เปล้าใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เปล้าใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 42 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เปล้าใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เปล้าหลวง (ภาคเหนือ), เปาะ (กำแพงเพชร), ห้าเยิ่ง (ไทยใหญ่), คั๊วะวู, สกาวา (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton oblongifolius Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Croton roxburghii N.P.Balakr., Croton persimilis Mrll.Arg., Oxydectes oblong folia Kuntze.
วงศ์ EUPHORBIACEAE

ถิ่นกำเนิดเปล้าใหญ่

เปล้าใหญ่ จัดเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเขตกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 1000 เมตร รวมถึงบริเวณชายป่าทั่วไปในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

ประโยชน์และสรรพคุณเปล้าใหญ่

  • แก้เมาเอียน
  • ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • เป็นยาบำรุงกำลัง
  • แก้กระหาย
  • แก้เสมหะ
  • แก้ลม จุกเสียด
  • แก้คันตามตัว
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ช่วยขับลม
  • แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้โรคเรื่อน
  • รักษามะเร็ง
  • รักษาคุดทะราด
  • ช่วยทำน้ำเหลืองให้แห้ง
  • แก้โรคเหน็บชา
  • รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
  • แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยกระจายลม
  • แก้เลือดร้อน
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้ไข้
  • แก้ตับอักเสบ
  • แก้ปวดข้อ
  • ช่วยขับพยาธิไส้เดือน
  • ช่วยขับหนองให้ตก
  • แก้ริดสีดวงลำไส้
  • แก้ริดสีดวงทวารหนัก
  • แก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย
  • ใช้เป็นยาถ่าย
  • แก้เหน็บชา 
  • ใช้ชำระล้างบาดแผล
  • แก้อาการฟกช้ำ
  • ช่วยเลือดลมไหลเวียนดี
  • แก้วิงเวียน
  • ขับเลือดหลังคลอด
  • ช่วยขับน้ำคาวปลา
  • แก้ปวดท้อง
  • ใช้ถ่ายเป็นมูกเลือด

           สำหรับประโยชน์ของเปล้าใหญ่ นั้นในอดีตมีการนำผลอ่อนมาใช้ย้อมผ้า ส่วนผลแก่ใช้รับประทานได้ และยังใช้ใบเปล้าใหญ่มาใช้อบสมุนไพร บำรุงผิวพรรณ แก้ปวดเมื่อย เพิ่มการไหลเวียนโลหิต โดยนำมาเข้ากับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น ขมิ้นชัน กระชาย ตะไคร้  ไพล ว่านน้ำ ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย และใบหนาด


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1. ใช้บำรุงโลหิต แก้ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ โดยใช้เปลือกต้น และใบต้มกับน้ำดื่ม
  2. ช่วยเจริญอาหาร ขับลม แก้น้ำเหลืองเสีย แก้มะเร็ง คุดทะราด แก้เหน็บชา แก้วปวดเมื่อย แก้โรคทางเดินปัสสาวะ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  3. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมจุกเสีย โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  4. ใช้แก้เลือดร้อน ช่วยย่อยอาหารโดยนำเปลือกต้น และกระพี้มาต้มกับน้ำดื่ม
  5. ช่วยแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย แก้ริดสีดวงลำไส้ ริดสีดวงอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน โดยใช้กระพี้ หรือ เนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม
  6. ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้ต้นเปล้าใหญ่ ผสมกับส้มลม ต้นเล็บแมว ต้นมะดูก ต้นตับเต่าโคก ต้นมะเดื่ออุทุมพร ต้นกำจาย ต้นกำแพงเจ็ดชั้น และต้นกะเจียน ต้มกับน้ำดื่ม
  7. ใช้เป็นยาขับเลือดหลังคลอด ช่วยขับน้ำคาวปลา โดยนำผลมาดองกับสุราดื่ม
  8. ใช้แก้อาการฟกช้ำโดยนำใบมาย่างไฟรองนอน
  9. ใช้แก้วิงเวียน ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี โดยใช้ใบเข้ายากับใบหนาด เครือส้มลม และตะไคร้หอม ต้มน้ำดื่มและอาบ


ลักษณะทั่วไปของเปล้าใหญ่

เปล้าใหญ่ จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 6-16 เมตร แตกทรงพุ่มไม่เป็นระเบียบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ผิวเรียบ มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ เมื่อยังอ่อนกิ่งมีสีเขียว แต่เมื่อแก่จะมีสีเดียวกับลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียบสลับ ลักษณะใบเป็นของไข่แกมขอบขนาน หรือ รูปใบหอกรียาว ใบมักจะลู่ลง กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ใบอ่อนสีน้ำตาล ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ค่อนข้างเกลี้ยง ท้องใบมีขนไม่มาก และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วง ก้านใบยาว 1.3-6 เซนติเมตร บริเวณฐานใบมีต่อม 2 ต่อม ออกดอก เป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง โดยจะมีหลายช่อ ในแต่ละช่อ ลักษณะตั้งตรง มีความยาว 12-22 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก จะทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ กลีบดอกสีขาวและสีเหลืองแกมเขียว ซึ่งดอกตัวผู้จะมีสีขาวใส และมีกลีบดอกสั้นๆ จำนวน 5 กลีบ โคนดอกจะติดกัน และมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนานกว้างๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล มีขนอยู่หนาแน่น และมีเกสรตัวผู้ 12 อัน  ส่วนดอกตัวเมียเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบคล้ายดอกตัวผู้แต่กลีบเล็กกว่า ลักษณะเป็นรูปยาวแคบ ขอบกลีบจะมีขน และปลายกลีบดอกแหลม ผลเป็นแบบผลแห้ง ซึ่งจะเป็นผลแบบ capsule 3 พู ค่อนข้างกลม ผิวผลเรียบ ขนาด 0.6x0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล ใน 1 ผลจะมี 3 เมล็ด ลักษณะเมล็ดรูปแบบรี ยาว 6 มิลลิเมตร

เปล้าใหญ่

เปล้าใหญ่

การขยายพันธุ์เปล้าใหญ่

เปล้าใหญ่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดและการปักชำแต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้าที่ได้ไปปลูก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่งของเปล้าใหญ่ นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปักชำ เปล้าน้อย หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของเปล้าใหญ่ รวมถึงสารสกัดเปล้าใหญ่ จากส่วนต่างๆ ว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากเปลือกลำต้นเปล้าใหญ่จากเฮกเซน เอธลอะซิเดด และเมทานอล พบสาร Acanthoic acid,  Crotocembraneic acid, Neocrotocembraneicacid, Kolavenol, Hardwickiic acid  และ Nasimalun A ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์ จากลำต้นเปล้าใหญ่ พบ สารฟลาโวนอยด์ หลายชนิดเช่น Flavanols, Anthocyanidin, Dihydroflavonol, Hydroflavonoids, Catechin และ Leucoanthocyanidin นอกจากนี้สารสกัดเฮกเซนจากเปลือกต้นเปล้าใหญ่ ยังพบ สาร labdane diterpenoids 3 ชนิด ได้แก่ 2-acetoxy-3-hydroxy-labda-8(17),12(E)-14-triene, 3-acetoxy-2-hydroxy-labda-8(17),12(E)-14-triene และ 2,3-dihydroxy-labda-8(17),12(E)-14-triene อีกด้วย

โครงสร้างเปล้าใหญ่

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเปล้าใหญ่

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของเปล้าใหญ่ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดใน (lung A-549 carcinoma cells) เซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในหนู และเซลล์มะเร็งลำไส้ของคนในระดับสูง ส่วนสารสกัดจากเปลือก มีคุณสมบัติป้องกันการกลายพันธุ์ และยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งตับในเซลล์ HepG2 และยังพบว่าสารสกัดจากลำต้นมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (EC50 = 36.05มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก (ที่ความเข้มข้น 8 มก./มล.) และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. mutans ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก (ที่ความเข้มข้น 0.39 มก./มล.) มีรายงานการพบสาร (−)-acanthoic acid ซึ่งเป็นสารประกอบไดเทอร์พีนอยด์กลุ่ม pimarane ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ในปริมาณสูงถึงร้อยละ 5.5%  ซึ่งสารดังกล่าว มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบได้ดี และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยสามารถเหนี่ยวนําให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (HL-60 human promyelocyticleukaemia cells) ได้ดี ซึ่งได้จากสารสกัดเฮกเซนของเปลือกต้นเปล้าใหญ่ (Croton oblongifolius Roxb.) ยังแสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์เนื้องอกของมนุษย์ โดยสารชนิดที่ 1 และ 2 มีความจำเพาะต่อเซลล์เนื้องอกแต่มีฤทธิ์น้อยกว่าสารชนิดที่ 3 ซึ่งอาจเป็นผลจากโครงสร้าง monoacetylation ของสารชนิดที่ 1และ 2 เกิดพันธะ hydrogen กับเซลล์เนื้องอกทำให้มีความจำเพาะมากกว่าแต่แสดงฤทธิ์ได้น้อยกว่า


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเปล้าใหญ่

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้เปล้าใหญ่ เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิงเปล้าใหญ่
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.โอเดียนสโตร์; กรุงเทพฯ. หน้า 280
  2. เกรียงไกร เพาะเจริญ. (2551). พืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 บ้านปางมะโอ. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). หน้า 1-188
  3. ธีรพิชญ์ เกามสุข, สุนิษา สุวรรณเจริญ, อาภาพร บุญมี, การปรับเปลี่ยน โครงสร้างสาร acnthoioc acid จากต้นเปล้าใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ปีงบประมาณ 2560. 43 หน้า
  4. ฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ของเปล้าใหญ่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สิวลี รัตนปัญญา. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการยับยั้งการเจริญเติบโตในเซลล์มะเร็งของสารสกัดหยาบจากพืชตะกูล Euphorbi aceae ในพื้นที่ลุ่มน้ำลี้ จังหวัดลำพูน. รายงานการวิจัยภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปีงบประมาณ 2561. 57 หน้า
  6. เปล้าใหญ่. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargaeden.com/main.php?action=viewpaye&pid=74
  7.   Kim, K.-N. et al. (2012). Acanthoic acid induces cell apoptosis through activation of the p38 MAPK pathway in HL-60 human promyelocytic leukaemia. Food Chem. 135, 2112–2117.
  8. Catalán, C. A. N., de Heluani, C. S., Kotowicz, C., Gedris, T. E., & Herz, W. (2003). A linear sesterterpene, two squalene derivatives and two peptide derivatives from Croton hieronymi. Phytochemistry. 64(2): 625-629
  9. Roengsumran, S. et al. (1998). Two new cembranoids from Croton oblongifolius. J. Nat. Prod. 61, 652-654
  10. Suh, Y.-G. et al. (2004). Synthesis and anti-inflammatory effects of novel pimarane diterpenoid analogs. Bioorg. Med. Chem. Lett. 14, 3487-3490.
  11. Rossi, D., Guerrini, A., Paganetto, G., Bernacchia, G., Conforti, F., Statti, G., et al. (2013). Croton lechleri Mull. Arg. (Euphorbiaceae) stem bark essential oil as possible mutagen-protective food ingredient against heterocyclic amines from cooked food. Food Chem. 139(1-4): 439-447.