สะแก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สะแก งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สะแก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะแกนา (ภาคกลาง), แก (ภาคอีสาน, อุบลราชธานี), แพ่ง (ภาคเหนือ), ขอนแข้, จองแข้ (แพร่), ซังแก (ปราจีนบุรี-เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum quadrangulare Kurz.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Combretum attenuatum Wall., Combretum laccifera Pierre, Combretum quadrangulare Kurz var.  lanceolatum Gagnep.
ชื่อสามัญ Bushwillows, Combretums
วงศ์ COMBRETACEAE

ถิ่นกำเนิดสะแก

สะแกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียแล้วมีการกระจายพันธุ์เข้ามายังพม่า และภูมิภาคอินโดจีนในประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ฯลฯ มักพบตามที่โล่ง หรือ ตามเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่มีความสูง จากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 250 เมตร ส่วนในประเทศไทยพบว่าสะแก เป็นพันธุ์ไม้ที่มีในประเทศมานานมากแล้วโดยสามารถพบได้ตามป่าละเมาะทั่วไป ป่าเต็งรัง หรือ ริมธารน้ำชายป่า หรือ ตามริมถนน, ในท้องนารวมถึงที่รกร้างทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณสะแก

  • ช่วยขับพยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน ในเด็ก
  • แก้ซางตานขโมย
  • รักษามะเร็ง
  • รักษาคุดทะราด
  • แก้พิษปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้ไข้
  • แก้บาดแผล
  • รักษาแผลสด
  • แก้บิดมูกเลือด
  • แก้โรคหนองใน
  • แก้แผลในที่ลับ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้กามโรคเข้าข้อออกดอก
  • แก้คันทวารเด็ก 
  • รักษาฝีมะม่วง ฝีต่างๆ
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้พิษไข้เซื่องซึม 
  • แก้ไข้สันนิบาต
  • แก้ผอมแห้ง
  • แก้ริดสีดวง
  • แก้เสมหะ
  • แก้ตกมูกเลือด
  • รักษาพุงโรก้นปอด
  • รักษาอุจจาระหยาบ เหม็นคาว
  • แก้ฝีตานซาง
  • แก้ปวดมดลูก
  • แก้มดลูกอักเสบ
  • ช่วยขับน้ำคาวปลาสำหรับผู้หญิงหลังคลอดบุตร

           มีการนำสะแก มาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ชาวบ้านในชนบทมักจะเอาต้นสะแกนาไปทำฟืน และใช้เผาถ่านกันมาก เพราะแก่นของต้นสะแกนามีความแข็งมาก และเนื้อไม้ มีค่าคาร์บอนสูง จึงให้ความร้อนสูง และให้ไฟแรง ยังมีการใช้ผลดิบนำมาแช่กับน้ำไว้ให้วัว หรือ ควายกินเป็นยาขับพยาธิได้


รูปแบบและขนาดวิธีการใช้

การใช้สะแก รักษาโรคพยาธิไส้เดือนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

  1. ใช้เมล็ดแก่ 1 ช้อนโต๊ะ (3 กรัม) ตำให้ละเอียด ทอดกับไข่ 1ฟอง ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงรับประทานเปล่าๆ พยายามรับประทานให้มากที่สุด (7-9)
  2. ใช้เมล็ดประมาณ 1 ช้อนหวาน ตำละเอียดผสมไข่ 1 ฟอง ทอดให้เด็กอายุ 5-6 ปี รับประทานเมื่อท้องว่าง ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ถ้าไม่ถ่ายให้รับประทานยาถ่ายเอาตัวออก หรือ ใช้ขับพยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้ายในเด็ก โดยใช้เมล็ดแก่ 1 ช้อนคาว (ประมาณ 3 กรัม) หรือ 15-20 เมล็ด ตำให้ละเอียด ทอดกับไข่รับประทาน ทอดกินครั้งเดียวขณะท้องว่าง
  3. รากมีรสเมาใช้ปรุงเป็นยาแก้ไส้ด้วนไส้ลาม
  4. เนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยขับน้ำคาวปลาสำหรับหญิงหลังคลอดบุตร 
  5. ใบอ่อนใช้ตำพอกเป็นยารักษาแผลสด แก้บาดแผล
  6. ใช้ใบอ่อนใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

 

ลักษณะทั่วไปของสะแก

สะแก จัดเป็นไม้ยืนต้น สูง 15-20 เมตร เปลือกต้นมีสีเทานวล กิ่งอ่อนเป็นสันสี่มุม ส่วนต่างๆ ของลำต้น มีขนเป็นเกล็ดกลม ต้นที่มีอายุมากบริเวณโคนลำต้น พบหนามแหลมยาว แข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือ รูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร ปลายมน หรือ เว้าเป็นแอ่งตื้นๆ ขอบใบเรียบ หรือ หยักเป็นคลื่นเล็กน้อย โคนสอบแคบไปยังก้านใบ ก้านใบสั้น เนื้อใบหนาเป็นมัน ผิวใบทั้งสองด้านมีเกล็ดสีเงินหนาแน่น ใบมีสีเขียวสด ผิวใบด้านบนสากมือดอกมีขนาดเล็ก สีขาว หรือ เหลืองอ่อน ออกเป็นช่อที่ซอกใบ และปลายยอด แบบช่อเชิงลด ยาว 4-5 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอก ช่อหนึ่งมีดอกเล็กๆ จำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยปลายแยก 4 กลีบ สีขาวอมเหลือง กลีบดอก 4 กลีบ สีขาวอมเหลือง รูปไข่กลับ ปลายมน หลุดร่วงง่าย เกสรเพศผู้มี 8 อัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ ผลเป็นผลแห้ง ขนาด 1-2 เซนติเมตร รูปไข่ มีครีบ 4 ครีบ มีสีน้ำตาลอมขาว เมล็ดมีสีน้ำตาลแดง รูปกระสวย มี 4 สัน ตามยาว

สะแก

สะแกการขยายพันธุ์สะแก

สะแกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการดังนี้

           เตรียมแปลงเพาะชำ อยู่ในร่มไม้ หรือ กลางแจ้งก็ได้ ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม (ความยาว 1x10 เมตร จะเพาะกล้าไม้ได้ประมาณ 20,000 ต้น) แล้วลงทราย รองพื้นบางๆ ประมาณ 2 ซม.แล้วพรมน้ำปรับพื้นแปลงเพาะชำให้เรียบ ส่วนการเตรียมเมล็ดสะแกก่อนเพาะชำ ให้นำเมล็ดสะแกแช่น้ำประมาณ 1 คืน แล้วแกะเปลือกออก นำเมล็ดสะแก ที่แกะเปลือกแล้ว หว่านลงบนแปลงเพาะชำแล้วโรยทรายทับบางๆ (พอให้มิดเมล็ดสะแก) นำหญ้า/ฟาง แห้งโรยทับบางๆ และรดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 7-10 วัน ต้นอ่อนจะเริ่มงอกเป็นต้นกล้าเล็กๆ จากพื้นถอนต้นอ่อนที่ออกเป็นคู่ที่ 2-3 แล้วนำไปเพาะเลี้ยงในถุงชำ นำกล้าสะแกที่ได้ไปปลูกในฤดูฝน เมื่อไม้ได้อายุประมาณ 2-3 ปี ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

           ทั้งนี้ในการเก็บเมล็ดสะแก ให้เก็บไว้ในที่ร่ม เปิดปากถุงโดยไม่นำไปตากแดด เพราะจะทำให้เมล็ดแห้ง ฝ่อและตายไป และควรเพาะชำเมล็ดสะแกที่แก่ลงแปลงเพาะชำโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ


องค์ประกอบทางเคมี

ในเมล็ดสะแกนา มีสารจำพวก Flavonoid ที่ชื่อว่า Combretol และมี B-sitosterol, Carboxylic acid, Penacyclic, Triterpene, glucoside เป็นต้น ส่วนในรากกับเมล็ด มี Pentacyclic triterpen carboxylic acid ซึ่งได้แก่ 3B,6B,18B-trihydroxyurs-12-en-30-oic และ B-sitosterol, B-sitosterol glucoside

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสะแก

โครงสร้างสะแก  ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสะแก

ฤทธิ์ขับพยาธิไส้เดือน เมื่อให้วัวกินเมล็ดสะแก พบว่าจำนวนไข่ของพยาธิตัวกลมในปศุสัตว์ชนิด Neoascaris vitulorum ลดลงจนไม่พบอีกใน 1-3 สัปดาห์ต่อมา แต่มีผู้พบว่าเมื่อให้เด็กนักเรียนกินเมล็ดสะแก ชุบไข่ทอด ในขนาด 1.5 กรัม หรือ 3 กรัม ไม่ให้ผลในการขับพยาธิเส้นด้าย และมีอาการข้างเคียง คือ มึนงง คลื่นไส้ สารสกัดแอลกอฮอล์ 95% มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ เมื่อให้ไก่ไข่ได้รับอาหารที่มีเมล็ดสะแก เป็นส่วนผสมลงในอาหาร ในอัตราส่วน 1 กรัม/น้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม โดยทดลองในไก่จำนวน 5 กลุ่มๆ ละ 4 ซ้ำๆ ละ 8 ตัว นาน 23 วัน และทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมโดยใช้ยาถ่ายพยาธิปิปเปอราซิน (piperazine) ในขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม พบว่ากลุ่มที่ได้รับเมล็ดสะแก เป็นส่วนผสมลงในอาหาร สามารถกำจัดพยาธิไส้เดือน (Ascaridia  galli) ได้ 63% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาถ่ายพยาธิปิปเปอราซินสามารถกำจัดพยาธิไส้เดือนได้ 100%

           ฤทธิ์ปกป้องตับของสาร triterpene glucosides จากเมล็ดสะแก สารสกัดเมธานอลจากเมล็ดสะแกนา (Combretum quadranqulare Kurz.) แสดงฤทธิ์ปกป้องตับ (hepatoprotective activity) เมื่อทดลองในเซลล์ตับเพาะเลี้ยงที่ถูกทำลายด้วย D-galactosamine/tumor necrosis factor-ต เมื่อนำสารสกัดเมธานอลมาแยกให้บริสุทธิ์ได้สารกลุ่ม triterpene glucosides ชนิดใหม่ซึ่งแสดงฤทธิ์ปกป้องตับคือสาร quadranosides 1,2 และ5 ที่ความเข้มข้น 50 ไมโครโมลาร์ สารทั้ง 3 แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำลายเซลล์ตับได้ 37.6, 40.9 และ 67.5% ตามลำดับ

           ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับของสะแก สารสกัดเมธานอลจากใบสะแกนา (Combretum quadranqulare Kurz.) แสดงฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับในหนูทดลองที่ถูกชักนำให้ตับถูกทำลายด้วย D-galactosamine (D-GalN)/lipopolysaccharide (LPS) และในเซลล์ตับเพาะเลี้ยงที่ถูกทำลายด้วย D-GalN/tumor necrosis factor-Alpha (TNF-Alpha) โดยสามารถแยกสารสกัดบริสุทธิ์จากใบสะแกนาได้มากกว่า 30ชนิด และพบว่าสารประเภทฟลาโวนอยด์ (flavonoids)และไตรเทอร์ปีนชนิดไซโคลอาร์เทน (cycloartane -type triterpenes) มีคุณสมบัติป้องกันการทำลายตับ

           นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดชั้นเอทานอลจากใบสะแกสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 (IC100 : 12.5 mcg/ml) และสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 integrase ได้ (IC50 : 2.5 mcg/ml)


การศึกษาทางพิษวิทยาของสะแก

การทดสอบความเป็นพิษ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเมล็ดสะแกนา ด้วยเมทานอล 80% โดยการป้อนทางปากกับหนูเม้าส์เพศผู้ หนูเม้าส์เพศเมีย หนูแรทเพศผู้ และหนูแรทเพศเมีย พบว่ามีพิษปานกลาง และทำให้สัตว์ทดลองตาย นอกจากนี้การทดลองพิษกึ่งเฉียบพลัน ในหนูตัวผู้และตัวเมีย เมื่อให้สารสกัด 1 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบมีความสัมพันธ์เล็กน้อยกับน้ำหนักในการเจริญ เติบโต แต่ไม่มีผลต่อตับเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เมล็ดสะแกนเมื่อให้ทางปากกับหนูแรท และหนูเม้าส์ในขนาด 0.582 และ 1.985 กรัม/กิโลกรัม ต่อครั้ง พบว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน 

           นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเมล็ดสะแกนาด้วยเอทานอล 80% ซึ่งให้ทางปากกับหนูแรทเพศผู้ หนูแรทเพศเมีย หนูเม้าส์เพศผู้ และหนูเม้าส์เพศเมีย พบว่ามีพิษปานกลาง และทำให้สัตว์ทดลองตาย และ เมื่อให้สารสกัดเมล็ดสะแกนาครั้งเดียวฉีดเข้าทางช่องท้องหนูทั้ง 4 ชนิด พบว่ามีพิษมาก และทำให้สัตว์ทดลองตาย ส่วนความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลันทดสอบโดยการป้อนสารสกัดทางปากทุกวัน ขนาดวันละ 0.5, 1.0 และ 2.0 กรัม/กิโลกรัม พบว่าหนูเม้าส์ไม่สามารถทนสารสกัดขนาด 1 และ 2 กรัม/กิโลกรัม ได้ การตรวจอวัยวะภายในด้วยตาเปล่าพบลักษณะเลือดคั่งที่ลำไส้ ตับ และไต ลำไส้โป่งบวม เมื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์พบก้อนเลือดในหลอดเลือดต่างๆ พบภาวะเลือดคั่ง และมีเลือดออก ส่วนหนูแรททนสารสกัดขนาดวันละ 2 กรัม/กิโลกรัม ได้ ถึง 7 วัน โดยไม่แสดงอาการผิดปกติ

           นอกจานี้กองวิจัยทางแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาเรื่องพิษเฉียบพลันพบว่า เมื่อให้เมล็ดสะแก เข้าทางในปาก ของสัตว์ทดลองในขนาด 1.5 กรัม/กิโลกรัม มีผลทำให้สัตว์ทดลองแสดงอาการคือ ขาลาก ตาโปนแดง และตายเมื่อเพิ่มขนาดของยา 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. จากผลการศึกษาวิจัยเรื่องพิษเฉียบพลันของกองวิจัยทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ให้เห็นว่าการระวังในเรื่องขนาดการใช้เมล็ดสะแก เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
  2. ไม่ควรใช้สะแก เป็นเวลานานจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
  3. สำหรับเมล็ดสะแกที่ใช้เป็นยาสมุนไพรนั้นควรเก็บเมล็ดแก่ในช่วงฤดูร้อนเพราะเป็นช่วงที่เมล็ดมีสารออกฤทธิ์มากที่สุด

เอกสารอ้างอิง สะแก
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สะแกนา (Sakae Na)”. หน้า 291.
  2. สมใจ นครชัย รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ยุวดี วงษ์กระจ่าง คณิต อธิสุข. การทดสอบความเป็นพิษของสะแกนา : ตอนที่ 2. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2537;21(4):118-25.
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สะแกนา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 178.
  4. เทวีรัตน์ ศรีทอง อังคณา หาญบรรจง สุภาพร อิสริโยดม อาคม สังข์วรานนท์ อรุณี อิงคากุล. ประสิทธิภาพของผลมะเกลือ เมล็ดสะแกนา และต้นหญ้ายาง ต่อการกำจัดตัวเต็มวัยขิงพยาธิไส้เดือนในไก่ไข่. สมุนไพรไทย: โอกาสและทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ครั้งที่ 3, 11-12 พฤษภาคม, กรุงเทพฯ, 2548.
  5. กองวิจัยการแพทย์. สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 103.
  6. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สะแกนา”. หน้า 761-762.
  7. ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับของสะแกนา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8.  บวร เอี่ยมสมบูรณ์. ดงไม้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.
  9.  วีณา ศิลปอาชา. ตำรายาพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.
  10. ฤทธิ์ปกป้องต้องของการ triterpene glucosides จากเมล็ดสะแก.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสหิดล
  11. นิตยสารหมอชาวบ้าน. หมอไทยเชื่อหรือไม่. กรุงเทพฯ: เอช. เอน. การพิมพ์, 2525;4(35): 103-5.
  12. สะแกนา.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=115
  13. สะแก.ฐานข้อมูลสมุนไพรที่มีการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  14. สะแกนา.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpaye&pid=135
  15. Euswas P, Srirod S, Choontanom P, Chompoochant T. Studies on anthelmintic activity of sakae (Combretum quadrangulare Kurz). J Agri (Sci) 1988; 22: 201-6.
  16. กระจายพันธุ์จากอินเดียถึงคาบสมุทรอินโดจีนพบตามป่าละเมาะทั่วไป หรือ ริมธารน้ำชายป่าที่ระดับน้ำต่ำกว่า 250 เมตร
  17. Pipitkul W, Sribunlue P, Na Nakorn S, Chusilp K, Siamsatiansopon S. Study of herbal medicinal plants Combretum quadrangulareKurz. in treatment of thread worm in school children. Com Dis J 1987; 13(1): 33-44.
  18.  Jongtaweesuk P, Chanjamjang P, Temsirivirkkul R, Wongkrajang Y. Toxicity test of Combretum quadrangulare Kurz. Special Project for the degree of B. Sc. (Pharm), Faculty of Pharmacy, Bangkok: Mahidol University, 1987.
  19.  Somanabandhu A, Wungchinda S, Wiwat C. Chemical composition of Combretum quadrangulare Kurz. Abstract 4th Asian Symp.  Med Plants Spices, 15-19 September, Bangkok, Thailand, 1980. p.114.