มะค่าโมง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะค่าโมง งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ


ชื่อสมุนไพร มะค่าโมง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะค่าใหญ่, ฟันฤาษี (ภาคกลาง), มะค่าหัวดำ, มะค่าหลวง (ภาคเหนือ), ปิ้น, เบง, เขง (ภาคอีสาน), บิง (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Afzelia cochinchinensis (Pierre) Leonard, A. siamica Craib, Pahudia cochinchinensis Pierre, P. xylocarpa
ชื่อสามัญ Makha tree
วงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIACEAE

ถิ่นกำเนิดของมะค่าโมง

มะค่าโมง จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยมีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา พม่า บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล และศรีลังกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้เกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยจะพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป้าเต็งรัง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 150-650 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณมะค่าโมง

  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • ทำหัวริดสีดวงทวารให้แห้ง
  • ใช้แก้ท้องเสีย
  • แก้บิด
  • เป็นยาประคบ
  • แก้ฟกช้ำ
  • แก้ปวดบวม
  • เป็นยาสมานแผล
  • ใช้ฟอกหนัง
  • ช่วยบรรเทาการอาเจียน
  • ช่วยถ่ายพยาธิ
  • รักษาโรคริดสีดวงทวาร

           มะค่าโมงจัดเป็นไม้มีค่า เนื่องจากเนื้อไม้เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ประโยชน์และมีราคาแพง ไม่แพ้ไม้สักเนื่องจาก ลักษณะเนื้อไม้ มีแก่นสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนถึงเหลืองแก่สวยงาม เสี้ยนค่อนข้างสน เนื้อหยาบมีริ้วแทรก แข็ง เหนียว แข็งแรง และทนทาน ถ้าแห้งแล้วตบแต่งง่าย ขัดและชักเงาได้ดี นิยมนำเนื้อไม้ มาใช้ทำเสา หรือ ใช้ในการก่อสร้างต่างๆ เช่น ทำเป็นพื้น รอด ตงไม้บุผนังและทำไม้บุผนังที่สวยงาม เนื่องจากมีความทนทานและแข็งแรงดี หรือ นำมาใช้ทำเครื่องเรือน ทำเรือใบ เพื่อเดินทะเลและไม้พื้นเรือ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น ทำไถ คราด ครก สาก กระเดื่อง ลูกหีบและส่วนประกอบต่างๆ ของเกวียน รวมถึงใช้สำหรับกลึง แกะสลัก ทำพานท้ายและรางปืน กลอง โทน รำมะนา เครื่องเรือนและเครื่องใช้ชั้นสูงและใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น 

           นอกจากนี้เปลือกมะค่าโมง ยังมีน้ำฝาดที่นิยมใช้สำหรับฟอกหนัง และยังมีการนำเนื้อเมล็ดในฝักอ่อนมาต้มรับประทาน ทั้งรับประทานเป็นของคบเคี้ยว และรับประทานคู่กับอาหารอื่นๆ ส่วนเมล็ดแก่นำมาเผาไฟ หรือ คั่วรับประมาณ เนื้อเมล็ดให้รสมัน

มะค่าโมง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด โดยนำเปลือกต้นมะค่าโมง มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ถ่ายพยาธิ รักษาริดสีดวงทวาร โดยนำเปลือกฝัก หรือ เมล็ดที่ทุบให้แตกมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคผิวหนัง และถ่ายพยาธิ โดยนำปุ่มที่บริเวณลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาต้มเอาไอ รมหัวริดสีดวงทวารจะทำให้แห้งเร็ว ใช้เป็นยาประคบ แก้ฟกช้ำ ปวดบวมโดยนำเปลือกต้นผสมกับเปลือกต้นมะค่าแต้อย่างละครึ่งกำมือ ใช้ทำเป็นลูกประคบ รักษาบริเวณที่เป็น หรือ ใช้ผสมกับรากเจตพังดีอย่างละครึ่งกำมือ เพื่อใช้พอกสมานแผลก็ได้ ใช้รักษาโรคผิวหนัง โดยนำราก และเปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ ใช้รักษาแผลโดยนำเปลือกลำต้นและเนื้อไม้มาฝนทาบริเวณแผล

ลักษณะทั่วไปของมะค่าโมง

มะค่าโมง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่ระดับต่ำเรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน หรือ สีชมพูอมน้ำตาล ผิวต้นขรุขระ เป็นปุ่มปมมีรูระบายอากาศ กิ่งอ่อนมีขนประปราย ส่วนเนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลือง มีลวดลายสวยงาม ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเป็นช่อเรียงสลับกันตามกิ่งแขนง โดยช่อใบยาว 18-30 เซนติเมตร ก้านช่อใบ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แกนช่อใบมีใบย่อยขึ้น ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ 3-5 คู่ ใบย่อย มีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 4-9 เซนติเมตร โคนใบมน หรือ หยักเว้าเข้าเล็กน้อย ปลายใบมน มักจะเว้าตื้นๆ ตรงกลางและมีติ่งสั้นๆ ใบคู่ล่างจะมีขนาดเล็กกว่าคู่ที่ถัดขึ้นไป และมีก้านใบย่อยยาว 3-5 มิลลิเมตร ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง หรือ ตามซอกใบ ช่อดอกยาว 5-15 เซนติเมตร มีขนสั้นๆ สีเทา คลุมบางๆ ดอกย่อยมีใบประดับเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 6-9 มิลลิเมตร มีขนปกคลุมประปราย มีกลีบรองดอก 4 กลีบ เป็นรูปขอบขนาน เรียงซ้อนทันกัน ยาวประมาณ 10 -12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกย่อยมีกลีบเดียว เป็นรูปทรงกลมสีแดงเรื่อๆ ยาว 5-12 มิลลิเมตร ด้านในมีเกสรตัวผุ้ 11 อัน 8 อัน เป็นเกสรสมบูรณ์ และ 3 อัน เป็นมันตรงกรงเป็นเกสรตัวเมีย โดยก้านเกสรแยกออกจากกัน ด้านล่างเป็นรังไข่ มีก้านดอกยาว 7-10 มิลลิเมตร ผลออกเป็นฝักแบบรูปไม้บรรทัดสั้น หรือ รูปของขนาด มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ผิวเปลือกเรียบปลายเป็นจงอยสั้นๆ กว้าง 7-10 มิลลิเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร และหนาประมาณ 5-7 มิลลิเมตร มีเปลือกหุ้มแข็งมาก เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ด้านในฝักมีเมล็ดแก่สีดำ 2-4 เมล็ด รูปรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยเมล็ดจะมีเยื่อหนาสีเหลืองสดรูปถ้วย ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ห่อหุ้มส่วนฐานของเมล็ด

 

การขยายพันธุ์มะค่าโมง

มะค่าโมงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดยมีวิธีการ คือ

           นำฝักแก่ของมะค่าโมง มาแกะเมล็ดออกแล้วตัดส่วนเยื่อยที่หุ้มบริเวณฐานเมล็ดออก ให้เห็นเนื้อเมล็ดด้านในเล็กน้อย แช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นนำมาเพาะในถุงเพาะชำ โดยวัสดุเพาะชำแนะนำให้ใช้ดินผสมกับปุ๋ยคอก และทรายเล็กน้อย อัตราส่วนดิน:ทราย:ปุ๋ยคอกที่ 1:2:1 รดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งต้นกล้าจะงอกหลังการเพาะ 10-20 วัน ระหว่างนั้นดูแลจนต้นกล้าแข็งแรง จนต้นกล้ามีอายุประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะสามารถนำลงปลูกได้

           สำหรับการปลูกมะค่าโมง ควรปลูกในต้นฤดูฝนเพื่อให้ต้นสามารถเติบโต และตั้งตัวได้ โดยควรกำหนดระยะปลูกประมาณ 6-8 x 6-8 เมตร และหากเข้าหน้าแล้งควรให้น้ำเป็นระยะ และให้หาฟางข้าวหรือเศษใบไม้มาคลุมไว้รอบโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเนื้อไม้ กิ่ง และใบ ของมะค่าโมง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น friedelin, β-sitostevol, kacmpferol-7-0-β-D-glucaside, oroxylinA-7-O-E-D-glucuronide, epifriedelanol, stigmasterol, 2,4,6-trimethoxy-1-O-E-D-glycoside และ palmitic acid เป็นต้น ส่วนเปลือกต้นพบสาร pyrogallol และ catechol อีกด้วย

โครงสร้างมะค่าโมง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะค่าโมง

จาการค้นคว้าพบว่ามีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาชองมะค่าโมง น้อยมาก โดยพบเพียงรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา ในต่างประเทศที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะค่าโมง จากใบเนื้อไม้และกิ่ง โดยระบุว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระลดน้ำตาลในเลือกต้านเชื้อจุลชีพและต้านการอักเสบ เท่านั้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะค่าโมง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้มะค่าโมง เป็นสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง มะค่าโมง
  1. เมธินี ตาฬุมาคสวัสดิ์.2549. พรรณไม้ห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี. สำนักหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช.
  2. มะค่าโมง . ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pharden.com/mair.php?action=viepage&pid=260
  3. มะค่าโมง สรรพคุณ และวิธีปลูกมะค่าโมง, พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  4. P. A. Akah, O. Okpi, and C. O. Okoli, Niger. J. Nat. Prod. Med., 11, 48 (2007).
  5. Delectis Florae Reipublicae Popularis Sinicae Agendae, Academiae Sinicae Edita, Flora Republicae Popularis Sinicae,Science Press, 39, 209 (1988).
  6. D. A. Akinpelu, O. A. Aiyegoro, and A. I. Okoh,  J. Med. Plants. Res., 4, 202 (2010).
  7. R. Utami, N. Khalid, M. A. Sukari, M. Rahmani1, A. B. Abdul, and Dachriyanus, Pak. J. Pharm. Sci., 26, 245 (2013)
  8. S. O. Oyedemi, E. A. Adewusi, O. A. Aiyegoro, and D. A. Akinpelu, Asian Pac. J. Trop. Med., 353 (2011)