อินทนิลน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

อินทนิลน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร อินทนิลน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะแบกดำ, ตะแบกอินเดีย, อินทนิล (ทั่วไป), บางอบะซา (นราธิวาส, ยะลา), บาเย, บาเอ (ปัตตานี, มาเลเซีย) ฉ่วงมู, ฉ่องพนา (กะเหรี่ยง)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ L.flos-reginae Retz, Munc hausia specciosa L.Lagerstroemia speciosa (L.) Pers. 
ชื่อสามัญ Queen’s Flower, Queen’s crape myrtle, crape myrtle, Pride of India, Jarul 
วงศ์ LYTHRACEAE

ถิ่นกำเนิดอินทนิลน้ำ

อินทนิลน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิด ในประเทศไทยและมีการแพร่กระจายพันธุ์ ไปยังประเทศข้างเคียง เช่น พม่า, อินเดีย และมาเลเซีย โดยอินทนิลน้ำยังนับเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกใช้กันมาเป็นเวลานับศตวรรษในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย 

           สำหรับในประเทศไทยสามารถพบอินทนิลน้ำ ขึ้นตามที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะทั่วไป และบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ลำห้วย ในป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดงดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ แต่พบว่ามีมากตามป่าดงดิบในภาคใต้ นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ ในป่าพรุ หรือ ป่าบึงน้ำจืดในภาคใต้ เช่นกัน


ประโยชน์และสรรพคุณอินทนิลน้ำ

  • แก้ไข้
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้โรคเบาหวาน
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • แก้นอนไม่หลับ
  • แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะพิการ
  • แก้แผลในปาก ในคอ
  • เป็นยาสมานแผลในท้อง
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยลดไขมัน

           เนื้อไม้ของต้นอินทนิลน้ำ นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน โดยมากใช้ทำกระดานพื้น ฝา ใช้ต่อเรือใบ เรือแจว เรือเดินทะเล ทำเกวียน ใช้ทำเครื่องตกแต่งบ้าน และของใช้ต่างๆ เช่น ทำแจว พาย เปียโน หีบใส่ของ ถังไม้ กังหันน้ำ และใช้เครื่องมือการเกษตรต่างๆ เช่น ทำไถ ไม้นวดข้าว ลูกหีบ ซี่ล้อ ทำไม้คาน ไม้กั้นบ่อน้ำ เป็นต้น

อินทนิลน้ำ

อินทนิลน้ำ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยใช้ใบแก่เต็มที่ประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มในตอนเช้า รักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเส้นเลือด ขับปัสสาวะ

           โดยก่อนใช้ใบอินทนิลน้ำ รักษาโรคเบาหวาน คนไข้ควรให้แพทย์ตรวจน้ำตาลในเลือด หรือ ในปัสสาวะดูเสียก่อนว่า จากนั้นให้ใช้ใบอินทนิลน้ำตากแห้งจำนวน 10% ของปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ (เช่น คนไข้มีน้ำตาลในเลือด 300 มิลลิกรัม ให้ใช้ใบอินทนิลน้ำ 30 ใบ) บีบให้แตกละเอียด และใส่น้ำบริสุทธิ์เท่าปริมาณความต้องการของคนไข้ผู้นั้นใช้ดื่มในวันหนึ่งๆ แล้วเทลงในหม้อเคลือบ หรือ หม้อดิน (ไม่ควรใช้ภาชนะอลูมิเนียม) แล้วเคี่ยวให้เดือดประมาณ 15 นาที นำน้ำยาใบอินทนิลน้ำที่ ที่ได้จากการเคี่ยวชงใส่ภาชนะไว้ให้คนไข้ดื่มแทนน้ำตลอดวัน ติดต่อกันไป 20-30 วัน จากนั้นให้ตรวจน้ำตาลในเลือดของคนไข้ผู้นั้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ลดปริมาณเหลือน้อยลง ก็ให้ลดจำนวนใบอินทนิลน้ำลงตามปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ (เช่น น้ำตาลในเลือดของคนไข้ลดลงเหลือ 200 มิลลิกรัม ก็ควรลดจำนวนอินทนิลน้ำลงเหลือ 20 ใบ) แล้วนำไปต้มเคี่ยวให้คนไข้ดื่มน้ำ ดื่มต่อไปทุกๆ วันติดต่อกัน 15-21 วัน แล้วตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้อีกครั้งหนึ่ง หากน้ำตาลลดลงอีกก็ให้ลงปริมาณใบอินทนิลน้ำให้เหลือ 10% ของปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ จนกระทั่งน้ำตาลลดลงอยู่ในระดับปกติ แล้วควรงดใช้ใบอินทนิลน้ำแต่หากปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้เพิ่มขึ้นผิดปกติเมื่อใด ก็ให้คนไข้เริ่มรับประทานใบอินทนิลน้ำใหม่ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย ใช้เปลือกต้นล้างให้สะอาดนำมาต้มน้ำดื่ม, แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ให้นำแก่นของต้นอินทนิลน้ำ มาต้มน้ำรับประทาน. แก้แผลในปากและคอให้เป็นยาฝาดสมานให้นำรากอินทนิลน้ำมาล้างให้สะอาดต้มกับน้ำรับประทาน


ลักษณะทั่วไปของอินทนิลน้ำ  

อินทนิลน้ำจัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ แต่ผลิใบใหม่ไว สูง 5-20 เมตร ลำต้น ต้นเล็กมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะเปลา ตรง โคนต้นไม้ไม่ค่อยพบพูพอน มักจะมีกิ่งใหญ่แตกจากลำต้นสูงเหนือพื้นดินขึ้นมาไม่มากนัก ดังนั้น เรือนยอดจึงแผ่กว้าง พุ่มแบบรูปร่มและคลุมส่วนโคนต้นเล็กน้อยเท่านั้น ต้นอินทนิลน้ำ ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วๆ ไป จะมีเรือนยอดคลุมลำต้นประมาณเก้าในสิบส่วนของความสูงทั้งหมด ผิวเปลือกนอกสีเทา หรือ น้ำตาลอ่อน และมักจะมีรอยด่างเป็นดวงสีขาวๆ ทั่วไป ผิวของเปลือกค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่อง หรือ เป็นรอยแผลเป็น เปลือกหนาประมาณ 1 ซม. เปลือกในออกสีม่วง ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ทรงใบรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 5-10 ซม. ยาว 11-26 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบมนหรือเบี้ยวเยื้องกันเล็กน้อย ปลายใบเรียวและเป็นติ่งแหลม เส้นแขนงใบ มี 9-17 คู่ เส้นโค้งอ่อนและจะจรดกับเส้นถัดไปบริเวณใกล้ๆ ขอบใบเส้นใบย่อยเห็นไม่เด่นชัดนัก ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. เกลี้ยง ไม่มีขน ดอก มีขนาดโต มีสีต่างๆ กัน เช่น สีม่วงสด ม่วงอมชมพู หรือ ม่วงล้วนๆ ออกรวมกันเป็นช่อโต ยาวถึง 30 ซม. ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบตอนใกล้ๆ ปลายกิ่ง ตรงส่วนบนสุดของดอกตูมจะมีตุ่มกลมเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงกลาง ผิวนอกของกลีบฐานดอกซึ่งติดกันเป็นรูปถ้วย หรือ รูปกรวยหงายจะมีสันนูนตามยาวปรากฏชัด และมีขนสั้นปกคลุมประปราย กลีบดอกบาง รูปช้อนที่มีโคนกลีบเป็นก้านเรียว ผิวกลีบเป็นคลื่นๆ บ้างเล็กน้อย เมื่อบานเต็มที่จะมีรัศมีกว้างถึง 5 ซม. รังไข่ กลม เกลี้ยง ผล เป็นรูปไข่เกลี้ยงๆ ยาว 2-2.5 ซม. เมื่อแก่จะแยกออกเป็น 6 เสี่ยง เผยให้เห็นเมล็ดเล็กๆ ที่มีปีกเป็นครีบบางๆ ทางด้านบน

           ทั้งนี้อินทนิลน้ำ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ตะแบกและเสลามากจนยากที่จะแยกได้ในผู้ที่ไม่เคยทรายลักษณะของต้นมาก่อน ซึ่งมีวิธีสังเกตความแตกต่างง่ายๆ คือ เปลือกลำต้นตะแบกจะเรียบคล้ายต้นฝรั่ง และจะแตกล่อนเป็นแผ่นๆเมื่อแก่จัด เสลาเปลือกต้นจะมีสีเทาอมดำ และแตกปริไปตามยาวลำต้น ใบของทั้งตะแบกและเสลาจะมีขนทั้งสองด้านส่วนอินทนิลน้ำใบเกลี้ยง ไม่มีขน และเปลือกต้นส่วนใหญ่จะเรียบ แต่จะมีแตกเป็นร่องบ้าง


การขยายพันธุ์อินทนิลน้ำ

อินทนิลน้ำ สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ดสำหรับนำไปเพาะ คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงมกราคม วิธีการเก็บผลใช้ตะขอตัดช่อผลลงมาก่อนที่จะแตก นำมาผึ่งแดดผลก็จะแตกและเมล็ดจะหลุดร่วงออกมา คุณภาพของเมล็ด เมล็ดมีอัตราการงอกประมาณร้อยละ 60-80 % การเก็บรักษาเมล็ดควรคลุกยาฆ่าแมลงและเก็บไว้ในที่ปิดมิดชิด ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด เริ่มจากแช่เมล็ดในน้ำเย็น 2-4 ชม. แล้วทำการเพาะโดยการหว่านเมล็ดลงแปลงเพาะใช้ดินร่วนกลบหนาประมาณ 0.5 ซม. เมล็ดจะงอกภายใน 10-20 วัน สำหรับขนาดของกล้าที่จะย้ายชำควรมีความสูง 4-6 ซม. และขนาดของกล้าย้ายปลูกควรมีความสูงตั้งแต่ 30 ซม. และมีอายุ 3-4 เดือน ซึ่งการปลูกก็มีวิธีปลูกเหมือนการปลูกไม้ยืนต้นทั่วๆ ไป

           ทั้งนี้ไม้อินทนิลน้ำเป็นไม้ที่ค่อนข้างโตเร็วถ้าปลูกในที่เหมาะสม และหากถ้าปลูกในที่ชุ่มชื้นมากจะไม่ผลัดใบ ปัจจุบันนิยมปลูกกันทั่วไปตามบริเวณข้างทาง และปลูกเป็นไม้ประดับโดยจะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี 


องค์ประกอบทางเคมี

สาระสำคัญที่พบในใบอินทนิลน้ำ ได้แก่สารกลุ่ม triterpene และ steroid เช่น corosolic acid (2,3-dihydroxy-12-ursen-28-oic acid), 31-norlagerenol acetate, 24-methylenecycloartanol acetate, 31-nor 24-methylene cycloartanol acetate, largerenol acetate, tinotufolin C, tinotufolin D, lutein, phytol, sitosterol และ sitosterol acetate, 3β, 23- dihydroxy-1-oxo-olean-12-en-28-oic acid นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม tannin ได้แก่ 2,3,7-tri-O-methylellagic acid , 2,3,8-tri-O-methylellagic acids

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของอินทนิลน้ำ

โครงสร้างอิทนิลน้ำ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของอินทนิลน้ำ

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เมื่อนำสารสกัดใบด้วยน้ำร้อน 5% หรือ สารสกัดเมทานอล 2%  ผสมลงในอาหาร และให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กิน เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ โดยสารสกัดด้วยน้ำร้อนจะไปเร่งให้เกิด glucose uptake ใน 3T3-L1 adipocytes เหมือนอินซูลิน แต่ไม่ได้เสริมฤทธิ์ หรือ ยับยั้งอินซูลินและต่างจากอินซูลินที่ไม่เหนี่ยวนำให้เกิด adipocyte differentiation ในภาวะที่มี 3-isobutyl-1-methylxanthtine (IBMX) และ Dexamethasone (DEX) และยับยั้งอินซูลินในเรื่อง adipocyte differentiation ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาอาการน้ำตาลในเลือดสูงและโรคอ้วนในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ยาต้มจากใบเมื่อป้อนให้กระต่ายทางสายยาง ขนาด 2 ก./กก. และ 2-4 ก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้และสารสกัดด้วยน้ำร้อน ขนาด 20 ก./ตัว เมื่อป้อนให้กระต่ายทางสายยาง สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน โดยมีขนาดเทียบเท่ากับอินซูลิน 4.4-5.4 (ใบอ่อน) และ 6-7.7 units (ใบแก่) สารสกัดน้ำและ 95% เอทานอล เมื่อทำการทดลองในกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อป้อนน้ำต้มจากใบ ขนาด 15, 30, 50, 60 และ 100 ก./กก. ทางปากให้สุนัขที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan พบว่าตลอดการศึกษา 6 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัข ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสรุปได้ว่าน้ำต้มจากใบไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัข เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำร้อน ขนาด 0.5,1,2,5,10 ก./กก. ให้แก่หนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน พบว่าไม่มีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่นเดียวกับเมื่อให้กระต่ายกินสารสกัดด้วยน้ำร้อนขนาด 10 ก./กก. หรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ไม่ระบุขนาด นอกจากนี้พบว่าส่วนสกัดอัลคาลอยด์ สารสกัด 95% เอทานอลสารสกัดน้ำ ไม่ระบุขนาดที่ใช้ และสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) ขนาด 5 ก./กก. มีมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่ายเช่นกัน สารสกัดด้วยน้ำร้อน และเมทานอล กรด tannic, ellagitannis, lagerstroemin, flosin B และ reginin ที่พบในใบไม่ระบุขนาดที่ใช้ สามารถเพิ่มการดูดซึมกลูโคสในเซลล์ไขมันของหนู นอกจากนี้ยังพบว่าสาร lagerstroemin มีผลเพิ่มการดูดซึมกลูโคส โดยช่วยกระตุ้นการทำงานของ insulin receptor จึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

            นอกจากนี้สารสกัดเมทานอลจากใบอินทนิลน้ำ ยังออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ a-amylase, maltase, glucoamylase, sucrose และ isomaltase เมื่อทดลองป้อนให้หนูขาว ส่วนสารสกัดน้ำไม่มีฤทธิ์ สารสกัดเมทานอล ขนาดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ในการยับยั้งเอนไซม์ a-amylase, maltase, glucoamylase, sucrase และ isomaltase มีค่าเท่ากับ 0.53,0.89,1.24,2.85 และ 4.95 มก./มล. ตามลำดับ และค่า IC50 ของส่วนสกัดเมทานอลที่ได้จากการนำสารสกัดด้วยน้ำ ไปแยกด้วย HP-20 column ในการยับยั้งเอนไซม์ a-amylase และ glucoamylase มีค่าเท่ากับ 0.44 และ 0.83 มก./มล. ตามลำดับ การยับยั้งเอนไซม์เหล่านี้จึงทำให้ปริมาณกลูโคสในเลือดไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่อมาพบว่าสารออกฤทธิ์ คือ valoneaic acid dilactone ที่สกัดได้จากใบมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ a-amyiase ดีมาก

           การศึกษาทางคลินิคการศึกษาผลของ corosolic acid ต่อการลดน้ำตาลในเลือดในคน นั้น ก็มีรายงานยืนยันว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน โดยในปี 1998, มีการศึกษา corosolic acid โดยวิธี crossover, placebo-controlled clinical study ที่ Tokyo Jikeikai Medical School โดยมีการศึกษาใน 24 คน ที่เป็น mild case of Type II diabetes มีอายุมากกว่า 20 ปี มีปริมาณน้ำตาลที่ระดับ 100 mg per dL (fasting level) ซึ่งผู้รับการทดลองจะได้รับ ยาหลอก หรือ corosolic acid tablet หลังมื้ออาหารแต่ละมื้อ ผลการศึกษาแสดงว่า corosolic acid มีผลลดน้ำตาลในเลือดใสระยะสั้น (4 สัปดาห์) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยไม่พบอาการไม่พึงประสงค์

            ในปี 2003, Dr. William V. Judy แห่ง Southwestern Institute of Biomedical Research Florida ได้รายงานผลการศึกษา ยืนยันฤทธิ์ลดน้ำตาลของสารสกัดจากใบอินทนิล ที่เทียบเท่า 1% corosolic acid และ โดยใช้การทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (randomized clinical trial) ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (non-insulin-dependent diabetes mellitus, NIDDM) โดยกลุ่มทดลองได้รับสารสกัดโดยการรับประทานทุกวันในขนาดต่างๆ กัน และ ตรวจวัดระดับกลูโคสพบว่า สารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 32 และ 48 mg ต่อวัน เป็นเวลาติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง รูปแบบของสารสกัดที่เตรียมในรูปแบบ soft gel capsule และ รูปแบบผงแห้งของสารสกัดที่บรรจุใน  hard gelatin capsule พบว่าสามารถลดระดับกลูโคสได้  30% และ 20% ตามลําดับ (P < 0.001), แสดงว่าสูตรตำรับแบบ soft gel capsule มี bioavailability ที่ดีกว่าแบบผงแห้ง

           ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการสกัดสารจากใบอินทนิลน้ำ ด้วยแอลกอฮอล์ นำไปทำให้เข้มข้นจนได้สารสกัด 3 mg./ml. แล้วนำไปทำเป็นยาเม็ดขนาดเม็ดละ 250 mg. ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและมีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่ลดลง

           ฤทธิ์อื่นๆ นอกเหนือจากสรรพคุณในการลดน้ำตาลและไขมันในเลือดแล้วยังพบว่า Corosolic acid มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันที่ดี และสามารถลดความดัน และ ปรับการทำงานของไตโดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและมีฤทธิ์ช่วยต้านไวรัส ยับยั้งเชื้อรา ช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของอินทนิลน้ำ

หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ สารสกัด 70% เอทานอล และสารสกัดในที่ไม่มีแทนนิน เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 2 ก./กก. พบว่าเป็นพิษโดยทำให้หนูเกิดอาการชัก หายใจไม่ออก ตัวเย็น การเคลื่อนไหวและการสั่งการต่างๆ ลดลง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ห้ามใช้อินทนิลน้ำและผลิตภัณฑ์อินทนิลน้ำ
  2. ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำห้ามใช้อินทนิลน้ำและผลิตภัณฑ์อินทนิลน้ำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงกว่าเดิม และอาจเกิดอันตรายได้
  3. ผู้ป่วยเบาหวานก่อนใช้ควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำผิดปกติ
  4. ในการใช้อินทนิลน้ำเพื่อประโยชน์ของด้านสรรพคุณทางยา ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกำหนดและใช้ในระยะเวลาติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

เอกสารอ้างอิง อินทนิลน้ำ
  1. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร.อรัญญา ศรีบุษราคัม. อินทนิลน้ำกับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 23.ฉบับ 1.2548. หน้า 8-11.
  2. คณิตา เลขะกุล จิรายุพิน จันทรประสงค์ ชุมศรี ขัยอนันต์ และคณะ ไม้ดอกและไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติ.กรุงเทพฯ:ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด 2536
  3. โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร.ตำราประมวลหลักเภสัช.กรุงเทพฯ.2524
  4. ชลอ อุทกภาชน์.หลักการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ.กรุงเทพ:หจก.สำนักพิมพ์อำนวยสาสน์ 2524.
  5. ปรีชา ช.พงษ์ภมร.ตำรายาแพทย์แผนโบราณ กรุงเทพฯหจก.สำนักพิมพ์อำนวยสาสน์.2525.
  6. ม.ร.ว.ภัทรชัย รัชนี บุญชุบ บุญทวี จำลอง เพ็งคล้าย.พรรณไม้ในสวนป่าสิริกิติ์ ภาคกลาง (จังหวัดราชบุรี).กรุงเทพฯ:หจก. ชุติมาการพิมพ์,2535.
  7. เชาวน์ กสิพันธุ์.ตำราเภสัชศึกษา กรุงเทพฯ:สมาคมแพทย์เภสัชกรรมไทยโบราณ,2522.
  8. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540.สารานุกรมสมุนไพร ไทย รวมหลักเภสัชกรรมไทย.สนพ.โอเดียนสโตร์,กรุงเทพมหานคร.
  9. Yamaski K.Effect on sorne saponins on glucose transport system. Adv Exp Med Biol 1996;404:195-206.
  10. วรรณภา ชัยบุตร.การศึกษาผลของใบอินทนิลน้ำต่อการขับปัสสาวะและลดระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัข.รวมบทคัดย่องานวิจัย การแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคตสถาบันการแพทย์แผนไทย,2543:188-9.
  11. อินทนิลน้ำ .กลุ่มยารักษาเบาหวาน.สรรพคุณสมุนไพร. 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เช้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herds_27_5.htm
  12. Mueller-Oerlinghausen B,Ngamwathana W, Kanchanapee P. lnvestigation into Thai medicinal plants said to cure diabetes. J Med Ass Thailand 1971;54:105-11.
  13. Okada, Y.,Omae,A.and Okuyama, T. 2003. A new triterpenoid isolated from Lagertronemia speciosa(L.)Pers. Chem Pharm Bull. 51, 452-454.
  14. Manalo JP, de Vera FV, Bonifacio TS, Unalivia FD, Arida VP. Phytochemical investigation of Lagerstroemia speciosa leaves (banaba) L.Pers. Philippine J Sci 1993:122(1):15-31.
  15. Faruk, M.J.A., Nahar, N., Aziz, M.A., Mosihuzzaman, M. and Rashid, M.A. 2002. Two new ellagic acids from Lagerstroemia speciosa Linn. Plant. Journal of the Bangladesh Chemical Society. 15, 73-78.
  16. Garcia F. Distribution and deterioration of insulin-like  principle in Lagerstroemia speciosa (banaba). Acta Med Philipp 1941;3:99-104.
  17. Liu X, Kim J-K, Li Y, Li J, Liu F, Chen X. Tannic acid stimulates glucose transport and adipocyte differentiation in 3T3-L1 cells. J Nutr 2005;135:165-71.
  18. Judy, W.V., Hari, S, P., Stogsdill, W.W., Judy, J, S., Naguib, Y,M,A, and Passwater, R,2003. Antidiabetic activity of a standardized extract (Glucosol)from Lagertroemia speciosa leaves in Type ll diabetics: A dose-dependence study. Journal of Ethnopharmacology. 87, 115-117
  19. Tasnawijitwongs S. Chemical and biochemical studies of antidiabetic drugs in some plants. MS Thesis, Faculty of Science, Chiang Mai Univ., 1979:113 pp.
  20. Garcia F. Plantisul compared with insulin. J Philippine Med Ass 1955:31:216-24.
  21. Egawa K. Lagerstroemia speciosa (Banaba) Shokuhin Kino Sozai ll 2001:237-41.
  22. Ragasa, C. Y., Ngo, H. T., and Rideout, J.A. 2005. Terpenoids and sterols from Lagerstroemia speciosa (L.) Pers. Chem Pharm Bull. 51, 452-454.
  23. Hamamoto S, Kogami H, Kohata K, Moriwaki M, Kanada H, Matsuyama F. Glucose effect on blood glucose in rats. Yakuri to Chiryo 1999;27(96)1075-7.
  24. Hosyama Hsugimoto A, et al. lsolation and quantitative analysis  of the a-amylase inhibitor in Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.(Banaba). Yakugaku zasshi 2003;123(7):599-605.
  25. Manalo JP, De Vera FV, Bonifacio TS: Unalivia FD, Arida VP. Phytochemical investigation of Lagerstroemia speciosa leaves (banaba) L. Philippine J Sci 1993:122(1):15-31.
  26. Suzuki Y, Hayashi K, Sakane l. Kakuda T. Effect and mode of action of banaba (Lagerstroemia speciosa L.) leaf extracts on postprandial biood glucose rats. Nippon Eiyo Shokuryo Gakkaishi 2001;54(3):131-7.