โด่ไม่รู้ล้ม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โด่ไม่รู้ล้ม งานวิจัยและสรรพคุณ 42 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โด่ไม่รู้ล้ม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าไก่นกคุ้ม, หญ้าสามสิบสองหาบ, หญ้าไฟนกคุ้ม, หนาดผา (ภาคเหนือ), ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย), หญ้าปราบ (ภาคใต้), หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี), เคยโป๊, ตะชีโกวะ (กะเหรี่ยง), ก้อมทะ (ลั๊วะ), จ่อเก๋ (ม้ง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Elephantopus scaber Linn. 
ชื่อสามัญ Prickly-Leaved Elephant’s Foot
วงศ์ ASTERACEAE

ถิ่นกำเนิดโด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้มเป็นพืชที่ถูกเรียกชื่อตามลักษณะของลำต้นที่เมื่อถูกเหยียบย่ำ หรือ ถูกทับก็จะแบนราบลงไปกับพื้นดิน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงชั่วครู่ ลำต้นก็จะกลับมาตั้งโด่เหมือนเดิม จึงเป็นที่มาของชื่อโด่ไม่รู้ล้ม ซึ่งพืชนี้ข้อมูลถิ่นกำเนิดที่แท้จริงยังไม่ชัดเจนแต่จัดเป็นพืชในเขตร้อนที่พบได้ในประเทศเขตร้อนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และพบมากตามป่าดิบ ป่าสนเขา ป่าเต็งรัง และป่าโปร่งที่มีสภาพของดินเป็นดินร่วนปนทราย


ประโยชน์และสรรพคุณโด่ไม่รู้ล้ม

  1. เป็นยาขับปัสสาวะ
  2. แก้ไข้
  3. แก้ไข้จับสั่น
  4. ขับน้ำเหลืองเสีย
  5. แก้บิด
  6. แก้ท้องเสีย
  7. แก้ไอ
  8. แก้วัณโรค
  9. ช่วยบำรุงหัวใจ
  10. ขับเหงื่อ
  11. ขับระดู
  12. ขับพยาธิตัวกลม
  13. แก้ปัสสาวะพิการ
  14. บำรุงความกำหนัด
  15. แก้กระษัย
  16. แก้กามโรค
  17. แก้บวมน้ำ
  18. แก้ไข้หวัด
  19. แก้เจ็บคอ
  20. แก้ตาแดง
  21. แก้ดีซ่าน
  22. แก้เลือดกำเดาออกง่าย
  23. แก้ฝี
  24. แก้แผลมีหนอง
  25. แก้แผลงู แมลงมีพิษกัดต่อย
  26. แก้อักเสบ
  27. แก้แผลในกระเพาะอาหาร
  28. แก้แผลเปื่อยในปาก
  29. แก้เหน็บชา
  30. เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง
  31. บำรุงกำลัง
  32. แก้ร้อนใน
  33. แก้กระหายน้ำ
  34. แก้อาการอ่อนเพลีย
  35. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
  36. ช่วยลดการเกิดนิ่ว
  37. ช่วยยังมีฤทธิ์ช่วยบำรุงกำหนัด
  38. เพิ่มความต้องการทางเพศทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
  39. ช่วยฟื้นฟู และบำรุงสมรรถภาพ
  40. ช่วยลดภาวะอวัยวะเพศแข็งตัวช้า อ่อนตัวเร็ว และหลั่งเร็วในผู้ชาย
  41. แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
  42. รักษาโรคผิวหนังต่างๆ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้โด่ไม่รู้ล้ม

  • แก้เลือดกำเดา ใช้ต้นสด 30-60 กรัม (หรือ ต้นแห้ง หนัก 10-15 กรัม) ต้มกับเนื้อหมูพอประมาณ กินติดต่อกันนาน 4-5 วัน
  • แก้ดีซ่าน ใช้ต้นสด 120-240 กรัม ต้มกับเนื้อหมูพอประมาณ กินติดต่อกันนาน 4-5 วัน
  • แก้ท้องมาน ใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม เช้า-เย็น หรือ ตุ๋นกับเนื้อหมูรับประทาน
  • แก้ขัดเบา ใช้ต้นสด15-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
  • แก้นิ่ว ใช้ต้นโด่ไม่รู้ล้ม สด 90 กรัม ต้มกับเนื้อหมู 120 กรัม เติมน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ต้มเคี่ยว กรองเอาแต่น้ำ แบ่งไว้ดื่ม 4 ครั้ง
  • แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้เจ็บคอ ใช้ต้นแห้ง 6 กรัม แช่ในน้ำร้อน 300 ซีซี (ประมาณขวดแม่โขง) นาน 30 นาที รินเอาน้ำดื่ม หรือ จะบดเป็นผงปั้นเม็ดไว้รับประทานก็ได้
  • แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
  • แก้ฝีบวม หรือ ฝีเป็นหนอง ใช้ต้นสด ตำผสมเกลือเล็กน้อย ละลายน้ำส้มสายชูพอข้นๆ พอก
  • แก้ฝีฝักบัว ใช้ต้นสด 25 กรัม ใส่น้ำ 1 ขวด และเหล้า 1 ขวด ต้มดื่ม และใช้ต้นสดต้มกับน้ำ เอาน้ำล้างหัวฝีที่แตก

           รักษาโรคผิวหนังต่างๆ และใช้ทาแผล โดยใช้ใบสด 2 กำมือ มาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือ ใช้ราก และใบ (สด หรือ แห้งก็ได้) 2 กำมือ ต้มดื่มแก้ท้องร่วง แก้กระเพาะเป็นแผล ช่วยขับปัสสาวะ หรือ ใช้อาบในสตรีหลังคลอด ส่วนรากใช้ตำผสมพริกไทย แก้อาการปวดฟัน หรือใช้รากต้มกับน้ำแล้วใช้อบแก้ปวดฟันก็ได้เช่นกัน

ลักษณะทั่วไปของโด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้ม จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้น กลม ชี้ตรง สูง 10-30 เซนติเมตร ตามผิวลำต้น มีขนสีขาวตรงละเอียด ห่าง สาก ใบเป็นใบเดี่ยวอยู่บริเวณเหนือเหง้าติดกันเป็นวงกลม เรียงสลับชิดกันอยู่เป็นกระจุก คล้ายกุหลาบซ้อนที่โคนต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหัวกลับ แผ่นใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ขอบใบหยัก หรือ เป็นจักคล้ายฟันเลื่อยห่างๆ มีเส้นแขนงของใบประมาณ 12-15 คู่ ส่วนของใบที่ค่อนไปทางปลายจะผายกว้าง แล้วสอบเป็นแหลมทู่ๆ ส่วนโคนใบจะสอบแคบจนถึงก้านใบ มีเนื้อใบหนาสาก ผิวใบจะมีขนสากเล็กๆ ขนตรงห่างมีสีขาว และมีขนต่อมห่างอยู่ทั้งสองด้าน โดยท้องใบจะมีขนมากกว่าหลังใบ แผ่นใบมักแผ่ราบไปกับพื้นดิน ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร หรือ ไม่มีก้านใบ ดอกช่อแทงออกจากกลางต้น ช่อดอกรูปขอบขนาน มี 4 ดอกย่อย ยาว 8-10 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกรูปหลอดสีม่วง หลอดกลีบดอกยาว 3-3.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ปลายกลีบดอกยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ไม่มีขน เกสรเพศผู้สีเหลือง มีอับเรณูยาว 2.2-2.3 มิลลิเมตร ปลายแหลม ฐานเป็นติ่งแหลม ก้านชูอับเรณูยาว 1.5-1.7 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมีก้านเกสรยาว 7-8 มิลลิเมตร ยอดเกสรยาว 0.5-0.6 มิลลิเมตร มีขนที่ปลายยอดและสิ้นสุดที่รอยแยก แต่ละช่อย่อยมาอยู่รวมกันเป็นช่อกระจุกกลมที่ปลายก้านดอก บริเวณโคนกระจุกดอกมีใบประดับแข็งรูปสามเหลี่ยม แนบอยู่ 3 ใบ ยาว 1-2 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ขอบใบเรียบปลายเรียวแหลม ที่ผิวใบทั้งสองด้านมีขนตรงสีขาว ออกที่ปลายยอดแบบช่อแยกแขนง ก้านช่อดอกมีความยาวได้ถึง 8 เซนติเมตร และมีขนสาดๆ อยู่ทั่วไป ส่วนฐานรองดอกจะแบนและเกลี้ยง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.7 มิลลิเมตร วงใบประดับเป็นรูปขอบขนาน มี 2 ชั้น สูงราว 7-10 มิลลิเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ใบประดับคล้ายรูปหอก ผิวด้านนอกมีขนตรง ส่วนขอบใบมีขนครุย ชั้นนอกเป็นรูปใบหอกยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ส่วนชั้นที่ 2 เป็นรูปขอบขนานกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ปลายแหลม สีขาว เป็นเส้นตรงแข็ง มี 5 เส้น เรียง 1 ชั้น ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ส่วนผลเป็นผลแห้งและไม่แตก ลักษณะของผลเล็ก และเรียว เป็นรูปกรวยแคบ ผิวด้านนอกผลมีขนหนาแน่น ยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 0.4-0.5 มิลลิเมตร ผลไม่มีสัน

โด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้ม

การขยายพันธุ์โด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้ม เป็นพืชล้มลุกที่ทนแล้งได้ดี สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด หรือ การแยกต้นแยกหัว ซึ่งสามารถปลูกในแปลง หรือ ปลูกใส่กระถางได้ โดยการปลูกโด่ไม่รู้ล้ม นั้นก็เหมือนกับการปลูกพืชทั่วๆ ไป คือ เตรียมหลุมและรองก้นหลุมใส่ต้นพันธุ์ลงไปกลบดินแล้วรดน้ำพอชุ่ม แต่สภาพดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วมปนทราย และควรปลูกกลางแจ้ง เนื่องจากโด่ไม่รู้ล้มเป็นพืชที่ชอบแดดและทนแล้งได้ดี


องค์ประกอบทางเคมี

ในส่วนต่างๆ ของโด่ไม่รู้ล้ม พบ สารกลุ่ม elephantopins และ deoxyelephanpin Crepiside E, cynaropicrin deacyl; cyanaropicrin-3-β-D-glucopyranoside deacyl; dotriacontan-1-ol; elephantopin, 11-13-dihydro-deoxy; elephantopin, 11-13-dihydro; elephantopin deoxy; elephantopin, iso-deoxy; friedelanol, epi; friedelinol, epi; lupeol; stigmasterol; stigmasterol 3-O- β-D-glucoside; triacontan-1-ol; zaluzanin C, gluco; scabertopin 

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโด่ไม่รู้ล้ม

โครงสร้างโด่ไม่รู้ล้ม

โครงสร้างโด่ไม่รู้ล้ม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโด่ไม่รู้ล้ม

สารสกัดโด่ไม่รู้ล้ม จากส่วนต่างๆ ของมีฤทธิ์ลดไข้ ลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อไวรัส ต้านความเป็นพิษต่อตับ ลดไข้ ลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต และยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก กระตุ้นมดลูก ยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase, glutamate-oxaloacetate-transaminase และ glutamate-pyruvate-transaminase  มีการศึกษาผลของโด่ไม่รู้ล้ม ในหนูเพศผู้ต่อความกำหนัด คุณภาพน้ำอสุจิ อวัยวะเพศเสริม ขนาดและกล้ามเนื้อลึงค์ และสัดส่วนเพศลูก พบว่าสมุนไพรโด่ไม่รู้ล้ม มีฤทธิ์กระตุ้นกำหนัดและทำให้ระดับ testosterone สูงขึ้นในหนูแรท แต่ในขนาดสูงกลับทำให้ระดับ testosterone และเชื้ออสุจิลดลง เพิ่มการเกิด libido เปลี่ยนแปลงค่า osmolality และจำนวนอสุจิของน้ำอสุจิ ลดเปอร์เซ็นต์อสุจิเคลื่อนไหว เพิ่มน้ำหนักอวัยวะเพศเสริม และเพิ่มสัดส่วนเพศลูก (เพศเมีย/เพศผู้)


การศึกษาทางพิษวิทยาของโด่ไม่รู้ล้ม

จากการศึกษาพบว่าน้ำต้มโด่ไม่รู้ล้ม หรือ สารสกัด 50% เอทานอลจากพืชทั้งต้น ไม่มีพิษ เมื่อให้หนูถีบจักรกินแม้จะให้ในขนาดสูงถึง 6.0 กรัม/กิโลกรัม และพบว่าขนาดของสารสกัดทั้งสองชนิดที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 มีค่ามากกว่า 2 กรัม/กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้อง

           สารสกัดรากและใบที่หมักกับเหล้าโรง 40 ดีกรี เมื่อนำมาป้อนหนูทดลองในขนาดความเข้มข้น 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพียงครั้งเดียว แล้วเก็บผลในวันที่ 14 ผลการทดสอบพบว่าหนูไม่แสดงอาการผิดปกติ ส่วนการทดสอบความเป็นพิษแบบระยะสั้น พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญของน้ำหนักตัว น้ำหนักตับ ไต ม้าม หัวใจ adrenal cortex และอัณฑะ รวมทั้งระดับเอนไซม์ BUN creatinine AST และ ALT ของหนูทุกกลุ่ม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานอาหารเสริม หรือ ยาแผนโบราณที่มีส่วนประกอบจากโด่ไม่รู้ล้ม 
  2. ผู้ที่มีอาการปัสสาวะมากผิดปกติไม่ควรใช้โด่ไม่รู้ล้มเพราะมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  3. ผู้ที่มีภาวะหยางพร่อง (กลัวหนาว, แขนขาเย็น, ไม่กระหายน้ำ, ถ่ายเหลว, ตัวซีด, ง่วงหงาวหาว นอน) ไม่ควรใช้โด่ไม่รู้ล้ม

 

เอกสารอ้างอิง โด่ไม่รู้ล้ม
  1. ไพบูลย์ แพงเงิน. สมุนไพรรู้ใช้ไกลโรค (สมุนไพร คู่บ้าน 2).กรุงเทพฯ:มติชน.2556. 272 หน้า.
  2. ผศ.ดร.วีณา นุกูลการ. โด่ไม่รู้ล้ม. สมุนไพรกับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. โด่ไม่รู้ล้ม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargen.com2main.php?action=viewpage&pid=143
  4. โด่ไม่รู้ล้ม. กลุ่มยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ. สรรพคุณสมุนไพร. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/hers_10htm
  5. โด่ไม่รู้ล้ม. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ 104. ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.