น้ำเต้า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

น้ำเต้า งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร น้ำเต้า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะน้ำ, หมากน้ำ (ภาคเหนือ), บักน้ำ (อีสาน), คิลูล่า (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagenaria siceraria (Molina) Standl.
ชื่อสามัญ Bottle gourd, White flowered gourd, Calabash cucumber
วงศ์ CUCURBITACEAE

ถิ่นกำเนิดน้ำเต้า

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของน้ำเต้านั้นมีการสันนิษฐานกันอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ เชื่อกันว่าน้ำเต้ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ โดยมนุษย์นำไปปลูกยังพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งเชื่อกันว่าน้ำเต้ามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และยังเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาปลูก เพราะมีการขุดพบกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบเศษของเปลือกน้ำเต้าอยู่ในหลุมศพที่ค้นพบด้วย สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันสามารถพบเห็นน้ำเต้า ได้ทุกภาคของประเทศ และมีหลายสายพันธุ์ เช่น น้ำเต้าผลกลม น้ำเต้าเซียน น้ำเต้าขม น้ำเต้างาช้าง เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณน้ำเต้า

  • ใช้เป็นยาแก้ดีแห้ง
  • ช่วยขับน้ำดีให้ตกในลำไส้
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้เริม
  • แก้งูสวัด
  • รักษาแผลพุพอง
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้ฟกช้ำบวม
  • ช่วยดับพิษไข้ ตัวร้อน
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • ช่วยพิษอักเสบ
  • ใช้ทำให้อาเจียน
  • ใช่เป็นยาระบาย
  • ใช้เป็นถ่ายพยาธิ
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • แก้บวมน้ำ
  • แก้ปวดศีรษะ
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับน้ำนม

           น้ำเต้าเป็นพืชที่พบได้เกือบทั่วโลกดังนั้นจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ แต่ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ คือการนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะคนไทยถือว่าน้ำเต้า เป็นผักชนิดหนึ่ง โดยผลน้ำเต้าที่จะนำมาประกอบอาหาร คือ ผลอ่อน ที่สามารถกินได้ทั้งเปลือก เนื้อ และเมล็ด ซึ่งอาหารที่นิยมใช้น้ำเต้าปรุงประเภทผัก ส่วนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกานำเนื้อผลอ่อนของน้ำเต้ามาทำอาหาร หรือ ชาวอินเดียใช่เนื้อผลอ่อนของน้ำเต้าทำอาหารทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ส่วนคนพื้นเมืองในแอฟริกาใช้ใบน้ำเต้าใส่ในซุปข้าวโพด หรือ ดองสดไว้กิน นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำเต้ามาใช้ประโยชน์ต่างๆ อีกเช่น ผลน้ำเต้าแก่ (น้ำเต้าแห้ง) ขูดเนื้อในและเมล็ดออกให้หมด ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือ ของเหลวอื่นๆ และยังมีการนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆอีกได้แก่  ใช้เป็นทุ่นในการจับปลา ใช้เป็นขวดบรรจุสิ่งของ หรือ เมล็ดพันธุ์พืช ใช้เป็นช้อน ทัพพี ขันน้ำ รวมใช้เป็นเครื่องประดับบ้านเรือนเพื่อความสวยงาม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ขับปัสสาวะ ขับน้ำนม ช่วยให้ระบาย โดยการนำเนื้อผลอ่อนไปประกอบอาหารรับประทาน หรือ นำไปต้มรับประทานก็ได้ ช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยเจริญอาหาร โดยการนำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม แก้บวมน้ำโดยการนำเมล็ดหรือจากมาต้มกับน้ำดื่ม แก้โรคผิวหนัง แก้ผื่นคัน รักษาอาการพุพอง แก้อาการฟกช้ำบวม แก้เริม แก้งูสวัด โดยการนำใบน้ำเต้า สดมาโขลกผสมกับเหล้าขาว หรือ โขลกเฉพาะใบสดแล้วคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของน้ำเต้า

น้ำเต้า เป็นพืชในตระกูลแตง จัดเป็นไม้เถาโดยเถามีลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยมเป็นสัน มีขนอ่อนปกคลุมอยู่ตลอดเถา มีมือเกาะตามเถาโดยจะออกบริเวณโคนของก้านใบทั้ง 2 ทาง ใบออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณข้อของเถา โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ใบมีลักษณะเป็นเหลี่ยมๆ มี 5 เหลี่ยม และมีขนอ่อนสีขาวขึ้นปกคลุมเช่นเดียวกันกับเถา ใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างสีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ โดยดอกมีสีขาว และมี 2 เพศ แยกกันอยู่ต่างดอก ดอกตัวผู้คล้ายกับถ้วย ส่วนดอกตัวเมียจะมีรังไข่ติดที่โคนดอก ส่วนลักษณะดอกมีลักษณะดอกมีลักษณะเหมือนกันทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย คือ กลีบดอกบางและย่น เป็นรูปไข่กลีบกว้าง และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร บนกลีบดอกทุกกลีบจะมีขนอ่อนๆ ขึ้นปกคลุม มีเกสรอยู่ตรงกลาง 3 ก้าน ผลออกเป็นผลเดี่ยว โดยจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลมก้นแป้น ทรงกลมคอคอด ทรงยาวรี่ และมีขนาดเล็กจนถึงใหญ่แตกต่างกันไปอีกด้วย แต่ส่วนใหญ่จะมีผิวเกลี้ยงเรียบมีเนื้อในมากเป็นสีเขียว แต่หากผลเริ่มแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีจางลงจนเป็นสีขาวครีม และเปลือกผลจะแข็งไม่มีเนื้อ เมล็ดมีลักษณะแบนเมื่ออ่อนจะมีสีขาว แต่เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน โดยใน 1 ผล มีมากกว่า 20 เมล็ด

น้ำเต้า

การขยายพันธุ์น้ำเต้า

น้ำเต้า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการปลูกเช่นเดียวกับการปลูกฟักทอง หรือ แตงกวา และควรทำค้างให้เถาเลี้ยงเกาะพันขึ้นด้วย ทั้งนี้น้ำเต้าเป็นพืชที่ชอบดินร่วน ที่สามารถระบายน้ำได้ดี และเป็นพืชที่สามารถทนภูมิอากาศที่แห้งแล้งได้ดีรวมถึงยังไม่ค่อยมีโรค หรือ ศัตรูพืชมากอีกด้วย

น้ำเต้า

องค์ประกอบทางเคมีน้ำเต้า

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำเต้า พบว่ามีสาระสำคัญ ดังนี้ saponarin, cucurbitacin, vitexin, sitosterol, campesterol, stearic acid, oleic acid, bryonolic acid, palmitic acid, linoleic acid, kaempferol-3-monoglycoside, palmitoleic acid. นอกจากนี้ เมื่อนำมาบริโภคยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของใบน้ำเต้าอ่อน(100 กรัม)

  • พลังงาน 27 แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม
  • โปรตีน 5.1 กรัม
  • ใยอาหาร 1.5 กรัม
  • วิตามินเอ 15,400 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 95 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 56 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 11.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม

           คุณค่าทางโภชนาการของผลน้ำเต้า อ่อน  (100 กรัม)

  • พลังงาน 10 แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม
  • โปรตีน 0.3 กรัม
  • ใยอาหาร 1.7 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 0.35มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 6มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.1 มิลลิกรัม                             
  • ธาตุฟอสฟอรัส 1 มิลลิกรัม

โครงสร้างน้ำเต้า

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำเต้า

สรรพคุณทางยาน้ำเต้า ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีงานการวิจัยที่ประเทศอินเดีย พบว่าสารสกัดผลน้ำเต้า ด้วยคลอโรฟอร์ม และแอลกอฮอล์ในปริมาณ 200 และ 400 มก./กก. มีผลยับยั้งการเพิ่มปริมาณคอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดี (LDL) แต่เพิ่มปริมาณไขมันชนิดดี (HDL)

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง สารในกลุ่ม triterpenoids จากน้ำเต้า (Lagenaria siceraria) ได้แก่สาร D:C-friedooleane-type triterpenes แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ human hepatoma SK-Hep 1 โดยมีสาร etoposide เป็น positive control ซึ่งมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ 50% (IC50) เท่ากับ 2.2 มคก./มล. และหลังจากนำสารในกลุ่ม triterpenoids ดังกล่าวมาแยกหาสารสำคัญพบว่า สาร 3 beta-O-(E)-coumaroyl-D:C-friedooleana-7,9(11)-dien-29-oic acid และสาร 20-epibryonolic acid แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ human hepatoma SK-Hep 1 อย่างชัดเจน โดยมีค่า IC50 4.8 และ 2.1 มคก./มล. ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยทางเภสัชวิทยาอีกหลายฉบับ เช่น จากการวิจัยในหนูทดลอง พบว่าสารสกัดจากผลน้ำเต้า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ที่ส่งผลให้แสดงฤทธิ์อื่นๆ ที่น่าสดใจ เช่น ฤทธิ์ลดน้ำตาล, ไขมันในเลือด และไขมันในเลือด ปรับระดับภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม ปกป้องตับจากสารพิษ และบำรุงหัวใจ ยังพบว่าน้ำคั้นผลน้ำเต้าระดับไขมันในเลือดสูง ทั้งคอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และในเนื้อเยื่อหัวใจที่กระตุ้นด้วยสารพิษต่อหัวใจ (isoproterenol) นอกจากนั้นยังช่วยบำรุงไต บำรุงตับ และลดความดันโลหิตที่กระตุ้นด้วยเดกซาเมทาโซน มีฤทธิ์ปกป้องหัวใจจากสารพิษ (doxorudicin) และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปรับระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของน้ำเต้า

มีการทดสอบความเป็นพิษของน้ำเต้า โดยการป้อน และฉีดสารสกัดใบน้ำเต้าด้วยเอทานอลให้แก่หนูถีบจักรในขนาด 10 กรัม/1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ไม่พบอาการที่เป็นพิษแต่อย่างใด (ซึ่งคิดเป็นขนาดที่รักษาในคน 1,111 เท่า)

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. น้ำเต้าที่แก่จนสุกแล้ว ไม่ควรรับประทานเพราะมีรสขม และอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดินได้
  2. มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำเต้าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นผู้ที่รับประทานยารักษาเบาหวาน จึงควรระมัดระวังในการรับประทานน้ำเต้าเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
  3. ควรระมัดระวังในการใช้น้ำเต้าเพื่อเป็นยาสมุนไพร โดยไม่ควรใช้เกินปริมาณที่กำหนดในตำรับตำรายาต่างๆ รวมถึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้น้ำเต้า รักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง น้ำเต้า
  1. เดชา ศิริภัทร.น้ำเต้า ผักสารพัดประโยชน์ของชาวโลก. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่มที่ 210. ตุลาคม 2539
  2. หนังสือสมุนไพ ไทย เล่ม 1. “น้ำเต้า (Nam Tao)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 157.
  3. พร้อมจิต ศรีลัมพ์.แกงเลียง..อาหารเด็ดของคนไทย. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 30. ฉบับที่ 3.เมษายน 2556. หน้า 2-8
  4. น้ำเต้าควบคุมเบาหวาน. คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 339. กรกฏาคม 2550
  5. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “น้ำเต้า”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 113-114.
  6. สารในกลุ่ม triterpenoids จากน้ำเต้ากับความเป็นพิษต่อเซลล์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. มงคล โมกขะสมิต. เมลสวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์แพทย์ ปีที่ 12. ฉบับที่ 2-4 2513. หน้า 17-42
  8. Upaganlawar A, Balaraman R. Effects of Lagenaria sicessaria fruit juice on lipid profile and glycoprotein contents in cardiotoxicity induced by isoproterenol in rats. Toxicol Int 2012;19:15-9.
  9. Deshpande JR, Choudhari AA, Mishra MR, Meghre VS, Wadodkar SG, Dorle AK. Beneficial effects of Lagenaria siceraria (Mol.) Standley fruit epicarp in animal models. Indian J Exp Biol 2008;46(4):234-42.
  10. Hassanpour Fard M, Bodhankar SL, Madhumira Dikshit. Cardioprotective activity of fruit of Lagenaria siceraria (Molina) Standley on doxorubicin induced cardiotoxicity in rats. International Journal of Pharmacology 2008:4(6):466-71.
  11. Tyyagi N, Sharma GN, Hooda V. Phytochemical and pharmaceutical profile of Lagenaria siceraria: An overview. Inter Res J Pharm 2012;3(3):1-4.