ชิงชี่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ชิงชี่ งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชิงชี่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระโรกใหญ่, แสมชง, พญาจอมปลวก, ค้อนฆ้อง, กระดาษขาว (ภาคกลาง), แส้ม้าทลาย (เชียงราย), หนวดแมวแดง (เชียงใหม่), คายชู (อุบลราชธานี), หมากหมก  (ชัยภูมิ), ค้อนกลอง (เพชรบูรณ์), ชิชง (ปราจีนบุรี), กระดาษป่า (ชลบุรี), ราม (สงขลา), เม็งซอ (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis micracantha DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Capparis boriensis Pierre ex Gagnep, Capparis. donnariensis Pierre ex Gagnep, Capparis. roydsiaefolia Kurz
วงศ์ CAPPARIDACEAE

ถิ่นกำเนิดชิงชี่

ชิงชี่ จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยมีข้อมูลระบุว่ามีถิ่นกำเนิดทางจีนตอนใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ในศรีลังกา อินเดีย พม่า และไทย เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถ พบได้ตามเขาหินปูนที่มีความแห้งแล้ง หรือ ภูเขาหินปูนที่ใกล้กับทะเล และยังพบได้ในทุ่งหญ้า ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง รวมถึงป่าโปร่งทั่วไป ทั่วทุกภาคในประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณชิงชี่

  • แก้ไข้เพื่อดี และโลหิต
  • ใช้แก้ไข้ร้อนภายในทุกชนิด
  • แก้ไข้กาฬ
  • แก้ไข้พิษ
  • ช่วยกระทุ้งพิษไข้
  • แก้หัด
  • แก้เหือด
  • แก้สุกใส
  • ใช้แก้โรคที่เกิดในท้อง
  • ช่วยขับลมให้ซ่านออกมา
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • แก้ไอ
  • ช่วยรักษาโรคกระเพาะ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้โรคตา
  • ใช้เป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอดบุตร
  • ช่วยให้มดลูกเข้าอู่
  • ช่วยถอนพิษต่างๆ
  • ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  • แก้หืด
  • แก้โรคผิวหนัง(ตำพอก)
  • แก้อาการเจ็บในอก
  • แก้ฟกช้ำบวม
  • แก้ประดงสันนิบาต
  • แก้เหน็บชา
  • แก้มะเร็ง
  • แก้โรคในลำคอ คออักเสบ จีบคอ

           นอกจากนี้ ผลสุกของชิงชี่ มีรสหวานใช้รับประทานได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการนำต้นชิงชี่มาเป็นไม้พุ่มเล็กที่ใช้พื้นที่ปลูกไม่กว้างและสามารถ ตัดแต่งได้ง่าย ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกดก และดูแปลกตาอีกด้วย 

ชิงชี่

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ชิงชี่

ใช้แก้ไข้ร้อนภายใน ใช้กระทุ้งพิษไข้ ใช้แก้โรคลมในท้อง แก้ไอ รักษาโรคกระเพาะ ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงหลังคลอด แก้หืด โดยใช้รากแห้งของชิงชี่มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับน้ำเหลือง แก้เจ็บในอก โดยใช้เนื้อไม้ชิงชี่มาตากแห้ง แล้วต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคประดง โรคผิวหนัง โดยใช้ใบชิงชี่มาต้มกับน้ำอาบ แก้หลอดลมอักเสบโดยใช้ใบชิงชี่มาเผาสูดดมเอาควัน ส่วนขนาดการใช้ยาเบญจโลกวิเชียร (ยาแก้วห้าดวง หรือ ยา 5 ราก) ที่มีรากชิงชี่ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบนั้น ในสูตรตำรับ ผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพ รากชิงชี่ รากไม้ เท้ายายม่อม หนักสิ่งละ 20 กรัม จะใช้บรราเทาอาการไข้ มีขนาด และวิธีใช้ดังนี้ ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.5 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อน อาหาร เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม-1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ ส่วนชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1-1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม -1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือ เมื่อมีอาการ ใช่แก้ไข้ต่างๆ กระทุ้งพิษ หรือ ถอนพิษต่างๆ รสขื่นปร่า แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย หืด ตำพอก แก้โรคผิวหนัง แก้อาการ เจ็บในอก แก้ฟกบวม ใบ รสเฝื่อนเมา แก้ไข้แก้ไข้พิษฝีกาฬ แก้ประดงสันนิบาต แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคผิวหนัง ใช้ภายนอกตำพอกแก้ฟกช้ำบวม แก้เหน็บชา ดอก รสขื่นเมา แก้มะเร็ง ผลดิบ รสขื่นปร่า แก้โรคในลำคอ คออักเสบ จีบคอ นอกจากนี้ ผลสุกของชิงชี่ มีรสหวานใช้รับประทานได้

ลักษณะทั่วไปของชิงชี่

ชิงชี่ (Chingchi) จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก หรือ ไม้พุ่มกึ่งเลื้อยสูง 2-6 เมตร ลำต้นสีเทาแตกระแหง กิ่งก้านอ่อนมีสีเขียว ผิวเรียบเกลี้ยง กิ่งคดไปมา มีหนามตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว 2-4 มิลลิเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือ รูปไข่ กว้าง 4-15 เซนติเมตร ยาว 8-24 เซนติเมตร ปลายใบมน หรือ แหลม หรือ เว้าเล็กน้อยแล้วเป็นติ่ง โคนใบสอบมนโค้งกว้างหรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มัน เกลี้ยง หลังใบเรียบมีเส้นกลางใบชัดเจน เป็นมันท้องใบเรีบ ก้านใบยาว 0.7-1 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ บริเวณปลายกิ่ง โดยจะออกเรียงเป็นแถว และอาจออกได้พร้อมกันถึง คราวละ 6 ดอก มีก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยง รูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน กว้าง 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาว 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบกลีบเลี้ยงมักมีขน ส่วนกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปใบหอก กว้าง 3-7 มิลลิเมตร ยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีสีขาว และหลุดร่วงง่าย มี 2 กลีบด้านนอก สีขาวแต้มเหลือง และจะเปลี่ยนเป็น แต้มสีม่วงปนน้ำตาล มีต่อมน้ำหวานที่โคนก้านดอก สำหรับเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอยๆ สีขาว เหมือนหนวดแมวยื่น โดยจะมีจำนวน 20-35 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1-1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ผล เป็นผลสดรูปรี รูปกลม หรือ รูปทรงกระบอก กว้าง 1.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-7 เซนติเมตร มี 4 ร่องตามยาว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแกจะเป็นสีเหลืองแดง หรือ ดำ ผนังผลแข็ง เมื่อแห้งจะเหนียวคล้ายแผ่นหนัง มีก้านผลยาว 3.5-4 เซนติเมตร หนา 3-6 มิลลิเมตร เมล็ดรูปไต สีแดง หรือ ดำ เป็นมัน กว้างประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร อัดกันแน่นเป็นจำนวนมาก

ชิงชี่

ชิงชี่

ผลชิงชี่

การขยายพันธุ์ชิงชี่

ชิงชี่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการ คือ นำผลชิงชี่ที่สุกมีขนาด 4-5 เซนติเมตร มีสีเหลืองอมแดง หรือ มีสีดำ เมื่อได้ผลสดมาแล้วนำมาแกะเมล็ดออกแล้วล้างน้ำในสะอาด นำไปเพาะในกระบะเพาะชำ เมื่อผ่านไปประมาณ 30-45 วัน ชิงชี่จะเริ่มงอก ขนาด 10-15 เซนติเมตร จากนั้นแยกลงถุงเพาะชำเก็บไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ส่วนวิธีปลูกชิงชี่นั้นเหมือนกับการปลูกไม้ป่าทั่วไป โดยจะนิยมปลูกฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม โดยการชุดหลุม กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักรองก้นหลุม แล้วนำกล้าชิงชี่ที่เพาะอยู่ในถุงเพาะชำประมาณ 10-12 เดือน ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้กลบดินให้แน่น แล้วปักไม่พยุงลำต้น ผูกเชือกให้เรียบร้อย รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอด สำหรับการให้น้ำนั้นเนื่องจาก ชิงชี่ เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี ดังนั้นควรให้น้ำในการปลูกระยะแรกเท่านั้น แต่ปลูกปลายฤดูฝนก็สามารถปล่อยตามธรรมชาติได้

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของชิงชี่ พบว่า ในส่วนใบของชิงชี่ พบสารกลุ่มกลูโคชิโนเลท ชื่อ methyl glucosinolate และสารกลุ่มซัลคาลอยด์ ชื่อ stachydrine และสารสกัดเอทานอล และน้ำจากรากชิงชี่ พบสารกลุ่มอัลคาลอยด์ ชื่อ capparine B และ สารกลุ่มเทอร์พีนอลส์ ชื่อ capparisditerpenol ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนใบและเปลือกรากของชิงชี่มีสารแอลคาลอยด์ ชื่อ stachydrine และยังพบสาร rutin อีกด้วย

โครงสร้างชิงชี่

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของชิงชี่

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนรากของชิงชี่ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้
          ฤทธิ์ต้านเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากรากชิงชี่ด้วยเอทานอล โดยนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ด้วยวิธี disc diffusion method โดยใช้สารสกัดขนาด 10 mg/disc พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อ β-streptococcus group A และ Pseudomonas aeruginosa ได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณที่เชื้อไม่เจริญ เท่ากับ 18.2 และ 13.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ ซึ่งเชื้อ β-streptococcus group A ทำให้เกิดการเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้รูมาติก ช่องหูอักเสบ ไตอักเสบเฉียบพลันตามมาหลังการติดเชื้อ เป็นต้น  ส่วนเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ทำให้ปอดอักเสบ ปอดบวม ช่องหูอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ส่วนรากของชิงชี่ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของชิงชี่

มีรายงานวิจัยการศึกษาความเป็นพิษของชิงชี่ในสัตว์ทดลอง พบว่าเมื่อให้สารสกัดจากรากและลำต้นของชิงชี่ โดยการกรอกทางปากหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 ก./กก. ไม่ทำให้เกิดเป็นพิษต่อหนูถีบจักร ส่วนในคน ยังไม่พบรายงานการเกิดพิษ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ชิงชี่ในลักษณะรับประทานเป็นยาเดี่ยวเพราะยังไม่มีรายงานการศึกษาด้านความเป็นพิษรวมถึง ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ ในการใช้ชิงชี่เป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณในตำรายาต่างๆ นั้น ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ชิงชี่ สำหรับบำบัดรักษาโรคนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง ชิงชี่

⦁ ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ชิงชี่ (Chingchi)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 107.
⦁ นิจศิริ เรืองรังษี และธวัชชัย มังคละคุปต์. สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ฐานการพิมพ์ จำกัด. 2547
⦁ วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพรไทย รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2540
⦁ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชิงชี่”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 270-271.
⦁ ไซมอน การ์ดเนอร์, พินดา สิทธิสุนทรและ วิไลวรรณ อนุสารสุนทร. ต้นไม้เมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2543.
⦁ พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “ชิงชี่”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 94.
⦁ นิจศิริ เรืองรังสี,ชัยศักดิ์ จันศรีนิยม, นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน.รายงานฉบับสมบูรณ์.การศึกษาวิจัยสมุนไพรชิงชี่ เพื่อประเมินคุณค่า และความสำคัญประกอบการพิจารณาในการประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุมตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. 25 หน้า
⦁ อารีย์รัตน์ ลออปักษา, สุรัตนา อำนวยผล และวิเชียร จงบุญประเสริฐ. การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1). ไทยเภสัชสาร. 2531;13(1):23-36.
⦁ ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 คัดจากราชกิจจา นุเบกษา เล่มที่ 129 ตอนพิเศษ 85 .วันที่ 25 พฤษภาคม 2555.
⦁ พรทิพย์ เต็มวิเศษ, นงนภัส เลาหวิจิตร, มณฑิรา เกษมสุข.ชิงชี่.คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในเภสัชกรรมไทยเล่ม 1.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารษสุข.กันยายน 2558.หน้า 107-108
ชิงชี่.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage⦁ &⦁ pid=189
⦁ แส้ม้าลายหรือต้นชิงชี่.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.adp?id=6512
⦁ ชิงชี่.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage⦁ &⦁ pid=222
⦁ Singharachai C, Palanuvej C, Kiyohara H, Yamada H, Ruangrungsi N. Pharmacognostic Specification of Five Root Species in Thai Traditional Medicine Remedy: Ben-Cha-Lo-KaWi-Chian. Pharmacognosy Journal. 2011;3(21):1–11.
⦁ Mithen R, Bennett R, Marquez J. Glucosinolate biochemical diversity and innovation in the Brassicales. Phytochemistry. 2010;71(17–18):2074–86.