มะม่วงหิมพานต์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะม่วงหิมพานต์ งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะม่วงหิมพานต์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะม่วงไม่รู้หาว (ภาคกลาง), มะม่วงกุลา, มะม่วง ลังกา, มะม่วงสินหน, มะม่วงสิโห, มะม่วงหลอด (ภาคเหนือ), กาหยู, กาหยี, ท้ายล่อ, ตำหยาว, ยาร่วง, ยาโอย, กะแตแกล, นาขอ, หัวครก, ส้มม่วงชูหน้อย (ภาคใต้), หมากม่วงหิมพานต์ (ภาคอีสาน), มะม่วงกาสอ (อุดรดิตถ์), ส้มม่วงทูนหน่วย (สุราษฎร์ธานี), มะโห (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anacardium occidentale
ชื่อสามัญ Cashew Nut, Cashew
วงศ์ ANACARDIACEAE
 

ถิ่นกำเนิดมะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยเชื่อกันว่าน่าจะอยู่บริเวณประเทศบราซิล แล้วจึงมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เช่น ในทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป และทวีปเอเชีย สำหรับในทวีปเอเชียนั้น เมื่อประมาณศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสได้นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เข้ามาทดลองปลูกในประเทศอินเดีย เพื่อเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะตามชายฝั่ง ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี ต่อมาจึงมีการขยายปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น จากนั้นจึงมีการขยายพื้นที่ลงมาทางประเทศศรีลังกา และเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาเลเชีย และเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ ส่วนในประเทศไทยนั้น มะม่วงหิมพานต์ ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2444 โดยถูกนำเข้ามาจากประเทศมาเลเชีย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี เทศาภิบาลจังหวัดตรัง ซึ่งนำมาทดลองปลูกครั้งแรกที่จังหวัดตรัง ปรากฏว่าได้ผลดี จากนั้นจึงเริ่มนิยมปลูกมากขึ้นในภาคใต้ สามารถพบเห็นมะม่วงหิมพานต์ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากในภาคใต้ ส่วนภาคอื่นๆ นั้นพบได้ประปราย

ประโยชน์และสรรพคุณมะม่วงหิมพานต์ 

ทั่วทั้งโลกมีความนิยมในการนำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ มาใช้เป็นอาหารขบเคี้ยวมากกว่าเมล็ดธัญพืชเกือบทุกชนิด เนื่องจากมีความกรอบ ให้รสมัน และมีกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ ใส่ส้มตำ ใส่ยำต่างๆ ทำไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ หรือ ใช้ใส่ในไอศกรีมต่างๆ เป็นต้น

  • บำรุงสมอง
  • ช่วยฆ่าเชื้อ
  • ขับปัสสาวะ
  • ใช้พอกดับพิษ
  • แก้อาเจียน
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ลักปิดลักเปิด
  • แก้กลากเกลื้อน
  • แก้เนื้อหนังชาในโรคเรื้อน
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ตาปลา
  • แก้เนื้องอก
  • ช่วยบำรุงไขข้อ
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงผิวหนัง
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้ไอ แก้เจ็บคอ
  • รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • แก้บิด
  • ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้กามโรค
  • รักษาแผลในปาก
  • แก้ปวดฟัน
  • ใช้พอกดับพิษ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะม่วงหิมพานต์

ใช้บำรุงสมอง ขับปัสสาวะ แก้ลักปิดลักเปิด ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้อาเจียน  โดยใช้ผลสุก (ผลเทียม) มารับประทานเป็นผลไม้ใช้บำรุงไขข้อ บำรุงกำลัง บำรุงกระดูก บำรุงเส้นเอ็น บำรุงผิวหนัง แก้บวมน้ำ ช่วยย่อยอาหาร โดยใช้เมล็ดมาคั่วรับประทาน ใช้แก้บิด ขับน้ำเหลือง แก้ท้องเสีย แก้กามโรค โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาหูด และตาปลาโดยใช้ยางจากต้นสด ทาตรงตาปลา หรือ เนื้อที่ด้านเป็นปุ่มโต หรือ บริเวณที่เป็นหูดโดยให้ทาบ่อยๆ จนกว่าจะหาย แก้อาการอักเสบ รักษาแผลในช่องปาก โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วนำไปกลั้วปาก และลำคอ ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยนำใบแกมะม่วงหิมพานต์ นำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาพอกบริเวณที่เป็นแผล


ลักษณะทั่วไปของมะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 6-12 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลักษณะลำต้นทรงกลม ตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบแล้วค่อนข้างหนา สีเทาอมน้ำตาล แตกกิ่งหลักที่ความสูงไม่มาก แต่มีกิ่งย่อยมาก โดยกิ่งแขนงหลักแตกออกเป็นแนวขนานกับพื้นดินทำให้รูปทรงพุ่ม กว้างประมาณ 4-10 เมตร ใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน เป็นรูปไข่กลับถึงรูปรีกว้าง โคนใบสอบแคบแหลม ปลายใบกลม กว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนาเหมือนแผ่นหนัง เกลี้ยงเป็นมันสีเขียวสดมีกลิ่นหอม  ดอก ออกเป็นช่อตรงซอกใบบริเวณปลายกิ่ง โดยจะออกเป็นช่อแยกแขนง หรือ ช่อเชิงหลั่ง ซึ่งแต่ละช่อจะมีช่อดอกย่อย 5-10 ดอก เรียงสลับกันบนก้านช่อหลัก ทั้งนี้ ในก้านดอกหลักจะมีดอก 3 ประเภท คือ ดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ สำหรับดอกจะมีสีขาว หรือ สีเหลืองนวล และจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพู ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวขนาดเล็ก โคนดอกเชื่อมติดกันในดอกหนึ่งๆ จะมีปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ และในแต่ละกลีบปลายดอกจะแหลมเรียว นอกจากนี้ดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ผลมีทั้งผลแท้ และผลเทียมซึ่งผลเทียม เป็นส่วนที่เป็นก้านผล ที่มีการพองขยายตัวจนมีรูปร่างคล้ายผล ขนาดผลยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร เมื่อผลยังอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ หรือ สุกจะมีสีแดงเรื่อ หรือ สีชมพู หรือ สีเหลืองตามสายพันธุ์ เนื้อผลฉ่ำน้ำ ให้รสหวานอมฝาด หากเริ่มสุกจะมีรสฝาดมาก หากสุกมากจะมีรสหวานเพิ่มขึ้น ส่วนผลจริง เป็นส่วนที่มีรูปร่างคล้ายไต ห้อยติดด้านล่างของผลเทียม (ที่เราเรียกว่าเมล็ดมะม่วงหิมพานต์) เมื่อผลยังอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเทา หรือ สีน้ำตาล และจะมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีเปลือกหุ้มผลหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ด้านในเป็นที่อยู่ของเมล็ด แบ่งออกเป็น 2 ซีก ประกบกันอยู่ เนื้อเมล็ดนี้มีสีขาวรสมันมีกลิ่นหอม

มะม่วงหินมพานต์ 

การขยายพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ 

มะม่วงหิมพานต์ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด การตอนกิ่ง การติดตา การเสียบยอด เป็นต้น แต่สำหรับวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้

           การคัดเลือกพันธุ์ต้องคัดเลือกจากต้นพันธุ์ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี มีความต้านทานโรค และลักษณะเมล็ดที่นำมาเพาะ จะต้องอวบใหญ่ เมล็ดไม่ลีบ เปลือกเมล็ดเป็นมันวาว ไม่มีรอยกัดแทะของแมลง และที่สำคัญ เมล็ดจะต้องไม่เก็บมาแล้วนานเกิน 1 ปี ทั้งนี้ ควรนำไปแช่น้ำคัดแยกออก โดยเมล็ดที่ลอย หรือ กึ่งจมกึ่งลอยให้คัดแยกออก

           จากนั้นเตรียมวัสดุเพาะโดยควรใช้ดินร่วนผสมกับแกลบดำ และปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 2 : 1 : 1 นำมาคลุกผสมให้เขากัน แล้วนำเมล็ดพันธุ์เพาะกับวัสดุเพาะในถุงเพาะชำขนาด 5×8 นิ้ว โดยคลุกปุ๋ยคอก หรือ วัสดุอินทรีย์กับดินในถุงเพาะชำ ก่อนกดเมล็ดด้านเว้าลงดิน และให้เมล็ดเอียงประมาณ 45 องศา จากนั้นรดน้ำ และ นำไปเก็บไว้ในเรือนเพาะชำ หลังจากเพาะกล้าในถุงจนได้อายุประมาณ 4 เดือน แล้ว ก็พร้อมที่จะนำกล้าพันธุ์ลงปลูกในแปลง แต่ไม่ควรเพาะกล้านานเกิน 4 เดือน

           ส่วนการเตรียมแปลง และหลุมปลูกควรกำจัดวัชพืชแล้วทำการไถพรวนแปลง จากนั้น ขุดหลุมปลูกกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว 6-8 เมตร ซึ่ จากนั้น ตากหลุมทิ้งไว้นาน 5-7 วัน จากนั้นนำปุ๋ยคอกโรยก้นหลุม ประมาณ 1 ถังเล็ก/หลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/หลุม แล้วทำการกรีดถุงเพาะชำ แล้วนำต้นพันธุ์ที่ติดอยู่กับดินในถุงเพาะวางลงหลุม พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงกลบให้แน่น แล้วให้นำหลักไม้ไผ่เสียบไว้ด้านข้างลำต้นให้แน่น พร้อมรัดด้วยเชือกฟางหลวมๆ บริเวณกลางต้นเข้ากับลำไม้ไผ่

           ทั้งนี้หลังจากการปลูกมะม่วงหิมพานต์ ในช่วง 1 ปี แรก หากถึงช่วงฤดูแล้งที่ดินแห้งมาก ควรให้น้ำเป็นครั้งคราวเพื่อให้ต้นรอดได้ แต่หลังจาก 1 ปี ไปแล้ว ต้นมะม่วงหิมพานต์จะสามารถทนแล้งได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องให้น้ำก็ได้ และหลังจากการปลูกมะม่วงหิมพานต์จะเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่อมีอายุ 3-4 ปี เมล็ดมะม่วงหิมพานต์จะเก็บได้มากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และควรเก็บเมล็ดจากผลที่ร่วงลงพื้น เพราะเมล็ดที่ยังห้อยอยู่กับผลมักจะเป็นเมล็ดอ่อนที่ยังไม่แห้ง หลังเก็บมาแล้วจะขึ้นรา และทำให้เมล็ดเหี่ยวลีบได้

มะม่วงหิมพานต์

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกหุ้มเมล็ด และส่วนต่างๆ ของมะม่วงหิมพานต์ พบว่ามีสาระสำคัญในกลุ่ม Phenol ได้แก่ Anacardic acid, cardol, methylcardol และ carnadol เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญอื่นๆ อีกเช่น arginine Quercetin และ Triacontane เป็นต้น นอกจากนี้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบ ( 100 กรัม )

  • พลังงาน            553                  กิโลแคลอรี
  • โปรตีน              18.22               กรัม
  • ไขมัน                43.85               กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต    30.19               กรัม
  • เส้นใย               3.3                   กรัม
  • วิตามินB1          0.42                 มิลลิกรัม
  • วิตามินB2          0.6                มิลลิกรัม
  • วิตามินB3         1.06                 มิลลิกรัม
  • วิตามินB5         0.86                 มิลลิกรัม
  • วิตามินB6         0.42                 มิลลิกรัม
  • วิตามินB9         25                    ไมโครกรัม
  • วิตามินC           0.5                   มิลลิกรัม
  • วิตามินE           0.9                   มิลลิกรัม
  • วิตามินK            34                    ไม่โครกรัม
  • แคลเซียม          37                    มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก           6.68                 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม        292                  มิลลิกรัม
  • แมงกานีส          1.655               มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส         593                  มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม      660                  มิลลิกรัม
  • โซเดียม             12                    มิลลิกรัม
  • สังกะสี              5.78                 มิลลิกรัม
  • ทองแดง            2.195               มิลลิกรัม
  • ซีลีเนียม            19.9                 มิลลิกรัม

โครงสร้างมะม่วงหิมมะพาน 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะม่วงหิมพานต์ 

ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือกขาว มีการศึกษาการกลั่นน้ำมันหอมระเหยด้วยไอน้ำ ของใบมะม่วงหิมพานต์ (Anacardium occidentale L.) ที่ให้ปริมาณน้ำมัน 0.78% v/w เมื่อนำไปวิเคราะห์หาองค์ประกอบเคมีด้วยวิธี Gas Chromatography - Mass Spectroscopy (GC-MS) พบว่ามีสารประกอบอย่างน้อย 14 ชนิด โดยเป็นสารกลุ่มโมโนเทอร์ปีนส์ 78.1% และสารกลุ่มเซสควิเทอร์ปีนส์ 15.7% โดยสารประกอบที่พบเด่นชัดเป็นส่วนใหญ่ คือ tran-beta-ocimene 76.0%, alpha-copaene 4.8%, gamma-cadinene 3.3%, cis-ocimene 2.1% และ beta-caryophyllene 1.9% จากนั้นนำน้ำมันหอมระเหยที่ได้ไปทดสอบหาความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด CEM-SS พบว่ามีค่า CD50 เท่ากับ 12.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ดังนั้นจึงมีศักยภาพที่อาจพัฒนาสู่การใช้เป็นสารต้านเนื้องอกได้เนื่องจากมีค่า CD50 ต่ำกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งเป็นค่า cut-off point ที่ Wall และคณะแนะนำ

           สารมีการศึกษาวิจัย cardanol หรือ ginkgol ซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากใบของแปะก๊วย (Ginkgo biloba  L.) และของเหลวที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ด (nutshell liquid) ของมะม่วงหิมพานต์ (Anacardium occidentale  L.) ซึ่งมีผลในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท NSC-34 และพบว่าการให้หนูแรทเพศผู้ อายุ 5 สัปดาห์ กินสาร cardanol acetate ในขนาด 100 มก./กก./วัน เป็นเวลา 2 เดือน สามารถเพิ่มการทำงานของสมองที่เกี่ยวความจำในส่วนของการเรียนรู้ของหนูแรทได้ เมื่อทดสอบด้วย eight-arm radial maze tasks ทำให้สามารถสรุปได้ว่า สาร cardanol ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่ในใบแปะก๊วย และเปลือกหุ้มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ มีส่วนช่วยในเรื่องของความจำ และการเรียนรู้ได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผลสดมะม่วงหิมพานต์ (Cashew apple) พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายๆ ด้าน เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของแบคทีเรีย ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะม่วงหิมพานต์

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1.  สำหรับคนที่แพ้โปรตีนจากถั่ว หรือมีอาการผิดปกติเมื่อรับประทานถั่ว เช่น มีอาการบวมที่ใบหน้าและคอ มีผดผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสีย คุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์
  2. เม็ดมะม่วงมะม่วงหิมพานต์ทอดที่นิยมรับประทานกันนั้น จะมีน้ำมันมากและให้พลังงานสูง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
  3. เปลือกหุ้มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจาก มีน้ำมันกรดจำนวนมาก หากรับประทานจะทำให้ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารได้

เอกสารอ้างอิง มะม่วงหิมพานต์
  1. ศรัณย์ ลาภนิธิพร, ณัฏฐา เสาหกุลจิตต์, อรพิน เกิดชูชื่น, องค์ประกอบทางเคมี กายภาพ และคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของน้ำมะม่วงหิมพานต์. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตรปีที่ 43.ฉบับที่ 2 (พิเศษ), พฤษภาคม-สิงหาคม 2555. หน้า 409-412
  2. การได้รับสาร cardanol อย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มความจำ และการเรียนรู้ของหนูแรท. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ความเป็นพิษต่อเซลล์ และฤทธิ์ฆ่าหนอนตัวอ่อนของน้ำมันหอมระเหยมะม่วงหิมพานต์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. มะม่วงหิมพานต์สรรพคุณ และการปลูกมะม่วงหิมพานต์. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  5. มะม่วงหิมพานตน์.กลุ่มยารักษาหูด.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/hetbs_24_3.htm
  6. มะม่วงหาว มะนาวโห่. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5441
  7. Jose, C.C., Lilia, C.J., Eduardo, G.H. and Belen, G.V., 2010, Antioxidant Capacity, Phenolic Content and Vitamin C in Pulp, Peel and Seed from 24 Exotic Fruits from Colombia, Food Research International, 44: 2047-2053.
  8. Brito, E.S., Araujo, M.C.P., Lin, L.Z. and Harnly, J., 2007, Determination of the Flavonoid Components of Cashew Apple (Anacardium occidentate) by LC-DAD-ESI/MS, Food Chemistry, 105:1112-1118
  9. Manach, C., Mazur, A. and Scalbert, A., 2005, Polyphenols and Prevention of Cardiovascular Diseases, Current Opinion in Lipidology, 16:77-84
  10. Carvalho, A.L.N., Annoni, R., Silva, P.R.P., Borelli, P., Fock, R.A., Trevisan, M.T.S. and Mauad, T., 2011, Acute, Subacute Toxicity and Mutagenic Effects of Anacardic Acid from Cashew (Anacardium occidentate Linn.) in Mice, Journal of Ethnopharmacology, 135:730-736