หนุมานประสานกาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
หนุมานประสานกาย งานวิจัยและสรรพคุณ 18ข้อ
ชื่อสมุนไพร หนุมานประสานกาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อ้อยช้าง(เลย),ชิดฮะลั้ง(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Schefflera leucantha R.Viguier.
ชื่อสามัญ Umbrella tree , Edible-stemed Vine
วงศ์ ARALIACEAE
ถิ่นกำเนิดหนุมานประสานกาย
หนุมานประสานกายมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนในแถบจีนตอนใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเวียดนามตอนเหนือ แล้วจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ลงมาเรื่องๆ สู่ประเทศลาว , พม่า , ไทย และกัมพูชา เป็นต้น ในประเทศไทยสามารถพบได้มากในทุกภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยถูกจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักพบขึ้นตามป่าหรือที่รกร้างที่มีความสูง 1200-1700 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณหนุมานประสานกาย
- นำยาทากันยุง กันยุงได้ถึง 7 ชั่วโมง
- ช่วยทำให้เลือดลมเดินสะดวก
- แก้อัมพฤกษ์
- แก้ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้
- ยาแก้ไอ
- ช่วยบรรเทาหวัด
- แก้ร้อนใน
- แก้เจ็บคอและคออักเสบ
- ใช้แก้เส้นเลือดฝอยในสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต
- ช่วยกระจายเลือดลมที่จับกันเป็นก้อนหรือคั่งภายใน
- ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด
- แก้หืด
- แก้ภูมิแพ้
- แก้ช้ำใน
- ใช้สมานแผลห้ามเลือด
- ใช้ยางใส่แผลสด ทำให้แผลแห้งเร็ว
- ช่วยแก้อาการอักเสบบวม
หนุมานประสานกายเป็นไม้พุ่มที่มีทรงพุ่มกว้างเหมาะแก่การใช้แต่งสวน จึงมีการปลูกเป็นไม้ประดับ ตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ
ลักษณะทั่วไปหนุมานประสานกาย
หนุมานประสานกายจัดเป็นพรรณไม้พุ่ม มีลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร มีการแตกกิ่งก้านในระดับต่ำใกล้พื้นดิน ผิวของลำต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปยาวรี หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมีหูใบซึ่งจะติดอยู่กับก้านใบพอดี ส่วนริบขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร พื้นผิวใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบหนา ส่วนก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 8-25 มิลลิเมตร ออกดอกเป็นช่อ ตรงปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 3-5 นิ้ว ลักษณะของดอกย่อยเป็นดอกสีเหลืองแกมเขียวหรือสีขาวนวลและมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ อวบน้ำ ขนาดของผลเท่าเม็ดพริกไทย โดยมีความกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด หนุมานประสานกายสามารถปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วมที่มีอินทรียวัตถุมากๆ และเป็นพรรณไม้ที่ต้องการความชื้นปานกลาง ส่วนการขยายพันธุ์สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่เพราะในถุงพลาสติกแล้วจึงนำกล้าที่ได้ไปปลูก และการกิ่งปักชำ โดยใช้กิ่งพันธุ์ ขนาด 6-8 นิ้ว มีตา 3 ตา มีใบหรือปลายยอด 1/3 ของกิ่ง หนุมานประสานกายเป็นพืชที่โตเร็ว และแตกกิ่งก้านได้เร็ว มีทรงพุ่มค่อนข้างกว้าง การปลูกจึงใช้ระยะเวลาการปลูก 4 เดือน ขึ้นไป สำหรับการเก็บเกี่ยวจะตัวทั้งกิ่งแล้วริดใบออก เลือกเฉพาะใบที่ไม่อ่อนเกินไป นำไปล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งหมาดๆ แล้วนำไปตากแดดจนแห้งสนิท หรือนำไปอบควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 65°ซ ซึ่งใบหนุมานประสานกายสด 10 กก. จะตากแห้งได้ประมาณ 1 กก.
องค์ประกอบทางเคมีหนุมานประสานกาย
สารเคมีที่พบ ในส่วนต่างๆของหนุมานประสานกาย เช่น oleanolic acid,Oleic acid , betulinic acid, Scheffler leucantha triterpenoid saponin, D - glucose, D - Xylose, L – rhamnose และจากการสกัดใบของหนุมานประสานกายพบว่ามีสารbetulinic acid , lup-20-en-28-oic acid,3-0-[œ-L-rhamnopyranosyl (1-2) β-D-glucopyranosyl (1-2)-β-D-glucuaronpy-ranosyl], lup-20-cn-28oic acid,3-0-[œ-L-glucopyranosyl (1-2)-β-D-xylopy-ranosyl (1-2)-β-D-glucopyranosyl, oleanolic acid , olean- 12-en-28-oic acid,3-O-[œ-L-amnopyranosy (1-2) –β-D-glucuaronpy-ranosyl], Schefflera leucantha trierpenoid saponin
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหนุมานประสานกาย
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
รักษาโรคหืด แพ้อากาศ ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ ใช้ใบสดเล็กๆ 9 ใบ ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น หรือใช้ใบแห้งชงกับน้ำเดือดดื่มแทนชา หรือใช้ใบแห้ง บดเป็นผงผสมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก็ได้ ยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้ใบสด 12-15 ใบย่อย ตำคั้นน้ำ 2 ถ้วยตะไล รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ติดต่อกัน 5-7 วัน หรือจะใช้ใบสด ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ช้ำใน แก้ปวด กระจายเลือดที่คั่งในสมอง แก้อาเจียนเป็นเลือด ใบตำพอกแผลสดเพื่อห้ามเลือดก็ได้ อีกตำราหนึ่งระบุว่า ใบสด 1 กำมือล้างน้ำให้สะอาด ต้มกับน้ำ 5 ถ้วยแกง เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วย ดื่มขณะยังอุ่น 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งถ้วย เช้า เย็น ก่อนหรือหลังอาหารต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน ช่วยแก้โรคหอบหืดได้ รักษาแผลในปากที่เกิดจากร้อนใน ด้วยการรับประทานใบสด 1-2 ใบ แล้วนำมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลืนเช้าเย็น ใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำหรือนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับเหล้ากิน ใช้แก่อาการหอบ ใช้ใบหนุมานประสานกาย 7 ใบ ชงน้ำรับประทานทุกวัน จนมีอาการดีขึ้น และรับประทานอาทิตย์ละครั้งต่อไป ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอากากมาทาหรือพอกเป็นยาสมานแผล และช่วยห้ามเลือด แก้ปวดบวมอักเสบ ช่วยแก้ช้ำใน ด้วยการใช้ใบหนุมานประสานกายประมาณ 1-3 ช่อ นำมาตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำครึ่งแก้ว แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง กินทุกเช้าและเย็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเอทิลอัลกอฮอล์จากใบ ขนาด 10 มก./แผ่น ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ในจานเลี้ยงเชื้อ โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยของบริเวณที่เชื้อไม่เจริญเท่ากับ 13.6 มม. และสารในขนาดเดียวกันไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย b-Streptococcus group A, Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa สารสกัดจากใบหนุมานประสานกายมีสารซาโปนินซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลมแต่ไปกดหัวใจ โดยสารในกลุ่มซาโปนิน (Saponins)สามารถขยายหลอดลม ซึ่งจะลดการหลั่งของสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ คือ ฮีสตามีน (Histamine) และสารเมซโคลิน (Methcholine)ได้ และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบหนุมานประสานกาย มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวให้เร็วขึ้น และเพิ่มการหดตัวของบาดแผลได้
ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของหนุมานประสานกายยังพบว่าสามารถ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา ขยายหลอดลม ไล่แมลง ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นพิษต่อเซลล์ เพิ่มแรงบีบของหัวใจ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ มีการศึกษาผลของหนุมานประสานกายที่มีต่อหัวใจ พบว่าเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจและเป็นพิษต่อหัวใจ ในขนาดสูงและอาจทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ห้ามใช้สมุนไพรหนุมานประสานกายกับคนที่เป็นโรคหัวใจ คนที่มีไข้สูง และหญิงตั้งครรภ์
- ในการใช้สมุนไพรหนุมานประสานกายอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้เกิดอาการแพ้หรือใช้เกินขนาด โดยจะมีอาการ ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น
- ห้ามใช้ยานี้ในขณะที่กำลังเหนื่อยหรือในขณะที่หัวใจเต้นเร็ว เช่น หลังการออกกำลังกาย เพราะจะยิ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น
- ไม่ควรใช้หนุมานประสานกายติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และใช้เกินขนาดเพราะอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ และระดับน้ำตาลในเลือดได้
เอกสารอ้างอิง
- วราภรณ์ คีรีพัฒน์.สมุนไพรไทย.เพื่อความเป็นไทย.คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัดและสมุนไพร.วารสารรูสมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.ปีที่29.ฉบับที่3.กันยายน-ธันวาคม2551 หน้า 80-85
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนุมานประสานกาย”. หน้า 185.
- ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
- อารีรัตน์ ลออปักษา สุรัตนา อำนวยผล วิเชียร จงบุญประเสริฐ. การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1). ไทยเภสัชสาร 1988;13(1):23-36.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนุมานประสานกาย”. หน้า 818-819.
- สอบถามเรื่องการใช้หนุมานประสานกาย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://ww.madplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6158
- หนุมานประสานกาย.กลุ่มยาขับเสมหะ แก้ไอ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์).เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_08_12.htm.
- ต้นหนุมานประสานกาย.กระดาน ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5238
- Satayavivad J, Bunyapraphatsara N, Thiantanawat A, Kositchaiwat U. Hypoglycemic activity of the aqueous extract of Schefflera venosa Viguier in rats. Thai J Phytopharmacy 1996;3(1):1-5.
- Satayavivad J, Bunyapraphatsara N, Saivises R, Sanvarindy Y. Pharmacological and toxicological studies of the constituents of Schefflera venulosa. The 4th Asian Symposium on Medicinal Plants and Spices, Bangkok, Thailand 1980:47.