ข้าวโพด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ข้าวโพด งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ข้าวโพด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ข้าวสาโล, ข้าวสาลี (ข้าวโพดข้าวเหนียว) (ภาคเหนือ), เข่าโคด (ภาคอีสาน), คง, ยาคง, โพด (ภาคใต้), บือเคสะ (กะเหรี่ยง), ข้าวแข่ (ไทยใหญ่), บือเคเส่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zea mays Linn.
ชื่อสามัญ Corn, Maize
วงศ์ GRAMINEAE


ถิ่นกำเนิดข้าวโพด

สำหรับถิ่นฐานดั้งเดิมของข้าวโพดมีการสันนิษฐานกันว่าอาจมีอยู่ 2 แหล่ง คือ พื้นที่แถบที่ราบสูงซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศเปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ ชิลี อาร์เจนติน่า และบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจากมีการพบข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์ที่มีความแปรปรวนทางพันธุกรรม และยังพบข้าวโพดบางชนิดคล้ายข้าวโพดป่าที่ขึ้นอยู่ในแถบนั้น

           ส่วนอีกที่หนึ่ง คือ พื้นที่แถบตอนใต้ของทวีปอเมริกา แถบอเมริกากลาง เช่น ประเทศแม็กซิโก กัวเตมาลา โคลัมเบีย และเวเนซูเอลา เนื่องจากมีการพบหญ้าพื้นเมืองบริเวณนี้ 2 ชนิด คือหญ้าทริพซาคัม (Trip sacum) และหญ้าทิโอซินเท (Teosinte) ซึ่งลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลายประการคล้ายคลึงกับข้าวโพด และยังมีการขุดพบซากซังของข้าวโพดปนอยู่กับซากของโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินถึง 28 เมตร ซึ่งจากการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่า ซากสิ่งของเหล่านี้มีอายุนานกว่า 4000 ปี สำหรับในประเทศไทยเชื่อว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำเอาข้าวโพดมาปลูกในประเทศไทย โดยมีการกล่าวถึงในหนังสือพันธุ์ไม้ต่างประเทศของพระยาวินิจวนันดร กล่าวว่า ข้าวโพดได้นำเข้าสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2223 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และหลักฐานจากจดหมายเหตุของ Monsieur De La Lovber ชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาเมืองไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ระหว่างปี พ.ศ.2230-2231 เขียนไว้ว่า คนไทยปลูกข้าวโพด (Turkey-wheat) แต่ในสวนหลวงเท่านั้น และต้มกิน หรือ เผากินทั้งเปลือก โดยไม่ได้ปอกเปลือก หรือ กัดเทาะเมล็ด


ประโยชน์และสรรพคุณข้าวโพด

  • บำรุงหัวใจ
  • บำรุงปอด
  • ทำให้เจริญอาหาร
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้บวมน้ำ
  • แก้บิด
  • แก้ท้องร่วง
  • ช่วยถอนพิษร้อน
  • ช่วยถอนพิษสำแดง
  • แก้เหน็บชา
  • ช่วยขับน้ำดี
  • แก้ไตอักเสบ
  • แก้ตับอักเสบ เป็นดีซ่าน
  • แก้ถุงน้ำดีอักเสบ
  • แก้นิ่วในถุงน้ำดี
  • แก้ความดันเลือดสูง
  • แก้เบาหวาน
  • แก้กามโรค
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้เลือดกำเดาออกง่าย
  • แก้โพรงจมูกอักเสบ
  • แก้ฝีหลายหัวที่เต้านม
  • แก้ไอเป็นเลือด
  • แก้ตกเลือด
  • แก้ความจำเสื่อม ลืมง่าย
  • แก้เป็นแผลที่ผิวหนังมีเลือดออก
  • แก้นิ่ว

           ข้าวโพด เป็นหนึ่งในธัญพืชที่คนไทยคุ้นเคย และบริโภคกันอยู่เป็นประจำส่งผลให้มีการนำข้าวโพดมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น ใช้รับประทานเป็นอาหารนิยมรับประทานฝักสดข้าวโพดโดยการต้ม หรือ เผาให้สุก ส่วนฝักอ่อนนิยมนำมาปรุงอาหาร และยังมีการนำมาบรรจุกระป๋องส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ส่วนในต่างประเทศนิยมนำเมล็ดข้าวโพดมาบดให้ละเอียดแล้วมาทำอาหาร หรือ ใช้ทำขนมปัง และยังมีการนำข้าวโพดมาเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากเมล็ดข้าวโพดเป็นแป้ง และโปรตีนซึ่งในปัจจุบันมีการนำเมล็ดข้าวโพดจำนวนมากไปใช้ในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู เป็ด และโคนม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำข้าวโพดมาใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเมล็ดข้าวโพดสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้หลายประเภท ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เช่น แป้ง น้ำตาล น้ำมัน น้ำเชื่อม น้ำส้ม รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆ อีกเช่น สิ่งทอ พลาสติก เชื้อดพลิง ฟิล์ม เป็นต้น ในส่วนฝักของใบ และลำต้น ก็มีการนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ กระดาษ ปุ๋ย และฉนวนไฟฟ้า อีกด้วย

ข้าวโพด

ข้าวโพด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้อาเจียนเป็นเลือด โดยใช้รากแห้ง 60-120 กรัม ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ โดยใช้ยอดเกสรตัวเมีย หรือ ซังข้าวโพด ต้มน้ำดื่มแทนน้ำชา แก้บวมน้ำใช้ซังข้าวโพดแห้ง 60 กรัม กับ ฮวงเฮียงก้วย (ผลของ Liquidambar Taiwanial Hance) 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือ ใช้ไหมข้าวโพดแห้ง 60 กรัม ต้มน้ำดื่ม (ห้ามใส่เกลือแกง) แก้เบาหวาน ใช้ยอดเกสรตัวเมียแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม แก้ความดันสูง ใช้ยอดเกสรตัวเมียแห้ง เปลือกแตงโมแห้ง เปลือกกล้วยหอมแห้งต้มกับน้ำดื่ม แก้ไตอักเสบ หรือ เริ่มเป็นนิ่วในไต ใช้ยอดเกสรตัวเมียพอประมาณ ต้มกับน้ำดื่ม แก้ไอเป็นเลือด ตกเลือด ใช้ยอดเกสรตัวเมียต้มกับเนื้อสัตว์กิน แก้ท้องร่วง โดยใช้ซังข้าวโพด เผาเป็นถ่าน บดผสมน้ำดื่ม แก้ความจำเสื่อม ลืมง่าย โดยใช้เกสรตัวเมียแห้งใส่กล่องยาสูบจุดสูบ แก้เป็นแผลที่ผิวหนังมีเลือดออกโดยใช้ซังข้าวโพดเผาเป็นเถ้า ผสมน้ำมันเมล็ดป่าน แล้วทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้นิ่ว โดยนำต้น หรือ ใบสด หรือ แห้งต้มน้ำดื่ม ใช้ถอนพิษสำแดง ถอนพิษร้อน และพิษยา โดยนำซังมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของข้าวโพด

ข้าวโพด มีราก เป็นระบบรากฝอย (Fibrous root system) ประกอบด้วยรากที่พัฒนามาจากส่วนแรดิเคิล (Radicle) และรากที่แตกแขนงออก (lateral root) ลำต้น มีลักษณะค่อนข้างกลมมีสีเขียว หรือ สีม่วง และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 2.5-5.0 เซนติเมตร ตั้งตรงมีความสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ประกอบด้วยข้อ (Node) และปล้อง (Internode) บริเวณข้อมีเนื้อเยื่อเจริญ (Growth ring) จุดกำเนิดราก (Root primordia) ตา (Bud) และรอยกาบใบ (Leaf scar) โดยปล้องที่อยู่เหนือตามักพบร่องตา (Bud groove) ใบ เป็นใบเดี่ยว (Simple leaf) ประกอบด้วยกาบใบ (Leaf sheath) และแผ่นใบ (Lead blade) ซึ่งกาบใบจะหุ้มลำต้น ส่วนแผ่นใบแผ่กางออกมีลักษณะยาวรี สีเขียวขอบใบเรียบโคนใบตรงติดกับกาบใบปลายใบแหลม มีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุมทั้ง 2 ด้าน ของใบ มีคาย และมีเส้นกลางใบเรียกว่า Mid rib ดอก ออกเป็นช่อเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกันโดยช่อดอกตัวผู้เรียกว่า Tassel อยู่ตอนบนสุดของต้นส่วน Ear จะอยู่บริเวณข้อกลางๆ ของลำต้น ผล ออกเป็นฝัก แบบ Caryopsis ลักษณะทรงกระบอกยาว 5-25 เซนติเมตร มีเปลือกหุ้มฝักสีเขียว มีเยื่อหุ้มผล (Pericarp) ติดอยู่กับเยื่อหุ้มเมล็ด (Seed coat) เป็นลักษณะเยื่อบางๆ ใสไม่มีสี เยื่อหุ้มผล และเยื่อหุ้มเมล็ดรวมเรียกว่า Hull ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนรี หรือ กระบอกรีเรียงติดกันเป็นแถวหลายแถวตามแนวยาวของฝัก เมล็ดมีสีเหลืองอ่อน ประกอบด้วยคัพภะ (Embryo) เอนโดสเปิร์ม (Endosperm) โดยเมล็ดข้าวโพดจะสะสมแป้งไว้ในส่วนของเอนโดสเปิร์ม การสะสมแป้งจะสิ้นสุดเมื่อข้าวโพดเจริญเติบโตถึงระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา ซึ่งจะปรากฎแผ่นเยื่อสีดำ หรือ สีน้ำตาลดำ (Black layer) ที่บริเวณโคนของเมล็ด

ข้าวโพด

ข้าวโพด

การขยายพันธุ์ข้าวโพด

ข้าวโพดสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดโดยมีวิธีการเริ่มจากควรเลือดเมล็ดพันธุ์ที่แก่จัดมีลักษณะสมบูรณ์ ไม่มีริ่งรอยของสัตว์กัดแทะ และมีขนาดสม่ำเสมอ ซึ่งควรนำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความงอกก่อนปลูก (ไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 90) จากนั้นจึงเตรียมพื้นที่ปลูกโดยการไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร แล้วตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วย ผาลเจ็ด 1 ครั้ง ปรับระดับดินให้สม่ำเสมอแล้วคราดเก็บเศษซากต่างๆ ออกไป จากนั้นทำการปลูกโดยหยอดเมล็ดพันธุ์ในหลุม 1-2 เมล็ดต่อหลุม ระยะห่างระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 20-25 เซนติเมตร ได้อัตราเมล็ด 3-4 กิโลกรัมต่อไร่ กลบดินให้แน่นแล้วรดน้ำตาม เมื่อข้าวโพด งอกจนมีอายุประมาณ 14 วัน ให้ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น หลังจากนั้นดูแลจนข้าวโพดมีอายุ 110-120 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอยทางเคมีของเมล็ด และน้ำมันจากเมล็ดข้าวโพด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารในกลุ่ม lipid เช่น linoleinc acid, linoleic acid, oleic acid, palmitic acid, stearic acid, phospholipids สารในกลุ่ม steroid เช่น sterils, Beta-sitosterol, sterol esters, sterol glycosides, acylated sterol glycosides และสารในกลุ่ม oxygen heterocycle เช่น α-tocopherol นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น lutein, zeaxanthin และกรดอะมิโนต่างๆ อีกมากมาย ส่วนสารที่พบมนน้ำมันข้าวโพด ได้แก่สารในกลุ่ม steroid เช่น campesterol, 5-dehydro avenasterol, 7-dehydro avenasterol, 23-dehydro:24-methyl cholesterol,stigmasterol, Beta-sitosterol สารในกลุ่ม triterpene เช่น cyclosadol, squalene, 23-dehydro:trans-24-methyl lophenol สารในกลุ่ม oxygen heterocycle เช่น α-tocopherolและ protosan นอกจากนี้ข้าวโพด ยังมีตุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของข้าวโพดหวาน (100 กรัม)

         ชนิดของสารอาหาร                            ปริมาณสารอาหาร

  • พลังงาน (Energy)                               25        แคลอรี่
  • ไขมัน (Fat)                                          0.1       กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)            905      กรัม
  • เส้นใย (Fiber)                                      0.2       กรัม
  • โปรตีน (Protein)                                  3.3       กรัม
  • แคลเซียม (Calcium)                         15         มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส (Phosphorus)                     66        มิลลิกรัม
  • ไนอาซีน (Niacin)                                0.3       มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก (Iron)                                 0.5       มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ (Vitamin A)                         129      หน่วยสากล
  • วิตามิน บี1 (Vitamin B1)                     0.06     มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี2 (Vitamin B2)                    0.12     มิลลิกรัม
  • วิตามินซี (Vitamin C)                          12        มิลลิกรัม

 

โครงสร้างข้าวโพด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของข้าวโพด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของข้าวโพดระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ขับปัสสาวะ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ขับปัสสาวะของน้ำต้มไหมข้าวโพดในคน และกระต่ายพบว่าน้ำต้มสกัดมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และขับปริมาณคลอไรด์อย่างมากขึ้น โดยน้ำต้มสกัดเคี่ยวให้ข้นและทำให้ตกตะกอนด้วยแอลกอฮอลล์ พบว่าตะกอนที่ได้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้มากไม่ว่าจะใช้กิน หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ จะออกฤทธิ์ที่บริเวณนอกไตมากกว่าในไตซึ่งน้ำสารสกัดสามารถละลายก้อนนิ่วพวกคาร์บอเนต (Carbonates) ในไตได้ แต่ไม่ละลายนิ่วพวกอ๊อกซาเลท (Oxalates)

           ฤทธิ์กระตุ้นน้ำดี และห้ามเลือด มีรายงานการศึกษาวิจัยน้ำที่ได้จากหมวดข้าวโพด พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นให้น้ำดีไหลมากขึ้น ทำให้ Prothrombin และ Blood platelet สูงขึ้น สามารถใช้เป็นยามีฤทธิ์ห้ามเลือดและขับปัสสาวะร่วมกัน ได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของไหมข้าวโพดจากตัวอย่างข้าวโพด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไหมข้าวโพดหวานสลับสี ไหมข้าวโพดหวาน และไหมข้าวโพดข้าวเหนียว พบว่าสารสกัด 50% เอทานอลจากไหมข้าวโพดหวาน มีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH radical scavenging โดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 5991.98±60.61 มคก./มล. สำหรับการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส พบว่าสารสกัดไหมข้าวโพดข้าวเหนียวมีฤทธิ์ดีสุดในการยับยั้ง มีค่า IC50 เท่ากับ 3082.28±347.98 มคก./มล. แต่ยังมีฤทธิ์ต่ำกว่าสารมาตรฐานกรดโคจิก ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 58.11±3.95 มคก./มล. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และคุณค่าทางโภชนาการในไหมข้าวโพดทั้ง 3 พันธุ์ พบว่าประกอบด้วยสารกลุ่มฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ ไหมข้าวโพดหวานมีปริมาณไขมันสูงสุด แต่ไม่พบในไหมข้าวโพดข้าวเหนียว ไหมข้าวโพดข้าวหวานสลับสีจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงสุด ส่วนไหมข้าวโพดข้าวเหนียวจะมีโปรตีน และเส้นใยสูงสุด

           ฤทธิ์ปกป้องสมอง มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมองของสาร maysin ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม flavone glycoside ที่แยกได้จากยอดเกสรตัวเมียของข้าวโพด (Zea mays L.) หรือ ที่เรียกว่าไหมข้าวโพด (corn silk) ในเซลล์สมองของมนุษย์ (human neuroblastoma) ชนิด SK-N-MC ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการตายแบบ apoptosis ด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ขนาด 200 ไมโครโมลาร์ พบว่าสาร maysin ขนาด 5-50 มคก./มล. สามารถยับยั้งความเป็นพิษต่อเซลล์ของสาร H2O2 ได้ อีกทั้งยังเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ และลดการหลั่งสาร lactate dehydrogenase (LDH) ซึ่งสารดังกล่าวจะเกิดการหลั่งเมื่อเซลล์ถูกทำลาย สาร maysin สามารถลดระดับของ intracellular reactive oxygen species (ROS) และยับยั้งการย่อยเอนไซม์ poly (ADP-ribose) polymerase (PARP cleavage) โดยประสิทธิภาพ และการออกฤทธิ์ทั้งหมดจะขึ้นกับขนาดที่ให้ นอกจากนี้สาร maysin ยังยับยั้งการถูกทำลายของ DNA และยับยั้งการตายของเซลล์แบบ apoptosis จากการเหนี่ยวนำด้วยสาร H2O2 ได้อย่างชัดเจน และการให้เซลล์ได้รับสาร maysin เป็นเวลา 2 ชม. ก่อนการเหนี่ยวนำด้วยสาร H2O2 ยังสามารถเพิ่มการสร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเอนไซม์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ catalase (CAT), glutathione peroxidase (GPx), superoxide dismutase (SOD) และ heme oxygenase (HO) ด้วย จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาร maysin จากไหมข้าวโพดมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมองจากการถูกทำลายด้วยสาร H2O2 ผ่านกลไกในการต้านอนุมูลอิสระ

           ฤทธิ์ลดคอเรสเตอรอล มีรายงานการศึกษาทดลองในกระต่าย โดยมีรายงานว่าน้ำมันข้าวโพด สามารถลดระดับคอเลสเตอรอล และ phospholipid ในซิรัมของกระต่ายด้วยการเพิ่มการขับ steroids ออกมากับอุจจาระ แต่ผลต่อไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดไม่แน่นอน และยังมีรายงานการวิจัยอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งทำการศึกษาโดยให้น้ำมันข้าวโพดเข้าทางกระเพาะของกระต่าย ขนาด 2มล./กก. เป็นเวลา 30 วัน พบว่าสามารถต้านการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัวได้

           ส่วนการศึกษาในมนุษย์พบว่าการใช้น้ำมันข้าวโพดสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ได้มากกว่าการใช้น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว (Cocoa butter) น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันดอกทานตะวัน และไขมันเนย เนื่องจำน้ำมันข้าวโพดมี Polyunsaturated fatty acid ซึ่งกระตุ้นการจับ receptor ของ LDL และมีกลไกในการเพิ่มการละลายไขมันในเลือด จึงมีผลทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด LDL-cholesterol,Phospholipids, Beta-lipoprotein, HDL-cholesterol, total cholesterol และอัตราส่วนของ LDL/HDL ลดลง นอกจากนี้ยังเพิ่มการขับ deoxycholic acid และ litholic acid ออกมาในอุจจาระด้วย ส่วนในการศึกษาในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับไขมันพบว่า เมื่อได้รับน้ำมันข้าวโพดแล้วจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง หรือ ไม่ทำให้เพิ่มขึ้น แต่ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจะกลับเหมือนเดิมหากหยุดรับประทานน้ำมันข้าวโพด

           สำหรับการทดลองในผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตัน coronary disease และในผู้ป่วยเด็กซึ่งเป็นเบาหวาน พบว่าน้ำมันข้าวโพดสามารถละระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ เช่นกัน โดยไม่มีรายงานความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างการทดลอง ซึ่งอัตราการลดของคอเลสเตอรอลจะขึ้นกับความไม่อิ่มตัวของน้ำมันชนิดต่างๆ ที่นำมาทดลองเปรียบเทียบ นอกจากนี้ยังทำให้ serum phospholipids และ Beta-lipoprotein lipid ลดลงด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของข้าวโพด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากเมล็ดข้าวโพด และน้ำมันข้าวโพด ระบุว่ามีการศึกษาวิจัยจากการตกตะกอนที่ได้จ่กการตกตะกอนสกัดสารสกัดจากเมล็ดข้าวโพดเข้มข้นด้วยแอลกอฮอลล์ โดยฉีดเข้าฟลอดเลือดดำกระต่ายมีขนาดที่ทำให้ตาย คือ 250 มก. น้ำหนักตัว (กก.) และขนาดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ คือ 1.5 มก./น้ำหนักตัว (กก.) 

            ส่วนการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของน้ำมันข้าวโพด ระบุว่าเมื่อป้อนน้ำมันข้าวโพดที่ถูกออกซิไดซ์ด้วยความร้อนให้หนูขาว ไม่พบความผิดปกติจากอาการทางประสาทหลังจากป้อนแล้ว 10 ชม. และเมื่อผสมน้ำมันข้าวโพด 10% ในอาหารซึ่งใช้เลี้ยงเซลล์ตัวอ่อนก็ไม่พบความผิดปกติของเซลล์ตัวอ่อน แต่น้ำมันข้าวโพด ที่ถูกออกซิไดซ์ และได้รับความร้อนจะเป็นพิษต่อตับ โดยเมื่อป้อนให้หนูขาวจะพบอาการพิษภายใน 3 วัน และทำให้หนูอายุสั้นลง

ข้าวโพด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้น้ำมันข้าวโพด ซึ่งเป็นน้ำมันที่มี polyunsaturated fatty acids สูง ควรปกป้องไม้ให้น้ำมันเสียสภาพจากการถูกออกซิไดซ์ โดยต้องเก็บในที่เย็น ไม่มีความชื้นสูง และต้องปิดสนิทเพื่อไม้ให้สัมผัสกับออกซิเจน และเมื่อนำมาใช้ประกอบอาหารไม่ควรใช้ความร้อนสูง ส่วนการนำเมล็ดข้าวโพดมาใช้นั้นข้าวโพด ที่ถูกความชื้นแล้วเกิดเชื้อรา จะทำให้เกิดอะฟลาทอกซิน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งได้ดังนั้นก่อนจะนำมาใช้บริดภคควรตรวจเช็คดูให้ละเอียด


เอกสารอ้างอิง ข้าวโพด
  1. ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ข้าวโพด. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 22. กุมภาพันธุ์ 2524.
  2. พะยอม ตันติวัฒน์. สมุนไพร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2521. หน้า 154.
  3. ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ, ถนอมจิต สุภาวิตา. ชื่อพืชสมุนไพรและประโยชน์. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. หน้า 2.
  4. กฤติยา ไชยนอก. น้ำมันข้าวดพดกับสุขภาพ. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 21. บับที่ 1 ตุลาคม 2546. หน้า 4-11.
  5. นันทวัน บุนยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร. บรรณาธิการ. สมุนไพรพื้นบ้าน เล่มที่ 1 กรุงเทพฯ บริษัทประชาชน จำกัด 2539 หน้า 438.
  6. วิทิต วัณนาวิบูล. ข้าวโพด. อาหารสำหรับคนอ้วน. คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 78. ตุลาคม 2528.
  7. ประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ เรื่องข้าวโพด. สำนักหอสมุดและศูนย์รวมสารสนเทศวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กันยายน 2561. 30 หน้า.
  8. โครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร. สมุนไพรอันดับที่ 01. กรุงเทพฯ บริษัท สารมวลชน จำกัด 2525 หน้า 34.
  9. บรรหาร ทินประบุตร และกองบรรณาธิการ. 2554. ข้าวโพดกินอร่อย ต้านโรค. กรุงเทพฯ แบงค์คอกบุ๊คส์. 314.33 ข 27 2554.
  10. กรมวิชาการเกษตร. 2547. เอกสารวิชาการข้าวดพดเลี้ยงสัตว์. ลำดับที่ 11-2547. กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  11. พัฒน์ สุจำนงค์. ตำรายาไทย-จีน (ยากลางบ้าน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ). กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ แพร่พิษยา. 2522 หน้า 487.
  12. คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. 2547. พืชเศรษฐกิจ (พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยเกษตร. 633 ก 58 2547.
  13. สมศรี บุญเรือง. คู่มือนักวิชาการส่งเสริมเกษตร. สำนักส่งสริม และจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2551. 52 หน้า.
  14. ฤทธิ์ปกป้อวสมองของสารจากไหมข้าวโพด. ข้าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  15. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของไหมข้าวโพด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  16. Grubben G.J.H & Soetjipto Partohardjono. Ed. ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 10 ธัญพืช. สหมิตรพริ้นติ้ง นนทบุรี หน้า 204.
  17. Kim KH. Park WS. Shim CG. Determination of Beta-sitosterol in unsaponifiable fraction og Zea mays and related drug preparations by HPLC. Yakhak Hoe Chi 1996;40(2): 149-54.
  18. Davis DL. Poneleit CG. Sterols in developing seed from loe and high oil Zea mays. Phytochemistry 1975;14: 1201-3.
  19. Alexander JC. Biological properties of heated dietary fats. ACS Symp Ser 1983;129-48.
  20. Connor WE. Witiak DT. Stone DB, Armastrong ML. Cholesterol balance and fecal neutral steroid and bile acid excretion in normal men fed dietary fats of different fatty acid composition. J Clin Invest 1969; 48;1363-75.
  21. Shibayama Y. Hwpatotoxicity of heated and oxygenated corn oil. Exp Toxical pathol 1992;44:255-8.
  22. Schouten JA. Beynen AC. /mulder C, Hoitsma HFW. The effects of dietary saturated fat versus polyunsaturated fat on sarum cholesterol and phospholipid concentrations in rabbits with partial ileal bypass. Z Ernashrungswiss 1984;23:136-42.
  23. Berndorfer-Kraszner E, Lasztity R, Gaspar L. Contribution to the knoeledge of some biological agents in Zea may L. Dev Food Sci 1983;5a: 175-80.
  24. Kunitz H, Johnson RE, RE, Pegus L. Longer survival time of rats fed oxidized xegetable oils. Proc Soc Exp Biol Med 1966; 123:204-6.
  25. Antiatherogenic effect of corn oil in experimental atherosclerosis. Lopukhin Ym. Sdvigova Ag, Torkhovskava Ti, Kivuchnikova Zi, Evstigneeva Mk, Khalilov Em. Byull Eksp Biol Med 1992; 1135:476-478.
  26. Wilcox EB, Galloway Ls. Serum Cholerteropl and different dietary fats. J Am Dietet Assoc 1961;38:227-30.