ว่านพระฉิม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ว่านพระฉิม งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ว่านพระฉิม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หำเบ้า, มะมู, บันชีไม้ (ภาคเหนือ), มันทะกาด (ภาคอีสาน), มันขมิ้น, สามพันตึง (ภาคกลาง), มันเสิน, มันตกเลือด, มันหลวง (ภาคใต้), มันอีลุ้ม, อีรุมปุมเป้า (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea bulbofera Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dioscorea anthropophagorum A.Chev., D. crispata Roxb., D. sativa f. domestica Makino, D. heterophylla Roxb., D. hoffa Cordem., D. hofika Jum. & H.Perrier, D. korrorensis R.Knuth, D. tenuiflora Schltdl ,D. latifolia Benth., D. perrieri R.Knuth, D. pulchella Roxb., D. rogersii Prain & Burkill, D. sativa var. elongata F.M.Bailey, D. longipetiolata Baudon ,D. sativa var. rotunda F.M.Bailey, D. sylvestris De Wild., D. tamifolia Salisb.,., Helmia bulbifera (L.) Kunth, Polynome bulbifera.
ชื่อสามัญ Potato yam, Aerial yam, Bulbilbearing yam, Air potato
วงศ์ DIOSCOREACEAE

ถิ่นกำเนิดว่านพระฉิม

ว่านพระฉิม เป็นพืชเถาล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนโดยมีการสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียจนถึงแอฟริกาเขตร้อน ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ ชายป่าทั่วไป หรือ ที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1000-2000 เมตร โดยมักจะพบพาดพันอยู่กับต้นไม้ใหญ่ๆ


ประโยชน์และสรรพคุณว่านพระฉิม

  • ใช้บำรุงธาตุ
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • เป็นยาขับปัสสาวะ
  • แก้บิด
  • แก้โรคกระเพาะ
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ท้องย้อย
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ช่วยขับน้ำนมในสตรี
  • ใช้ปิดแผล
  • แก้อักเสบ
  • แก้สิว
  • แก้ฝ้า
  • แก้ขจัดไฝ
  • แก้ไอเป็นเลือด
  • แก้คอพอก
  • รักษาหลอดลมอักเสบ
  • รักษาติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมะเร็ง
  • รักษาโรคมะเร็ง

           มีการนำส่วนต่างๆ ของว่านพระฉิมมา ใช้ประโยชน์หลักๆดังนี้ ในชนบทสมัยก่อนมีการนำใบอ่อน และยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสด หรือ ผักลวกกับน้ำพริก ส่วนหัวใต้ดินนำมาขูดเป็นเส้น แล้วนำมานึ่งรับประทานแทนข้าว และหัวย่อยนำมาเผาไฟ หรือ นึ่งกิน

ว่านพระฉิม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะลำไส้อักเสบ แก้บิด แก้น้ำเหลืองเสีย ขับพยาธิ ขับน้ำนมในสตรี แก้ปวดท้อง ท้องย่อย โดยนำหัวว่านพระฉิม ใต้ดินมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดน้ำตาลในเลือด โดยใช้หัวใต้ดินมาตากให้แห้ง แล้วใช้ในขนาด 10-20 กรัม มาบดให้ละเอียดชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น ใช้รักษาโรคกระเพาะโดยนำหัวใต้ดินมาฝานตากให้แห้ง ใช้ปรุงอาหาร ใช้รักษาสิว ฝ้า และกำจัดไฝ โดยนำรากมาตำแล้วนำมาพอก

ลักษณะทั่วไปของว่านพระฉิม

ว่านพระฉิม จัดเป็นไม้เถาล้มลุก เลื้อยพาดพันบนต้นไม้อื่น มีขนาดยาวได้ถึง 5 เมตร โดยมักจะพบเถาเลื้อยแบบหมุนเวียนซ้ายลำต้นกลมเกลี้ยง มีหัวอยู่ใต้ดินขนาดใหญ่ มีลักษณะรูปทรงกลม มีปุ่มปมที่ผิว ขนาด 0.5-13 เซนติเมตร ผิวนอกสีน้ำตาลปนเทาซีดเมื่อผ่านออกเนื้อภายในมีสีเหลืองส้ม และจะเกิดหัวขนาดเล็กที่ bulbil ที่ซอกใบ

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ มีขนาดกว้าง 5-20 เซนติเมตร และยาว 7-25 เซนติเมตร โคนใบเว้ามนลึกปลายใบเรียวแหลมเป็นจะงอย ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบบาง หลังใบสีเขียวเป็นมัน แต่หยิกย่นระหว่างเส้นใบ ท้องใบเป็นสีอ่อนกว่ามองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นใบหลักออกมาจากฐานใบทั้งหมดและจะมีเส้นใบข้างละ 5-8 คู่ และมีก้านใบยาว 2.5-12 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อบริเวณซอกใบเป็นแบบแยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้จะเป็นช่อเชิงห้อยลง ยาว 5-13 เซนติเมตร หรือ บางครั้งอาจพบเป็นช่อแยกแขนง มีดอกย่อยขนาดเล็ก มีเกสรเพศผู้ 6 อัน เป็นหมันทั้งหมด หรือ อาจเป็นครึ่งหนึ่ง กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็นชั้น 2 ชั้น มีกลิ่นหอมเป็นสีขาวออกสีเขียวอ่อน ส่วนดอกเพศเมีย จะออกดอกเป็นช่อเชิงลด ยาว 10-20 เซนติเมตร ลักษณะของดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ดอกเพศเมียจะมีดอกย่อยน้อยกว่าและเมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างจะดอกเพศผู้

           ผล เป็นผลแห้งแบบแคปซูล ออกเป็นพวงลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร ส่วนด้านในมีเมล็ดซึ่งมีปีกที่ฐาน

ว่านพระฉิม

ว่านพระฉิม

การขยายพันธุ์ว่านพระฉิม

ว่านพระฉิมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้หัวใต้ดินหรือหัวทางอากาศ (bulbil) ซึ่งการขยายพันธุ์ของว่านพระฉิมส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์ทางธรรมชาติ โดยอาศัยหัวทางอากาศร่วงหล่นแล้วงอกเป็นต้นใหม่ หรือ หัวใต้ดินแตกลำต้นใหม่เรื่อยๆ ในปัจจุบันยังไม่มีความนิยมนำว่านพระฉิม มาปลูกตามบ้านรือน หรือ ตามหัวไร่ปลายนาแต่อย่างใด สำหรับการขยายพันธุ์ว่านพระฉิมนั้นหากต้องการนำมาปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการปลูกพืชหัวอื่นๆ เช่น บุก หรือ กวาวเครือขาว มาปลูกซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของว่านพระฉิม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนหัว หรือ เหง้าพบสาร Batatasin, diosgenin, diosbulbin, diosbulbinoside D, acetophenone, dioscorine, phenanthrene, trillin,sorbitol. ส่วนสารสกัดจากใบและเหง้าพบสาร Daucosterol, Dioscin, Quercetin, Stigmasterol, Diosgenin, Myricetin, Protocatechuic acid, Bafoudiosbulbin A, Kaempferol, β-sitosterol, Isorhamnetin, Pennogenin

โครงสร้างว่านพระฉิม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของว่านพระฉิม

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดว่านพระฉิม จากส่วนหัวใต้ดิน หรือ ลำต้นใต้ดินระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           มีรายงานการแยกสารสกัดลำต้นใต้ดินว่านพระฉิม ระบุว่าได้สาร diterpene ชนิดใหม่ คือ ent-12-hydroxy-12 [R]-abieta-8(14), 13(15)-dien-16, 12-olide ร่วมกับสารที่เคยพบแล้ว 3 กลุ่มคือ ent-abietadienosides, cycloartane triterpene และ ellagic acid-Beta-D-glucopyranoside เมื่อทำการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพพบว่าสาร ent-11Alpha-hydroxyabieta-8(14),13(15)-dien-16, 12Alpha-olide แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus, Bacillus subtilis, Micrococcus flavas, Maraxella catarrhalis, Neisseria sicca และ Candida albicans ที่ความเข้มข้น 12.5 microgram/ml และสาร Jolkinolide A มีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งเชื้อ M. catarrhalis ที่ความเข้มข้น 50 microgram/ml และยังมีรายงานการใช้สารสกัดจากเหง้าของว่านพระฉิม ในหนูทดลอง ที่ประเทศจีนโดยผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

           นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่าว่านพระฉิมยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย E. coli, Mycobacterium tuberculosis และ M. smegmatis รวมทั้งสามารถยับยั้งแบคทีเรียดื้อยา ได้แก่ Enterobacteraerogenes, Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa ได้อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของว่านพระฉิม

มีรายงานการศึกษาระบุว่าสาร Disobulbil D ที่พบในเหง้าของว่านพระฉิม แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ตับ และทำให้ค่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น และทำให้ระดับ LDH ในเซลล์เพิ่มขึ้น


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการนำหัวใต้ดินและหัวอากาศของว่านพระฉิม มาใช้รับประทานหรือนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้นต้องนำมาทำให้สุก หรือ ผ่านกระบวนการกำจัดพิษเสียก่อน เพราะในส่วนดังกล่าวจะมีสารพิษกลุ่มแอลคาลอยด์ และกลุ่มสเตียรอยด์อยู่ อีกทั้งหัวใต้ดินจะมีความแข็งแรงมากก่อนจะทำให้สุกควรต้องแช่น้ำเพื่อให่อ่อนตัวลงก่อนด้วย

เอกสารอ้างอิง ว่านพระฉิม
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. ว่านพระฉิม. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 140.
  2. ดลฤดี สงวนเสริมศรี และคณะ. ฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคที่ผิวหนัง และความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดจากมะเร็ง และว่านพระฉิม และการตรวจวิเคราะห์สารโดยใช้เทคนิค Liquid chromatography tonderm-mass spectomethy (LC-MS/MS). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีงบประมาณ 2562. 40 หน้า.
  3. ส่วนประกอบ และฤทธิ์สารสกัดลำต้นใต้ดินของว่านพระฉิม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ว่านพระฉิม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลับอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=280
  5. Guo JJ, Dai BL, Chen NP, Jin LX, Jiang FS, Ding ZS, Qian CD. 2016. The antysyaphyloccoccus aureus activity of the phrnanthrene flaction from fibrous roots of Bletilla striata. BMC complementary and alternative Medicine. 16:491. Dol 10.1186/s12906-016-1488-z.
  6. Editorial Board of Chinese Materia Medica 1999 Editorial Board of Chinese Materia Medica Huangyaozi. Zhong Hua Ben Cao (Chinese Materia Medica) Shanghai Science and Technology Press, Shanghai (1999), pp. 7278-7280 vol 8.
  7. Ghosh S, Derle A, Ahire M, More P,Jagtap S, Phadatare SD, Patil AB, Jabgunde AM, Sharma GK, Shine VS, Pardesi K, Dhavale DD, Chopade BA 2013. Phytochemical analysis and free radical scavenging activity of medicinal plants Gniddia glauca and Dioscorea bulbifera. PLOS One 8(12):e82529.
  8. M. Ma, Z.Z. Jiang, J.L. Ruan, L.Y. Zhang Toxicity of a diterpene lactone isolated from Dioscorea bulbifera on hepatocytes Chinese Journal of Natural Medicines, 9 (2011), pp. 280-285.
  9. Kuete V, Teponno RB, Mbaveng AT, Tapondjiou, Meyer JJIM, Barboni L, Lall N. 2012.Antibacterial activities of the extracts, fractions and compounds from Dioscorea bulbifera. BMC Complementary and Alternative Medicine 12: 228. Doi: 10.1186/1472-6882-12-228.
  10. T. Tanaka, T. Tanaka, M. Tanaka Potential cancer chemopreventive activity of protocatechuic acid Journal of Experimental and Clinical Medicine, 3 (2011), pp. 27-33.
  11. Ghosh S, Parihar VS, More P, Dhavale DD, Chopade BA. 2015. Phytochemistry and therapeutic of medicinal plant: Dioscorea bulbifera. Medicinal Chemistry. 5:4. Doi:10.4172-2161-04444.1000259.