรือ สีเทาค่อนข้างดำ
การขยายพันธุ์ชิงช้าชาลี
ชิงช้าชาลี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในการนำมาขยายพันธุ์ เนื่องจากมีการนำมาใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย และส่วนมากจะนิยมใช้บอระเพ็ดมากกว่าชิงช้าชาลี สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำและการปลูกชิงช้าชาลีนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้เถาอื่นๆ เช่น “บอระเพ็ด” ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเถา และสารสกัดจากส่วนเถาของชิงช้าชาลี ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากส่วนเถาพบสาร berberine, choline, jatrorrhizine, tinosporan, columbin, tinoluberide, N-cis-feruloyl tyramine และในส่วนของเถายังพบสาร giloin glucosides, palmarin, columbin chasmanthin, tinosporan, tinosporic acid และ tinosporol เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของชิงช้าชาลี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดชิงช้าชาลี จากส่วนต่างๆ ของชิงช้าชาลี ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดยให้สารสกัดด้วยน้ำจากรากชิงช้าชาลี แก่หนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan ในขนาด 2.5 และ 5 กรัม ต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยให้กินติดต่อกันนาน 42 วัน แล้วเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ได้รับสารสกัดพบว่า สารสกัดรากชิงช้าชาลีมีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด และในปัสสาวะของหนูทดลอง อีกทั้งยังสามารถลดระดับโคเลสเตอรอล กรดไขมันอิสระ ฟอสโฟไลปิดในสมอง และยังเพิ่มระดับฮีโมโกลบิน เพิ่มน้ำหนักตัว เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ hexokinase ลดการทำงานของเอนไซม์ glucose-6-phosphatase, acid phosphatase, alkali phosphatase และ lactate dehydrogenase นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดยังสามารถให้ผลดีกว่ายา glibenclamide แต่ในสารสกัดในขนาด 7.5 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ไม่แสดงผลดังกล่าวข้างต้น แต่อย่างใด และยังมีการศึกษาวิจัยในอินเดีย โดยมีการศึกษาสมุนไพรพื้นบ้านของประเทศอินเดียชนิดต่างๆ 30 ชนิด ที่มีการใช้เพื่อลดน้ำตาลในเลือด โดยได้ใช้สารสกัดเอทานอล 95% จากพืชทั้ง 30 ชนิด แล้วนำมาทำให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคเบาหวานด้วย alloxan เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้สารสกัดขนาด 250 มก./กก. 1 ครั้ง, 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งต่อวัน จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนถึงระดับปกติเมื่อสัตว์ทดลองอดอาหาร พบว่าสมุนไพร 24 ชนิด ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยชิงช้าชาลี สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดมากเป็นลำดับที่ 8 จาก 30 ชนิด นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าสารสกัดจากเถาของชิงช้าชาลียังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แก้ปวด ต้านไวรัส ลดอาการอักเสบ ขับปัสสาวะ และต้านมาลาเรีย ได้อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของชิงช้าชาลี
มีรายานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของชิงช้าชาลี ระบุว่า มีรายงานการทดสอบความเป็นพิษโดยการฉีดสารสกัดเอทานอลกัน้ำ จากส่วนเหนือดิน ของชิงช้าชาลี ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้ คือ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เนื่องจากชิงช้าชาลี เป็นพืชตระกูลเดียวกับบอระเพ็ด และบอระเพ็ด ก็มีรายงานการศึกษาด้านความปลอดภัยในมนุษย์พบว่า ในการรับประทานบอระเพ็ดขนาด 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 8 สัปดาห์ มีผลทำให้ค่าเอนไซม์ในตับ (ALT และ AST) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้ชิงช้าชาลี ที่เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับบอระเพ็ดเป็นระยะเวลานาน และไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคตับอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง ชิงช้าชาลี
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชิงช้าชาลี”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 269-270.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “ชิงช้าชาลี”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 110
- สุภาวรรณ. วงค์คำจันทร์. ความหลากหลายทางชีวภาพ วรอุทยานถ้ำเพชรถ้ำทอง. นครสวรรค์. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. 2556 หน้า 38
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ชิงช้าชาลี (Chingcha Chali)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 106.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชิงช้าชาลี Heart-leaved Moonseed”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 203.
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ชิงช้าชาลี ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 81-82.
- ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของชิงช้าชาลี. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- เปรียบเทียบสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจาก alloxan. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.